สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พระพรหมเอราวัณ พลิกปูมศรัทธาและความเลื่อมใสของคนจีน

จาก โพสต์ทูเดย์

เรื่อง...Magz ออนไลน์ / ภาพ... www.novotelbangkokploenchit.com

"พระพรหมเอราวัณ" พลิกปูมศรัทธาและความเลื่อมใสของคนจีน

การเกิดเหตุระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์ใกล้กับศาลพระพรหมเอราวัณนั้น ทำให้คนไทยและนักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก แต่องค์พระพรหมได้รับแรงระเบิดจนเกิดความเสียหายน้อยมาก ทั้งที่อยู่บริเวณเดียวกัน ทำให้มีการกล่าวถึงปาฏิหาริย์ขององค์พระพรหมเอราวัณกันหนาหูผ่านปากต่อปากและทางโซเขียล เน็ตเวิร์ค กันมากมาย

แน่นอน ความเชื่อความศรัทธาไม่มีเส้นแบ่งของเชื้อชาติและพรมแดน ความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระพรหมเอราวัณเกิดขึ้นได้อย่างไร? มีที่มาที่ไปน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

จากเหตุการณ์นี้มีหลายคนในโลกออนไลน์ หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปต่างจับกลุ่มพูดคุย หลายคนพยายามตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ “องค์พระพรหมเอราวัณ” ว่า แรงระเบิดทรงพลานุภาพขนาดนี้ทำไมพระพรหมถึงไม่เป็นอะไรเลย

นั่นก็เป็นสิทธิของคนที่อยากรู้ คำตอบก็คงมีหลากหลายแตกต่างกัน ตามความเชื่อและความเห็นของแต่ละคน ความคิดเห็นถึงเรื่องพระพรหมเอราวัณไม่เสียหายมากจากเฟซบุ๊กมีที่น่าสนใจอยู่หลายบัญชีรายชื่อ แต่จากบุคคลที่ใช้ชื่อว่า Dawaraga Faey Awatayabura มีมุมมองที่น่าสนใจและอยู่พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่อธิบายได้อยู่พอสมควร

"ที่ฮือฮาปาฏิหาริย์พระพรหมโดนระเบิดใกล้ๆ ทำไมไม่เป็นอะไรเลย (ยกเว้นคางโดนเสยแหว่งไปราวกับโดนหมัดเด็ดของไมค์ ไทสัน เอ๊ย อันนั้นมันหู) ผมว่าไม่ใช่ปาฏิหาริย์นะฮะ ถ้าลองมองดูจริงๆ ว่าระเบิดนั้นถูก ‘วาง’ โดยจงใจให้ทิศการแผ่พุ่งของรัศมีระเบิดพุ่งออกด้านนอกรั้วเป็นหลัก ก็น่าจะพอเข้าใจได้ว่าทำไมพระพรหมไม่ค่อยจะโดนอะไร (แน่นอนว่าไอ้ที่ตายรอบๆ พระพรหมนี่ไม่เกี่ยวนะฮะ แรงอัด + สะเก็ดมันกระจายออกรอบๆ แต่ถ้าดูแนวรั้วจะเห็นว่าโป่งออกไปทางถนน...

ผมไม่รู้ว่าไอ้ระเบิดอีกลูกสองลูกนั้นอยู่ตำแหน่งไหนกันแน่อย่างชัดเจน และไม่รู้ว่าเพราะอะไรมันถึงไม่ระเบิด แต่ถ้าหากคิดในรูปแบบสงครามกองโจร ระเบิดลูกแรกไม่เพียงแต่ต้องการทำลายชีวิตเท่านั้น ยังต้องการให้เกิดการแตกซ่านของฝูงชนไปยังทิศที่ ‘เชื่อว่าปลอดภัย’ ซึ่งโดยทั่วไปคนมักหนีไปในทิศตรงกันข้ามกับสถานที่เกิดเพราะเชื่อว่าปลอดภัยกว่า แล้วระเบิดหรือกับดักที่วางไว้ในจุดนั้นก็จะทำงาน...สร้างโกโก้ครั้นช์ต่อไป

ที่เขียนมาเรื่อยเปื่อยนี่ไม่ใช่อะไรนะฮะ แค่อยากจะบอกว่า

1. พระพรหมไม่พังไม่ใช่ปาฏิหาริย์ แต่ ‘น่าจะเป็น’ การวางระเบิดแบบกำหนดทิศทางเป้าหมาย อย่างมงายกับเรื่องปาฏิหาริย์จนลืมสาระสำคัญของเหตุการณ์

2. คนทำวางแผนมาแน่นอน และยังสำรวจภูมิสถานมาอย่างดี มีกลยุทธ์แบบมืออาชีพ

แน่นอน ทุกอย่างผมอาศัยข้อสันนิษฐานจากภาพข่าวต่างๆครับ

โปรดอย่าเชื่อโดยไม่ไตร่ตรอง"

จากจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บมีนักท่องเที่ยวชาวจีนอยู่ไม่น้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนมาหลายสิบปีแล้วว่า แรงศรัทธาและความเชื่อของนักท่องเที่ยวชาวจีนในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิคต่อองค์พระพรหมเอราวัณนั้นล้นหลาม ทั้งนักธุรกิจ นักการเมือง ดารา ไฮโซ เซเลบบริตี้ และคนทั่วไปต่างเดินทางมาสักการะบูชาไม่ขาดสาย รวมทั้งมีการจัดทัวร์มาไหว้พระพรหมโดยเฉพาะก็มี

พวกเขามาเพราะความเชื่อและศรัทธา!

พวกเขาเชื่อว่า พระพรหมเอราวัณ ที่ราชประสงค์นี้ ช่วยเขาได้ และให้สำเร็จในสิ่งต้องการ ในสิ่งที่ขอและบนบานศาลกล่าว

เรื่องที่ขอหรือบนบานศาลกล่าวจากองค์พระพรหมนั้น มีหลากหลายตามแต่ผู้ขอหรือบนบานต้องการขอ เช่น ไม่มีลูกอยากได้ลูก ขายบ้านไม่ออกอยากขายได้ มีปัญหาธุรกิจอยากให้ธุรกิจราบรื่นรุ่งเรือง ตกงานอยากเปลี่ยนงานใหม่ขอให้ได้งาน เจ็บป่วยเป็นไข้ก็ขอให้หาย หรือนักศึกษาขอให้สอบผ่าน ดาราขอให้ได้งานดีๆ เข้ามาเยอะๆ บางคนก็ขอให้ชีวิตมีความสุข เป็นต้น

จุดเริ่มต้นเท่าที่สืบค้นได้ ในกระทู้หัวข้อ ‘ท้าวมหาพรหมเอราวัณ พระพรหมแห่งภาคพื้นเอเชีย’ ในเว็บไซต์เรือนไทย.วิชาการ.คอม ได้ให้ข้อมูลว่าในปี 2499 มีการในยุคนั้นการสร้างท้าวมหาพรหมถึง 3 แห่ง คือ 1.พระพรหม โรงแรมเอราวัณ 2.พระพรหม ทำเนียบรัฐบาล และ 3.พระพรหม โบสถ์พราหมณ์

พระพรหมที่โรงแรมเอราวัณ สร้างโดยกรมศิลปากร ฝีมืออาจารย์จิตร พิมพ์โกวิท จากกองหัตถศิลป์ การปั้นหุ่นองค์พระพรหมด้วยปูนพลาสเตอร์จากฝรั่งเศส ครั้นขึ้นหุ่นแล้วพร้อมที่จะนำเข้าหล่อโลหะ ปรากฏว่าทางโรงแรมต้องการอัญเชิญไปตั้งเพื่อจะประกอบพิธี จึงได้อัญเชิญท้าวมหาพรหมขึ้นประดิษฐานในซุ้ม 4 หน้าและเมื่อการบวงสรวงเสร็จสิ้นลง ก็ไม่ได้นำพระพรหมกลับไปเพื่อทำงานเททองเป็นองค์โลหะ จึงยังคงประดิษฐานสืบมา ส่วนตัวศาลา 4 หน้านั้นออกแบบโดย ม.ล. ปุ้ม มาลากุล และนาลจุลรวี ชมเสวี เป็นซุ้มทรงปราสาทสีหน้าทาสีขาว และมาประดับกระจกภายหลัง

สำหรับศาลพระพรหมเอราวัณ แยกราชประสงค์นี้ ถูกสร้างขึ้นมาอันเนื่องมาจากการที่พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ มีกำหนดให้มีการก่อสร้างโรงแรมเอราวัณ ขึ้นบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เพื่อรองรับแขกต่างประเทศในปี 2494

แต่ในช่วงแรกของการก่อสร้างได้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง แต่หลังก่อสร้างเสร็จในปลายปี 2499 ผู้บริหารโรงแรมจึงได้ติดต่อ พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ ร.น. นายแพทย์ใหญ่ กองทัพเรือ ซึ่งชำนาญในการนั่งทางในและการให้ฤกษ์ ได้หาฤกษ์วันเปิดโรงแรม

ปรากฏ พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ได้ท้วงติงการก่อสร้างโรงแรมไม่ได้มีการทำพิธีบอกสิ่งศักดิ์สิทธิ์บริเวณดังกล่าว อีกทั้งฤกษ์ในการวางศิลาฤกษ์ของโรงแรมก็ไม่ถูกต้อง

นอกจากนี้ชื่อโรงแรมยังเป็นชื่อของช้างทรงของพระอินทร์ (ท้าวสักกะ) ด้วยและถือเป็นชื่อที่ศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น จึงควรต้องทำให้ถูกต้องและเหมาะสม

พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์จึงแนะวิธีแก้ ด้วยการให้ตั้งศาลพระพรหมทันทีหลังการก่อสร้างโรงแรมเสร็จ นี่คือที่มา

สำหรับลักษณะของพระพรหมองค์นี้ กายสีทอง สี่พักตร์ (สี่หน้า) แปดกร (8 มือ) ในแต่ละกรทรงอาวุธที่แตกต่างกันออกไป อาทิ คทา จักร แว่นแก้ว สายประคำ ธารพระกรไม้เท้า ช้อน หม้อน้ำ คัมภีร์พระเวท ทรงหงส์เป็นพาหนะ และมีพระสุรัสวดีเป็นพระมเหสี

ส่วนวิธีบูชาที่ปฏิบัติกันมาคือ ความที่พระพรหมมี 4 พักตร์ 4 ทิศ การบูชาจึงต้องบูชาให้ครบทั้ง 4 พักตร์ 4 ทิศ ด้วยธูป 9 ดอก เทียน 2 เล่ม และเตรียมของในการสักการบูชาให้ครบ 4 ธาตุก่อน ซึ่งธาตุที่ว่าก็มีดิน น้ำ ลม ไฟ จากนั้นจึงไหว้ให้ครบทั้ง 4 ทิศ

ความเชื่อและความเลื่อมใสศรัทธาได้เกิดขึ้นมาจาก “พรขอ” ของผู้ที่อยากให้พระพรหมช่วยดลบันดาลประทานพรให้สมปรารถนา และพรขอเหล่านี้มักจะสำเร็จตามที่ผู้ขอต้องการ ซึ่งสามารถเห็นได้จากมีผู้ที่สมปรารถนาเดินทางมาแก้บนอยู่ทุกวันท่ามกลางผู้มาไหว้และขอพรมากมายทุกวัน

เมื่อย้อนไปปี 2549 เชื่อว่าหลายคนยังคงจำได้ มีชายคนหนึ่งไปทำลายองค์พระพรหมองค์นี้จนได้รับความเสียหายมาแล้ว และได้มีสร้างองค์ท้าวมหาพรหมเอราวัณขึ้นมาใหม่ โดยช่างสิบหมู่ของกรมศิลปากร ซึ่งวัสดุที่จะใช้ในการจัดสร้างยังคงใช้นวโลหะมงคล 9 อย่าง และมีการนำเนื้อขององค์เก่า หรือชิ้นส่วนมาบรรจุไว้ในองค์ ซึ่งพระราชครูวามเทพมุนี หัวหน้าคณะพราหมณ์ประจำเทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ เป็นผู้นำสูงสุดแห่งลัทธิพราหมณ์ในประเทศไทย ได้แนะแนวทางว่า ควรที่จะมีการบรรจุองค์เดิม โดยบดให้เป็นเนื้อละเอียดเหมือนเม็ดทรายบรรจุลงในภาชนะแล้วใส่ไว้ในองค์เดิม และดำเนินการจัดสร้างอย่างประณีตและตรงตามหลักของศาสนาพราหมณ์และฮินดู หลังจากนั้นก็จะนำไปบรรจุไว้ที่ตัวฐานของท้าวมหาพรหม เนื่องจากตามหลักศาสนาพราหมณ์มีความเชื่อเปรียบได้กับ การนำกระแสแห่งความดีของท้าวมหาพรหมตั้งแต่สมัยโบราณที่ได้ก่อตั้งมา รวมทั้งการที่มีประชาชนเข้ามากราบไหว้บูชาที่ศาลเหมือนเดิม ดังนั้นพลังงานและอณูความดีทั้งหลายก็จะแผ่กระจายออกมา ในองค์ที่จะเทหล่อขึ้นใหม่โดยเป็นสัญลักษณ์แห่งการทำความดี คือ พรหมธรรม 4 ประการ และเป็นองค์ที่ประดิษฐานอยู่ในปัจจุบันนี้

โดยดั้งเดิมเมื่อเปิดศาลท่านท้าวมหาพรหมเอราวัณ ยังคงไม่มีอะไรทั้งสิ้น มีเพียงศาล พร้อมกระถางธูปหัวสิงโตทองเหลืองใบใหญ่และต้นไม้ตัดทรงพุ่มเตี้ย ๆ เท่านั้น แขกที่พักชาวต่างชาติหากเป็นชาวยุโรปก็ไม่สนใจ มีแต่คนไทยที่เดินผ่าน เจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่ก็พากันมาไหว้เท่านั้น และเมื่อราว 40 ปีก่อน เมื่อผู้มาสักการะเกิดประสบความสำเร็จในการที่ได้บนบานไว้ ก็หาละครมารำแก้บนถวายเป็นครั้งคราว โดยติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่คุมศาลพระพรหม ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้มาจากเจ้าหน้าที่ของโรงแรมเอราวัณ ที่ลงชื่อหมุนเวียนมาทำความสะอาด มาดูแลบริเวณศาล เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ของโรงแรมเอราวัณ

ละครรำสมัย 40 ปีก่อนรำถวายแก้บนแล้วก็กลับบ้านไป ไม่ได้มีประจำเหมือนอย่างปัจจุบันนี้ นาน ๆ จะมีคนมาจ้างหาไปรำถวายสักรอบ ชาวฮ่องกงผู้มาเข้าพักที่โรงแรมเอราวัณ ผู้ที่เข้ามาขอพรท้าวมหาพรหม เกิดประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจ และได้บอกต่อไปยังเพื่อนพ้องว่า ให้มาไหว้พระสี่หน้า (ซี่ เมี่ยน ฝู) ที่เมืองไทยแล้วคุณจะโชคดีประสบความสำเร็จ และให้หาละครรำแก้บน (หว่าน ซั่น) ด้วยจึงจะโชคดี จึงเป็นที่มาของการละครที่เริ่มเข้ามามีบทบาท เนื่องจากผู้คนชาวไทย และต่างชาติเริ่มมีการให้มีการรำละครแก้บนหน้าองค์พระเกิดขึ้น

รวมถึงมีสามีภรรยาชาวฮ่องกงคู่หนึ่งอยู่กันมานานไม่มีบุตรสืบสกุลสักที มาเที่ยวเมืองไทย ก็เลยลองไหว้ขอลูกกับพระพรหม ปรากฏว่าเมื่อกลับฮ่องกงไป แกได้ลูกสมความปรารถนา ก็เลยเป็นเรื่องฮือฮากันมากจากนั้นก็เลยเป็นที่นิยมกันในฮ่องกงและไต้หวันว่าใครมีลูกยากอยากมีลูก ให้มาขอที่พระพรหมหน้าโรงแรมเอราวัณ เมืองไทย และส่วนมากที่มาไหว้ขอ ก็มักจะสมปรารถนาทั้งหมด ทำให้กลายเป็นกระแสของคนจีนที่อยู่ในแถบเอเชียแปซิฟิคเมื่อเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยก็มักจะมาสักการะพระพรหมเอราวัณเพื่อของพร และเมื่อสำเร็จดังมุ่งหมายก็กลับมาแก้บนด้วยละครรำจนถึงปัจจุบัน

สำหรับการบนบานการขอบุตรนั้น ปัจจุบันชาวจีนโพ้นทะเล ไม่ว่าที่มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนิเซีย มาเก๊า ฮ่องกง จะนิยมมาขอเป็นอย่างสูง บางครั้งก็จะนำลูกที่ขอนั้นนำกลับมาแสดงความเคารพ บ้างก็คุยให้รู้ไปทั่วเลยเพราะดีใจขนาดหนักว่าตนเองได้ลูกชายแล้ว เพราะติดยากมากมาขอท่านแป๊บเดียว ได้ลูกสมใจอยากในที่สุด

การที่เรียกพระพรหมเอราวัณว่าเป็น ‘พระพรหมแห่งภาคพื้นเอเชีย’ เนื่องจากสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ ต้องมาของทัวร์จีน และทัวร์ไหว้เจ้าของประเทศฮ่องกง, ไต้หวัน, จีน (บางพื้นที่), มาเก๊า, เกาะไหหลำ, เวียดนาม, พม่า, มาเลเซีย (ปีนัง - กัวลาลัมเปอร์), สิงคโปร์, อินโดนิเซีย (สุราบายา - บาหลี - จาร์กาตา), ชาวจีนโพ้นทะเลที่สหรัฐอเมริกา, อินเดีย

ส่วนองค์พระพรหมเอราวัณที่ได้จำลองรูปแบบไปประดิษฐานยังต่างประเทศนั้น มีหลายประเทศเช่นที่ไต้หวัน ฮ่องกง (วัดต้าไม) สหรัฐอเมริกา (ที่ลาสเวกัส และไทยแลนด์พลาซ่า ฮอลีวู๊ด) และประเทศจีน (วัดม้าขาว กรุงปักกิ่ง)



ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : พระพรหมเอราวัณ พลิกปูมศรัทธา ความเลื่อมใส คนจีน

view