สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เจาะปมพิพาท พระบรมธาตุนครฯ ยอดทองคำ ขึ้นสนิม และตึกมุสลิมในวัดพุทธ จริงหรือ?

จากประชาชาติธุรกิจ

เป็นที่ถกเถียงอย่างดุเดือดสำหรับว่าที่มรดกโลกทางวัฒนธรรมอย่างวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช เมื่อปลียอดของพระบรมธาตุเจดีย์ มีคราบสีน้ำตาลคล้ายสนิมเกาะอยู่อย่างเด่นชัดสะดุดตา ซึ่งเกิดขึ้นหลังการบูรณะยอดทองคำโดยกรมศิลปากร

จึงเกิดคำถามว่า เป็นไปได้อย่างไรที่ทองแท้จะขึ้นสนิม จึงมีการตั้งข้อสงสัยว่า มีการฉ้อโกงทองคำหรือไม่ ? รวมไปถึงกรณีอาคารใหม่หลังหนึ่งในเขตวัด ซึ่งถูกมองว่ามีแผนผังคล้าย "มัสยิด" จึงไม่เหมาะสมที่จะอยู่ในเขตวัด

2 ประเด็นนี้ นำไปสู่การรวมตัวของกลุ่มชาวพุทธภาคใต้นับร้อยรายเมื่อ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องคำอธิบายที่แน่ชัดจากกรมศิลป์ และผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงการเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมโดยกลุ่มพระสงฆ์ เมื่อ 8 ก.ย. อีกด้วย ระหว่างที่ยังไม่มีคำตอบแน่ชัดจากสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช โดยเฉพาะเรื่องคราบปริศนา ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีการตรวจสอบอย่างละเอียด ภายในเดือนกันยายนนี้

ลองมาฟังข้อมูลทั้ง 2 ฝั่ง พร้อมเปิดรายงานย้อนหลัง 28 ปีแห่งการบูรณะไปพร้อมๆ กัน


พระบรมธาตุนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน เกิดปัญหาคราบสีเหลืองออกน้ำตาลเห็นชัดเจนบนปล้องไฉนสีขาว รอการตรวจสอบแก้ไขจากกรมศิลปากร


ทองแท้ ทำไม′ขึ้นสนิม′?

เริ่มต้นที่ชนวนชวนสงสัย ด้วยข้อเท็จจริงตามหลักวิทยาศาสตร์ที่ว่า "ทองแท้ ไม่ขึ้นสนิม" แต่เหตุใดหลังการบูรณะพระบรมธาตุครั้งล่าสุดโดยกรมศิลปากร จึงเกิดคราบสีเหลืองน้ำตาลขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2557 โดยเชื่อว่ามีสิ่งไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นกับยอดทองคำ ดังที่ พระปลัดนรุตม์ชัย อภินันโท เลขาฯ องค์กรพิทักษ์พระพุทธศาสนา กลุ่มพระสงฆ์ภาคใต้ ตั้งคำถามว่า กรมศิลป์ใช้วัสดุอะไรในการบูรณะ เพราะหากใช้ทองแท้ ต้องไม่เกิดสนิมดังเช่นที่เป็นอยู่

นอกจากนี้ องค์กรดังกล่าวยังวิจารณ์การทำงานของกรมศิลปากรที่ทำให้องค์พระธาตุเกิดสนิม ไม่สวยงามและดูขลังเหมือนในอดีต

"กรมศิลปากรทำงานได้น่าอับอายมากกับพระพุทธศาสนา เพราะองค์พระธาตุก่อนบูรณะมีความสวยงาม และมีความขลัง แต่เมื่อกรมศิลป์มาบูรณะสภาพองค์พระธาตุทองคำกลายเป็นสนิม ไม่ทราบว่าบ้านนี้เมืองนี้มีใครจะเอาผิดกับกรมศิลป์ได้หรือเปล่า"

ประเด็นนี้ บวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร เคยออกมายอมรับว่า คราบที่เห็นน่าจะเป็นสนิมจริงๆ แต่อาจเกิดจากวัสดุก่อสร้างอื่นๆ บนส่วนยอดของพระบรมธาตุ และหากย้อนไปค้นข้อมูลเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา คือในช่วง พ.ศ.2555 ก็เคยมีคราบต้องสงสัยมาแล้ว

ครั้นตรวจสอบละเอียดพบว่าเกิดจากสนิมของเหล็กที่รัดอยู่บริเวณโคนปลียอดเป็นสนิมเหล็กดังกล่าว ทางวัดใช้ชักโคมไฟขึ้นลง กรมศิลป์จึงปลดเหล็กและรอกออก แล้วขัดล้างเสร็จสิ้นในปี 2556 นี่จึงไม่ใช่ครั้งแรกของการเกิดคราบในลักษณะดังกล่าว


(ซ้าย) พระบรมธาตุนครศรีธรรมราช เมื่อราว 30 ปีก่อน ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร สันนิษฐานว่าคงมีคราบคล้ายสนิมตลอดมา แต่ไม่เห็นเด่นชัดเพราะสีคล้ำ (ขวา) การบูรณะส่วนยอดพระบรมธาตุ โดยสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2530



นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลว่าแผ่นทองคำแท้ 96.5% ก็มีโอกาสเกิดสนิม แต่เป็นสนิมจากโลหะอื่นมาเกาะ

"ทองคำแท้ๆ จะไม่เกิดสนิม แต่อาจมีสนิมจากโลหะอื่นมาจับที่ผิวได้ง่ายเช่น คราบสนิมของเครื่องมือทำทองที่วางไว้ข้างๆ กัน จึงอาจอธิบายปรากฏการณ์ที่แผ่นทองคำมีคราบสนิมเกาะ เช่น เครื่องทรงพระพุทธรูป เครื่องประดับ และยอดฉัตรที่ทำจากทองคำแท้" ศุภโชค เกิดศรี ช่างทองเอกชนกล่าว

อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่สำนักศิลปากรฯ นครศรีธรรมราช ยังไม่มีคำตอบ "อย่างเป็นทางการ" ให้ประชาชนรับทราบ คำอธิบายเหล่านี้ ก็ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่ไม่เคลียร์คัตในความรู้สึกของผู้ตั้งคำถามอยู่นั่นเอง


คนนครฯ ถามหนักหน่วง ตะปูเงินยวงหายไปไหน ?


อีกประเด็นที่ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้ง คือเรื่องการหายไปของ "ตะปูเงินยวง" แบบโบราณ ที่เคยใช้ตอกแผ่นทองมาแต่เดิม โดย (เชื่อว่า) ไม่ทำให้เกิดสนิม คำถามคือ เหตุใดจึงเปลี่ยนจากตะปูชนิดดังกล่าวมาใช้ตะปูสมัยใหม่ที่อาจเป็นสาเหตุของคราบสนิมในปัจจุบัน

เมื่อย้อนไปดู "รายงานสรุปการสำรวจและล้างทำความสะอาดกลีบบัวทองคำ พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช" โดย กลุ่มงานช่างโลหะ และช่างศิราภรณ์ กลุ่มประณีตศิลป์ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จะพบว่า ตะปูดังกล่าว ถูกนำออกไปตั้งแต่การบูรณะเมื่อ พ.ศ.2530 เพราะหมดสภาพการใช้งาน ส่วนตะปูใหม่ เป็นตะปูตอกคอนกรีตซึ่งเคลือบน้ำยากันสนิม

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวที่เชี่ยวชาญด้านวัสดุก่อสร้างรายหนึ่ง ให้ความเห็นว่าแม้จะเคลือบน้ำยา ก็ใช่ว่าจะ "เอาอยู่" จึงไม่น่าแปลกใจหากตะปูดังกล่าวจะเกิดสนิม

ถามว่า วิทยาการในศตวรรษที่ 21 สามารถประดิษฐ์ ตะปูเลียนแบบของเก่าไม่ได้หรือ ?

แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวว่า ทำไมจะทำไม่ได้ ตะปูเงินยวงนั้นไซร้ ก็คือ "พาราเดียม" มีคุณสมบัติคล้ายเงิน ซึ่งจริงๆ แล้วก็ขึ้นสนิม แต่สีแตกต่างจากสนิมเหล็ก คนจึงเข้าใจผิดว่า ไม่ขึ้นสนิม นอกจากนี้ โลหะชนิดอื่นๆ ก็ล้วนขึ้นสนิมได้ ไม่ว่าจะเป็น ทองเหลือง สัมฤทธิ์ ทองแดง หรือแม้แต่สแตนเลส ดังนั้น ที่มีผู้ระบุว่ามีแต่เหล็กที่ขึ้นสนิม จึงเป็นความเข้าใจผิดๆ

ส่วนเหตุผลว่า หากทำเลียนแบบตะปูเงินยวงได้ แล้วใช้ตะปูตอกสแตนเลสเพื่อ ?


"ไม่กล้าฟันธงว่าทำไม แต่อาจเสี่ยงเรื่องการเจาะกลีบบัวซึ่งบางส่วนเปราะบางมาก คงกลัวแตก เลยใช้ตะปูที่ตอกเข้าปูนสะดวก" แหล่งข่าวกล่าว


กรมศิลป์ซ่อม 2 ครั้ง ทองหาย 40 กิโล?

มาถึงประเด็นเข้มข้นร้อนฉ่าที่ กลุ่มปกป้องพระพุทธศาสนานครศรีธรรมราช เผยแพร่ข้อมูลว่า กรมศิลป์ทำให้ทองแท้บนยอดพระธาตุสูญหายไปถึง 40 กิโลกรัม นับตั้งแต่การบูรณะในปี 2530 เป็นต้นมา โดยใช้แผ่นเหล็กรวมถึงตะปูโลหะทาสีทอง "ตบตา" ชาวบ้าน

"การบูรณะของกรมศิลปากรที่ใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน โดยใช้งบในการบูรณะในแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท คือการขึ้นไปเอาทองออกแล้วใช้แผ่นเหล็ก ตะปูเหล็กทาสีทองเพื่อตบตาประชาชน ผู้ศรัทธา จนในวันนี้ทองยอดพระธาตุเมืองนคร หายไปถึง 40 กิโล โดยกรมศิลปากรให้คำตอบกับประชาชนไม่ได้"

ประเด็นนี้ อาณัติ บำรุงวงศ์ ผอ.สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช ชี้แจงในเบื้องต้นว่า ในส่วนของ "แผ่นเหล็กทาสีทอง" ตามที่ถูกตั้งคำถามนั้น เข้าใจว่าคงหมายถึง "หลังคา" ป้องกันฝนกระเซ็นเข้าไปตกค้างบนส่วนยอดพระบรมธาตุ ซึ่งใช้ "ทองแดง" พ่นสีทอง ถ้าใช้ทองคำแท้จะใช้เงินหลายสิบล้านบาท

อีกส่วนหนึ่งคือโลหะที่ครอบกลีบบัว ทำจาก "ตะกั่ว" เนื่องจากหากใช้ทองคำแท้ ต้องใช้งบประมาณสูงมากเช่นกัน อีกทั้งเดิมเป็นเพียงการตอกตะปูธรรมดา แต่ในการบูรณะภายหลังเกรงว่าจะไม่แข็งแรงพอ จึงทำขึ้นเพิ่มเติม แล้วทาสีทองเพื่อความกลมกลืน สำหรับประเด็นที่ทองคำหายไป อาณัติบอกว่า ทองคำนั้นเมื่อนำมาหลอมแล้วส่วนหนึ่งจะสูญไปกับไฟ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ทำให้น้ำหนักทองเมื่อชั่ง กับหลังการหลอมออกมาไม่เท่ากัน

นอกจากนี้ บางส่วนมีทองคำฉาบผิวเพียงเล็กน้อย เนื้อในเป็นวัสดุอื่น เวลาชั่ง กับหลอมออกมา ตัวเลขจึงต่างกัน และอีกปัจจัยหนึ่งคือ ทองเก่า จะมีส่วนผสมของเงินอยู่ด้วย

"ตัวเลขที่หายไปนั้น อาจมาจากของเดิมชั่งได้เท่าไหร่ พอหลอมแล้วสูญไปกับไฟ และทองเก่าจะเป็นทองเนื้อขาวบางๆ ที่มีส่วนผสมของทองคำและเงิน ซึ่งเป็นเทคนิคการทำทองสมัยโบราณ ส่วนทองคำแท้ในปัจจุบัน จะออกสีแดงเล็กน้อย ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้น้ำหนักไม่เท่ากัน" ผอ.สำนักฯกล่าว และย้ำว่า ข้อมูลเหล่านี้ กรมศิลป์ไม่เคยปิดบังแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ความจริงแล้ว ยอดพระธาตุ (บางส่วน) "ไม่ใช่ทองแท้" มาแต่เดิม โดยสภาพก่อนการบูรณะเมื่อ 28 ปีก่อนนั้น ส่วนของ "กลีบบัว" นั้น ผุกร่อน และ "เป็นสนิม" เนื่องจากกลีบบัวทองคำ 13 แผ่นจาก 60 แผ่น ไม่ได้เป็นทองคำแท้ แต่ทำจากโลหะที่มีทองแดงผสมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ก็มีเหตุให้ชวนตั้งคำถามอีกเช่นกันว่า ส่วนต่างที่หายไป จะมีจำนวนมากมายถึง 40 กิโลกรัมเชียวหรือ?


(บน) กลีบบัวของเดิม 13 ใน 60 แผ่น ไม่ได้ทำจากทองแท้ ตะปูโบราณเสื่อมสภาพต้องใช้ตาข่ายคลุม (ภาพเมื่อ พ.ศ.2530) (ล่าง) เจ้าหน้าที่รื้อรอกและโครงเหล็กของวัดออกจากยอดพระบรมธาตุ เมื่อ พ.ศ.2555 เพราะเป็นสาเหตุการเกิดคราบสนิมไหลสู่ปล้องไฉน

อาคารเจ้าปัญหา  เลียนแบบ′มัสยิด′ หรือ′ชิโนโปรตุกีส′กันแน่ ?

มาถึงประเด็นพ่วงท้ายที่มาแรงไม่แพ้กัน อย่างกรณีศูนย์จำหน่ายสินค้าที่ระลึกในวัดดังกล่าว ซึ่งกรมศิลป์ชี้แจงว่าเป็นแบบชิโน-โปรตุกีส อันเป็นส่วนผสมระหว่างศิลปะจีนและโปรตุเกส แต่พุทธศาสนิกชนกลุ่มหนึ่ง มองว่าดูอย่างไรก็คล้าย "มัสยิด"

ล่าสุด องค์กรพิทักษ์พระพุทธศาสนา กลุ่มพระสงฆ์ชาวพุทธภาคใต้ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่กระทรวงวัฒนธรรม โดยระบุว่า เขตพุทธสถานสิ่งก่อสร้างต้องเป็น "พุทธศิลป์" เท่านั้น

"เอาแบบแปลนแบบนี้มาสร้างในเขตพระธาตุซึ่งเป็นที่สักการบูชาของคนทั้งประเทศสมควรแล้วหรือ แล้วทรงไทยๆ ทรงวัดแต่เดิมซึ่งมันชี้ชัดว่าเป็นแบบฉบับของวัดทำไมไม่สร้าง เอกลักษณ์ไทยมันไม่ดีตรงไหน" ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งตั้งคำถาม

ด้าน ธนกฤต ลออสุวรรณ อาจารย์คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ วิเคราะห์ว่า

อาคารที่มีช่องโค้ง หลังคาเรียบ ไม่มีลายไทย เป็นลักษณะพื้นฐานที่ใช้ในอาคารยุครัชกาลที่ 4-5 ซึ่งก็เหมือนกับสถาปัตยกรรมอิทธิพลตะวันตกทั่วไป อย่างในภาคใต้จะเห็นชัดเจนเนื่องจากมีความสัมพันธ์กับปีนัง ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ จึงมีอาคารในรูปแบบดังกล่าวมากมาย

ส่วนการถูกมองว่าเป็นศิลปะมุสลิมนั้นคงเป็นประสบการณ์ของผู้มอง ซึ่งอาจจะคุ้นชินกับวัดที่เป็นศิลปะไทยแท้ พอเห็นอาคารที่ถูกลดทอนรายละเอียด เลยมองว่าดูไม่เป็นไทย จริงๆ แล้ว ถ้าพิจารณาหน้าที่ใช้สอยว่าเป็นอาคารขายของที่ระลึก ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ช่อฟ้า ใบระกา ลายไทย

"อาคารที่เป็นประเด็นอยู่นี้ ไม่ได้ชัดเจนว่าเป็นของมุสลิม ถ้าจะตีความถึงการเป็นศิลปะมุสลิม ก็ควรจะมีโดม ช่องโค้งแหลม และรอยหยัก ในขณะที่อาคารดังกล่าว มีแค่ช่องโค้ง เสาเรียบ ซึ่งพบทุกที่ในไทย อย่างวัดในเมืองสงขลา จะใช้ช่องโค้งแบบนี้แทบทุกวัด" ธนกฤตทิ้งท้าย

ประเด็นนี้ จะ "ไปต่อ" อย่างไร เป็นอีกเรื่องที่ต้องติดตาม เพราะน่าห่วงว่าอาจบานปลายกลายเป็นประเด็นระหว่างศาสนา

ปม พิพาทในครั้งนี้อาจเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกลับ มาพิจารณาว่าได้เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่มากพอหรือไม่ รวมถึงการออกมาให้ข้อมูลที่สังคมสงสัยอย่างทันท่วงที ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง

ในขณะเดียวกันผู้เสพสื่อ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียก็ต้องเปิดใจรับฟังข้อมูลรอบด้านเพื่อประกอบการพิจารณา แล้วหันมาร่วมกันแก้ปัญหา จึงจะเป็นการปกป้องพุทธสถานอันถูกสร้างขึ้นจากศรัทธาอย่างจริงแท้




นสพ.มติชนรายวัน


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : เจาะปมพิพาท พระบรมธาตุนครฯ ยอดทองคำ ขึ้นสนิม ตึกมุสลิมในวัดพุทธ จริงหรือ?

view