สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ช่วยชีวิตด้วย 1669 กับ EMS Smart Card

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เปิดมุมมอง

โดย วารีรัตน์ ธาราบุญรัตน์, รัญญริญญ์ พิชญะสกลพัชร์ TEAM GROUP

"1669" หลายคนอาจไม่คุ้นกับเลขนี้ว่ามีความจำเป็นอย่างไรในชีวิตประจำวัน ขณะที่บางคนคงเคยได้รับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินเมื่อติดต่อไปยังเบอร์นี้

ในแต่ละปีคนไทยอย่างน้อย 4 ล้านคน ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือด้านสุขภาพอย่างเร่งด่วนทันท่วงที ดังนั้น ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้บริการอย่างเป็นระบบ มีมาตรฐาน พร้อมจะช่วยชีวิตผู้ป่วยในนาทีวิกฤตได้อย่างปลอดภัย

ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของไทย (Emergency Medical Service System หรือ EMS) มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ก่อนปี 2540 กระทั่งจัดตั้ง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ขึ้นตาม พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ทำหน้าที่ออกกฎระเบียบหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลสถานพยาบาล พยาบาล แพทย์ รถพยาบาลฉุกเฉิน บริหารจัดการระบบ EMS และพัฒนาด้านคุณภาพบุคลากรเพื่อนำไปสู่มาตรฐานสากล

ถ้าจะเปรียบเทียบระบบ EMS ของไทยกับบางประเทศในแถบเอเชียแล้ว ถือได้ว่าจุดเด่นของประเทศไทยคือ มีการพัฒนาระบบอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่หยุดนิ่ง รวมทั้งผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการโดยปราศจากค่าใช้จ่าย แตกต่างจากประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย พม่า และลาว ที่ต้องมีค่าใช้จ่าย



ดังนั้น หากผู้ป่วยฉุกเฉินหรือประสบอุบัติเหตุได้รับการดูแลเบื้องต้นอย่างถูกวิธี จากผู้มีความรู้ในเวชศาสตร์ฉุกเฉินก่อนที่ผู้ป่วยจะถูกส่งตัวไปโรงพยาบาล ย่อมลดอัตราการตายและความพิการได้

กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ จัดตั้งระบบ EMS ขึ้น โดย สพฉ.ประสานกับโรงพยาบาลทั่วประเทศ เมื่อรับแจ้งเหตุจะติดต่อไปยังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้และเหมาะสม เพื่อส่งพาหนะฉุกเฉินไปถึงผู้ป่วยให้เร็วที่สุด


หลักการตาม พ.ร.บ.ข้างต้น คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน มีหน้าที่กำหนดอำนาจ หน้าที่ ขอบเขตความรับผิดชอบ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของบุคลากร อุปกรณ์ พาหนะที่ใช้ในการปฏิบัติการฉุกเฉิน และการรับผู้ป่วยฉุกเฉิน ตลอดจนมาตรฐานในการปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีมาตรฐานความปลอดภัย เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ระบบสื่อสารที่ใช้จะต้องได้รับการคุ้มครอง โดยผู้ที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการสื่อสารและสารสนเทศจะมีโทษตาม พ.ร.บ. ทั้งนี้ ผู้ที่จะปฏิบัติงานได้ต้องผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่ สพฉ.รับรองเสียก่อน จากนั้นเมื่อได้รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน

สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การจำแนกระดับความฉุกเฉินของผู้ป่วย และจัดให้ผู้ป่วยได้รับบริการทางการแพทย์ตามความเร่งด่วน หรือความจำเป็น การปฏิบัติการต่อผู้ป่วยฉุกเฉินต้องเป็นไปตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ โดยไม่คำนึงถึงการขี้นทะเบียนสถานพยาบาล สิทธิ์การประกัน หรือความสามารถในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของตัวผู้ป่วยแต่อย่างใด

ในหลายจังหวัดได้จัดทำสถิติเกี่ยวกับการให้บริการระบบ EMS โดยสถิติพบว่ามีแนวโน้มที่ผู้ป่วยจะเรียกใช้งานระบบ EMS มากขึ้นทุกปี แม้จะยังต่ำกว่าจำนวนที่คาดไว้ ส่วนสาเหตุที่ผู้ป่วยไม่เรียกใช้บริการ EMS ในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ พบว่าส่วนใหญ่สามารถมาโรงพยาบาลเองได้โดยรถส่วนตัว แต่บางส่วนไม่รู้จักบริการ EMS ในขณะที่มีส่วนน้อยเห็นว่าอาการเจ็บป่วยของตนเล็กน้อย จากสถิตินี้ทำให้หวนคิดว่า หากเกิดเหตุฉุกเฉินแล้วตัวเราเองควรอยู่ในคนประเภทใด จะรับมืออย่างไร

สิ่งที่น่าตระหนกคือ คนส่วนน้อยซึ่งไม่เรียกใช้บริการ EMS เพราะไม่ตระหนักถึงความร้ายแรงของอาการเจ็บป่วยของตน จนส่งผลให้ต้องได้รับการรักษาฉุกเฉินถึง 31.25%

หากผู้ป่วยเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงที ย่อมมีโอกาสสูงที่จะเสียชีวิตหรือพิการ ทั้ง ๆ ที่บริการ EMS สามารถช่วยลดความเสี่ยงนี้ของผู้ป่วยได้ ในประเด็นนี้ทุกภาคส่วนจึงควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหันมาเข้าใจถึงลักษณะการทำงานและความสำคัญของระบบ EMS

อนาคตอันใกล้ เมื่อเข้าสู่ ประชาคมอาเซียน ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดตั้งความร่วมมือทางด้านสาธารณสุขและเวชศาสตร์ฉุกเฉิน จึงมีแผนที่จะจัดให้มี "หมายเลขฉุกเฉินทางการแพทย์" ร่วมกันของทั้ง 10 ประเทศสมาชิก คือ หมายเลข 112 แต่ขณะนี้ระบบให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินในแต่ละประเทศยังคงมีความเหลื่อมล้ำ

อาทิ ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของสิงคโปร์ ซึ่งใช้ระบบรวมศูนย์จะมีเจ้าหน้าที่เป็นผู้คัดแยกภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ มีการจัดตั้งหน่วยมอเตอร์ไซค์กู้ชีพฉุกเฉิน จัดฝึกอบรมสำหรับผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินจนถึงระดับที่มีความเชี่ยวชาญ จึงมีบทบาทอย่างมากในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในประเทศ และผู้ประสบภัยในต่างประเทศ

ส่วนระบบของพม่าและลาว ยังจำกัดอยู่ที่สถานพยาบาล การให้บริการทางเวชศาสตร์ฉุกเฉินไม่ครอบคลุม และมิได้เป็นรัฐสวัสดิการ จึงมีค่าใช้จ่ายสูง สำหรับระบบของกัมพูชามีรถพยาบาลพร้อมทีมช่วยเหลือในระดับเบื้องต้น แต่จำกัดเพียงบางพื้นที่ ทำให้การตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินล่าช้า ขาดประสิทธิภาพ ทว่า ในเวียดนามแม้ยังมีอุปสรรคในเรื่องบุคลากร อุปกรณ์การแพทย์ และอื่น ๆ แต่หน่วยงาน USAID ของสหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือ โดยรับแพทย์ชาวเวียดนามไปอบรมพัฒนาองค์ความรู้ อีกประเทศหนึ่งคือ มาเลเซีย ซึ่งมีกฎหมายและหน่วยงานรับผิดชอบด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ให้บริการทั้งฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉิน รวมทั้งสร้างเครือข่ายเยาวชนซึ่งให้ความรู้และการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในชุมชน

อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยการให้บริการในประเทศไทยไม่มีค่าใช้จ่าย ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่พบคือ สพฉ.ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลอย่างจำกัด เมื่อเทียบกับภารกิจดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ฉะนั้น เพื่อจัดหางบประมาณสนับสนุนจากแหล่งอื่นเพิ่มเติม และมีงบประมาณเพียงพอในการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดตั้ง ศูนย์บริหารจัดการกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน ขึ้น ทั้งนี้ วิธีการจัดหางบประมาณทางหนึ่งคือ การจัดทำบัตร EMS Smart Card เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้เข้าถึงระบบ EMS ที่มีมาตรฐาน

ผู้ถือบัตรดังกล่าวหรือบุคคลใดก็ตาม โทร.แจ้งภาวะฉุกเฉินที่หมายเลข 1669 ซึ่งคอยให้บริการ 24 ชั่วโมง ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินจะจัดหาพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นรถพยาบาล เรือ หรือเครื่องบิน ตามแต่สถานการณ์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงตัวผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยชุดปฏิบัติการสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับประวัติสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยเบื้องต้น ที่อยู่ปัจจุบันและบุคคลที่ต้องติดต่อ จากฐานข้อมูลของผู้ถือบัตรผ่านการสแกน QR code เพราะในภาวะนั้นผู้ป่วยอาจตระหนก สับสน หรือไม่อาจบอกข้อมูลสุขภาพของตนได้

นอกจากผู้ถือบัตร EMS Smart Card จะได้รับสิทธิประโยชน์หลายประการเช่นที่กล่าวแล้ว ยังเป็นทางเลือกหนึ่งทำให้ได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพ และเงินที่เข้าสู่ระบบนี้ถือว่ามีส่วนร่วมในการสร้างประโยชน์ต่อบุคคลอื่นอีกด้วย


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : ช่วยชีวิต 1669 EMS Smart Card

view