จากประชาชาติธุรกิจ
รายงานพิเศษ
ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง
มติชนสุดสัปดาห์
เป็นเรื่องยากทีเดียวที่นักข่าวสายสังคมจะได้สนทนากับ "เสี่ยปั้น" บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
และเป็นเรื่องยากยกกำลังสองเข้าไปอีกเมื่อได้คุยกับ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการบริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ในเวลา-สถานที่ในงานเดียวกัน นั่นคือ "งานคืนผืนป่า หนึ่งในความเพียรพยายามรักษ์ป่าน่าน" เมื่อไม่นานมานี้ ที่จังหวัดน่าน
เพราะมีความเป็นไปได้น้อยนิดที่ผู้บริหารของสองค่ายใหญ่จะมาเจอหรือมาทำ กิจกรรมเพื่อสังคมร่วมกัน พร้อมเปิดโอกาสให้นักข่าวได้พูดคุยอย่างเป็นกันเองในบรรยากาศป่าเขาลำเนาไพร ที่เสื่อมโทรม
สาระสำคัญของงานดังกล่าว นอกจากทั้งสอง ร่วมด้วย คุณอุกริช พึ่งโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ประชาชนและนักเรียนนักศึกษา ร่วมกันปลูกต้นไม้ในเนื้อที่ 300 ไร่ ที่ชาวบ้านคืนให้กับทางราชการ หลังจากบุกรุกที่ดินป่าสงวนฯ เพื่อทำกินมาเป็นเวลานานแล้ว
โดยทางซีพีจะสนับสนุนเกษตรกรที่อยู่ในโครงการนี้ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ ปลูกพืชอื่นหรือเลี้ยงสัตว์อื่นทดแทน เลิกปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ทำไมซีพีถึงมาร่วมกิจกรรมดังกล่าว...
หากใครติดตามข่าวคราวภูเขาเมืองน่านกลายเป็นเขาหัวโล้นด้วยการถางป่าทำไร่ข้าว โพดมานานหลายสิบปีก็คงพอจะเดาอะไรต่ออะไรได้บ้าง ซึ่งแม้จะมีหลายบริษัทที่เข้าไปสนับสนุนหรือรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จาก เกษตรกรเหล่านี้ แต่ผู้คนในสังคมโดยเฉพาะชาวน่านต่างมุ่งตรงไปที่ซีพี เรียกว่าเป็นผู้ถูกกล่าวหาหมายเลข 1 เลยทีเดียว
ฉะนั้น เมื่อเสี่ยปั้นมาเป็นโต้โผใหญ่ในการฟื้นฟูดูแลป่าต้นน้ำเมืองน่านอย่างจริง จัง เพราะทนไม่ได้ที่จะเห็นพื้นที่ป่าต้นน้ำถูกทำลายปีละนับแสนไร่อีกต่อไป จึงได้ใช้กำลังภายนอกและภายในชักชวนให้เครือเจริญโภคภัณฑ์เข้ามามีส่วนรับ ผิดชอบในฐานะที่เป็นกลไกอันหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาพเขาหัวโล้นด้วย
งานนี้ถ้าไม่ใช่เจ้าสัวบัณฑูรออกโรงเอง คงยากที่จะดึงซีพีเข้ามาร่วมด้วย พูดได้ว่าเป็นเพราะบารมีของซีอีโอธนาคารกสิกรไทยโดยแท้ บวกกับความรับผิดชอบต่อสังคมของค่ายซีพี ซึ่งประกาศเจตนารมณ์ต่อสาธารณชนมาตลอดว่าจะร่วมสร้างสรรค์สังคมไทย
ครั้งนี้จึงเป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่ง
เสี่ยปั้นพูดถึงซีพีว่า "เขาควรจะมีสำนึกและเริ่มคิดว่าเขาควรจะมีบทบาทที่ดีกว่านี้ ไม่อย่างนั้นก็โดนยำทุกวัน ใช่ไหม อย่างนี้ดีกว่า ศุภชัยเขาตั้งใจฟัง ที่ผ่านมาลูกน้องอาจจะไปบอกว่าเราไม่ได้ซื้ออะไรมากมาย แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น ประเด็นอยู่ที่ว่าสังคมเขามองภาพซีพีกลายเป็นลบ มันต้องแก้ การแก้ไม่ใช่การลงโฆษณา ภาพพจน์ที่ยั่งยืนต้องลงมือทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเขาเริ่มจะทำ อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แล้วซีพีก็มีศักยภาพมีทรัพยากรที่จะช่วยสังคมเยอะเลย ขอให้พูดถูกประเด็น ศุภชัยเขาก็มาเอง คุณธนินท์คอยแบ็กอยู่ข้างหลัง"
"อย่างน้อยท่านประธานธนินท์ก็ถามผมว่าเรื่องนี้ควรจะทำอย่างไร ผมบอกว่าให้ส่งศุภชัยมา แล้วผมพาลงให้ดูประเมินสถานการณ์ว่าเป็นอย่างนี้ ยูก็ต้องมีส่วนมาช่วยเพราะยูถูกมองว่ายูไปทำให้เขาเสียใช่ไหม เท็จจริงยังไงสังคมเขามองอย่างนี้ ยูจะต้องแก้ อย่างน้อยเขาก็ฟัง ไม่ใช่มาเถียง ไม่ได้ทำมากมาย มันไม่มีใครได้ยิน ค่อยๆ เริ่มอย่างนี้ถูกต้องแล้ว"
คำบอกเล่าดังกล่าวชี้ชัดว่าเรื่องนี้ท่านประธานธนินท์เห็นความสำคัญของ เรื่องนี้จริงๆ และไม่ใช่พูดเฉยๆ แต่ส่งลูกชายหัวแก้วหัวแหวนมาลงลุยเอง พร้อมกับงบประมาณก้อนโตที่พาสื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวในพื้นที่
ว่าไปแล้ว แม้งานดังกล่าวเสี่ยปั้นจะเป็นพระเอก แต่เมื่อนักข่าวปะหน้าทายาทคนสำคัญเจ้าสัวธนินท์ ก็ต้องไปโฟกัสที่หนุ่มใหญ่รายนี้ด้วย เพราะดูเหมือนค่ายซีพีจะต้องตอบคำถามสังคมให้เคลียร์ในหลายๆ ประเด็น หลังจากที่ปีสองปีนี้ซีพีเจอมรสุมหลายลูกกระหน่ำ จนบางครั้งบางคราวตั้งรับแทบไม่ทัน อย่างกรณีขนมเค้กสอดไส้คัสตาร์ดรสกล้วยยี่ห้อ "สยาม บานาน่า" ที่สุดท้ายของเรื่อง ทางซีพีผลิตขนมแบบเดียวกันนี้ขายในเซเว่นฯ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้เคยเจรจากับผู้ประกอบการดังกล่าวให้ผลิตมาส่งขาย
กับคำถามที่ว่าที่ผ่านมาซีพีโดนปัญหาภาพพจน์เสียหายในหลายเรื่อง รู้สึกกังวลหรือไม่อย่างไร
คุณศุภชัยตอบด้วยน้ำเสียงราบเรียบปกติว่า "ถ้าดูตามประวัติของซีพีโดนเป็นระยะๆ บางอย่างสิ่งที่เราต้องปรับปรุงก็มี สิ่งที่เราต้องอธิบายทำความเข้าใจก็มี ต้องถือว่าเป็นเรื่องปกติ ถามว่าซีเรียสไหม เราก็ต้องจัดการให้มันถูกต้อง แต่คงต้องบอกว่า มันไม่มีเรื่องอะไรที่เราสบายๆ"
ท่านประธานธนินทน์ให้นโยบายอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า
คุณศุภชัยแจงว่า "ท่านก็พูดชัดท่านบอกว่า เรื่องความยั่งยืนอยู่ในคุณค่าขององค์กรอยู่แล้วในเรื่อง 3 ประโยชน์ คือ ประเทศชาติต้องมาก่อนประชาชนในประเทศ แล้วถึงจะมาบริษัท ฉะนั้น อะไรที่มันพลิกอีกทาง เราจะไม่ทำเด็ดขาด แม้สมมุติว่าเราทำอะไรที่เป็นธุรกิจที่ทำให้เกิดความเสียหาย เราเลิกทำดีกว่า นโยบายเป็นอย่างนั้นเลย"
สําหรับคำถามคาใจ ที่ผู้คนในหลากหลายวงการตั้งข้อสังเกตตรงกันก็คือ ในปัจจุบันและในอนาคตข้างหน้า ค่ายซีพีจะลงทุนผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเองเกือบทั้งหมดใช่หรือไม่ คำถามนี้สืบเนื่องมาจากระยะหลังมีการผลิตสินค้าภายใต้ซีพีอออกมาเยอะแยะ และล้วนเป็นสินค้าขายดีแทบทั้งนั้น จนเอสเอ็มอีและโอท็อปจำนวนไม่น้อยหวาดกลัวว่าต่อไปคงจะทำมาหากินยากขึ้นแน่ หากรายใหญ่เข้ามาเป็นผู้ผลิตเสียเอง ในขณะที่มีตลาดรองรับพร้อมสรรพ
ประเด็นนี้กรรมการบริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ อธิบายอย่างยืดยาวว่า "ผมคิดว่ามีความเข้าใจผิดอยู่เยอะ อย่างแบรนด์เซเว่นซีเล็คก็ซื้อจากเอสเอ็มอี ทีนี้ถ้าเราดูในเซเว่นฯ จะเห็นว่าเป็นของยี่ห้อต่างประเทศ 70-80% คือคนไทยนิยมบริโภคของที่มียี่ห้อ กลายเป็นว่ายี่ห้อของคนไทยกันเองไม่ยอมซื้อ อันนี้เป็นไปตามผู้บริโภค ฉะนั้น ตัวเซเว่นซีเล็คมันก็เกิดขึ้นจากการที่มีการสร้างแบรนด์ที่คนไทยเห็นว่าแบ รนด์เซเว่นฯ ดี ลองดู แต่จริงๆ เป็นการร่วมมือกับเอสเอ็มอี"
อันนี้แสดงว่าไม่ใช่ซีพีจะทำทุกอย่างดังที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตใช่ไหม คุณศุภชัยย้ำว่า "เป็นไปไม่ได้...เป็นไปไม่ได้ และในเซเว่น อีเลฟเว่น มันขับเคลื่อนด้วยกระบวนการด้วยโปรเซสว่า สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ อันไหนที่ผู้บริโภคไม่ต้องการพอยอดขายมันไม่ได้ปุ๊บมันก็ต้องเปลี่ยน เอาของใหม่ ต้องสร้างสิ่งใหม่ๆ ซึ่งจะเป็นเอสเอ็มอีรายอื่น โดยยี่ห้อเขาเองก็ได้ หรือว่าจะเป็นภายใต้เซเว่นซีเล็คก็ได้"
"ผมอยากจะให้มองภาพว่าจริงๆ แล้วถือว่าเซเว่นฯ สร้างแบรนด์ของไทยแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศ ในอีกมุมหนึ่งอาจจะต้องมองอย่างนี้ด้วย แต่ว่ามันอาจจะมีความเข้าใจผิดหรือแอ็กซิเด็นต์ในบางเรื่องบางครั้ง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องหาทางในการที่จะต้องปรับปรุง"
เมื่อ ถามต่อว่า การที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ แสดงว่าทางครอบครัวอยากให้เข้ามาดูแลภาพใหญ่ของเครือด้วย แทนที่จะดูบริษัททรูฯ แห่งเดียว
คุณศุภชัยตอบทันควันด้วยน้ำเสียงแสดงความมั่นอกมั่นใจว่า "ครับ เป็นเรื่องที่ได้รับมอบหมาย และเราก็ชอบทำ (หัวเราะ) ชอบ อยากทำ เพราะผมมีความคิดว่าเครือทำประโยชน์ให้ประเทศก็เยอะ แต่จะทำได้เยอะกว่านี้อีก และถ้าผมมาทำตรงนี้ เราอาจจะทำให้ประโยชน์ให้กับประเทศได้มากขึ้นไปอีก รวมทั้งชุมชนด้วย จะเป็นสิ่งที่วิน-วิน เป็นบวก-บวก ตอนนี้ผมเป็นกรรมการบริหารของเครือเจริญโภคภัณฑ์ด้วย และถูกมอบหมายให้ดูเรื่องความยั่งยืนขององค์กร (sustainability) ผมคิดว่าเครือเองมีส่วนที่จะทำประโยชน์กับส่วนรวมได้อีกเยอะ"
มองว่าเรื่องต่างๆ เดี๋ยวก็ผ่านไปได้ใช่ไหม เป็นคำถามสุดท้ายก่อนที่ทายาทเจ้าสัวซีพีจะไปขึ้นเครื่องกลับ กทม.
"มีปัญหาก็ต้องแก้ไข มันเป็นเรื่องปกติของการดำเนินงาน แต่ถ้าเราไม่เรียนรู้ ไม่ปรับปรุง ไม่แก้ไข อันนี้จะเป็นปัญหาจริง" นั่นคือคำตอบจากศุภชัย
ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย