สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตะเกียบ ความเชื่อและวัฒนธรรมการกิน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

“ตะเกียบ” ความเชื่อและวัฒนธรรมการกิน

        อุปกรณ์ที่ใช้ในการกินอาหาร นอกจากช้อน ส้อม และมีด ก็ยังมี “ตะเกียบ” ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันดี ไม่ว่าจะกินก๋วยเตี๋ยว อาหารเส้น กินข้าว หรือเมนูอื่นๆ ก็ยังสามารถใช้ตะเกียบได้
       
       ว่ากันว่า ชนชาติแรกที่มีการใช้จะเกียบก็คือ จีน ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานว่าจีนเริ่มใช้ตะเกียบจริงจังตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ก็ยอมรับกันโดยทั่วว่า ชาวจีนเริ่มใช้ตะเกียบกินข้าวกันอย่างแพร่หลายในหลังยุคราชวงศ์ฮั่น (ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 3) และวัฒนธรรมการใช้ตะเกียบนี้ยังแพร่หลายไปยังอีกหลายประเทศ ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนาม ซึ่งก็มีการดัดแปลงและพัฒนาจนกลายเป็นวัฒนธรรมการกินประจำชาติของตนเองไป ด้วย
       
       ตะเกียบที่มีให้เห็นในปัจจุบัน ทำมาจากทั้งไม้ ไม้ไผ่ โลหะ และพลาสติก หรือบางชนิดอาจจะทำมาจากงาช้าง ซึ่งในแต่ละชาตินั้นก็จะมีลักษณะตะเกียบที่เป็นแบบเฉพาะของตัวเอง เช่น ตะเกียบไม้แบบจีน ตะเกียบโลหะแบบของเกาหลี แล้วยังพัฒนามาจนถึงตะเกียบแบบใช้แล้วทิ้งในปัจจุบัน
       
       ในสมัยก่อนนั้น มีการใช้ตะเกียบที่ทำจากเงิน เพื่อใช้สำหรับตรวจสอบหายาพิษในอาหาร เชื่อว่า ถ้ามียาพิษปะปนอยู่ในอาหาร ตะเกียบจะเปลี่ยนสีจากสีเงินเป็นสีดำ
       
       จากการใช้ตะเกียบอย่างแพร่หลายไปในหลายๆ ชาติ ทำให้เกิดความเชื่อต่างๆ ที่เกี่ยวกับตะเกีบขึ้น เริ่มจาก ความเชื่อตะเกียบของคนจีน
       - การถือตะเกียบที่ถูกต้อง จะต้องถือตะเกียบไว้ตรงง่ามนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ ให้อีกสามนิ้วที่เหลือคอยประคองตัวตะเกียบไว้ และต้องถือให้เสมอกัน เมื่ออิ่มแล้วต้องวางตะเกียบขวางไว้กลางชามข้าวเสมอ
       - ห้ามใช้ตะเกียบข้างเดียวเสียบแทงลงในอาหาร ถือว่าเป็นการเหยียดหยามน้ำใจกัน ไม่ต่างอะไรจากการชูนิ้วกลางให้ของฝรั่ง
       - ห้ามปักตะเกียบไว้ในชามข้าว เพราะดูเหมือนปักธูปในกระถางไหว้คนตาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าตักข้าวให้คนอื่นแล้วปักตะเกียบไว้ในชามข้าวส่งให้ จะถือว่าเป็นการสาปแช่ง
       - ห้ามวางตะเกียบเปะปะ จะต้องวางให้เป็นระเบียบเสมอกันทั้งคู่ การวางตะเกียบไม่เสมอกัน ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นมงคลอย่างยิ่ง คนจีนถือคำว่า “ชางฉางเหลียงต่วน” ความหมายตามตัวอักษรนั้น หมายถึง สามยาวสองสั้น คำนี้ คนจีนมักหมายถึง ความตาย หรือความวิบัติฉิบหาย ดังนั้นการวางตะเกียบที่ทำให้เหมือนมีแท่งไม้สั้น ๆ ยาว ๆ จึงไม่เป็นมงคลอย่างยิ่ง ห้ามทำเช่นนี้เด็ดขาด
       - ห้ามใช้ตะเกียบชี้หน้าผู้อื่น หรือถือไว้ในลักษณะที่ให้นิ้วชี้ ชี้คนอื่นที่อยู่ร่วมโต๊ะ แต่การใช้นิ้วชี้ผู้อื่นคนไทยก็ถือว่า ไม่สุภาพเช่นเดียวกัน ไม่ใช่เฉพาะแต่คนจีนเท่านั้น
       - ห้าม อม ดูด หรือ เลียตะเกียบ กิริยานี้เป็นเรื่องที่เสียมารยาทอย่างยิ่ง ถ้ายิ่งดูดจนเกิดเสียงดังด้วยแล้ว ถือเป็นกิริยาที่ขาดการอบรมที่ดี
       - ห้ามใช้ตะเกียบเคาะถ้วยชาม เพราะมีแต่ขอทานเท่านั้นที่จะเคาะถ้วยชาม ปากก็ร้องขอความเมตตา เพื่อชวนให้เวทนาสงสาร เรียกร้องความสนใจให้บริจาคทาน
       - ห้ามใช้ตะเกียบวนไปมาบนโต๊ะอาหาร โดยไม่รู้ว่าจะคีบอาหารชนิดใด ถือว่าเป็นกิริยาที่ควรหลีกเลี่ยง ควรใช้ตะเกียบคีบอาหารที่ต้องการนั้นทันที
       - ห้ามใช้ตะเกียบคุ้ยหาอาหาร การกระทำเช่นนี้เปรียบเหมือน พวกโจรสลัดขุดสุสาน เพื่อหาสมบัติที่ต้องการ ถือเป็นกิริยาที่น่ารังเกียจ

        ส่วนคนญี่ปุ่นก็มีความเชื่อในเรื่องตะเกียบใกล้เคียงกัน โดยจะมีมารยาทการใช้ตะเกียบที่ไม่ควรทำ เรียกว่า “คิไรบาชิ” (Kiraibashi) ได้แก่
       - Sashibashi คือการใช้ตะเกียบจิ้มลงไปในอาหาร แม้ว่าจะไม่ถนัดใช้ตะเกียบแค่ไหนก็ไม่ควรทำเป็นอันขาด
       - Tsukitatebashi คือการปักตะเกียบลงบนกลางถ้วยข้าว เป็นสิ่งที่ห้ามทำเด็ดขาดเพราะคล้ายกับการปักธูปหนึ่งดอกไหว้ผี ซึ่งคนญี่ปุ่นจะทำแบบนี้ต่อเมื่อมีพิธีไหว้บรรพบุรุษ อีกนัยหนึ่งก็เป็นการแช่งบรรพบุรุษด้วย
       - Hiroibashi คือการใช้ตะเกียบรับต่อของที่เพื่อนคีบมาให้ เพราะชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าเหมือนการรับอัฐิคนตาย เพราะฉะนั้นควรยื่นชามให้เขาใส่อาหารแทน
       - Neburihashi คือการใช้ปากและลิ้นดูดเลียตะเกียบ แม้ว่าการทานอาหารจนหมดไม่เหลือทิ้งจะเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นปลาบปลื้ม แต่การทานจนถึงขั้นเลียตะเกียบนั้นคงไม่ใช่มารยาทที่ดีแน่
       - Yosebashi คือการใช้ตะเกียบลากจานที่อยู่ไกลมือ เอื้อมให้มาใกล้ อาจจะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับประเทศที่ไม่ใช้ตะเกียบ แต่สำหรับคนญี่ปุ่นแล้วนั้นการใช้ตะเกียบเขี่ยจานอาหารมาใกล้ตัว ถือเป็นเรื่องที่เสียมารยาทเช่นกัน
       - Saguribashi คือการวนตะเกียบไปมาเพราะเลือกกับข้าวที่จะคีบไม่ถูก หรือจะเป็น Mayoibashi คือการใช้ตะเกียบคุ้ยเขี่ยหาแต่อาหารที่ชอบ ทั้งสองวิธีนั้นไม่ใช่มารยาทการทานอาหารที่ดีเลย
       - Watashibashi คือการนำตะเกียบวางพาดไว้บนจานหรือชาม หากทานอาหารเสร็จแล้วก็นำตะเกียบวางไว้ที่วางตะเกียบหรือด้านข้างแทน ข้อนี้ควรจะระวังเป็นพิเศษเพราะธรรมเนียมของบ้านเราถือเป็นเรื่องปกติจริงๆ แต่สำหรับญี่ปุ่นนั้นไม่ได้เลย
       
       เรียนรู้เรื่องราวความเชื่อและมารยาทในการใช้ตะเกียบของประเทศอื่นๆ ไปแล้ว เวลาไปร่วมโต๊ะอาหารกับเพื่อนชาวต่างชาติจะได้ทำตัวถูกต้องและกลมกลืนไปได้ ด้วยดี


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : ตะเกียบ ความเชื่อ วัฒนธรรมการกิน

view