จากประชาชาติธุรกิจ
โรค "งูสวัด" ถือเป็นอีกหนึ่งภัยโรคภัยไข้เจ็บของคนวัยชราที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะนอกจากจะเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดทรมานแล้ว ยังเสี่ยงต่อเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อันตรายได้ง่าย จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนให้เท่าทันต่อการป้องกัน ไม่ให้มีโรคเข้ามากล้ำกราย
"ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา" นายกแพทยสภา กล่าวว่า สาเหตุของการเกิดโรคงูสวัดมาจากการติดเชื้อไวรัส "วาริเซลล่า ซอสเตอร์" ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับโรคอีสุกอีใส ทำให้ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใสมีความเสี่ยงต่อโรคงูสวัดได้ทุกคน
เนื่องจากเชื้อไวรัสวาริเซลล่า ซอสเตอร์ สามารถซ่อนตัวได้ในปมประสาทเป็นเวลาหลายปี โดยที่ไม่มีการแสดงอาการใด ๆ ออกมา จนกระทั่งภูมิคุ้มกันร่างกายเกิดสภาวะต่ำลง เชื้อไวรัสตัวนี้ก็จะทำการเพิ่มจำนวนและกระจายไปตามแนวเส้นประสาท ก่อให้เกิดผื่นคันและกลายเป็นตุ่มใสเรียงยาวคล้ายกับงูรัด ซึ่งเชื้อไวรัสซอสเตอร์ติดต่อผ่านทางการหายใจและสัมผัสตุ่มน้ำใสโดยตรง
นอกจากนี้ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี, ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน, เด็กเล็ก, สตรีมีครรภ์, ผู้ป่วยเบาหวาน, ไตวายเรื้อรัง, ปอดอุดตันเรื้อรัง ก็ต้องหลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคงูสวัด เพราะมีความเสี่ยงต่อโรคสูงไม่แพ้กัน
อาการของโรคงูสวัดจะเริ่มจากการปวดแสบร้อนบริเวณชายโครง, ใบหน้า และแขน เมื่อผ่านไปได้สัก 2-3 วันจะมีผื่นแดงขึ้นตรงบริเวณที่ปวดแสบและกลายเป็นตุ่มน้ำใส โดยผื่นมักเรียงกันเป็นกลุ่มหรือเป็นแนวยาวตามแนวเส้นประสาท ตามปกติผื่นอาจจะหายเองได้ภายใน 2 สัปดาห์
นายกแพทยสภาเพิ่มเติมว่า อาการผื่นของโรคงูสวัดไม่ได้น่ากลัวสักเท่าไหร่ เพราะสามารถหายได้เอง แต่จุดที่น่ากลัวจริง ๆ คือ "ภาวะแทรกซ้อน" เช่น อาการปวดเรื้อรังอีก 3-12 เดือน, การติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณตา, ภาวะแทรกซ้อนทางหู หรืออาจรุนแรงระดับปอดอักเสบและเยื้อหุ้มสมองอักเสบที่ทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนพบมากถึงร้อยละ 50 ของผู้ป่วยอายุเกิน 50 และมากกว่าร้อยละ 70 ในผู้ป่วยอายุเกิน 70 ปี
"อาการปวดจากโรคงูสวัดยังมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตผู้ป่วย อาทิ เกิดอาการเหน็บชา, ขยับร่างกายไม่ได้, เบื่ออาหาร, นอนไม่หลับ, ซึมเศร้า, วิตกกังวล, อารมณ์แปรปรวน, สูญเสียความมั่นใจ, ไม่อยากเข้าสังคม และยิ่งผู้ป่วยมีอายุมาก อาการก็อาจจะรุนแรงตามไปด้วย และอาจเรื้อรังเป็นแรมปี" หมอสมศักดิ์กล่าว
สำหรับแนวทางการป้องกันโรคงูสวัด ต้องเริ่มจากการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ และหากเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเคยเป็นโรคอีสุกอีใส
จากการศึกษาพบว่า วัคซีนป้องกันโรคงูสวัดสามารถลดอุบัติการณ์เกิดโรคงูสวัดได้ถึงร้อยละ 51.3 และป้องกันอาการปวดตามแนวเส้นประสาทได้ถึงร้อยละ 66.5 ซึ่งการฉีดเพียง 1 เข็มสามารถป้องกันเป็นระยะเวลา 10 ปี
ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย