สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิกฤตชาวบ้านพิจิตร-เลือด-ดีเอ็นเอ-ผิดปกติ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

ที่ประชุมเพื่อรับฟังคำชี้แจงเรื่องผลกระทบจากเหมืองแร่ โดยคณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา มีชาวบ้านจาก จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ เลย พิษณุโลก และสระบุรี รวมถึงนักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 100 ราย

ผลการตรวจเลือดชาวบ้านรอบเหมืองเป็นไปในทิศทางเดียวกัน พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้ลงพื้นที่ จ.พิจิตร เพื่อตรวจเลือดชาวบ้าน จำนวน 731 ตัวอย่าง พบว่ากลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีแมงกานีสและอาร์เซนิก (สารหนู) ปนเปื้อนในเลือดเกินมาตรฐาน

สอดคล้องกับผลตรวจความเสียหายของดีเอ็นเอ โดย อรนันท์ พรหมมาโน คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งตรวจชาวบ้าน 601 ราย พบความผิดปกติของดีเอ็นเอ 209 ราย หรือ 34.7% เช่นเดียวกับผลตรวจโลหะหนักในพืชของ ภญ.ลักษณา เจริญใจ คณะเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ที่พบว่าพืชที่ทอดยอดลงไปในแหล่งน้ำ เช่น ผักบุ้ง จะมีค่าแมงกานีสสูงเกินมาตรฐาน

แม้จะมีสัญญาณอันตรายจากพื้นที่อย่างชัดเจน แต่หัวหน้าทีมนักวิชาการอย่าง สมิทธ์ ตุงคะสมิต รองคณบดีฝ่ายวิชาการวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ก็ยอมรับว่ายังไม่สามารถสรุปผลได้ว่ากิจการเหมืองเป็นต้นเหตุหรือเกี่ยวข้องกับการปนเปื้อนเหล่านี้

สำหรับมาตรการการดำเนินการในจังหวัด สุทธา สายวาณิชย์ รอง ผวจ.พิจิตร ชี้แจงว่า ได้ตั้งคณะกรรมการในระดับจังหวัดขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วย 5 ฝ่าย รวมถึงผู้แทนเหมืองด้วย โดยมุ่งแก้ปัญหาเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพเป็นหลัก เบื้องต้นมีมติดำเนินการใน 3 ด้าน 1.สุขภาพอนามัยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และเตรียมเจาะเลือดชาวบ้านในรัศมี 10 กิโลเมตรรอบเหมือง ประมาณ 6,000 คน

2.ต้องตัดห่วงโซ่อาหาร คือ พืช ผัก ผลไม้ ที่ปลูกในบริเวณดังกล่าว เนื่องจากพบว่าตัวอย่างที่เก็บมาตรวจมีปัญหาแน่นอน จากนี้จะมีการสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ (ไม่ใช้ดิน) 3.ไม่ให้ใช้น้ำจากพื้นที่เด็ดขาด โดยขณะนี้ได้จัดหาน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคเข้าไปให้บริการ

ขณะที่ สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ชาวบ้าน จ.พิจิตร กลับให้ข้อมูลว่า น้ำที่นำเข้ามาแจกชาวบ้านยังมีไม่เพียงพอ และผู้ที่ป่วยเนื่องจากมีสารโลหะหนักปนเปื้อนในเลือดก็ยังไม่ถูกนำไปรักษาใดๆ แม้ว่ากรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จะมีคำสั่งให้ผู้ประกอบการเหมืองเร่งดำเนินการ

ทางด้าน เชิดศักดิ์ อรรถอรุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานงานภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส (อัคราไมนิ่ง) ยืนยันว่า จากข้อมูลศูนย์อนามัยที่ 8 นครสวรรค์ พบว่าคุณภาพน้ำประปาในพื้นที่ทั้งหมดยังอยู่ในระดับคุณภาพที่ใช้การได้ ส่วนทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ในทีมที่ปรึกษาซึ่งทำหน้าที่ค้นหาสาเหตุการปนเปื้อนตามที่ กพร.มีคำสั่งให้ดำเนินการ

วันเดียวกัน ชาวบ้าน จ.พิจิตร เข้ายื่นหนังสือถึง นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และสภามหาวิทยาลัย เรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลการวิจัยของทีมวิชาการซึ่งร่วมงานกับบริษัท อัคราฯ ออกสู่สาธารณะ พร้อมกันนี้ให้ชี้แจงรายละเอียดขั้นตอนการวิจัย ผลการศึกษากลุ่มตัวอย่าง พร้อมทั้งให้ยืนยันข้อมูลผลการวิจัยด้วยตัวเอง

ขณะที่คณะทำงาน คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำเอกสารชี้แจงว่า ผลการจัดทำรายงานยังอยู่ในระยะเบื้องต้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เพื่อลดความเข้าใจผิด มหาวิทยาลัยมหิดลจะเลิกทำงานวิจัยชิ้นนี้


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,อะไหล่ victorinox,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,servival Kit

Tags : วิกฤต ชาวบ้านพิจิตร เลือด ดีเอ็นเอ ผิดปกติ

view