สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ขอความปลอดภัยให้จักรยาน เสียงสะท้อนจากนักปั่นบ้านๆ

จาก โพสต์ทูเดย์

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล

"เมืองไทยไม่เหมาะกับการขี่จักรยาน ทำไมไม่ไปขี่จักรยานในที่ที่เขาจัดไว้ให้?"

คำถามที่ดังขึ้นทุกครั้งเวลาเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน อันส่งผลให้ผู้ขี่รถจักรยานบาดเจ็บและเสียชีวิตลงอย่างน่าเศร้า

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพที่ติดตรึงอยู่ในหัวของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยก็คือ ภาพขบวนนักปั่นในชุดยูนิฟอร์มเต็มยศ อุปกรณ์ป้องกันเพียบพร้อม หมวกกันน็อก ชุดสะท้อนแสง ถุงมือ รองเท้า ไฟกะพริบ ปั่นแล่นฉิวกันเป็นหมู่คณะ แลดูเป็นระเบียบเรียบร้อยและน่าปลอดภัยยิ่ง

หารู้ไม่ในความเป็นจริง ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ใช้จักรยานเป็นพาหนะหลักในชีวิตประจำวัน ไปโรงเรียน ไปทำงาน จ่ายตลาด ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ โดยไม่สนใจว่าจะต้องมีเลนจักรยาน หรือระบบอำนวยความสะดวกใดใดหรือไม่

.............

กวักมือเรียก สุรินทร์ สุดเย็น พนักงานรักษาความปลอดภัย วัย 62 ทว่ายังดูแข็งแรงกระฉับกระเฉง ขณะกำลังผิวปากปั่นจักรยานเสือหมอบสภาพโทรมๆเข้ามา แล้วยิงคำถามแรก--- ทำไมถึงเลือกใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ?

"เมื่อก่อนก็ขี่รถเครื่องครับ แต่เปลี่ยนมาใช้จักรยานเพราะประหยัดเงิน แถมยังปลอดภัยกว่า นี่ปั่นมาได้ 3 ปีแล้ว เฉลี่ยวันละ 18 โล จากบ้านแถวปากเกร็ดมาที่ทำงานเมืองทองธานี ช่วงเช้าๆกับเย็นๆรถอาจเยอะหน่อย แต่ผมยึดหลักชิดซ้ายลูกเดียว เลาะไปเรื่อยๆ ไม่แหลมออกไปเลนขวา ลดความเสี่ยงไปได้เยอะ"เขาทำเสียงสูง

ใช่ว่าชิดซ้ายจะไม่เกิดเหตุร้าย ปัญหาที่พบบ่อยคือ เศษแก้ว รถจอดกีดขวาง รวมถึงครั้งหนึ่งเคยเจอรถแท็กซี่เข้ามาเบียดจนเสียหลักพลิกคว่ำ เนื้อตัวถลอกปอกเปิก โชคดีหัวไม่ฟาดพื้นตาย เพราะไม่ได้ใส่หมวกกันน็อก ไม่มีเครื่องป้องกันอะไรทั้งนั้น

"สิ่งที่กลัวที่สุดเวลาอยู่บนถนนคือ รถใหญ่มาเบียด เฉี่ยว ชน ปั่นชิดซ้ายไปแต่ก็ต้องคอยระวังรถข้างหลังอยู่ตลอด ผมอยากให้คนใช้รถใช้ถนนเปลี่ยนความคิดใหม่ว่าถนนไม่ได้มีไว้สำหรับรถยนต์ แต่ยังมีรถมอเตอร์ไซค์และรถจักรยาน ซึ่งตอนนี้มีเพิ่มขึ้นทุกปี เป็นผู้ใช้ถนนร่วมด้วย อยากให้เว้นระยะห่างจากจักรยานประมาณ 1 เมตร ไม่แซง ไม่บีบแตรไล่"

บังเซะ หนุ่มใหญ่ชาวปากีสถาน ผู้ใช้รถจักรยานทรงโบราณตระเวนขายถั่วบนถนนประชาชื่นยามค่ำคืน ตอบคำถามที่ว่าปั่้นจักรยานแบบบ้านๆ ไม่มีหมวกกันน็อก ไม่มีเครื่องป้องกันแบบนี้ ไม่กลัวหรือ?

"เห็นเขาขี่จักรยานใส่ชุดสะท้อนแสง ติดไฟกะพริบ มีถุงมือ ปลอกแขน ใส่หมวกกันน็อกก็ดีนะ อย่างน้อยเกิดอุบัติเหตุก็เจ็บไม่หนักเท่าคนไม่มีอะไรเลย แต่กลัวแพงเลยไม่ซื้อ เปลือง เราปั่นแค่ในซอยไม่ได้ปั่นไกลๆ"แกยิ้มโชว์ฟันขาว

ไม่ต้องพึ่งระบบจีพีเอส อาศัยความช่ำชองในพื้นที่ บังเซ็มปั่นจักรยานลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยจนทะลุปรุโปร่ง ซอยไหนหมาดุ ซอยไหนขี้ยาเยอะ ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในหัวหมด เขายืนยันว่าข้อดีของการปั่นจักรยานตอนกลางคืนคือ รถน้อย ถนนโล่ง แต่ข้อเสียอยู่ตรงอันตรายที่มาจากเหล่ามิจฉาชีพ

"รถล้มรถชนนี่บังไม่กลัวเท่ากับโดนปล้นนะ อยู่เมืองไทยมา 7 ปี เคยโดนมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกวัยรุ่นขี่มอเตอร์ไซค์มาประกบเอาปืนจี้ ครั้งที่สองเจอถีบรถคว่ำเลย บังมั่นใจว่าพวกโจรมันหมายตาไว้แล้ว เพราะคนปั่นจักรยานมันเชื่องช้าไม่ทันการณ์ เปลือยๆโล่งๆ ไม่เหมือนอยู่ในรถ ดังนั้นต้องตื่นตัวและมีสติตลอดเวลาที่กำลังปั่นบนถนน ดูข้างหน้า ดูข้างหลัง ดูทั้งคนทั้งรถ"

โยนคำถามให้ สุวพร แซ่ลิ้ว วัย 52 ชาวบางลำพู เจ้าของรถจักรยานแม่บ้านยี่ห้อเฟสสันสุดคลาสสิก ว่าเลนจักรยานสำคัญตรงไหน ?

"เหอะ เปลืองเงินเปล่าๆ ตีเลนไว้ คนมันก็เอารถมาจอดขวาง เอามอเตอร์ไซค์เข้ามาวิ่งอยู่ดี ตำรวจอยู่มันก็ไป พอตำรวจหายมันก็มา ตำรวจเขาไม่มีเวลามากวดขันตลอดเวลาหรอก"แกบ่นกระปอดกระแปดกลางแสงแดดร้อน

เจ๊พรบอกว่าเมืองไทยไม่เหมาะสำหรับการขี่จักรยานนั้นมีส่วนจริง ปั่นออกกำลังกาย ซื้อกับข้าวในซอยก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ริออกถนนใหญ่เมื่อไหร่ ชีวิตเหมือนแขวนอยู่บนเส้นด้าย

"พูดง่ายๆนะ ตั้งแต่ท่อระบายน้ำ ผิวถนนขรุขระ รถเปิดประตูไม่ระวัง เศษแก้วแตก แอ่งน้ำ หมาไล่ รถหาย ขโมยขโจร สารพัดอุปสรรค การปั่นจักรยานถ้ามันเสี่ยงภัยขนาดนี้ใครเขาจะกล้า ยิ่งมีข่าวฝรั่งมาตายที่เมืองไทยสองปีติดๆ ปั่นไปทั่วโลกแต่มาตายที่เมืองไทย อับอายขายขี้หน้าเขาจริงๆ แต่ก็อย่างว่าถนนในต่างจังหวัดมันขับรถกันเร็ว กรุงเทพรถติด แต่โอกาสตายยาก"พูดจบก็หัวเราะหึหึในลำคอ

ฟังเสียงนักปั่นภูธรกันบ้าง ธงชัย อินวะกูล หนุ่มวัย 41 พนักงานโรงงานยางรถยนต์แห่งหนึ่งในพื้นที่จ.สระบุรี ที่ขี่จักรยานบนถนนสายเอเชียเป็นกิจวัตร บอกว่าถึงแม้จะขี่ชิดซ้ายบนไหล่ทางก็ใช่ว่าจะปลอดภัย เพราะถนนทางหลวงคนมักจะใช้ไหล่ทางสำหรับแซง เวลารถติดก็มาวิ่งที่ไหล่ทาง ซึ่งอันตรายมาก อีกอย่างบริเวณไหล่ทางในต่างจังหวัดยังมีการวิ่งย้อนศร ทำให้เกิดอุบัติเหตุเป็นประจำ

"ความตายของนักปั่นจักรยานระดับโลกน่าจะช่วยกระตุกเตือนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ผมว่าการใช้สื่อเผยแพร่ให้เห็นอันตรายของการขับขี่จักรยานบนท้องถนน เพื่อปรับปรุงระบบความปลอดภัยให้คนที่ขี่จักรยาน เป็นเรื่องที่ควรทำอย่างเร่งด่วนครับ"

สอดคล้องกับมุมมองของ พยุงศักดิ์ พรหมภัสสร เสือเฒ่าผู้ชื่นชอบการขี่รถจักรยานเป็นชีวิตจิตใจ ชาวจันทบุรี แถบถิ่นที่รู้กันในหมู่ชาวสองล้อว่ามีเส้นทางจักรยานที่ยาวและสวยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เขาบอกว่าโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นกับนักปั่นบนท้องถนน ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้ความเร็วเกินกำหนด

"ถนนไฮเวย์ในต่างจังหวัด คนมักลืมตัวเผลอใช้ความเร็ว 120-140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งรถบรรทุก รถเก๋ง ไหนจะบิ๊กไบค์อีก ถ้านักปั่นไม่ระวังก็ตาย การใส่เสื้อสะท้อนแสง ติดสัญญาณไฟ สวมหมวกกันน็อกถือเป็นแค่เซฟตี้เบื้องต้นเท่านั้น ถ้าคนยังขับรถเร็ว ยังประมาทก็เกิดเหตุอยู่ดี เลนจักรยานไม่ช่วยให้คุณรอดตายได้หรอก"

ในฐานะที่เมืองไทยเป็นสวรรค์ของนักปั่นจักรยานทั่วโลก สวนทางกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุที่สูงเป็นอันดับสองของโลก นักปั่นรายนี้แนะว่ารัฐบาลควรประชาสัมพันธ์ จัดทำคู่มือสำหรับนักท่องเที่ยวชาวที่ต้องการเข้ามาปั่นจักรยานในประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเรื่องความปลอดภัย

…………

ทั้งหมดนี้คือ เสียงจากกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานที่ต้องการฝากไปยังสังคมว่า เลนจักรยาน หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับจักรยานไม่สำคัญเท่าจิตสำนึกที่ดีของผู้ใช้รถใช้ถนนสายเดียวกัน


ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย

Tags : ขอความปลอดภัย จักรยาน เสียงสะท้อน นักปั่นบ้านๆ

view