จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ
หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังดูแลเรื่องการเก็บภาษีการซื้อขายผ่านออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซให้รัดกุมมากกว่าเดิม กระทรวงการคลังจึงได้ตั้ง 3 กรมภาษี คือ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร เข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อตรวจสอบและจัดเก็บภาษีให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้
สำหรับเงื่อนไขการตรวจสอบการเก็บภาษีการซื้อขายผ่านออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซ จะพิจารณาจากทั้งการดำเนินธุรกรรมที่แท้จริงว่ามีรายได้จากการซื้อขายเท่าไหร่ เสียภาษีครบหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อขายทางออนไลน์หรือนำเข้าจากต่างประเทศ เข้ามาขายผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้ยังไม่มีการควบคุมที่ดีพอ ซึ่งหลังจากนี้ผู้ทำธุรกิจบนออนไลน์ต้องปรับตัวรับกับการเก็บภาษีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
การคำนวณอัตราภาษีอีคอม เมิร์ซนั้น ผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดาไม่ใช่นิติบุคคล จะต้องนำรายได้จากการขายของผ่านช่องทางออนไลน์ไปรวมกับรายได้อื่นๆ เช่น เงินเดือนหรือดอกเบี้ย ถือว่าเป็นรูปแบบของเงินพึงประเมินที่ได้จากการขายสินค้า โดยจะเลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาหรือตามความเป็นจริงก็ได้ ซึ่งอัตรารายได้นี้ถ้าไม่เกิน 1.5 แสนบาท จะได้รับการยกเว้น แต่ถ้าเริ่มต้นที่ 150,001-300,000 บาท จะเสีย 5% และเพิ่มขึ้นทีละ 5% สูงสุดอยู่ที่รายได้รวม 4 ล้านบาทขึ้นไป จะเสียที่อัตรา 35%
หากเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งแบบจดทะเบียนในประเทศไทยและนิติบุคคลต่างประเทศที่มีสาขาในไทย และมีรายได้จากการขายสินค้า หรือกิจการขนาดเอสเอ็มอีที่มีกำไรสุทธิ 1-3 แสนบาท จะได้รับการยกเว้น หากมากกว่า 3 แสน-1 ล้านบาท เสียภาษี 15% และ 1 ล้านบาทขึ้นไป เสีย 20%
สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นประเภทใด ดังที่กล่าวมาในข้างต้นก็ตามและเป็นตัวแทนจำหน่ายที่นำเข้าสินค้าหรือให้บริการ มีรายรับเกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งจัดทำรายการภาษีซื้อขายให้ชัดเจน ไม่ว่าผู้ประกอบการดังกล่าวจะมีรายรับหรือไม่ก็ตาม
สุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท กรรมการผู้จัดการ แอดวานซ์ เอมเปย์ มองว่า การเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซนั้นควรเร่งทำความเข้าใจกับธุรกิจรายย่อยที่ไม่ได้จดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคล เพราะร้านค้าออนไลน์จะเป็นรายบุคคลเป็นส่วนมากและในช่วงแรกไม่ควรเก็บภาษีที่สูงเกินไป
อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้บริการและอัตรารายได้ส่วนบุคคลก็ควรอยู่ในระดับที่ผู้ขายรับได้ ในช่วงแรกควรจะเริ่มต้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่ไม่ควรเกิน 3% ก่อน เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยคุ้นเคยในระบบการชำระที่ถูกต้องเหล่านี้ จากนั้นในอนาคตค่อยจัดไว้ในอัตราที่เหมาะสมต่อไป
“ทางภาครัฐเองต้องเข้าใจด้วยก่อนว่า การนำสินค้าเข้ามาขายในช่องทางออนไลน์นั้น ผู้ขายจะมีต้นทุนจากราคาสินค้า โดยการคำนวณอัตราภาษีในช่วงแรกนั้น มีทั้งภาษีขาย (VAT) และภาษีที่ต้องชำระ เมื่อร้านค้าต้องแบกต้นทุนสองส่วน ก็จะเลี่ยงที่จะบอกที่มาของเงิน แต่ผู้ขายเองก็ต้องเข้าใจในมุมของทางภาครัฐด้วยเช่นกัน เพราะการซื้อขายออนไลน์เป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ไม่มีต้นทุนเรื่องของการจ้างงาน การตั้งหน้าร้าน เป็นแค่เงินรายได้ที่ี่มาจากการยินยอมซื้อของทั้งสองฝ่าย ทำให้ตรวจสอบที่มาของเงินได้ยากและมีความเสี่ยงสูงหากผู้ดำเนินธุรกิจนั้น มีการหลอกลวงและยากที่จะเข้าไปดำเนินการตามกฎหมายต่อไปได้ จึงต้องมีการทำทุกอย่างให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ถูกต้อง”สุปรีชา กล่าว
การจัดเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซจะช่วยให้ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ในไทยมีความชัดเจนและตรวจสอบได้ถือว่าเป็นการจัดมาตรฐานของร้านค้าออนไลน์ ให้มีความชัดเจนและสร้างรายได้เข้าประเทศอีกด้วย
ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย