จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
พระราชกรณียกิจเนื่องในวันพระบิดาฝนหลวง เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
เพจเฟซบุ๊คของสำนักราชเลขาธิการ (facebook.com/infodivohm) ได้เผยแพร่พระราชกรณียกิจเนื่องในวันพระบิดาฝนหลวง ระบุว่า ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ได้มีพระราชดำริที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคต่าง ๆ ของประเทศ เพื่อทอดพระเนตรสภาพบ้านเมือง และสภาพพลเมืองภายใต้พระราชอาณาด้วยสายพระเนตรของพระองค์เอง อันจะทำให้สามารถที่จะทรงกำหนดแนวแห่งรัฏฐาภิปาลโนบายขึ้นได้โดยความถูกต้องเหมาะสมกับสภาวะของประเทศและประชาชน
ดังนั้น การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรครั้งแรกจึงได้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ ๒ ถึง ๒๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๘ โดยทรงเริ่มต้นเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในครั้งนั้น จึงได้ก่อให้เกิด “โครงการฝนหลวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ขึ้น โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบันทึกเหตุการณ์ไว้ในพระราชบันทึกเป็นภาษาอังกฤษ เรื่อง “The Rainamaking Story” ที่ต่อมาได้พระราชทานแก่สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๓ ความว่า
“วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ขณะนั่งรถยนต์พระที่นั่งเดลาเฮย์ซีดานสีเขียวกำลังมุ่งหน้าสู่จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้มีรับสั่งให้ขบวนรถพระที่นั่งหยุดบริเวณแยกกุฉินารายณ์และสหัสขันธ์ เพื่อมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรเกี่ยวกับผลผลิตข้าว ทรงตั้งพระราชสมมติฐานว่า ผลผลิตของราษฎรต้องเสียหายจากความแห้งแล้ง แต่ก็ต้องประหลาดพระราชหฤทัย เมื่อราษฎรกราบบังคมทูลว่า เดือดร้อนเพราะน้ำท่วม ทรงเห็นว่าแปลกนัก เพราะพื้นดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือดูคล้ายทะเลทราย มีผงดินฟุ้งกระจายอยู่ทั่วไป ทรงพระดำริว่าภัยน้ำท่วมและฝนแล้ง หรือความผันผนวนปรวนแปรไม่แน่นอนของฝนธรรมชาติ คือสาเหตุที่แท้จริงของความยากจนของราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”
ในปีเดียวกันนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญการวิจัยประดิษฐ์ด้านเกษตรวิศวกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ตำแหน่งในขณะนั้น) เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อรับพระราชทานแนวพระราชดำริ เรื่อง การค้นหาวิธีทำให้ฝนตก โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์กับทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศ
และเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๒ นับเป็นวันประวัติศาสตร์แห่งการทำฝนหลวงของประเทศไทย เพราะเป็นวันที่ได้มีการบินทดลองปฏิบัติการในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก โดยใช้วนอุทยานเขาใหญ่ (ชื่อในขณะนั้น) อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่ทดลองแห่งแรก การทดลองได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากเกิดการก่อตัวเป็นเมฆฝนขนาดใหญ่ในเวลาอันรวดเร็ว เพียงแต่ยังไม่อาจควบคุมให้ฝนตกในบริเวณที่ต้องการได้
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานคำแนะนำเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยให้เปลี่ยนพื้นที่ทดลองไปยังจุดแห้งแล้งอื่น ๆ เช่น อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น และด้วยความสำเร็จของโครงการฝนหลวง จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๘ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๕ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงเป็น "พระบิดาแห่งฝนหลวง" พร้อมกันนี้ได้กำหนดให้วันที่ ๑๔ พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันพระบิดาแห่งฝนหลวง
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,ไร่รักษ์ไม้สวนศิริผล,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,สินค้าเกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต