จาก โพสต์ทูเดย์
เรื่อง อินทรชัย พาณิชกุล ภาพ เพจเฟซบุ๊ก กลุ่มใบไม้
ภาพเก้งน้อยนอนจมกองเลือดกลางถนนบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หลังถูกรถยนต์ที่แล่นมาด้วยความเร็วสูงชนเข้าอย่างจัง สร้างความสะเทือนใจให้แก่นักท่องเที่ยวพบเห็นเป็นอย่างยิ่ง
ในวันที่ความเจริญรุกคืบ ถนนหนทางถูกสร้างตัดผ่านผืนป่า ภูเขาลูกแล้วลูกเล่าแปรเปลี่ยนเป็นอุทยานแห่งชาติให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลกันเข้ามาชื่นชมความงดงามของธรรมชาติ สัตว์ป่าที่เปรียบเสมือนเจ้าของบ้านจึงถูกรบกวนโดยแขกผู้มาเยือนนั่นคือมนุษย์ อย่างหลีกเลี่ยงมิได้
ถนนสังหาร สุสานสัตว์ป่า
จุดเริ่มต้นของการปลุกให้สังคมตื่นตัวกับอุบัติเหตุรถชนสัตว์ป่าบนถนน มาจากความสูญเสียอันน่าสะพรึงกลัวบนทางหลวงสาย 3259 ที่ตัดผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ผืนป่าใหญ่ที่ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด ประกอบด้วยฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า‘ถนนสังหาร’
จากผลการศึกษาเรื่อง“ผลกระทบของถนนที่ตัดผ่านป่าต่อการสูญเสียสัตว์มีกระดูกสันหลังในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน” โดยไสว วังหงษา และกัลยาณี บุญเกิด นักวิชาการประจำสถานีวิจัยสัตว์ป่าฉะเชิงเทรา ส่วนวิจัยอุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ปี 2542 ระบุว่า ถนนสาย 3259 ช่วงตัดผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ระหว่างกิโลเมตรที่ 15-30 มีสัตว์ป่าถูกรถชนตายปีละกว่า 1.4 หมื่นตัว
“ช่วงกลางคืนนี่ถือเป็นนรกของสัตว์ป่าเลย สัตว์ใหญ่อย่างช้าง วัวแดง กวาง เก้ง แมวดาว ลิง นก กระรอก งู สมัยก่อนตายกันเกลื่อนแทบทุกคืน ที่น่าอนาถใจที่สุดคือ เก้งท้องแก่ถูกรถชนจนท้องฉีกลูกทะลักออกมา กับวัวแดงเพศผู้นอนตายริมถนน ลองคิดดูแล้วกันว่าวัวแดงเป็นสัตว์ใหญ่ แข็งแรงบึกบึน ถ้าไม่ขับเร็วจริงก็คงไม่ตายคาที่หรอก”นักนิยมไพรรายหนึ่งเล่าให้ฟัง
แม้จะมีการกำจัดความเร็วเอาไว้ที่ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ด้วยความที่เป็นถนนตรง ไม่มีโค้ง ทำให้รถที่มีผ่านไปมาต่างใช้ความเร็วสูงตลอดทั้งวัน ทั้งหมดนี้นำไปสู่การประกาศปิดถนนสาย 3259 ชั่วคราวเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่เดือนมิ.ย.2551 — มิ.ย. 2552 ผลที่ได้คือสามารถช่วยชีวิตของสัตว์ป่าให้รอดจากการถูกรถเฉี่ยวชน ได้ถึง 13,158 ตัว หรือ 91.3 % ของสัตว์ที่ตายเลยทีเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อการรบกวนอันเกิดจากเสียงรถและแรงสั่นสะเทือนหมดไปจากพื้นที่ บรรดาสัตว์น้อยใหญ่เริ่มออกมาหากินให้เห็นตามสองฝั่งอีกครั้ง
ปัจจุบัน ถนนสาย 3259 ช่วงตัดผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ระหว่างกิโลเมตรที่ 15-30 มีมาตรการปิดเส้นทางการจราจรชั่วคราวในช่วงกลางคืน แบ่งเป็น เดือนมกราคม — เดือนเมษายน ปิดตั้งแต่เวลา 21.00 น. — 05.00 น. และเดือนพฤษภาคม — ธันวาคม ปิดเวลา 18.00 น. — 06.00 น. นโยบายดังกล่าวช่วยลบล้างอาถรรพ์ของถนนสังหารสายนี้ได้อย่างน่าอัศจรรย์
โศกนาฎกรรมจากความมักง่าย
ปัญหาใหญ่ของถนนที่ตัดผ่านผืนป่าคือ ไม่มีเส้นทางที่ปลอดภัยเพียงพอให้สัตว์ป่าข้ามถนน เมื่อสัตว์ไร้เดียงสาตัวแล้วตัวเล่าพลัดหลงเข้ามาปะทะกับรถยนต์ที่แล่นมาด้วยความเร็ว จึงต้องจบชีวิตลงอย่างน่าอนาถ
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ซึ่งถือเป็นอุทยานแห่งชาติที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านคนต่อปี ก็ประสบปัญหาสัตว์ป่าถูกรถเฉี่ยวชนได้รับบาดเจ็บ หรือล้มตายเป็นประจำ
“โดยเฉพาะ 5 ปีมานี้ ปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จำนวนรถก็เพิ่มตามด้วย ผมว่าสัตว์ป่าถูกรถชนเพิ่มมากขึ้นทุกปีนะ วัดจากการได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตาตัวเอง เห็นซากริมถนน รวมถึงได้ยินข่าว มีตั้งแต่ช้างป่า กระทิง ชะมด เก้ง กวาง หมาใน ระรอก เม่น งู และลิงที่ตายเยอะสุด มันเป็นภาพน่าสะเทือนใจมาก” กุลพัฒน์ ศรลัมพ์ ช่างภาพสัตว์ป่าผู้คลุกคลีอยู่ในพื้นที่เขาใหญ่มานานกว่า 20 ปี เล่าให้ฟัง
สาเหตุสำคัญหนีไม่พ้นพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎระเบียบของนักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่ไม่แยแสป้ายคำเตือนใดๆทั้งสิ้น
“เดี๋ยวนี้บนเขาใหญ่รถเยอะมาก เผลอเป็นซิ่ง บางกลุ่มขึ้นมาลองรถกันยังมีเลย บางคนเห็นป้ายเตือนห้ามขับเร็วเกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงก็จบแค่นั้น แต่ไม่รู้ไม่สนใจว่าทำไมเขาถึงต้องห้ามขับเร็ว ถ้าทุกคนคิดตรงกันว่าอุทยานแห่งชาติคือบ้านของสัตว์ป่า เราเป็นแขกผู้มาเยือน อาจช่วยให้เห็นอกเห็นใจสัตว์ป่ามากขึ้น แต่นี่กลับคิดว่าเสียเงินเข้ามาแล้ว จะทำอะไรก็ได้ อยากจะหยุดรถให้อาหารสัตว์ตรงไหนก็จอด พอฝูงลิงลงมากิน รถคันหลังไม่เห็นขับมาชนตาย สุดท้ายไปโทษสัตว์ว่าเพ่นพ่านหลุดออกมาเอง”
ช่างภาพรายนี้เสนอว่าทางอุทยานควรรณรงค์ด้วยการแจกแผ่นพับให้ความรู้ประชาชน เพื่อเป็นการละลายพฤติกรรมก่อนเข้ามาเที่ยว หรือจัดทำป้ายขนาดยักษ์เป็นภาพสัตว์ป่าถูกรถชนตายไว้ตรงจุดที่เกิดเหตุ น่าจะช่วยเตือนสติผู้ขับรถที่ผ่านไปมาให้สำนึกได้บ้าง
น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มองว่า ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติทุกแห่งมีความพร้อมในเรื่องทีมแพทย์ฉุกเฉิน สามารถเคลื่อนที่ไปช่วยเหลือสัตว์ได้ทันทีที่ได้รับแจ้งเหตุ
“ที่ผ่านมา หากได้รับแจ้งเหตุสัตว์ป่าถูกรถชน เราจะประเมินไว้ก่อนแล้วว่าโอกาสรอด 50-50 เพราะส่วนใหญ่จะบาดเจ็บอย่างรุนแรงจากอาการกระดูกหัก อวัยวะภายในบอบช้ำ สมองได้รับการกระทบกระเทือน หลายตัวที่รอดแต่พิการก็มี หลายตัวเราก็รักษาจนหายก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ สิ่งที่น่าภูมิใจมากกว่าคือ เดี๋ยวนี้นักท่องเที่ยวมีจิตสำนึกขึ้น เวลาขับรถผ่านไปเจอสัตว์ถูกรถชนบาดเจ็บก็จะช่วยโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ แม้แต่คนชนเองก็ยังลงมาดูสัตว์ ก่อนแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยเหลือ หวังให้มันรอดชีวิต บางครั้งปัญหาการขับรถชนสัตว์เป็นเหตุสุดวิสัยจริงๆครับ”
เที่ยวป่าอย่างเป็นมิตรด้วย “4 ไม่”
ครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ บอกว่า ที่ผ่านมา มาตรการป้องกันปัญหาสัตว์ป่าถูกรถเฉี่ยวชน มีทั้งปิดด่านเข้าออกอุทยาน ตั้งแต่ 21.00 -06.00 น. จำกัดความเร็วของรถไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจตราพร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิด รวมทั้งจัดทำเนินสะดุด และป้ายเตือนให้ระมัดระวังสัตว์ป่าข้ามถนน
“ต้นเหตุอยู่ตรงที่พฤติกรรมนักท่องเที่ยวกับสัตว์ป่ามาบรรจบลงตัวกันพอดี นักท่องเที่ยวใจบุญอยากให้อาหารสัตว์ สัตว์ป่าเองก็อยากจะชิมอาหารที่รสชาติแตกต่างจากผลหมากรากไม้ในป่า ทำให้มีสัตว์เป็นจำนวนมากลงมาข้างถนนจนถูกรถเฉี่ยวชน”
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดช่วงใกล้เทศกาลปีใหม่ ทางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ร่วมกับกลุ่มใบไม้และเครือข่ายอนุรักษ์ต่างๆ ได้ออกแคมเปญรณรงค์ “ปฏิบัติการ 4 ม. ขอไม่มาก” ประกอบด้วย ไม่ทิ้งขยะ ไม่ให้อาหารสัตว์ ไม่ขับรถเร็ว และไม่ส่งเสียงดัง เพื่อปลุกจิตสำนึกของนักท่องเที่ยวให้มีความรู้ความเข้าใจในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ
“โดยเฉพาะเรื่องการให้อาหารสัตว์ ยิ่งให้สัตว์ก็จะยิ่งมาหา เช่น เมื่อให้ลิงกินผลไม้ ลิงก็จะไม่กินผลไม้จากต้น ส่งผลให้พวกเศษหรือผลไม้ต่าง ๆ ที่ตกจากต้นเพื่อเป็นอาหารให้สัตว์อื่นก็น้อยลง ทำให้สัตว์อื่นที่ไม่สามารถปีนต้นไม้ได้ ไม่มีอาหารกิน แถมถ้าให้อาหารลิง ลิงก็จะรออยู่ข้างทาง ส่งผลให้จราจรติดขัด และสัตว์อาจถูกรถชนบาดเจ็บล้มตายได้”
เพราะป่าคือ บ้านของสัตว์ หากเราเอาแต่คิดตักตวงความสุขจากธรรมชาติ ก็อาจก่อความทุกข์ใหญ่หลวงแก่สัตว์ป่าเจ้าบ้านอย่างคาดไม่ถึง.
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,ไร่รักษ์ไม้สวนศิริผล,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,สินค้าเกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต