สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไขข้อสงสัย สาวกโซเชียล โพสต์-แชร์-ใช้ กับ กม.ลิขสิทธิ์

จากประชาชาติธุรกิจ

มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 4 ส.ค. 2558 ที่ผ่านมา สำหรับ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2 และ 3) พ.ศ. 2558 สร้างความแตกตื่น งุนงงให้กับนักแชต นักแชร์บนโลกออนไลน์จำนวนมาก

ล่าสุด กรมทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดบรรยายพิเศษ "รู้จักกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่" มี "รศ.อรพรรณ พนัสพัฒนา" อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ หนึ่งในทีมยกร่างกฎหมาย และ "นุสรา กาญจนกูล" ผู้อำนวยการ สำนักกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา มาชี้แจงชัด ๆ เกี่ยวกับการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์กทั้งหลาย

"รศ.อรพรรณ พนัสพัฒนา" กล่าวว่าพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ "เพิ่ม" การคุ้มครองสิทธิ์ในการใช้งานออนไลน์ อาทิ คุ้มครองข้อมูลบริหารสิทธิ (RMI) ที่ระบุชื่อเจ้าของ ชื่อผู้สร้างสรรค์ผลงาน, การคุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยี (TPM) ในกรณีที่เจ้าของสิทธิ์ได้ใส่รหัสผ่านหรือใช้เทคโนโลยีบางอย่างล็อกการเข้าถึง เพื่อการป้องกันคัดลอกหรือเข้าชมโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งล้วนแต่เป็นการยกร่างกฎหมายโดยอ้างอิงแนวทางสากล ทั้งการกระทำที่เข้าข่ายว่าละเมิดลิขสิทธิ์ที่กำหนดไว้นั้นถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับเดิมอยู่แล้วแต่ระบุุให้ชัดว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้

อาทิ การรับชมภาพยนตร์หรือเพลงบนคอมพิวเตอร์ ระบบจะประมวลผลที่เข้าข่ายว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการ "ทำซ้ำ" ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์เดิม แต่ พ.ร.บ.ใหม่ระบุว่าไม่เป็นการละเมิดสิทธิ์ หรือนำคอนเทนต์มาเพิ่มฟังก์ชั่นเพื่อให้คนพิการเข้าถึงเนื้อหา เช่น เพิ่มเสียงบรรยายภาพ ทำหนังสือเล่มอักษรเบรลล์เดิมเข้าข่าย "ดัดแปลง" แต่ พ.ร.บ.ฉบับใหม่เว้นไว้ว่าการกระทำรูปแบบใดที่ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์

ลิขสิทธิ์เต็มโลกออนไลน์

สิ่งแรกที่"ผู้ท่องโลกออนไลน์" ต้องตระหนักคือ อายุการคุ้มครองงานลิขสิทธิ์ กำหนดไว้ที่ 50 ปี หลังสร้างสรรค์ผลงาน หรือคุ้มครองไว้ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์งาน และต่อเนื่องไปอีก 50 ปีหลังผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต แล้วแต่ประเภทของงานลิขสิทธิ์ ดังนั้นเมื่อเทียบกับการเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ต ค่อนข้างชัดเจนว่าบรรดาคอนเทนต์ต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ล้วนมีลิขสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นบทความ ภาพยนตร์ เพลง ภาพถ่าย รูปวาด

อีกสิ่งที่ต้องรู้คือ หน้าเพจของเว็บไซต์, บล็อก, เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม หรือโซเชียลเน็ตเวิร์กทั้งหลาย แม้เป็นของบุคคลธรรมดา แต่ถ้าเป็นช่องทางก่อให้เกิดรายได้กับเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการขายของบนหน้าเพจ รายได้จากโฆษณาที่แปะบนหน้าเพจ ฯลฯ การเอางานลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมาเผยแพร่ไม่ว่าด้วยเจตนาใด ตามกฎหมายไม่ถือเป็นการนำมาใช้เพื่อ "การส่วนตัว" ไม่ถือว่าเป็นการใช้งานลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม (Fair Use) ดังนั้นยิ่งเจ้าของเพจเป็นนิติบุคคล บริษัทห้างร้านยิ่งไม่เข้าข่ายหากนำงานลิขสิทธิ์ของผู้อื่นไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

เมื่อกระทำเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อการค้ามีโทษตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์เดิม คือจำคุก 6 เดือนถึง 4 ปี หรือปรับ 1 แสน -8 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษ "เพิ่ม" หากนำคอนเทนต์มาเผยแพร่โดยไม่อ้างอิงที่มา หรือลบลายน้ำที่ระบุเครดิตงานของเจ้าของออก หรือแฮก RMI เพื่อนำงานออกมาเผยแพร่ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน-2 ปี หรือปรับ 5 หมื่น-4 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

เงื่อนไข Fair Use คือหัวใจสำคัญ

การแชร์คอนเทนต์บน "โซเชียลเน็ตเวิร์ก ส่วนตัว" นอกจากต้องระบุที่มาของชิ้นงานอย่างชัดเจน ไม่ได้มีการดัดแปลงแก้ไข ลบลายน้ำออก หรือแฮกงานมาจากระบบโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ยังต้องอยู่บนพื้นฐานของการใช้งาน Fair Use 4 ข้อ คือ 1.วัตถุประสงค์ในการใช้ ไม่ได้ใช้เพื่อการค้าหรือหากำไร ไม่ได้ใช้โดยมีเจตนาไม่สุจริต ทำให้คนอื่นเข้าใจว่าเป็นงานของตนเอง 2.ลักษณะงานลิขสิทธิ์ที่ใช้เป็นงานสร้างสรรค์หรือเป็นเพียงข้อเท็จจริง แล้วเจ้าของได้มีการนำเผยแพร่สาธารณะแล้วหรือไม่ ถ้ายังไม่เผยแพร่ก็ไม่เข้าข่าย Fair Use

"หลักข้อ 3 และข้อ 4 คือ ปริมาณงานที่นำไปแชร์ มากน้อยแค่ไหน จะทำให้มีผลต่อยอดขายหรือมูลค่างานของเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่ หลักทั่วไปถึงไม่ควรแชร์เนื้อหาที่มีปริมาณมากกว่า 10% ของชิ้นงาน หากเป็นภาพเคลื่อนไหวหรือเพลงไม่ควรเกิน 3 นาที หรือ 10% แล้วแต่ส่วนใดจะน้อยกว่า ถ้าเป็นรูปภาพก็ไม่ควรเกิน 5 รูปต่อ 1 เจ้าของผลงาน แต่ต่อให้เนื้อหาที่แชร์น้อย อาทิ นวนิยายมี 100 หน้า หยิบมาแชร์แค่หน้าเดียว แต่คือหัวใจหลักที่อาจทำให้คนไม่ซื้องานชิ้นนี้อีก แบบนี้ก็ไม่เข้าข่าย Fair Use หรือในเพจเราที่เอามาแชร์มีคนติดตามดูเป็นหมื่นเป็นแสนรายได้เห็นหมด ทำให้เจ้าของสิทธิ์ขายงานได้น้อยลง แบบนี้ก็ไม่เข้าข่าย Fair Use"

ตัวอย่างกรณีฮิต

สิ่งที่สาวก youtube กังวลมาก คือ การนำคลิปวิดีโอมาแชร์ในเพจตนเองด้วยการฝังโค้ด "embed" ตามที่ youtube ทำระบบไว้ให้ ผอ.สำนักกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญาชี้แจงว่า จริง ๆ กรณีดังกล่าวถือเป็นการทำซ้ำได้ แต่เมื่อคลิปถูกเผยแพร่แบบสาธารณะบน youtube ตามเงื่อนไขข้อตกลงของ youtube กำหนดไว้ว่า เจ้าของยินยอมให้ใช้งานได้อย่างกว้างขวาง ทั้งการใช้แบบ embed เมื่อผู้ดูคลิกเล่นวิดีโอระบบจะส่งกลับไปที่ youtube จึงไม่ได้กระทบกับการหารายได้เจ้าของ แต่ถ้าเป็นการดาวน์โหลดวิดีโอลงมาแล้วค่อยอัพโหลดขึ้นไปเผยแพร่ใหม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ การดาวน์โหลดหนัง เพลง รูป ที่เจ้าของลิขสิทธิ์อนุญาตไม่ว่าจะมีค่าใช้จ่ายหรือไม่จะดาวน์โหลดมาไว้ดูเป็นส่วนตัวได้เท่านั้น แชร์ต่อไม่ได้ถ้าเจ้าของไม่ได้อนุญาตเป็นทางการ

แม้แต่การนำเพลงของนักร้องคนโปรดมาร้องใหม่แล้วอัพแชร์บนโซเชียลไม่ว่าด้วยวัตถุประสงค์ใดถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ ในต่างประเทศมีกรณีที่แฟนคลับนักร้องดังทำแล้วโดนฟ้องร้องแล้ว

"มีหลายพฤติกรรมที่ละเมิดลิขสิทธิ์แต่ที่ไม่เคยมีปัญหาเพราะขึ้นอยู่กับทางเจ้าของลิขสิทธิ์เขาจะประเมินว่า คุ้มค่าหรือไม่กับการฟ้องร้อง บางรายคนแชร์คิดว่าทำโดยสุจริต เป็นแฟนคลับอยากช่วยแชร์ผลงาน แต่บางครั้งเจ้าของผลงานมองว่า เป็นการละเมิด ทำให้คุณค่างานลดลง หรือบางครั้งเราคิดว่าไม่ได้แชร์เยอะ แต่เจ้าของอาจมองต่าง กฎหมายไม่สามารถระบุเป็นจำนวนชัดเจนได้ว่า แบบไหนไม่มากเกินไป กระทบต่อการใช้ดุลพินิจของศาล จำเป็นต้องพิจารณาเป็นรายกรณี จึงไม่อาจรับประกันได้ว่า ทำตามนี้แล้วไม่ถูกฟ้องแน่แต่ถ้ายึดตามแนวทาง Fair Use ก็เป็นเครื่องยืนยันกับศาลได้ว่า เราเจตนาสุจริต"

บรรดาเว็บไซต์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์กที่นำรูปภาพหรือคลิปของผู้สร้างสรรค์รายใดรายหนึ่งมาใช้สม่ำเสมอไม่ว่าเพื่อรายงานข่าว หรือติดตามผลงานในฐานะแฟนคลับ ควรทำหนังสือขออนุญาตเจ้าของผลงานเป็นทางการว่าจะนำผลงานไปเผยแพร่เป็นระยะ ๆ หากเจ้าของอนุญาตเพียงครั้งเดียวก็ดึงมาแชร์ได้ตลอด แต่ต้องไม่ลืมระบุที่มาของงานและห้ามดึงงานที่เจ้าของไม่ได้ตั้งค่าการเข้าถึงเป็น "สาธารณะ" มาใช้เด็ดขาด


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : ไขข้อสงสัย สาวกโซเชียล โพสต์-แชร์-ใช้ กม.ลิขสิทธิ์

view