สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิกฤตสุนัขจรจัด ...เมื่อเรื่องหมาๆกลายเป็นวาระแห่งชาติ

จาก โพสต์ทูเดย์

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล

จากการสำรวจจำนวนประชากรสุนัขเมื่อปี 2557 ของสำนักงานปศุสัตว์ทั่วประเทศ พบว่า มีสุนัขในเมืองไทยมากกว่า 8.5 ล้านตัว ในจำนวนนี้เป็นสุนัขจรจัดถึง 700,000 ตัว แบ่งเป็นเพศผู้ 370,000 ตัว เพศเมีย 340,000 คาดการณ์กันว่า สุนัขเพศเมีย 1 ตัวมีโอกาสคลอดลูกได้มากถึง 10 ตัวต่อปี ฉะนั้นหากไม่มีการทำหมัน แต่ละปีมีแนวโน้มว่าจะมีสุนัขจรจัดเพิ่มขึ้นมากถึง 3,400,000 ตัว

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ผ่านมาสุนัขจรจัดถูกมองว่าเป็นปัญหาสังคมที่สร้างผลกระทบด้านต่างๆมากมาย ทั้งเห่าหอนสร้างมลภาวะทางเสียง วิ่งข้ามถนนตัดหน้ารถเสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน คุ้ยขยะสกปรกเรี่ยราด ขับถ่ายไม่เป็นที่เป็นทางส่งกลิ่นไม่พึงประสงค์ ที่สำคัญยังถูกมองเป็นพาหะทำให้เกิดโรคระบาด โดยเฉพาะโรคพิษสุนัขบ้า

คำถามคือ หมาจรจัดเป็นภัยคุกคามต่อสังคมจริงหรือ แล้วเมื่อไหร่จะได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเสียที

หมาจรจัด ... ผู้ร้ายตลอดกาล?

เมื่อเอ่ยถึง "สุนัขจรจัด" หลายคนคงนึกภาพหมาผอมโซ เนื้อตัวเหม็นสกปรก ชอบคุ้ยขยะหาอาหาร นั่งๆนอนๆอยู่ตามตรอกซอกซอย ตามชุมชนต่างๆ บางคนใช้วิธีเดินห่างๆไม่เฉียดเข้าใกล้เพราะกลัวอันตราย บางคนส่งเชียงชู่ๆไล่ ไม่ก็เอาหินเขวี้ยงด้วยความรำคาญตา

โรเจอร์ โลหะนันท์ นายกสมาคมพิทักษ์สัตว์ ผู้ทำงานคลุกคลีกับสุนัขจรจัดมานานกว่า 30 ปี เล่าว่า สุนัขจรจัดแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆคือ สุนัขเร่ร่อน พบได้ตามข้างถนน ไม่มีใครให้อาหาร จึงต้องคุ้ยเขี่ยตามถังขยะ พวกนี้อายุสั้น ไม่รถชนตายก็ป่วยเป็นโรคขาดสารอาหารตาย ส่วน สุนัขชุมชน เป็นสุนัขจรจัดที่มีคนใจดีคอยให้อาหาร จับทำหมัน ฉีดวัคซีน แต่มักไม่มีใครอ้างตัวเป็นเจ้าของที่แท้จริง

"หมาจรจัดไม่ใช่หมาป่า แต่เป็นหมาเลี้ยง หรือหมาบ้านมาก่อนทั้งนั้น ส่วนใหญ่เป็นหมาที่เจ้าของเลี้ยงแบบปล่อยปละละเลย ให้ออกไปนอกบ้านแล้วผสมพันธุ์กับหมาจรจัดตัวอื่นจนออกลูก หรือหมาที่ถูกเจ้าของทอดทิ้ง รวมทั้งฟาร์มเพาะเลี้ยงไม่มีจรรยาบรรณที่เพาะหมามาขายตามตลาดนัด หรือที่เรียกว่าหมากล่อง ราคาถูกแต่มักมีปัญหาสุขภาพ พอมีปัญหาเจ้าของจะคืนก็คืนไม่ได้ ก็เลยต้องทิ้ง"

ทัศนคติที่ว่าหมาจรจัดเป็นภัยคุกคามสังคม ถ้าเช็คให้ดีจะพบว่า สุนัขที่สร้างปัญหาล้วนเป็นสุนัขบ้านมีเจ้าของทั้งนั้น ไม่ใช่สุนัขจรจัด

"ข่าวหมากัดคนก็หมาบ้านทั้งนั้น จูงออกมาข้างนอกก็กัดเด็ก เลี้ยงไว้ในบ้านก็กัดคนแก่ หมาจรจัดเขาคุ้นเคยกับคน คนมา เขาก็ลุกหนี เรื่องมลพิษ หมาชอบคุ้ยขยะจริง แต่ไม่ได้มีแค่หมาที่คุ้ย ตะกวดก็คุ้ย คนก็คุ้ยมากกว่าหมาอีก เรื่องอึเรี่ยราดบนถนน ถ้าเทียบกับสัตว์อื่นอย่างนก แมว ปริมาณอึหมาน้อยกว่าด้วยซ้ำ ส่วนมลพิษทางเสียง คนเลี้ยงหมาจะทราบดีกว่า หมาเห่าเสียงดังน่ารำคาญคือหมาที่ถูกกักขัง แต่หมาจรจัดจะไม่เห่าเพราะชินกับคน สำหรับปัญหาเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า ผมว่าเราผิดตั้งแต่ใช้คำว่า 'พิษสุนัขบ้า' แล้ว เพราะมันทำให้เข้าใจผิดว่ามีแต่ในหมา ทั้งที่พบในแมวและวัวก็ถือว่าสูงพอๆกัน ลองไปถามสัตวแพทย์ตามคลีนิกดูว่าหมาที่อุ้มๆไปทำหมัน ฉีดวัคซีน เป็นหมาจรจัดทั้งนั้น เพราะคนใจบุญ หรือนักสังคมสงเคราะห์ทั้งหลายเขาพยายามจะลบภาพลักษณ์ที่ไม่ดี หมามีเจ้าของต่างหากที่ไม่ค่อยเข้ารับการฉีดวัคซีน เพราะคิดว่าเลี้ยงอยู่ในบ้าน ปลอดภัยแน่ แต่ลืมว่าเขาก็ปล่อยมันออกไปนอกบ้าน

ปล่อยวัด=บาป...ทัศนคติผิดๆที่ต้องเลิก

ทัศนคติผิดๆที่ปลูกฝังกันมาช้านานในกลุ่มคนเลี้ยงสุนัขจำพวกคือ 'คิดอะไรไม่ออกก็เอามาปล่อยวัด' ส่งผลให้พระต้องแบกรับภาระเลี้ยงสุนัขที่ถูกทอดทิ้งนับร้อยตัว เห่าหอนโหวกเหวก ขับถ่ายเรี่ยราดจนทำให้บรรยากาศที่ควรสงบร่มเย็นกลายเป็นโกลาหลวุ่นวาย

"ที่วัดสวนแก้วมีหมาจรจัดมานาน 15 ปีแล้ว แรกๆสร้างปัญหาปวดหัวมากมาย กัดญาติโยมบ้าง กัดกันเองบ้าง บางทีพระกำลังเทศน์มันก็มามีเพศสัมพันธ์กันหน้าธรรมาส ทำให้บรรยากาศวัดเสีย แทนที่จะจะสงบ ให้คนได้มานั่งกรรมฐาน จนในที่สุดเราก็ต้องแยกไปไว้เป็นสัดเป็นส่วน"เป็นคำบอกเล่าของ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว จ.นนทบุรี หนึ่งในวัดที่ต้องเผชิญกับปัญหาคนนำหมามาปล่อยทิ้ง

สาเหตุที่คนจำนวนไม่น้อยนำหมามาปล่อยที่วัด เนื่องจากวัดมีอาณาบริเวณกว้างขวาง อาหารการกินสมบูรณ์ พระก็ใจดีมีเมตตาชอบช่วยเหลือ

"บางคนคิดว่าไปปล่อยที่อื่นก็อาจวิ่งไปตัดหน้ารถ ปล่อยในชุมชนก็กลัวไปกัดชาวบ้าน แต่เขาไม่นึกเลยว่าปัญหาจะมาตกเป็นภาระแก่พระ คนที่มาปล่อยสงสารแต่ตัวเอง แต่ไม่สงสารวัด เลยแบ่งภาระมาให้วัด เดี๋ยวนี้ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเพราะกฎระเบียบคอนโดห้ามเลี้ยงสัตว์ ไม่รู้เอาไปไว้ไหนก็ต้องทิ้ง อาตมาเทศน์สั่งสอนมาตลอดว่า คุณจะเลี้ยงเขา ต้องเลี้ยงให้ตลอด แล้วเวลาเอาไปปล่อยที่ศูนย์พักพิง หรือบ้านสงเคราะห์สัตว์ ก็อย่าไปทิ้งไว้เฉยๆ เดือนนึงก็สงเคราะห์ค่าอาหาร ค่าดูแลไว้บ้าง คุณควรมีน้ำใจ ไหนๆก็ลดภาระตัวเองไปแล้ว ก็น่าจะไปช่วยลดภาระผู้ที่รับดูแลบ้าง ไม่ใช่ทิ้งแล้วทิ้งเลย

ปัจจุบัน คอนโดสุนัข สถานรับเลี้ยงสุนัขจรจัดที่มีชื่อเสียงของวัดสวนแก้วได้ดำเนินการมากว่า 10 ปีแล้ว มีสุนัขจรจัดในการดูแลประมาณ 800 ตัว ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนสูงถึง 300,000 บาท ถือเป็นภาระอันหนักอึ้งที่ทางวัดต้องแบกรับ

"แรกๆคิดจะทำแค่เล็กๆ 50-100 ตัว จัดสรรพื้นที่ให้เขาอยู่ 4 ไร่ ทำเป็นคอนโดชั้นๆโดยไม่กวนกันไม่กัดกัน แต่พอหลังชาวบ้านรู้ว่ามีที่ให้หมาอยู่ ก็เอามาฝากกันเต็มไปหมด ไอ้ที่ชั่วร้ายที่สุดคือ แอบเอามาปล่อย ต้องเหนื่อยไปตามไล่จับอีก โชคดีเดี๋ยวนี้ยังมีคนใจบุญมาช่วยเรื่อยๆ แบ่งเบาภาระไปได้รวมแสนต่อเดือน คอนโดสุนัขถือเป็นภาระหนักสุดของทางวัด เพราะคอนโดสุนัขไม่มีรายได้ ทำสวน ทำซูเปอร์มาร์เก็ตคนจนยังมีรายได้ ตรงนี้ถือเป็นเงินจม ก็ต้องเลี้ยงกันไปจนกว่าจะหมดอายุขัย"

เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว เผยว่า เคยคิดจะปิดคอนโดสุนัขหลายครั้ง แต่ด้วยความสงสารจึงต้องจำใจทน แต่ในอนาคตข้างหน้าจะแบกรับต่อไหวหรือเปล่ายังไม่รู้

"ตอนนี้อาตมากำลังหนักใจว่า ต่อไปคงเก็บหมาจรจัดทั้งหมดไว้ที่นี่ไม่ได้ วัดสวนแก้วมี 9 สาขา อาจจะทำที่พักพิงเล็กๆจำกัดจำนวนไว้แต่ละแห่งไม่เกิน 100 ตัว ยอมรับว่าที่ดินตรงนี้มีราคาแพงสามารถเอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ ค่อยไปซื้อที่ดินต่างจังหวัดที่ราคาถูกกว่าไว้รองรับสุนัขจากคอนโดสุนัขจะดีกว่า"

"เราช่วยแก้ปัญหาด้วยซ้ำ"... เสียงสะท้อนจากคนรักหมาจรจัด

กล่าวกันว่า สุนัขเร่ร่อนจรจัดที่เราเห็นกันตามตลาด ตรอกซอกซอย ชุมชนต่างๆ ล้วนมีเจ้าของทั้งสิ้น เจ้าของในที่นี้คือ เหล่าคนใจบุญและคนรักสัตว์ทั้งหลายที่คอยให้อาหาร พาไปทำหมัน ฉีดวัคซีน

กฤติกา สุวรรณปัญญา และ เกษม สุวรรณ คู่สามีภรรยาที่รับสุนัขจรจัดมาไว้ในความดูแลมากกว่า 200 ตัว ย่านสนามบินน้ำ เล่าให้ฟังว่า การให้อาหารสุนัขจรจัดก็เพื่อให้กินอิ่ม เมื่อคลายหิวโหย อาการก้าวร้าวก็จะลดน้อยลง ปัญหาเรื่องการทำร้ายคนก็จะไม่เกิด

"สาเหตุที่ชอบเลี้ยงหมาจรจัด มาจากสมัยก่อนจูงลูกไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ เห็นสายตาหมาจรจัดมองอาหารในมือคน เขาต้องแย่งกันกัดกันถึงจะได้กินเพราะความหิว เราเลยคิดว่าถ้าเขาได้กินอิ่ม ความก้าวร้าวจะลดน้อยลง ประเด็นที่ว่ายิ่งให้อาหาร หมาจรจัดยิ่งเพิ่มนั้นไม่จริง ถึงเราไม่ให้เขาก็คุ้ยขยะกินเองอยู่ดี จะโทษคนให้อาหารก็ไม่ถูก เรามาช่วยแก้ปัญหาด้วยซ้ำ เพราะถ้าเขากินอิ่ม เขาก็จะไม่ดุร้าย ถ้าได้ทำหมัน ปริมาณก็จะไม่เพิ่ม เวลาป่วยเราก็พาไปรักษา ฉีดวัคซีน เวลาเขาไปสร้างปัญหาเราก็รับผิดชอบ บอกตรงๆว่าเมื่อก่อนชุมชนนี้ชาวบ้านทะเลาะแตกแยกกันเพราะหมาจรจัด แต่พอเราไปให้อาหาร ช่วยทำหมัน ฉีดยา มันก็อยู่เป็นที่เป็นทาง ไม่รบกวนใคร บรรยาศสงบขึ้น สุดท้ายแล้วเขาก็จะไปเองตามอายุขัย ตามธรรมชาติ"

บ้านหลังนี้เลี้ยงหมาจรจัด หมาพิการจำนวน 130 ตัว กระจัดกระจายกันอยู่ในกรงขนาดใหญ่หลายกรง บางกลุ่มนอนในบ้าน บางตัวดุร้ายต้องแยกมานอนต่างหาก ทุกตัวได้รับอาหารอย่างเพียงพอ ทำหมัน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแล้วทั้งนั้น

"ค่าใช้จ่ายทั้งค่าอาหารเม็ด ค่าน้ำค่าไฟ ค่าหยูกยาต่างๆ ตกเดือนละประมาณ 7 หมื่น ไม่มีปัญหากับเพื่อนบ้านนะ โชคดีที่เขาเข้าใจ ไม่เคยโดนร้องเรียน แต่เวลาออกไปให้อาหารหมาจรจัดข้างนอกก็เคยเจอด่าลอยๆว่าเสียดายตังค์ ทำไมไม่เอาเงินไปช่วยคน รักมาก ใจบุญมาก ทำไมไม่เอาไปเลี้ยงที่บ้าน เราเถียงเลยนะ บางคนทำอะไรไม่ได้ต่อหน้าก็หันไปทำร้ายหมา คนส่วนใหญ่มองว่าหมาจรจัดเป็นขยะสังคมที่สมควรถูกกำจัดทิ้ง ไม่มีค่า ถึงขนาดบอกว่าที่วางยาเบื่อตายถือเป็นการช่วยสังคม ฟังแบบนี้สะอึกนะ ไม่รักไม่ชอบไม่เป็นไร แต่อย่าทำร้ายเขาเลย"

กฤติกา สุวรรณปัญญา และ เกษม ปัญญา

ถึงเวลายกระดับสู่วาระแห่งชาติ

เมื่อเร็วๆนี้ กรมปศุสัตว์ได้จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการจัดทำ "แผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดอย่างยั่งยืน ปี 2559–2563" เพื่อวางแนวทางการจัดระเบียบปัญหาสุนัขจรจัดในเมืองไทย

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยว่า ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์มีหน้าที่ฉีดยาคุมกำเนิด ฉีควัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และผ่าตัดทำหมัน แต่ก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ต้นเหตุอยู่ที่ผู้เลี้ยงที่ไม่มีจิตสำนึกความรับผิดชอบ

"ปัญหาสุนัขจรจัดถือเป็นวาระระดับชาติ เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าที่กรมปศุสัตว์จะทำเพียงกรมเดียว ต้องมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยกัน ทั้งสาธารณสุข กทม. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอ็นจีโอ ควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้คนเลี้ยงสุนัขและแมวมีความรับผิดชอบ ให้ที่พักให้อาหาร นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดยา ทำหมัน ไม่เลี้ยงแบบทิ้งๆขว้างๆ สำคัญที่สุดต้องให้มีการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ในต่างประเทศที่เขาประสบความสำเร็จเรื่องสุนัขจรจัด ก็เพราะเขาขึ้นทะเบียนสุนัข ฝังไมโครชิพ ผู้เลี้ยงต้องเสียภาษี ขณะเดียวกันการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการทารุณกรรมสัตว์จะช่วยแก้ปัญหาการทอดทิ้งสัตว์เลี้ยง เพราะมีความผิดทางอาญา คนเลี้ยงจึงไม่กล้าปล่อยปะละเลย"

ขณะที่คนรักสัตว์เลี้ยงอย่างกฤติกา เชื่อว่า การทำหมันเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมประชากรสุนัข

"ถ้าจะแก้ไขตั้งแต่ต้นทางต้องเริ่มจากสามัญสำนึกของเจ้าของหมา จะเอาผิดก็ต้องเอาผิดที่เจ้าของ จำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อนช่วงที่กทม.ให้นำสุนัขมาจด ฝังไมโครชิพ หมาจรจัดเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เพราะคนเลี้ยงไม่อยากรับผิดชอบ เหตุผลคือฝังชิพปุ๊บก็กลัวหมาจะไปทำความเดือดร้อน กัดคน ทำลายข้าวของ เขาเลยทิ้ง อีกอย่างการทำหมันก็ช่วยได้เยอะ ที่ผ่านมาเราทำหมันไปเป็นพันตัว ค่าใช้จ่ายประมาณตัวละ 2500 บาท ทั้งค่ายิงยาสลบ ค่ารถ ค่าทำหมัน ค่าตัดไหม ค่าดูแลต่อเนื่องอีกสองสัปดาห์ จริงๆมันควรเป็นหน้าที่รัฐด้วยซ้ำไม่ใช่หน้าที่้เรา"

ขณะที่ พระพยอม มองว่า ปัญหาสุนัขจรจัดไม่ถึงกับเป็นวาระแห่งชาติ แต่ก็เป็นประเด็นที่ทุกรัฐบาลควรพิจารณางบประมาณไว้จัดการโดยเฉพาะ

"ควรมีระเบียบกฎหมายมาควบคุมจัดระเบียบหมาจรจัดได้แล้ว ไม่งั้นจะบรรยากาศบ้านเมืองจะเละเทะแน่นอน"

สุดท้าย นายกสมาคมพิทักษ์สัตว์ ให้ความเห็นว่า ภาครัฐต้องทำงานร่วมกับชุมชนในการนำสุนัขเลี้ยง หรือแม้แต่ไล่จับสุนัขจรจัดมาขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

"การขึ้นทะเบียนสุนัขจะช่วยได้มาก คุณรู้ไหมว่ากทม.ออกบัญญัติการเลี้ยงและปล่อยสุนัขมาตั้งแต่ปี 2548 แต่ปรากฎว่าทุกวันนี้ยังไม่มีสุนัขไปขึ้นทะเบียนเลย เพราะข้าราชการทำงานแปดโมงเช้าเลิกสี่โมงเย็น เวลาจะไปถามชาวบ้านว่ามีหมากี่ตัว ขึ้นทะเบียนหรือยังก็จะเจอแต่บ้านเปล่าๆ เพราะเขาออกไปทำงานกันหมด จะให้ชาวบ้านนำหมาไปขึ้นทะเบียนเองก็ไม่มีใครว่าง เพราะทุกคนต้องทำงานทำการทั้งนั้น ถ้ายังไม่เน้นทำงานร่วมกับชุมชน ไม่ขอความร่วมมือกับลุงๆป้าๆข้างถนนที่ให้อาหารสุนัขจรจัดมาช่วยชี้ช่องระบุตัวสุนัข ก็ไม่มีทางขึ้นทะเบียนสุนัขได้ ที่สำคัญต้องออกกฎหมายควบคุมฟาร์มสุนัข ร้านเพ็ทช็อปต้องจดทะเบียนสุนัขแรกเกิด เหมือนจดทะเบียนรถยนต์ตั้งแต่โรงงาน ส่งไปต่อไปทางไหน อย่างไร ถ้าเจ้าของรู้ว่าหมาตัวเองมีทะเบียน มีไมโครชิฟในตัวหมา เขาจะมีความรับผิดชอบในการเลี้ยงมากขึ้น

ขณะที่ศูนย์พักพิงสุนัขต่างๆควรจะมีไว้สำหรับหมาที่ไม่สามารถอยู่ในที่สาธารณะได้เท่านั้น เช่น นิสัยดุร้าย ชอบกัดคน ไม่ใช่สร้างกันพร่ำเพรื่อ จับดะทุกตัวไปขังเท่าไหร่ก็ไม่มีวันหมด ในต่างประเทศถ้ามีหมาจรจัด โอกาสรอดน้อยมาก เพราะบ้านเขาระบบสุขอนามัยดี ไม่มีขยะให้คุ้ย คนไม่ให้อาหาร สุดท้ายก็อดตายไปตามธรรมชาติ ขณะเดียวกันเขาก็มีฝ่ายเทศบาลที่จับจริง มันจึงไม่มีโอกาสที่จะเพิ่ม ศูนย์พักพิงต่างๆเองก็ต้องควบคุมประชากรด้วย บางประเทศเขาใช้วิธีการุณยฆาต หากไม่มีคนมารับไปเลี้ยงเกิน 3 เดือนจะฉีดยาให้ตาย ถือเป็นการกระตุ้นสังคมด้วยว่าถ้าไม่อยากให้หมาตายก็มาเอาไปเลี้ยง"

โรเจอร์สรุปแนวทางแก้ไขปัญหาสุนัขจรจัดง่ายๆสั้นๆว่า ขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด คนเลี้ยงต้องมีจิตสำนึกรับผิดชอบ ทำหมัน ควบคุมฟาร์มเพาะเลี้ยงและเพ็ทช็อป จัดระเบียบศูนย์พักพิงสัตว์ หากทำพร้อมกันทั้งหมดนี้ได้ จำนวนสุนัขบนท้องถนนก็จะไม่เพิ่มขึ้น ส่วนที่ยังเหลืออยู่ก็ใช้ชีวิตต่อไปจนกว่าจะหมดอายุขัย

สุดท้ายหมาจรจัดก็จะไม่ใช่ปัญหาที่สร้างภาระแก่สังคมอีกต่อไป ดังเช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : วิกฤตสุนัขจรจัด เรื่องหมาๆ กลายเป็น วาระแห่งชาติ

view