สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รู้ให้ทัน-โจรแอบแฝงในคราบผู้ค้าออนไลน์

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...นรินทร์ ใจหวัง

ในยุคที่สังคมออนไลน์เบ่งบาน สร้างความสะดวกสบายให้กับคนในสังคม ที่ทำให้การซื้อขายสินค้าง่ายดายเพียงปลายนิ้ว ส่งผลให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยผันตัวเองมาเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ทว่าผู้ค้าบางส่วนกลับไม่ใช่ผู้ค้าที่แท้จริง แต่เป็นบรรดดามิจฉาชีพที่แฝงตัวเข้ามาก่ออาชญากรรม หลอกลวงผู้บริโภค ทำให้หลายคนต้องเสียเงินจำนวนมากโดยไม่ได้รับสินค้าที่สั่งไป

เรื่องการถูกหลอกขายของออนไลน์มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง อย่างการหลอกขายมือถือผ่านเฟซบุ๊ก ที่ผู้ซื้อโอนเงินให้ 11,000 บาท พอทวงถามเจ้าของเฟซบุ๊กก็เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนรูป หนักเข้าก็บล็อกรายชื่อ สูญเงินฟรี , โอนเงินซื้อไอโฟน 13,000 แต่กลับไปน้ำ2ขวดส่งไปรษณีย์มา, สั่งซื้อมือถือออนไลน์ สุดท้ายได้พัสดุเป็นก้อนหิน, สั่งชุดจากอินเทอร์เน็ตเนื้อผ้าไม่ดี  เสื้อสีเพี้ยน กระโปรงสั้นกว่าในรูป เครื่องสำอางโฆษณาเกินจริง ฯลฯ

ล่าสุดกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ งัดกฏเหล็กต้อนให้ผู้ค้าออนไลน์ ที่มีมากกว่า2 แสนคน มาจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้อง เพื่อให้ง่ายต่อการตามตัวหากเกิดปัญหาในภายหลัง ซึ่งมีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มาลงทะเบียนแล้วกว่า12,000 คน  โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าตั้งเป้าไว้ว่าในปี2558 จะสามารถนำผู้ค้ามาลงทะเบียนได้ทั้งหมด 

แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือการที่ผู้บริโภคจะต้องทำอย่างไรให้รู้เท่าทันในกลโกงของคนเหล่านี้ หากชีวิตยังต้องพึ่งพาการช็อปออนไลน์อยู่ ก็ต้องซื้อให้ฉลาดพอ

รู้ให้ทัน กลโกงสุดเนียน

พ.ต.ท.สันติพัฒน์ พรหมะจุล รองผู้กำกับการกลุ่มงานสนับสนุนคดีเทคโนโลยี กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. ได้แบ่งการฉ้อโกงผ่านการซื้อขายออนไลน์ ออกเป็น3 รูปแบบใหญ่ๆ คือ

1. หลอกให้โอนเงินค้ามัดจำไปก่อน สุดท้ายก็ติดต่อไม่ได้ นัดดูของแล้วไม่มา 

2.เมื่อโอนเงินค่าสินค้าไปแล้ว ผู้ค้าส่งของให้จริง แต่สินค้ากลับไม่มีคุณภาพ  ไม่สมราคา

3.มีการส่งสินค้าผ่านทางไปรษณีย์มาให้จริง แต่กลับเป็นของประเภทอื่น เช่นก้อนหิน ขวดน้ำ

4. สั่งซื้อสินค้าราคาเเพง เช่นกระเป๋าแบรนด์เนม แต่เมื่อได้รับสินค้ากลับเป็นของปลอม ซึ่งส่วนใหญ่จะทำทีให้มีคนวิ่งมาส่งของให้ แต่มักจะนัดในสถานที่ที่ไม่สะดวกต่อการดูรายละเอียดสินค้า เช่น ลาดจอดรถ เมื่อมีการยื่นหมู ยื่นแมว เรียบร้อยแล้ว คนส่งของกลับไป เมื่อผู้ซื้อได้พิจารณาสินค้า ก็ปรากฏกว่าสินค้าเป็นของปลอม ของละเมิดลิขสิทธิเป็นต้น

"สินค้าที่มีการนำมาอ้างและก่อให้เกิดการโกงกันมากที่สุด หนีไม่พ้นอุปกรณ์เทคโนโลยี แก็ดเจ๊ตใหม่ๆ สมาร์ทโฟน กล้องฟรุ้งฟริ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงที่มีมือถือกำลังออกใหม่ เหมือนในตอนนื้ ที่สมาร์ทโฟนเจ้าดังอย่างไอโฟน6กำลังวางขาย ก็จะมีเรื่องร้องเรียนเข้ามามากเป็นพิเศษ"พ.ต.ท.สันติพัฒน์กล่าว

เว็บไซต์ซื้อขายกลางของไทย ควรดูอีเบย์เป็นต้นแบบ

เว็บไซต์กลาง ซึ่งเป็นกระดานประกาศซื้อขายสินค้า ที่มีอยู่มากมาย ณ เวลานี้ ได้เปิดโอกาศให้คนธรรมดาๆ มาลงขายสินค้ากันเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมา เว็บไซต์กลางของไทย ยังไม่รัดกุมในการแจ้งรายละเอียดผู้ค้ามากนัก  จึงก่อให้เกิดปัญหาขึ้นได้ หากเกิดการฉ้อโกงกันขึ้น หรือสินค้าไม่ได้คุณภาพ

"ขณะนี้เว็บไซต์ซื้อขายออนไลน์ในเมืองไทยเปิดขึ้นมาเยอะมาก แต่กลับไม่ได้รับการควบคุม กลายเป็นเจ้าของเว็บไซต์ไม่ได้รับผิดชอบ คือให้ผู้ซื้อ-ผู้ขายจัดการกันเอง ถ้าใครสักคนจะโดนหลอกเขาไม่สามารถช่วยอะไรได้ อย่างมากก็ให้ไอพีแอดเดรส หรือให้โปรไฟล์ของผู้ขายแค่นั้น บางเว็บดีหน่อยที่มีการให้แสดงตน ขอเลขบัตรประจำตัวประชนด้วย ถ้าเกิดเรื่องขึ้นมาตำรวจก็พอหาตัวได้ แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ยังยากในมุมที่เขาอาจจะไปหลอกเว็บอื่นไปมากมายแล้ว ใช้การเปลี่ยนเป็นชื่อไปเรื่อยๆ หลอกกันไปมา กว่าจะเจอตัวคนก็สูญเงินไปเยอะ

"ถ้าเราไม่พูดถึงเมืองไทย อย่างเว็บไซต์อีเบย์เนี่ย คนใช้เยอะนะครับ แต่เขามีขั้นตอนที่จะช่วยเหลือทั้งผู้ซื้อ และผู้ขายหากมีปัญหาคือตามให้ทั้ง2 ฝ่าย ผู้ขายไม่ดีก็ล็อกตัวได้ ให้ข้อมูลกับตำรวจ แต่ในไทย ยังไม่ลักษณะนั้น เว็บไซต์ขายกลางของเราจะระบุเลยว่าการซื้อขาย เว็บไซต์มีส่วนต้องรับผิดชอบ เป็นเรื่องของคน 2 คน เว็บจะออกตัวว่าไม่เกี่ยว ถามว่าถูกต้องหรือไม่ ผมว่าไม่นะ การที่คนมาลงซื้อที่เว็บของคุณเยอะๆ  คุณได้ค่าโฆษณาอาจจะไม่ได้เก็บจากผู้ซื้อผู้ขาย แต่ก็ต้องช่วยดูแลทั้งคู่ด้วย"รองผกก.ปอท.อธิบาย

ไลน์-เฟชบุ๊ก ช่องทางอันตรายโดนหลอกง่าย แถมตามตัวยาก

หากจะให้พูดถึงปัญหาที่แก้ยากของการซื้อขายของออนไลน์มากที่สุด พ.ต.ท.สันติพัฒน์ ฝากเตือนผู้บริโภคว่า การซื้อขายโดยผ่านโซเชียลมีเดีย อย่างไลน์ และเฟชบุ๊ก จะอยู่ในสภาวะที่หน้าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะเป็นการสนทนากันสำหรับคน2 คน หากเกิดการโกงกันขึ้น เจ้าหน้าที่จะตามตัวยากมากที่สุด 

"ไลน์ กับ เฟชบุ๊คถูกเอาไปใช้ในการหลอกก็เยอะ  มันค่อนข้างกระจายในวงกว้าง ซึ่งกว่าเราติดตามตัวได้ ก็ยาก ทางที่ดี ควรนัดเจอ รับสินค้าด้วยตัวเอง อย่าเห็นแก่สินค้าราคาถูก แล้วก็รีบก็โอนเงินเลย ลองชั่งใจดูว่าถ้าซื้อของในศูนย์ที่รับประกัน ความเสี่ยงน้อย กับซื้อออนไลน์ที่ถูกกว่า แต่เราไม่เห็นสินค้าก่อนเลย เรามีสิทธิเป็นเหยื่อได้มากกว่ามาก

อีกอย่างโจรยุคใหม่ ไม่เอาเงินเยอะ แต่มักหลอกให้โอนเงินเป็นเงินมัดจำน้อยๆ ใช้วิธีตอด เท่าที่เราตามเรื่องอยู่ ส่วนใหญ่จะเป็นขายไอโฟน ให้โอนเงินมัดจำก่อน1-2 พันบาท แล้วก็ชิ่งหนี เพราะโจรมันรู้นิสัยคนไทย จะขี้เกียจแจ้งตำรวจเพราะเห็นว่าเงินเล็กน้อย ก็เลยตามเลย เช่นเดียวกันในต่างจังหวัดที่ทางปอท. ไม่ได้รับแจ้งเรื่อง สถิติก็คงไม่น้อยที่เดียว ดังนั้น  ถ้าเราจะซื้อของ ถ้าไม่เห็นของไม่ต้องจ่ายเงินดีกว่า หรือไม่ก็นัดยื่นหมูยื่นแมวกันในที่ชุมชน ห้างสรรพสินค้า  ร้านกาแฟ สำหรับสินค้าราคาแพงมากก็ควรมีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดู เป็นต้น"

สิทธิเบื้องต้นที่ผู้ซื้อออนไลน์ ควรรู้

สารี อ่องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สิ่งที่ผู้บริโภคคนไทยยังไม่ค่อยรู้ก็คือสิทธิของตัวเองในการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ว่า การซื้อขายประเภทนี้มี พ.ร.บ.การขายตรงและการตลาดแบบตรง คุ้มครองอยู่ ดังนั้นหากผู้บริโภคไม่พอใจในสินค้าสามารถขอคืนเงินได้จากผู้ค้าได้เต็มจำนวน

"ต้องทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าการซื้อของประเภทนี้เรียกว่า การขายตรงประเภทหนึ่ง ซึ่งเรามีสิทธิที่จะได้รับการคืนเงินภายใน 30 วัน ถึงแม้สินค้าจะไม่มีปัญหาสินค้าก็ตาม เพราะผู้ซื้อไม่ได้เห็นสินค้าตั้งแต่แรก ไม่เหมือนเราไปเดินซื้อของในห้างซึ่งจะเห็นสินค้า ถือว่าได้ตัดสินใจไปแล้วหนึ่งครั้ง แต่การซื้อของออนไลน์นี่ผู้บริโภคยังไม่ได้เห็นของที่แท้จริงเลย ดังนั้นหากผู้บริโภคไม่พอใจในสินค้า ทางผู้ขายมีหน้าที่ต้องมารับของไป พร้อมคืนเงินเต็มจำนวน ห้ามแม้แต่หักค่าขนส่ง"สารีกล่าว

เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ความเห็นอีกว่า ในกรณีการซื้อขายสินค้าในเฟชบุ๊ก ไลน์ แล้วคนขายจะหายตัว ที่ผ่านมาเมื่อมีการร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิฯ ก็จะคุยกับตำรวจคุ้มครองผู้บริโภคของ และกองปราบ โดยสามารถปิดเว็บไซต์ไปบ้างแล้ว พร้อมทั้งส่งเรื่องไปยังกระทรวงไอซีทีด้วย ซึ่งผู้บริโภคสามารถเข้าไปอ่านหาข้อมูล ดูการแจ้งเตือนในเว็บไซต์ของมูลนิธิฯได้ เพื่อเป็นการป้องตัวเองในเบื้องต้น แต่สิ่งที่รัฐควรทำก็คือจัดระบบให้ชัดเจน ทำอย่างไรให้คนขายมีตัวตน เพราะการจดทะเบียนนั้นมีความจำเป็นมากทีเดียว

สำหรับคนที่พลาดท่า ตกเป็นเหยื่อโจรในคราบผู้ค้าออนไลน์ไปแล้ว ควรรีบตั้งสติ และเข้าแจ้งความกับสน.ที่เกิดเหตุทันที อย่าเห็นแก่จำนวนเงินที่น้อย เพราะหากคิดอย่างนั้น ก็เท่ากับปล่อยให้โจรลอยนวลไปอีกครั้งหนึ่ง

ทางออกที่ดีทางหนึ่ง คือการสืบประวัติเบื้องต้นก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า โดยการเข้าไปอ่านรีวิวจากลูกค้ารายอื่นๆ หรือลองนำชื่อไปเสิร์ชในกูเกิ้ลว่าเคยมีประวัติโกงลูกค้าหรือไม่ ก็จะช่วยให้การช็อปปิ้งครั้งหน้าลดความเสี่ยงลงได้


สวนรักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : รู้ให้ทัน โจรแอบแฝง คราบผู้ค้าออนไลน์

view