จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"ทีดีอาร์ไอ" เร่งรัฐปรับปรุงกฎหมายขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชดั้งเดิม พร้อมเสนอให้คุ้มครองทั่วเออีซี หวั่นต่างชาติหยิบไปใช้ประโยชน์ ผูกขาดโดยเอกชน
นายจักรกฤษณ์ ควรพจน์ นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงการประชุมโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา สยามบรมราชกุมารี (สพ.สธ.) ว่า จากที่ไทยได้เข้าร่วมอนุสัญญา ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ CBD ทำให้ไทยต้องเห็นชอบเข้าร่วมสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่า ด้วยทรัพยากรพันธุกรรมเพื่ออาหารและเกษตร 2544 หรือ ITPGR ซึ่งเกี่ยวข้องกับทรัพยากรพืชอาหารและการเกษตรกว่า 64 สกุล ประมาณ 3,300 ชนิด จะตกเป็นของพหุภาคี ซึ่งรวมไปถึงข้อมูลต่างๆ ที่อยู่ในหน่วยงานรัฐ ปัจจุบันอยู่ระหว่างชะลอการลงนามในสัตยาบัน
ดังนั้นจึงเสี่ยงที่ไทยจะสูญเสียทรัพยากรของประเทศ เมื่อต่างชาตินำไปวิจัยพัฒนาแล้ว สามารถนำไปจดสิทธิบัตรเป็นพันธุ์พืชใหม่ ไทยจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆจากพืชชนิดนั้นๆ เนื่องจากต่างชาติได้จดสิทธิบัตรไปแล้ว จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เรื่องของการสูญเสียความรู้และภูมิปัญญาพื้นบ้าน ในขณะที่ไทยยังไม่มีความพร้อมของการพัฒนามาตรการเพื่อการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ความหลากหลายอย่างยั่งยืน และการเข้าถึงทรัพยากรพันธุกรรมพืช
“ไทยมีความเสี่ยงสูงมากที่ตามข้อตกลงในสนธิสัญญานี้จะทำให้ต่างชาติฉกฉวยเอาพืชพื้นของที่ไทยมีความหลากหลายมาก มีประโยชน์ทั้งด้านอาหารและสมุนไพร ถูกต่างชาติหยิบไปวิจัยและจดลิขสิทธิ์ซึ่งไทยจะไม่ได้ผลประโยชน์เลย ในขณะที่ไทยไม่สามารถจดลิขสิทธิ์พันธุ์พืชดั้งเดิมได้ เพราะติด พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ที่ระบุให้จดลิขสิทธิ์ได้เฉพาะพืชที่ปรับปรุงใหม่เท่านั้น อีกทั้งยังมีส่วนของพืชสมุนไพร ที่จดลิขสิทธิ์ไม่ได้ตามพ.ร.บ.การคุ้มครองการแพทย์แผนไทย “ นายจักรกฤษณ์ กล่าว
แนะรัฐเร่งแก้ก.ม.กันต่างชาติ
นายจักกฤษณ์ กล่าวว่าเพื่อเป็นการป้องกันต่างชาติแอบหยิบพืชดั้งเดิมของไทยไปวิจัยต่อ นั้นรัฐบาลควรแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ไทยสามารถจดลิขสิทธิ์ แสดงความเป็นเจ้าของและได้ประโยชน์จากการวิจัยพัฒนา โดยระยะ 32 ปีที่ผ่านมาที่ไทยเข้าร่วม CBD นั้น ไทยเสียผลประโยชน์หลายกรณีแล้ว เช่น การวิจัยข้าวหอมมะลิของสหรัฐอเมริกา กลายเป็นจัสมินไรท์ เต้าน้อย ที่ญี่ปุ่นนำไปวิจัยและจดลิขสิทธิ์เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น
“ปัจจุบันผมมั่นใจว่า ต้องมีต่างชาติเข้ามาวิจัยพืชพื้นเมืองของไทย แต่ไม่รู้เพราะเขาไม่บอก จึงเป็นหน้าที่ของประชาชน คนในพื้นที่ ที่ต้องรักและหวงแหนพืชและความรู้ภูมิปัญญาเหล่านี้ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นอีกส่วนที่ต้องใส่ใจ คอยสอดส่องดูแลไม่หลงกลต่างชาติที่เข้ามาหลอกล่อ”นายจักรกฤษณ์ กล่าว
ระบุต้องครอบคลุมทั่วอาเซียน
นายจักรกฤษณ์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจาก CBD นั้น ต้องมองให้ครอบคลุมทุกประเทศอาเซียน หรือเออีซี ด้วยที่ยังไม่มีกฎหมายความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะทุกประเทศในกลุ่มนี้ได้เข้าร่วมใน CBD ทั้งหมดแล้ว ยกเว้นพม่า ที่ไม่แน่ใจว่าจะเข้าร่วมแล้วหรือไม่ ประเทศต่างๆเหล่านี้ล้วนมีความหลากหลายทางพันธ์พืชเขตร้อน มากที่สุดคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ดังนั้นจึงคาดว่าจะมีหลายประเทศเห็นด้วย ยกเว้นสิงคโปร์ที่เป็นผู้ใช้อาจไม่ยินยอม
กฎหมายความหลากหลายทางชีวภาพของเออีซีนี้ ไทยสามารถเข้าไปมีบทบาทหรือเสนอให้จัดทำไปพร้อมๆ กับการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของไทย โดยจะต้องครอบคลุมถึงการพิสูจน์สิทธิ์ความเป็นเจ้าของ สามารถพิจารณาได้จากระบบความหลากหลายทางชีวภาพ ครอบคลุมถึงความปลอดภัยทางด้านอาหาร การเคลื่อนย้ายสินค้าดัดแปรพันธุกรรม ที่จะต้องเกิดขึ้นหลังเปิดเสรีไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2559 จะเป็นอันตรายต่อความหลากหลายทางชีวภาพได้ นอกจากนี้จะต้องครอบคลุมถึงการผูกขาดตลาดของภาคเอกชนที่จดสิทธิบัตร .ซึ่งจะกระทบกับเกษตรกร
ยื่นหนังสือผู้ว่าฯเป็นนโยบายทุกพื้นที่
สำหรับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯใน 5 ปีที่ผ่านมา ได้รณรงค์สร้างจิตสำนึกไปตามชนบทต่างๆเพื่อเตรียมความพร้อม ก่อนที่ไทยจะต้องเข้าร่วมสัตยาบัน ITPGR การปฏิเสธจะทำให้พืชต่างๆถูกบริหารโดยองค์กรบริหารระหว่างประเทศ ดังนั้นจำเป็นที่ไทยต้องขึ้นทะเบียนทรัพยากรของประเทศเร่งด่วน และช่วยกันทำ ตามหลักการสมบัติบ้านใครเป็นของผู้นั้น เพื่อรักษาสิทธิว่าด้วยทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพเป็นของไทย
ขณะนี้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้เข้าร่วมสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรม อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มีหนังสือไปถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัดแล้ว เพื่อให้เป็นนโยบายขององค์กรปกครองท้องถิ่นทุกตำบล
ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย