สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ที่จอดรถคนพิการ ต้องพิการแค่ไหนถึงจะใช้ได้

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย....นรินทร์ ใจหวัง

ประเด็นเรื่องที่จอดรถคนพิการ กำลังเป็นข้อพิพาทสนั่นสังคม เมื่อคนทั้งคนพิการ และผู้หวังดี นำภาพมาฟ้อง เพื่อทวงสิทธิที่จอดรถคนพิการคืนมา ทั้งๆที่ข้อมูลส่วนหนึ่งยังไม่ได้รับการยืนยันว่า รถหรู(ส่วนใหญ่)ที่ถูกถ่ายทะเบียนรถประณามนั้น จะมีคนพิการโดยสารมาในรถด้วยหรือไม่ หรือแม้กระทั่งมีคนพิการ คนชรานั่งรถมาด้วยจริงๆ ก็ยังถูกกังขาได้อยู่ดี

คำถามน่าสนใจในประเด็นเรื่องที่จอดรถที่ตามมา จึงเป็นคำถามที่ว่า “ต้องพิการขนาดไหนกันแน่ ถึงจะจอดรถที่ในที่จอดรถคนพิการได้”

ซึ่งเมื่อค้นหาข้อมูลก็พบว่ากฎหมายไทยยังไม่มีการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก จึงยังไม่มีการบัญญัติกฎออกมาว่า ต้องพิการแค่ไหนจึงจอดรถในที่จอดคนพิการได้อย่างไม่ถูกประณาม แต่อย่างไรก็ตามกฎกระทรวง ที่ว่าด้วยการกําหนดสิ่งอํานวยความสะดวกในอาคารสําหรับผู้ พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ. 2548 หมวดที่จอดรถ ระบุไว้ว่า ทั้งผู้พิการและคนชรา สามารถใช้ที่จอดรถที่เดียวกันได้

เรื่องนี้อธิบายได้โดย "ธีรยุทธ สุคนธวิท" เลขานุการเครือข่ายรถเมล์เพื่อประชาชนที่ทุกคนต้องขึ้นได้ หนึ่งในผู้พิการที่ต้องนั่งรถวีลแชร์ แต่สามารถขับรถเองได้ กล่าวว่า เนื่องจากทางรัฐยังไม่มีการออกกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมา หน่วยงานเอกชนที่ขับเคลื่อนเกี่ยวกับเรื่องนี้เองจึงต้องพยายามสร้างความเข้าใจแก่สังคม

ทั้งนี้คนพิการที่มีสิทธิจอดรถตามที่จอดรถเฉพาะคนพิการได้จะต้องเป็นคนพิการทางกายและการเคลื่อนไหว เท่านั้น ไม่รวมพิการทางสายตา หรือหูหนวก

ต้องพิการแค่ไหน ถึงจะจอดในที่จอดรถคนพิการได้

“ผู้สูงอายุที่จอดในที่จอดรถคนพิการ คือถ้าเรามีผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น ใช้วอคเกอร์ หรือเดินไม่สะดวก ก็มีสิทธิจอดได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ใช่แบบนั้น แต่จะมีคนถืออภิสิทธ์เข้าไปจอดเลย เพราะที่จอดจะอยู่ใกล็กับทางเข้าออกมากที่สุด ตรงนี้จึงเป็นประเด็นที่มีรถหรู รถตำรวจไปจอด โดยไม่มีใครกล้าว่า เพราะมีทิปให้รปภ.ที่ละ100 บ้าง ส่วนตำรวจก็ไม่มีใครกล้าแตะ ซึ่งผู้สูงอายุเองค่อนข้างจะเป็นปัญหานิดหนึ่ง คือเราก็ต้องการให้มีการสติ๊กเกอร์ แต่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ญาติจะขับให้และไม่ต้องการที่จะติดสติ๊กเกอร์คนพิการด้วย เราจึงกำลังพูดคุยกับสภาผู้สูงอายุแห่งชาติให้ นำสัญลักษณ์ผู้สูงอายุมาทำเป็นป้ายติดรถด้วย รวมทั้งลักษณะของคนบาดเจ็บ-พิการ ชั่วคราวเอง ก็ได้สามารถจอดรถบนที่จอดคนพิการได้  ถ้าเห็นๆ กันอยู่ว่าลงมาใช้ไม้ค้ำยัน ใช้ไม้เท้า”

เป็นที่แน่นอนว่าจะต้องมีการถามหาสัญลักษณ์ที่สามารถบ่งบอก ความแตกต่างระหว่างคนปกติและคนพิการเพื่อทุกคนจะสามารถใช้สิทธิของตนเองได้อย่างไม่เอาเปรียบกัน จึงเป็นที่มาของสติ๊กเกอร์ติดรถคนพิการโดย สภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการประเทศไทย ที่จัดทำขึ้นเพื่ออำนวยความะดวกแก่คนพิการ แต่เรื่องสำคัญที่สุดที่คนผลักดันโครงการอย่างธีรยุทธหนักใจคือ การทำความเข้าใจกับคนในสังคม เพราะเชื่อว่าคนไทยยังไม่คุ้น ไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก โดยเฉพาะคลิปที่นำไปโพสต์ประณาม อย่างที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้เป็นเรื่องที่น่าห่วง

“ทัศนะคติต่อคนพิการตอนนี้ไม่ค่อยดีนัก เพราะมีการนำคลิปมาแฉ ในหนึ่งก็ว่าเป็นการรักษาสิทธิ มองว่าดี  แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คุณรณรงค์ ให้เข้าใจดีแล้วหรือยัง ไปประณาม ถ่ายรูป ถ่ายทะเบียน ซึ่งอาจจะมีผู้สูงอายุอยู่ในรถก็ได้ โดยเฉพาะตอนนี้มี ผู้สูงอายุมาสู่สังคมเยอะขึ้นมาก”

แล้วจะขอรับสติ๊กเกอร์ได้ที่ไหนบ้าง

เพราะไม่มีหน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องป้ายติดรถคนพิการโดยตรง หน่วยงานที่ตระหนักถึงเรื่องนี้จึงต้องออกมาจัดการโดยเป็นผู้มอบสติ๊กเกอร์จอดรถคนพิการซึ่งคนพิการสามารถไปรับได้ที่ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สมาคมคนพิการนนทบุรี 

“จริงๆ ควรจะมีการปรึกษากับทางหน่วยงานรัฐ ทางกฎหมาย ถ้าเป็นต่างประเทศ เขาจะเว้นไว้ ให้เติมเลขเลขทะเบียน เขาต้องติดต่อขอรับจากเทศบาล อบต.แต่บ้านเราไม่ถึงขนาดนั้น เพิ่งเริ่มต้น เราจะทำแจกเขาไปก่อน งบเล็กๆ น้อยๆ และทำความเข้าใจกับสังคม กฎหมายก็ยังไม่มีบังคับใช้ เราก็จะแต่มีกฎทางสังคม

ส่วนกรณีที่มีคนถกเถียงกันอย่างมากว่าคนขาดีเป็นคนขับรถที่มีคนพิการหรือ คนบาดเจ็บ คนชรา โดยสารไปด้วย ถือว่าเป็นเรื่องผิดหรือไม่ ผมมองว่า เขาก็มีสิทธิจอดในที่ใกล้ทางเข้าออกนะ แต่พอเราลงจากรถแล้ว บางครั้งคนไม่เห็นก็มีคำถามขึ้นมาว่า ไม่เห็นพิการเลย พิการตรงไหน ซึ่งตรงนี้ยังเป็นช่องโหว่อยู่  ถามว่าจริงๆ แล้วทำได้มั้ยได้ คำตอบคือได้ เพียงแต่ว่าเราจะถูกเคียร์เป็นผู้บริสุทธ์ก็ต่อเมื่อเอาอาอึ้ม อาม่า มาขึ้นตอนท้าย ระหว่างนั้นอาจตกเป็นจำเลยโดยใช่เหตุ คิดว่าป้ายติดรถจะเป็นทางออกหนึ่ง”ธีรยุทธ์กล่าว

ส่องกฎหมายที่จอดรถคนพิการญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย

เมื่อยังไม่มีกฎหมายบังคับที่เจาะจง อาจทำให้เกิดช่องโหว่เกิดขึ้นหลายอย่าง แต่หากเราลองนำเอาข้อบังคับบางอย่างของประเทศที่พัฒนาแล้ว มาปรับใช้กับสังคมไทยเชื่อว่าอาจจะเป็นแนวทางที่ช่วยให้คนที่ไม่รู้ได้เข้าใจมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กฎหมายที่จอดรถของคนพิการในประเทศญี่ปุ่นโดยกระทรวงที่ดินมีการออกแผ่นพับเพื่อเพื่อการใช้ที่จอดรถสำหรับคนพิการอย่างเหมาะสม มีเนื้อหาคร่าว ๆ ดังนี้

สัญลักษณ์คนนั่งเก้าอี้เข็นสีขาวบนพื้นสีฟ้า หรือ International Symbol of Access เป็นสัญลักษณ์สากลที่หมายถึงสถานที่ที่คนพิการ(รวมถึงผู้สูงอายุหรือผู้ที่อยู่ระหว่างรักษาอาการบาดเจ็บ เช่น ขาหัก) สามารถเข้าถึงได้ ที่สำคัญคือถึงแม้จะเป็นรูปคนนั่งเก้าอี้เข็น แต่ไม่ได้หมายความเฉพาะแต่ผู้ใช้เก้าอี้เข็นอย่างเดียว

ซึ่งญี่ปุ่นมีการสนับสนุนคนพิการด้วยการใช้ระบบบัตรอนุญาตจอดรถ ที่องค์กรส่วนท้องถิ่นของจังหวัดนั้นๆ จะเป็นผู้จัดการ และบังคับผู้พิการ คนชรา ให้แสดงบัตรอนุญาตนี้ไว้ที่กระจกหน้ารถ อย่างไรก็ตามถึงแม้จะเป็นระบบของประเทศที่เจริญแล้วก็ยังสามารถพบปัญหาได้เหมือนกันอาทิ เช่น คนพิการที่มาจากท้องถิ่นอื่นที่ยังไม่มีระบบนี้อาจไม่สามารถใช้ที่จอดรถนี้ได้ และความจำเป็นของผู้ที่ต้องการจอดรถใกล้ทางเข้าออกนั้น ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ใช้เก้าอี้เข็นอย่างเดียว จึงถูกเรียกร้องให้จัดที่จอดรถที่เหมาะกับความต้องการ 2 แบบด้วย

ทั้งนี้ยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีกมากมาย เช่นที่จอดรถสำหรับผู้ใช้เก้าอี้เข็น กว้างอย่างต่ำ 3.5 เมตร สำหรับผู้พิการแบบอื่นหรือผู้มีความต้องการเฉพาะจะต้องมีที่จอดความกว้างประมาณ 2.5 เมตร ทั้งนี้ยังมีการระบุระดับความพิการกับอายุบัตรอนุญาติไว้ด้วยเช่น  ความพิการทางการมองเห็นระดับ 4 ขึ้นไป ความพิการทางการได้ยินและสื่อความหมาย  ความพิการทางการเคลื่อนไหว  ความพิการของหัวใจระดับ 4 ขึ้นไป สามารถถือบัตรประจำตัวผู้พิการได้3 ปี

ความพิการทางสติปัญญาระดับ A1, A2, Aถือหนังสือรับรองการรักษา ได้3 ปี ความพิการทางจิตใจระดับ 1 สามารถถือหนังสือรับรองได้ 3 ปี ส่วนผู้มีโรคที่รักษาได้ยาก ถือหนังสือรับรองการรักษา 3 ปีเช่นกัน

ส่วนผู้สูงอายุผู้ที่ต้องการการดูแลระดับ 1 – 5  จะถือบัตรประจำตัวผู้ได้รับการดูแลได้ 3 ปี  สตรีมีครรภ์ระหว่างตั้งครรภ์ถือหนังสือรังรองได้ในอายุครรภ์ 7 เดือน – 3 เดือนหลังคลอด สำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บผู้ที่อาการบาดเจ็บทำให้เคลื่อนไหวลำบากระยะเวลาที่ใช้ไม้ค้ำหรือเก้าอี้เข็น อื่น ๆ ถือหนังสือรับรองตามระยะเวลาที่เหมาะสมภายใน 1 ปี

ส่วนโทษของผู้มีร่างกายปกติเข้ามาจอดในที่จอดรถคนพิการ เช่น รถที่ไม่แสดงป้ายอนุญาตใช้ที่จอดรถคนพิการ โดยติดใบเตือนไว้ที่กระจกรถคันนั้น ๆ เป็นต้น

ทั้งนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังส่งเสริมให้มีการประชาสัมพันธ์ให้คนในชุมชนรับรู้ถึงความสำคัญของที่จอดรถสำหรับคนพิการโดยการติดโปสเตอร์รณรงค์ นอกจากนี้องค์กรส่วนท้องถิ่นสามารถยื่นเรื่องไปยังกระทรวงที่ดิน และการคมนาคมเพื่อขอรับเงินสนับสนุนได้อีกด้วย

ด้านกฎหมายเกี่ยวกับที่จอดรถคนพิการในประเทศออสเตรเลีย จะเห็นได้ว่าทางรัฐบาลออสเตรเลียได้กำหนดพื้นที่สำหรับจอดรถให้กับคนพิการชัดเจน รวมไปถึงสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาทิ ที่จอดรถเข็นบนรถเมล์ รถเมล์ต้องสามารถเองมารับรถเข็นได้ ตึกหลายกำหนดให้มีทางขึ้นพิเศษ รวมไปถึงห้องน้ำซึ่งมีกุญแจพิเศษเฉพาะผู้พิการทั่วประเทศให้ได้รับสิทธิ์ในการถือกุญแกเข้าตึก ห้องน้ำคนพิการด้วย

แต่เพื่อให้มีการตรวจสอบสิทธิผู้พิการต้องทำการลงทะเบียนทุกคนเพื่อรับสิทธิพิเศษข้างต้น เช่น เพื่อรับสติ๊กเกอร์ในการจอดรถในพื้นที่พิเศษของผู้พิการ ลดปัญหาโต้แย้งและเข้าใจผิด พร้อมทั้งมีการปรับในราคาแพงสำหรับผู้ละเมิดขั้นต่ำ AU$200.00 หรือ ประมาณ 6000 บาท โดยต้องจ่ายตรงไปยังบัญชีกลางของรัฐเท่านั้น

อย่างไรก็ตามกฎหมายในแต่ละรัฐก็ไม่เหมือนกันหมดในที่เดียว ยกตัวอย่างการขอใบอนุญาติที่จอดรถสำหรับคนพิการสำหรับรัฐนิวเซาท์เวลล์ที่มี 2 แบบ เช่น

1. บัตรสีฟ้าผู้ป่วยพิการแบบถาวร ซึ่งต้องดำเนินการต่ออายุทุก 5 ปี

2. กรณีเจ็บป่วยชั่วคราวซึ่งสามารถใช้ได้ 6 เดือน สูงสุดไม่เกิน 12 เดือน เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูลกฎหมายที่จอดรถคนพิการประเทศญี่ปุ่น : เพจมองญี่ปุ่น
ขอบคุณข้อมูลกฎหมายที่จอดรถคนพิการประเทศออสเตรเลีย:เว็ปไซต์ natui.com


ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ที่จอดรถคนพิการ พิการแค่ไหน ถึงจะใช้ได้

view