จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ร้านอาหารดั้งเดิมที่อยู่มานานกว่า 50 ปี วันนี้ทายาทรุ่น 2 เข้ามาสืบสาน ไม่เพียงคงรักษารสชาติอาหารไว้ ทว่ายังเรียนรู้ที่จะเติบโตคู่ชุมชน
หมูชะมวง มัสมั่นไก่ใส่ทุเรียน ยำมังคุด แกงเป็ดใส่เงาะ กับสารพัดเมนูแปลกต่างที่หาทานได้ตามฤดูกาล พร้อมให้บริการที่ร้าน “จันทรโภชนา” ร้านอาหารพื้นเมืองรสชาติดั้งเดิมแบบชาวจันทบุรีแท้ๆ ที่ให้บริการความอร่อยมากว่า 50 ปี เคียงคู่ชุมชนริมน้ำจันทบูร ชุมชนเก่าแก่กว่า 300 ปี ของจันทบุรี
เราได้รู้จักกับร้านจันทรโภชนา เมื่อวันที่ทายาทรุ่น 2 “อุกฤษฏ์ วงษ์ทองสาลี” ขึ้นเวทีแบ่งปันเรื่องราว ผู้ประกอบการรุ่นใหม่กับการสร้างผลกระทบเชิงบวกสู่สังคม ในงาน Sustainable Brands ’15 Bangkok ที่ผ่านมา
เขาเริ่มเส้นทางชีวิตด้วยการทำงานบริษัทโฆษณาอยู่เป็นสิบปี จน 5 ปี ก่อน เริ่มคิดที่จะกลับบ้านที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อไปสานต่อธุรกิจร้านอาหารของครอบครัว เขาบอกว่านี่ไมใช่แค่การย้ายงาน แต่เปรียบได้กับการ “ย้ายชีวิต” เพราะสองเส้นทางแสนแตกต่าง
"ที่ตัดสินใจออกไปทำงานที่บ้าน เพราะเริ่มจาก เห็นคุณค่าของธุรกิจครอบครัว และคุณค่าของท้องถิ่น”
คุณค่าที่เขาว่า คือ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ตลอดจนทรัพยากรดีงามที่มีอยู่ในจังหวัด จันทบุรี ซึ่งลูกหลานอย่างเขาสามารถไป “สร้างคุณค่าเพิ่ม” ให้กับมรดกของชุมชนนี้้ไ่ด้ อย่างเช่น การคิดนำผลไม้ตามฤดูกาลมาใส่ลงในเมนูอาหารพื้นเมืองของคนจันทร์ เพื่อสร้างคุณค่าใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น
“ของพวกนี้ อาจไม่ได้สร้างวอลุ่มมากมาย แต่สร้างแวลู่ ให้เรามีอะไรใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา” เขาบอก
แม้เป็นเจเนอเรชั่นใหม่ที่ไปสืบสานกิจการของคนรุ่นเก่า แต่เขาบอกว่า มีเป้าหมายชัดเจนที่จะไม่เติบโตโดยการขยายสาขาหลายๆ สาขา ไม่ต้องการให้ไปที่ไหนก็เห็น “จันทรโภชนา” เขาบอกว่า หลายที่ไม่ได้หมายความว่าจะ “สนุก”
แต่ธุรกิจร้านอาหาร “ละเอียดอ่อน” ฉะนั้นการจะดูแลสิ่งที่ละเอียดอ่อนแบบนี้เอาไว้ได้ คือ การดูแลร้านที่มีให้กลายเป็นแบรนด์ที่มีเสน่ห์ มีอัตลักษณ์ พร้อมดึงดูดผู้คนให้มาเยี่ยมเยือนได้
นอกจากเมนูอาหารแปลกต่าง ยังรวมถึงการคิด “แปรรูปผลิตภัณฑ์” ไม่ต้องจินตนาการไปไกลถึงการมีโรงงานใหญ่โต หรือทำในระบบอุตสาหกรรมจ๋า ทายาทจันทรโภชนา บอกเราแค่ว่า ปณิธานของพวกเขาเวลาทำอาหาร ก็คือ
“เราจะทำอาหารโดยเคารพธรรมชาติ”
เขาขยายความว่า คือการทำอาหารตามฤดูกาล เรียกว่า ถ้าจะทานแกงมัสมั่นไก่ใส่ทุเรียน ก็จะมีให้ลิ้มรสเฉพาะหน้าทุเรียนเท่านั้น ไม่ได้หาทานได้ตลอดทั้งปี ขณะที่การแปรรูปก็เลือกทำเฉพาะผลผลิตที่เหลือจากรับประทานสดเท่านั้น
"เชื่อว่าธรรมชาติให้ความอร่อยในแต่ละช่วงเวลาแตกต่างกัน ฉะนั้นการแปรรูป เราจะทำในสิ่งที่เหลือจากธรรมชาติให้แล้วเท่านั้น อะไรทานสดได้ ก็รีบทานสด เท่าที่ธรรมชาติอำนวย อะไรที่เหลือจากการที่ธรรมชาติให้ ก็ค่อยเอามาแปรรูป”
อย่างเช่น สละ ระกำ เอามาทำต้มยำ เพื่อให้ได้รสชาติที่กลมกล่อมขึ้น ถ้าเหลือก็เอามาทำลอยแก้ว มังคุดเอามาทำยำ แต่มังคุดผลิตได้มาก ทำให้เหลืออยู่ตลอดเวลา ก็เอามาทำเป็นมังคุดลอยแก้ว เขาว่า นี่เป็นการแปรรูปอารมณ์ “โฮมเมด” เพื่อให้คนได้ซื้อกลับไปทานที่บ้านได้
ที่น่าสนใจไปกว่าการสร้างเสน่ห์ให้กับแบรนด์ด้วยเมนูที่แปลกต่าง คือ แนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน เขาบอกว่า ทำธุรกิจร้านอาหารไม่ได้หมายความว่า เราต้องโตคนเดียว ทว่าคนที่อยู่รอบข้างเรา ก็ต้องมีความสุขไปพร้อมกับเราด้วย
ที่มาของการย้อนกลับมามองชุมชนริมน้ำจันทบูร ชุมชนโบราณของเมืองจันทร์ ที่เขาบอกว่า ถ้าร้านจันทรโภชนาประสบความสำเร็จ คนในชุมชนใกล้เคียง ก็ควรได้เติบโตและมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปพร้อมกันด้วย นั่นคือที่มาของการเป็นตัวตั้งตัวตีร่วมพัฒนาชุมชน เพื่อให้ความเจริญแผ่ขยายออกไป ได้ฟื้นชีวิตชีวา ให้กลับสู่ชุมชนเก่าแก่แห่งนี้อีกครั้ง
มาดูกันว่าพวกเขาทำอะไรไปบ้าง
อย่าได้จำภาพการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจที่คุ้นเคย อารมณ์สร้างตลาดนัด ตลาดน้ำ ความสวยงามปรุงแต่ง เพื่อกระตุ้นเมืองท่องเที่ยว เมื่อสิ่งที่เรียกพวกเขาทำแตกต่างไปจากนั้น เพราะเป้าหมายที่แจ่มชัด คือ การสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนและวัฒนธรรม
“ที่ผ่านมาเราเห็นหลายชุมชนวัฒนธรรมรุ่นพี่ ที่สุดท้ายจะเอนเอียงไป อย่าง ไปเอาของจตุจักรมาขายบ้าง เอาของที่โน่นที่นี่มาขายบ้าง เรารู้แล้วว่า ผลเป็นอย่างไร ดังนั้น สิ่งที่เราำต้องทำ คือ ให้คนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วม และให้เขาได้รู้สึกถึงคุณค่าของชุมชนจริงๆ”
งานเพื่อชุมชนเริ่มต้นจากการเข้าไปเจรจากับเจ้าของบ้านหลังเก่า ที่งดงาม และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพื่อขอนำมาพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทรงคุณค่าของชุมชน เมื่อได้รับการอนุมัติก็จับมือกับ สถาบันอาศรมศิลป์ มาพัฒนาบ้านโบราณเป็น “Historic Inn” โรงแรมขนาดเล็ก บริการที่พักนักท่องเที่ยวไปพร้อมการเรียนรู้เรื่องราวในประวัติศาสตร์
โดยบ้านหลังแรกที่เข้าร่วมโครงการ คือ “บ้านหลวงราชไมตรี” อาคารเก่าแก่ในตัวเมืองจันทบุรี ของคุณหลวงซึ่งเป็นคนที่นำยางพารามาปลูกที่จันบุรีเป็นคนแรก ที่แห่งนี้ยังมีเรื่องราวมากมายให้ผู้มาเยือนได้เรียนรู้และอิ่มเอมไปกับพวกเขา
ที่น่าสนใจของคอนเซ็ปต์ที่พัฒนาขึ้น คือ การใช้โมเดลกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) ลงไปจับ โดยโครงสร้างการทำงานจะเป็นการลงหุ้นลงขันกันของคนในชุมชน มาร่วมกันทำ พัฒนา และรับผลประโยชน์ ไปพร้อมกับการรักษาชุมชนและวัฒนธรรมดีงามเอาไว้
“สิ่งที่สวยงามคือ ในวันทำบุญเปิดบ้าน ชาวบ้านเอาอาหารมาช่วยกัน ใครมีอะไรก็ช่วยเหลือกัน ไม่มีความรู้สึกเหมือนนายทุนมาเปิดเลย แต่เป็นชาวบ้านที่ร่วมกันทำ”
เขาบอกว่า การใช้แนวทางนี้เป็นเหมือนทั้งวัคซีนชั้นดี ที่จะสะท้อนให้คนข้างนอกได้เห็นด้วยว่า การที่อยู่ดีๆ จะเข้ามาทำตัวเก๋ๆ เปิดร้านเหล้า ร้านกาแฟ ในพื้นที่ ก็คงไม่ได้ เมื่อวันนี้ชาวชุมชนได้ใช้พลังความร่วมมือ ลุกมาปกป้องพื้นที่และวัฒนธรรมของตัวเอง ด้วยการนำเสนอบริการใหม่ๆ ที่ทำในชุมชน โดยชุมชนและเพื่อชุมชน
ขณะที่เด็กรุ่นใหม่ ยังเต็มไปด้วยพลังแห่งความฝัน อยากร่วมทำสิ่งดีๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ เขาบอกว่า แม้เราจะยังเปลี่ยนโลกไม่ได้ แต่ขออย่าให้ “ละเลย” เราต้องทำสิ่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ให้ดีที่สุด เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ๆ ได้เข้ามาสานต่อและมีชีวิตที่ดีต่อไปได้ ขณะที่ฝากเคล็ดลับเปลี่ยนโลกไว้สั้นๆ แค่ว่า
“หยุดฝัน และทำมันเสีย”
เพื่อร่วมเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งดีๆ ด้วยสองมือของพวกเราทุกคน เช่นเดียวกับ รสชาติความสุขที่ชื่อ..จันทรโภชนา
ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย