สินค้า GI : สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ Smart SMEs วีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ
สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านทุกท่าน ฉบับที่แล้ว ผมได้เล่าถึง การระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิ้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ฉบับนี้ผมยังมีอีกหนึ่งโครงการที่น่าสนใจจากกรมทรัพย์สินทางปัญญามาแนะนำให้ผู้ประกอบการได้รู้จักเพิ่มเติม คือ โครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ โครงการ 1 จังหวัด 1 จีไอ (Geographical Indication) ซึ่งโครงการนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาตั้งเป้าให้ทุกจังหวัดมีสินค้าในท้องถิ่นที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าจีไอ อย่างน้อยจังหวัดละ 1 สินค้าภายในปี 2560
ปัจจุบันจังหวัดที่มีสินค้าจีไอแล้วมีอยู่ 51 จังหวัด สินค้าหลายอย่างท่านผู้อ่านก็รู้จักดี เช่น มะขามหวานเพชรบูรณ์ ขนมหม้อแกงเมืองเพชร หมูย่างเมืองตรัง ชามตราไก่ลำปาง นิลเมืองกาญจน์ ผ้าไหมยกดอกลำพูน เป็นต้น ซึ่งสินค้าจีไอเหล่านี้ไม่ได้ตั้งกันลอย ๆ แต่ได้รับการขึ้นทะเบียนภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546 เพื่อปกป้องภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการสืบทอดต่อ ๆ กันมาให้ยังคงเป็นมรดกของชุมชน โดยไม่ถูกใครลอกเลียนแบบหรือแอบอ้างนำไปจดสิทธิบัตรเป็นของส่วนตัว
จุดเด่นของสินค้าจีไอ คือ การมีคุณสมบัติเฉพาะที่แตกต่างจากสินค้าชนิดเดียวกันที่ผลิตจากแหล่งอื่น ความพิเศษดังกล่าวส่งผลทำให้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นมีมูลค่าสูงขึ้น หรือขายได้มากขึ้น เช่น กาแฟดอยตุง ที่ผลิตจากผลกาแฟสดพันธุ์อราบิก้า ปลูกในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุง เทือกเขานางนอน จังหวัดเชียงราย ที่ระดับความสูง 800-1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งขณะนี้กาแฟดอยตุงกำลังจ่อคิวขึ้นทะเบียนจีไอในสหภาพยุโรป (อียู) อีกด้วย หลังจากที่ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ได้เป็นสินค้าส่งออกที่ขึ้นทะเบียนจีไอในอียูมาแล้ว
อีกตัวอย่างหนึ่งของสินค้าจีไอในต่างประเทศที่ท่านผู้อ่านหลายท่านคงคุ้นเคยดีก็คือ ไวน์บอร์โดซ์ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งประทับตราว่าเป็นไวน์ชั้นเลิศและต้องผลิตจากเมืองบอร์โดซ์เท่านั้น จึงส่งผลให้เมืองบอร์โดซ์มียอดจำหน่ายไวน์มากกว่า 800 ล้านขวดต่อปี คิดเป็นรายได้จากธุรกิจนี้กว่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย 60% เป็นยอดขายในต่างประเทศ
ผมยกโครงการ 1 จังหวัด 1 จีไอขึ้นมาเล่าก็เพื่อจะบอกว่า ปีนี้ภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าที่มีอยู่แล้วมากขึ้น จากเดิมที่ผู้ประกอบการต้องทำเอง ลุยเองกันแบบมวยวัด แต่ภายใต้โครงการนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเข้าไปช่วยเหลือผู้ผลิตอย่างเป็นขั้นตอนและมีกระบวนการ ตั้งแต่การยื่นขออนุญาตทำการผลิตสินค้าจีไอ การควบคุมคุณภาพสินค้าให้มีคุณสมบัติตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ การต่อยอดพัฒนาสินค้า รวมไปถึงการขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการห้างค้าปลีกสมัยใหม่และห้างสรรพสินค้า ให้จัดทำมุมขายสินค้าจีไอ เพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วย
สินค้าจีไอไม่ได้เป็นเพียงสินค้าที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองในฐานะของดีประจำจังหวัดเท่านั้น แต่ยังมีผลถึงการสร้างความเข้มแข็งให้กับแบรนด์ของชุมชน ผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าจีไอไม่ต้องมีภาระในการประชาสัมพันธ์สินค้า เพราะมีแบรนด์ของจังหวัดรับรองคุณภาพอยู่แล้ว สินค้าจีไอนอกจากจะช่วยทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการพัฒนาสินค้าแบรนด์ไทยให้สามารถแข่งขันได้ท่ามกลางการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และพร้อมขยายตลาดไปยังตลาดโลก รวมทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย
อียูขึ้นทะเบียนกาแฟดอยตุง-ดอยช้าง
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"สหภาพยุโรป" ขึ้นทะเบียน "กาแฟดอยตุง-ดอยช้าง" ของไทยเป็นสินค้าที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ มีผลบังคับใช้ 3 ส.ค. นี้
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า สหภาพยุโรป (EU) ได้ลงประกาศใน EU Official Journal ขึ้นทะเบียนกาแฟดอยตุงและกาแฟดอยช้างของไทยเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) ใน EU แล้ว เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 โดยจะมีผลบังคับใช้ในอีก 20 วัน (3 สิงหาคม 2558)
"กาแฟดอยตุงและ กาแฟดอยช้างเป็นสินค้า GI ลำดับที่ 2 และ 3 ของไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็น GI ใน EU หลังจากที่ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้เป็นสินค้าเกษตรของไทยสินค้าแรกที่ได้ ขึ้นทะเบียนใน EU เมื่อเดือนมีนาคม 2556 ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของทรัพย์สินทางปัญญาไทยในเวทีระดับโลก" รมว.พาณิชย์ กล่าว
ทั้งนี้ ไทยได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนกาแฟดอยตุงและกาแฟดอยช้างใน EU เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 โดย EU ได้ตรวจสอบและประกาศโฆษณาคำขอของไทยเมื่อปี 2557 และเมื่อไม่มีผู้คัดค้านภายใน 6 เดือน EU จึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ใน EU ส่งผลให้กาแฟดอยตุงและกาแฟดอยช้างของไทยสามารถใช้ตรา GI ของ EU ในการทำตลาดได้ เนื่องจากผู้บริโภคในสหภาพยุโรปส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับตรา GI ที่แสดงถึงลักษณะพิเศษและคุณภาพของสินค้า และยอมจ่ายเงินในราคาที่สูงขึ้นเพื่อบริโภคสินค้าดังกล่าว
สินค้า ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็น GI เป็นสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากสินค้าเดียวกันซึ่งผลิตในพื้นที่อื่น โดยจะมีเอกลักษณ์โดดเด่นที่สามารถเชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ คือ สภาพดิน น้ำ และอากาศ ในพื้นที่ซึ่งผลิตสินค้า GI นั้นได้ โดยปัจจัยทางธรรมชาติและปัจจัยจากมนุษย์มีส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการผลิตกาแฟ ดอยตุงและกาแฟดอยช้าง กล่าวคือ กาแฟดอยตุงปลูกในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงบนเทือกเขานางนอน จังหวัดเชียงราย ระดับความสูง 800 – 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล กาแฟดอยตุงจึงมีกลิ่นหอมและรสชาติกลมกล่อมมีเอกลักษณ์
ขณะที่กาแฟ ดอยช้างเป็นกาแฟอาราบิก้า สายพันธุ์หลัก คาทูรา คาติมอร์ และคาทุย ที่ปลูกบนหุบเขา ดอยช้าง ในตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ที่ระดับความสูง 1,000 – 1,700 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งเหมาะแก่การปลูกกาแฟอาราบิก้า ประกอบกับการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยวอย่างพิถีพิถัน และกรรมวิธีผลิตที่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้กาแฟดอยช้างมีกลิ่นหอมหวานคล้ายน้ำผึ้ง และมีรสชาติกลมกล่อม ชุ่มคอ
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ในปี 2557 ไทยส่งออกกาแฟไปตลาดโลกในปริมาณ 700 ตัน เป็นมูลค่า 3.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกไป EU 0.374 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 10 ของการส่งออกกาแฟโดยรวมของไทย โดยกาแฟดอยช้างส่งออกประมาณปีละ 400 ตัน ไปแคนาดา อังกฤษ อิตาลี มาเลเซีย เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย และกาแฟดอยตุงส่งออกไปญี่ปุ่น แต่คาดว่าภายหลังจากที่กาแฟทั้งสองชนิดนี้ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ใน EU จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ส่งออกกาแฟดอยตุงและกาแฟดอยช้างขยายตลาดในสหภาพยุโรป ได้มากขึ้น
สำหรับการขึ้นทะเบียน GI ของไทย ปัจจุบันไทยขึ้นทะเบียนสินค้า GI แล้ว 70 รายการจาก 53 จังหวัด เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ส้มโอนครชัยศรี มะขามหวานเพชรบูรณ์ เป็นต้น และกระทรวงพาณิชย์มีแผนจะขึ้นทะเบียน GI ในอีก 24 จังหวัดที่เหลือให้ครบภายในปี 2560 ผู้สนใจสามารถยื่นคำขอขึ้นทะเบียนและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สาย ด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร. 1368
ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย