จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม
ชื่อบทความนี้ผมแปลอย่างตรงตัวมาจากบทความของ Brad Plumer ผู้รายงานข่าว และนักเขียนแนวสิ่งแวดล้อมในวารสาร The New Republic และบล็อกส่วนตัวของเขาด้วย
Brad Plumer ได้เขียนบทความของเขาพร้อมเอกสารอ้างอิงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2556 เขาเริ่มต้นด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า “มีบางสิ่งที่ผิดปกติมากกำลังเกิดขึ้นต่อภาคไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ กำลังเติบโตขึ้น ประชาชนซื้อบ้านหลังใหญ่กว่าเดิมพร้อมด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มากกว่าเดิม แต่บริษัทไฟฟ้าขายไฟฟ้าได้น้อยลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา”
นักวิเคราะห์ให้เหตุผลว่าน่าจะมาจาก 2 สาเหตุคือ หนึ่งเนื่องจากมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสอง เนื่องจากมีการผลิตไฟฟ้าใช้เองจากแผงโซลาร์บนหลังคาบ้านตนเอง
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ 2 สาเหตุเช่นเดียวกัน คือ หนึ่ง ค่าไฟฟ้าที่ซื้อจากบริษัทมีราคาสูงขึ้น (ประมาณ 2-3% ต่อปี) และสอง ต้นทุนการติดตั้งก็ลดลงอย่างรวดเร็วจากประมาณ 7 ดอลลาร์ต่อวัตต์ในปี 2553 ลงมาเหลือไม่ถึง 5 ดอลลาร์ในปี 2556 (สำหรับขนาดที่เหมาะต่อการติดตั้งบนหลังคาบ้านคือ ไม่เกิน 10 กิโลวัตต์-ดูกราฟประกอบ)
จากราคาที่ลดลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ส่งผลให้คนอเมริกันหลายแสนคนนิยมติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาบ้านตนเอง เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง จึงส่งผลให้มีการซื้อไฟฟ้าจากบริษัทน้อยลง เมื่อบริษัทไฟฟ้าขายไฟฟ้าได้น้อยลง แต่เพื่อให้ครอบคลุมรายได้ที่ลดลง บริษัทจึงจำเป็นต้องขึ้นราคาค่าไฟฟ้าเพื่อนำเงินมารักษาสภาพของระบบสายส่ง จึงยิ่งส่งผลให้คนหันมาติดโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นไปอีกด้วย ปรากฏการณ์ที่ผลของการกระทำกลับไปเป็นเหตุวนเวียนกันเช่นนี้ บริษัทผลิตไฟฟ้าจึงกำลังเดินไปสู่สภาพ “ก้นหอยแห่งความตาย (Death Spiral)”
มีการประมาณกันว่า ในปัจจุบันนี้ทุกๆ หนึ่งนาทีชาวอเมริกันจะติดแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นหนึ่งชุด
ในขณะเดียวกัน ปัจจุบัน 43 รัฐของสหรัฐฯ รวมทั้งวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ผ่านกฎหมายที่เรียกว่า “Net metering Laws” เพื่ออนุญาตให้บ้านเรือนที่ติดแผงโซลาร์สามารถขายไฟฟ้าส่วนที่ตนผลิตได้เอง และเหลือใช้เข้าสู่ระบบสายส่งไฟฟ้าได้ในราคาขายปลีก (ความหมายของ Net Metering คือ การคิดค่าไฟฟ้าจากค่าสุดท้ายของมิเตอร์ที่จดบันทึก เช่น เมื่อกระแสไฟฟ้าไหลเข้าบ้านตัวเลขในมิเตอร์ก็จะเพิ่มขึ้น แต่เมื่อกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากหลังคาบ้านไหลออกสู่สายส่ง ตัวเลขในมิเตอร์ก็จะลดลงในวันที่จดบันทึกการไหลของกระแสไฟฟ้าผ่านมิเตอร์ ได้เท่าใด ตัวเลขนั้นถือเป็นตัวเลขสุทธิ)
ปัจจุบันไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงโซลาร์มีแค่ 0.4% ของปริมาณไฟฟ้าที่ชาวอเมริกันใช้ แต่จากการศึกษาของ Ernest Orlando Lawrence Berkeley National Laboratory พบว่า
“หากโซลาร์เซลล์สามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้สัก 10% ในอีก 10 ปีข้างหน้า รายได้ของบริษัทไฟฟ้าจะลดลงถึง 8% ถึง 41%” (ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันตามภูมิศาสตร์)
Brad Plumer เจ้าของบล็อกยังได้กล่าวอีกว่า “สถานการณ์เช่นนี้จะคล้ายกับในประเทศเยอรมนีที่พลังงานแสงอาทิตย์มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณครึ่งหนึ่งของบางบริษัท”
ขณะเดียวกัน บริษัทผลิตไฟฟ้าจำนวนมาก (ซึ่งใช้เชื้อเพลิงสกปรก) ก็กำลังผลักดันเพื่อ “การปฏิรูป” (Reform-เขาใช้คำนี้เหมือนกับบ้านเราเลย) เพื่อที่จะชะลอ หรือขัดขวางการเติบโตของพลังงานบนหลังคาซึ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และรู้สึกว่าเป็นอันตรายมาก
วิธีการของบริษัทเหล่านี้ก็คือ การกลับไปเปลี่ยนแปลงเรื่อง Net metering laws รวมถึงการยกเลิกการอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งถือว่าเป็นการทำสงครามกับหลายๆ ส่วนซึ่งกำลังเกิดขึ้นมากกว่า 12 รัฐ คล้ายๆ กับที่เกิดขึ้นกับประเทศเยอรมนี และออสเตรเลีย (ซึ่งผมได้เขียนถึงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา)
ผมขอจบเรื่องบทความของ Brad Plumer ไว้เพียงแค่นี้ครับ เพราะเป็นรายละเอียดที่ยากเกินไป แต่สิ่งที่ผมสนใจมากคือ “ก้นหอยแห่งความตาย” ซึ่งผมจะขอเล่าถึงประสบการณ์ตรงที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในชีวิตราชการของผมเอง
เมื่อปี 2516 ผมเริ่มรับราชการในตำแหน่งอาจารย์ในภาควิชาคณิตศาสตร์ ด้วยเหตุที่เป็นภาควิชาใหม่เราจึงได้งบประมาณสำหรับซื้อครุภัณฑ์จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องคิดเลขไฟฟ้าในขณะที่ทั่วทั้งประเทศไทยเรามีเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่เกิน 5 เครื่อง
ผมจำได้ว่าราคาเครื่องละ 2-4 หมื่นบาท ในขณะที่เงินเดือนอาจารย์ตรีประมาณ 1,640 บาท (ราคาทองคำบาทละ 500 บาท) ระบบการทำงานบางเครื่องเป็นหลอดทรานซิสเตอร์ บางเครื่องเป็นไอซี
ผมจำได้อีกว่าประมาณเดือนตุลาคม 2516 มีอาจารย์อาสาสมัครชาวเยอรมันคนหนึ่ง เขาได้นำเครื่องคิดเลขที่เขาซื้อมาจากประเทศสิงคโปร์ ในราคา 8,500 บาท ซึ่งสามารถทำงานได้ดีกว่าเครื่องคิดเลขราคา 4 หมื่นบาท ที่ภาควิชาสั่งซื้อหลายเท่า ปัจจุบันราคาเครื่องคิดเลขชนิดดังกล่าวประเทศจีนสามารถผลิตได้ในราคาไม่ถึง 500 บาทในขณะที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า
การลดลงอย่างมหาศาลของราคา และการเพิ่มขึ้นอย่างมากมายของประสิทธิภาพของเครื่องคิดเลขดังกล่าวเมื่อ 40 ปีก่อน กำลังเกิดขึ้นกับเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าอีกแล้วครับ
เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าแบบใหม่นี้ความจริงก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย คือ เป็นเทคโนโลยีเดียวกับที่พืชใช้ในการสังเคราะห์แสงนั่นเอง
คือ ใช้แสงอาทิตย์มาสร้างพลังงาน หรืออาหารให้กับตนเอง โดยการดูดน้ำขึ้นมาทางราก (ด้วยกระบวนการออสโมซิส เป็นการแพร่ของน้ำจากบริเวณที่มีความเข้มข้นน้อย ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ไปสู่บริเวณที่มีความเข้มข้นมาก โดยไม่ต้องใช้พลังงานจากภายนอก) เมื่อมาทำปฏิกิริยากับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศก็จะได้กลูโคส กับก๊าซออกซิเจนมันช่างเป็นปฏิกิริยาที่ไม่มีความซับซ้อน ไม่มีขั้นตอนมากมายเหมือนกับการผลิตพลังงานไฟฟ้าของมนุษย์ (ซึ่งจะกล่าวต่อไป)
ผมไม่แน่ใจว่า ในทางวิทยาศาสตร์ได้มีการคำนวณ หรือวัดประเมินประสิทธิภาพการทำงานของพืชหรือไม่ แต่ผมเข้าใจว่าน่าจะมีประสิทธิภาพสูงมาก
ในขณะที่เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงถ่านหินเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนมาก เริ่มต้นที่พืชกลายเป็นถ่านหินเมื่อประมาณ 200 ล้านปีก่อน จากนั้นก็ตามด้วยการทำเหมืองถ่านหิน บางเหมืองอยู่ไกลถึงต่างประเทศ ต้องมีการขนส่ง นำมาบด ต้มน้ำให้เดือด สูบน้ำมาหล่อเย็น ระบายน้ำหล่อเย็นลงคลองสาธารณะ ใช้ไอน้ำไปหมุนไดนาโมเพื่อผลิตไฟฟ้า จากนั้นก็ส่งไฟฟ้าไปตามสายส่ง พร้อมด้วยการปรับแรงดันไฟฟ้าให้เหมาะสมตามสถานีต่างๆ กว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ในบ้านได้
Denny Kennedy ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “การปฏิวัติบนหลังคา (Rooftop Revolution)” ถึงกับกล่าวว่า วิธีการผลิตไฟฟ้าของมนุษย์นั้น “เป็นวิธีการที่ไม่มีประสิทธิภาพที่น่าหัวเราะเยาะมากที่สุดเท่าที่จะจินตนาการได้”
ในเรื่องประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีผู้ประเมินพบว่า ถ้าเราใส่พลังงานเข้าไปในระบบ 100 ส่วน จะเกิดการสูญเสียไปจากโรงไฟฟ้าทันทีถึง 62 ส่วน (ดูภาพบนประกอบ) ที่เหลืออีก 38 ส่วน จะถูกส่งออกจากโรงไฟฟ้าโดยจะสูญเสียไปกับระบบสายส่งอีก 2 ส่วน จะถึงบ้านเพียง 36 ส่วน และหากใช้หลอดไฟฟ้าแบบหลอดไส้ จะกลายมาเป็นแสงสว่างเพียง 2 ส่วนเท่านั้น แต่จะสูญหายไปกับความร้อนถึง 34 ส่วน (ดูภาพล่างประกอบ)
ที่กล่าวมาแล้วเป็นประเด็นของการสูญเสียพลังงานเพียงอย่างเดียว ยังไม่ได้กล่าวถึงเรื่องมลพิษและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพทั้งระดับใกล้ๆ โรงไฟฟ้า และสภาวะโลกร้อนที่เลยระดับที่จะเยียวยาได้แล้ว
ในเรื่องของเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า ความจริงแล้วมนุษย์ก็มีความสามารถที่จะผลิตได้อย่างไม่ซับซ้อน และง่ายๆ แบบเดียวกับที่พืชสังเคราะห์แสง นั่นคือ การผลิตจากโซลาร์เซลล์ เมื่อแสงอาทิตย์มาตกกระทบแผงโซลาร์ก็จะเกิดกระแสไฟฟ้าในทันทีทันใด เพียงแต่เป็นไฟฟ้ากระแสตรง เมื่อแปลงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับก็สามารถใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เราใช้อยู่แล้วได้ทันที
ไม่ต้องใช้น้ำในการผลิต ไม่มีการปล่อยน้ำเสีย ไม่มีอากาศเสีย ไม่มีสารปรอท และสารแคดเมียมตกค้าง ไม่ต้องสูญเสียไปกับระบบสายตรง เป็นต้น
ความจริงแล้วหลักการในเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์มีการค้นพบได้แล้วตั้งแต่ พ.ศ.2482 แต่มีการผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2497 ซึ่งในขณะนั้นต้นทุนในการผลิตสูงมาก
จากรายงานเรื่อง “Revolution Now” โดย กรมพลังงาน สหรัฐอเมริกา (กันยายน 2556) ได้รายงานว่า “ในปี 2555 ต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาได้ลดลงเหลือเพียง 1% ของเมื่อ 35 ปีก่อน และนับจากปี 2551 ได้มีผู้ติดแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นประมาณ 10 เท่าตัว คือจาก 735 เมกะวัตต์ เป็น 7,200 เมกะวัตต์ และในช่วงเวลาเดียวกันต้นทุนแผงได้ลดลงจาก $3.40 ต่อวัตต์ เป็น $0.80 ต่อวัตต์”
รายงานฉบับนี้ยังกล่าวอีกว่า “ทุกวันนี้ ชาวอเมริกันกำลังหันมาใช้พลังงานจากดวงอาทิตย์กันมากขึ้น ซึ่งเปิดโอกาสให้พวกเขามีความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง ในราคาไฟฟ้าที่ต่ำ แนวโน้มในปัจจุบันชี้ว่า พลังงานงานแสงอาทิตย์มีอนาคตที่สดใสมาก”
จากการศึกษาของสถาบันเพื่อการพึ่งตนเองของท้องถิ่น (Institute for Local Self-Reliance, www.ilsr.org) พบว่า ภายในปี 2021 จำนวนประชากรอเมริกันประมาณ 100 ล้านคน จะสามารถผลิตไฟฟ้าจากหลังคาบ้านตนเองในราคาที่ถูกกว่าราคาที่ต้องซื้อจากบริษัทผลิตไฟฟ้า เป็นจำนวนประมาณ 6 หมื่นเมกะวัตต์
ซึ่งผมคำนวณจากข้อมูลอื่นได้ว่าประมาณ 84,000 ล้านหน่วย หรือประมาณเกือบครึ่งหนึ่งของที่คนไทยใช้ในปี 2556
จากหนังสือที่ผมอ้างถึงแล้ว พบว่า หากใช้พื้นที่ 1 หมื่นตารางไมล์ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในสหรัฐอเมริกา จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอต่อปริมาณไฟฟ้าที่ชาวอเมริกันใช้ทั้งประเทศ (แค่หลักการนะครับ ของจริงต้องมีการผสมผสานกันหลายชนิด)
ปัจจุบันในหลายแห่งของโลกพลังงานแสงอาทิตย์สามารถแข่งขันกับพลังงานฟอสซิลได้แล้ว เช่น ในอิตาลี ออสเตรเลีย และแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐอเมริกา
ในปี 2556 ไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์เพียงอย่างเดียวในประเทศเยอรมนี จำนวนถึง 29,300 ล้านหน่วย ทั้งๆ ที่ประเทศเยอรมนีมีแสงแดดน้อยกว่าประเทศไทยเยอะเลย ซึ่งไฟฟ้าจำนวนนี้เพียงพอสำหรับคนไทยที่ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 240 หน่วย ได้ประมาณ 10 ล้านหลังคาเรือน หรือกว่า 40 ล้านคน
เท่าที่ผมรวบรวมข้อมูลจากผู้มีประสบการณ์ติดตั้งในประเทศไทย พบว่า หากติดขนาด 3 กิโลวัตต์ (ซึ่งใช้พื้นที่ประมาณ 20 ตารางเมตร) จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณเดือนละ 350 หน่วย ด้วยต้นทุนประมาณ 1.8 แสนบาท (โดยมีแนวโน้มลดลง) และสามารถใช้งานได้นานถึง 25 ปี
ผมอยากจะสรุปบทความนี้เป็น 2 ประการครับ
บทสรุปประการแรก จากประสบการณ์ตรงเรื่องเครื่องคิดเลขของผมเอง ประกอบกับหลักทฤษฎีของแผงโซลาร์เซลล์ที่เป็นหลักการเดียวกับการสังเคราะห์ของพืช ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีต้นทุนถูกลงมาก รวมทั้งการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของบริษัทไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา ผมเชื่อว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสกปรกกำลังเดินไปสู่ “ก้นหอยแห่งความตาย” อย่างแน่นอน
สัญญาณเสริมอีกอย่างหนึ่งก็คือ คำประกาศของกองทุน The Rockefeller Brothers Fund (http://www.rbf.org/post/fund-announces-plans-divest-fossil-fuels) เมื่อหนึ่งวันก่อนที่ผู้นำโลกจะมาประชุมเรื่องสภาวะโลกร้อนที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติว่าจะถอนตัวออกจากการลงทุนในพลังงานฟอสซิล โดยจะลดให้เหลือไม่ถึง 1% ภายในปี 2557 นี้
สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ บริษัทผลิตไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาเป็นของเอกชน ในขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่กำลังดิ้นรน และโหมการประชาสัมพันธ์เพื่อที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในหลายจังหวัดของภาคใต้นั้นเป็นของรัฐ
ดังนั้น หากต้องเดินเข้าสู่ก้นหอยแห่งความตาย ผู้บริหารก็ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ
บทสรุปประการที่สอง เป็นประเด็นทางสิ่งแวดล้อม หรือประเด็นทางคุณธรรมผมขอยกคำพูดของ ดร.เฮอร์มันน์ เชียร์ อดีตประธานสมาคมพลังงานหมุนเวียนโลก (ซึ่งเสียชีวิตเมื่อเดือนตุลาคม 2553) ว่า
“เพื่อที่จะให้มนุษย์ และธรรมชาติกลับมาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกครั้งหนึ่งมีหนทางเดียวที่จะเป็นไปได้ คือ มนุษย์จะต้องใช้พลังงานชนิดเดียวกันกับที่ธรรมชาติใช้ นั่นคือ พลังงานจากดวงอาทิตย์”
ซึ่งทุกอย่างได้เปิดทางสะดวกให้หมดแล้ว คงเหลือเพียงอย่างเดียวที่เป็นอุปสรรคคือ การขัดขวางของภาครัฐที่นับวันประชาชนไทยเราได้รู้ทันกันมากขึ้นแล้ว
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต