จากประชาชาติธุรกิจ
ชาวบ้านเฮ! ศาล ปค.สูงสุดตัดสินให้ กฟผ.สร้างม่านน้ำ 800 เมตร แก้มลพิษแม่เมาะ
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ศาลปกครองเชียงใหม่ ศาลอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีที่ นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ กับพวกรวม 318 คน ซึ่งเป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดมลพิษโครงการเหมืองลิกไนต์แม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 11 ราย เป็นผู้ถูกฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อ.16 31/2553 กรณี กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ที่เป็นผู้ถือประทานบัตรการทำเหมืองแร่ถ่านหินในพื้นที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ไม่ปฏิบัติตามวิธีการทำเหมืองแร่และเงื่อนไขท้ายประทานบัตร รวมทั้งเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเหมืองแร่ แผนผังโครงการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 กระทั่งก่อให้เกิดมลพิษ ทำให้ผู้ฟ้องได้รับผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและทรัพย์สิน โดยที่ รมว.อุตสาหกรรม, กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ และอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง ผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการทำเหมืองแร่ของ กฟผ.กลับเพิกเฉย ไม่ดำเนินการให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และอธิบดี คพ. ผู้ถูกฟ้องที่ 5-6 ควบคุมมลพิษ รวมทั้งเรียกค่าเสียหายจาก กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ขณะที่ผู้ถูกฟ้องที่ 8-11 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่น ก็ไม่มีคำสั่งให้ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ยุติหรือระงับการกระทำดังกล่าว
ผู้ฟ้องทั้งหมดจึงขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาสั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 11 รายเพิกถอนประทานบัตรของ กฟผ.ดังกล่าว และให้ผู้ถูกฟ้องที่ 8-11 ร่วมกันแก้ไขฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กลับฟื้นคืนสู่ธรรมชาติ และให้ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 หยุดการกระทำที่ก่อให้เกิดมลพิษ รวมทั้งให้กรมควบคุมมลพิษและอธิบดี คพ. ผู้ถูกฟ้องที่ 5-6 เรียกค่าเสียหายจาก กฟผ.และอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง โดยให้ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ชดใช้ค่าเสียหายกับผู้ฟ้องด้วย
โดยศาลปกครองเชียงใหม่มีคำพิพากษาว่า กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ละเลยต่อหน้าที่ จึงให้ กฟผ.ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยให้อพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมี, ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ ด้วยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุดและปลูกป่าทดแทน รวมทั้งให้ยื่นแก้ไขมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ข้อ 2.6 ที่กำหนดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (สผ.) จากเดิมที่ให้นำพืชที่ปลูกในพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland) ไปกำจัด ให้เปลี่ยนเป็นใช้ระบบ Anaerobic Bacteria และการกำหนดพื้นที่บัฟเฟอร์โซน ระยะจุดปล่อยดินกับชุมชนให้เป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 50 เมตร และให้จัดทำรายงานการตรวจประเมินสิ่งแวดล้อมทุก 2 ปี โดยจะต้องมีรายงานตรวจสอบทุกผลกระทบที่เกิดขึ้น ที่เสนอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทราบ และให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ตรวจสอบ กำกับดูแลการประกอบกิจการ กฟผ.ให้ทำตามเงื่อนไขประทานบัตร
ขณะที่อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯและ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 3 และที่ 7 ยื่นอุทธรณ์คดี
โดยศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 รื้อม่านน้ำที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นมาตรการป้องกันฝุ่นละอองในบรรยากาศที่ให้มีความยาว 800 เมตร บริเวณที่กำหนดให้เป็นที่ทิ้งดินกับบ้านหัวฝายออก และได้ทำการปลูกต้นสนประดิพัทธ์เป็นแนวกำบังแทน โดยยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 จากการที่มีแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงถือว่าเป็นการละเลยต่อหน้าที่
เช่นเดียวกับการที่ กฟผ.ไม่ดำเนินการอพยพราษฎรบ้านห้วยคิงทั้งหมดออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร และการไม่จัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาการอพยพที่เป็นการกำหนดมาตรการป้องกันโดย สผ. จึงถือว่า กฟผ.ยังปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามมาตรการ รวมทั้งการที่ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ไม่ได้นำพืชที่ปลูกในพื้นที่ชุ่มน้ำไปกำจัดและปลูกเสริมทุก 18 เดือน และไม่ขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำ และการไม่วางแผนจุดปล่อยดินตามฤดูกาล และการไม่กำหนดพื้นที่บัฟเฟอร์โซนรวมทั้งบังเกอร์ ก็เป็นการละเลยต่อหน้าที่
อย่างไรก็ดี ในการเปลี่ยนแปลงมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ได้ขอให้มีการเปลี่ยนแปลงบางข้อให้ถูกต้องตรงกับที่ กฟผ.ได้เปลี่ยนวิธีการทำเหมืองจากเดิมที่กำหนดไว้ โดยได้รับความเห็นชอบจาก สผ.แล้ว เพียงแต่การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นยังไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯและ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ประกอบกับการใช้อำนาจเพิกถอนประทานบัตรย่อมส่งผลกระทบต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะเกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะและประชาชนมากกว่าผลดีที่จะได้รับ
ดังนั้นการที่ รมว.อุตสาหกรรม ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ไม่ออกคำสั่งเพิกถอนประทานบัตรจึงยังไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ แต่อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ได้ทราบถึงการกระทำของ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 แล้วไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 มาตรา 138 เป็นการละเลยต่อหน้าที่
ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น โดยสั่งให้ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ดำเนินการดังนี้ 1.ติดตั้งม่านน้ำ ความยาว 800 เมตร ระหว่างที่ทิ้งดินด้านตะวันออกกับบ้านหัวฝาย และระหว่างที่ทิ้งดินด้านตะวันตกกับหมู่บ้านทางทิศใต้ เพื่อลดฝุ่นละอองในบรรยากาศ 2.ให้จัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญ ร่วมกันพิจารณาการอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบที่อาจนำไปสู่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยให้อพยพออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร 3.ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ ด้วยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุดและปลูกป่าทดแทน เฉพาะในส่วนที่ กฟผ.นำพื้นที่ที่ต้องฟื้นขุมเหมืองไปทำสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ 4.ให้นำพืชที่ปลูกในพื้นที่ชุ่มน้ำไปกำจัดและปลูกเสริมทุก 18 เดือน ขุดลอกเพื่อเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำในพื้นที่ชุ่มน้ำ 5.ให้ทำการขนส่งเปลือกดินโดยใช้ระบบสายพานที่มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำตามแนวสายพาน และให้วางแผนจุดปล่อยดินโดยให้ตำแหน่งที่ปล่อยดินไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดผ่านไปยังชุมชนที่อยู่โดยรอบ, ให้กำหนดพื้นที่บัฟเฟอร์โซน ระยะจุดปล่อยดินกับชุมชนเป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 50 เมตร และควรจัดทำเป็นบังเกอร์ โดยให้จุดปล่อยดินอยู่ต่ำกว่าความสูงของบังเกอร์ ขณะที่การปล่อยดินจะต้องกำหนดเป็นตารางที่แน่นอน โดยใช้ฤดูเป็นเกณฑ์ในการตัดสินตำแหน่งที่ต้องห่างจากชุมชนมากที่สุด
และให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ตรวจสอบกำกับดูแลการประกอบกิจการของ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขประทานบัตร หาก กฟผ.ไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ พ.ร.บ.แร่ฯโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯและ กฟผ. ผู้ถูกฟ้องที่ 3 และที่ 7 ดำเนินการตามคำพิพากษาภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีต่อคำพิพากษาของศาลครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ชาวบ้านได้รับชัยชนะอีกก้าว หลังจากต่อสู้เรียกร้องมานาน อยากให้ กฟผ.หันหน้าเข้ามาช่วยเหลือ เยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างจริงจัง อย่าพยายามเลี่ยงปัญหาที่ก่อขึ้น ขอให้ กฟผ.ยอมรับปัญหาต่างๆ ไว้เป็นบทเรียนแล้วเริ่มต้นใหม่กับชาวบ้าน เพื่อให้ทั้ง กฟผ. โรงไฟฟ้า เหมืองลิกไนต์ และชาวบ้านอยู่ร่วมกันได้ต่อไป "แม้ศาลไม่สั่งให้ กฟผ.จ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือ ชาวบ้านก็ยอมรับ ถือว่าภาพรวมคำตัดสินของศาลเป็นที่น่ายินดี เป็นข่าวดีรับปี 2558 ส่วนเงินเยียวยา ยอมรับว่าชาวบ้านไม่ได้ยื่นเอกสารหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าคดีนี้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ และสมควรได้รับการเยียวยาจริง ซึ่ง กฟผ.ควรรู้แก่ใจว่าทำผิดเงื่อนไขต่างๆ จริง จนกระทบชาวบ้าน ขอให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ อย่างถูกต้อง เป็นธรรม ไม่มีนอก มีใน ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน และกระทบสิ่งแวดล้อมอีก" นางมะลิวรรณกล่าว
ที่มา : นสพ.มติชน
ไร่รักษ์ไม้,Eosgear,มูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,victorinox,แปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit,ราคา,อร่อย