จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
117 วันมลพิษบ่อขยะแพรกษา ผลกระทบที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
นับเป็นเวลา 117 วันแล้วหลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะแพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา แม้ว่าขณะนี้ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนจะทุเลาเบาบางลงไปบ้าง แต่ก็ใช่ว่าปัญหาจะหมดสิ้นไป เนื่องเพราะ "บ่อขยะ" อันเป็นต้นตอของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข
สภาพปัญหาที่ยังเกิดขึ้นในพื้นที่ถูกถ่ายทอดในวงสัมมนาเรื่อง "แพรกษาโมเดล? และแนวทางการจัดการปัญหาบ่อขยะในประเทศไทย" ที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จับมือกับเครือข่ายภาคประชาสังคม และประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากบ่อขยะแห่งนี้ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา
สุชาติ นาคนก ประธานเครือข่ายต่อต้านบ่อขยะแพรกษา เล่าว่า ทุกวันนี้แม้จะไม่มีควันไฟแล้ว แต่ก็ยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการขุดบ่อเพื่อนำขยะขึ้นมา ซึ่งส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านเหมือนเดิม
สุชาติ บอกว่า ชาวบ้านแพรกษากว่า 12 หมู่บ้านรอบบ่อขยะยังคงมีความกังวลว่าจะได้รับผลกระทบอยู่ โดยเกรงจะเกิดไฟไหม้ซ้ำขึ้นมาอีก แต่การที่เจ้าของบ่อขยะเตรียมสร้างรั้วรอบพื้นที่นั้น เป็นการแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด และเป็นการปิดบังชาวบ้าน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการตรวจสอบการแก้ไข
จากปัญหาที่ยังดำรงอยู่ เครือข่ายต่อต้านบ่อขยะแพรกษาได้ร่างข้อเสนอจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ข้อเสนอดังกล่าวมีทั้งหมด 7 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้มีการประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ปนเปื้อนเพื่อการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม 2.ขอให้มีคำสั่งยกเลิกและห้ามออกใบอนุญาตประเภทประกอบธุรกิจบ่อขยะที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมโดยรวม 3.การฟื้นฟูต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ โดยให้ผู้ประกอบการและเจ้าของพื้นที่บ่อขยะจัดทำแผนและรับผิดชอบในการดำเนินการฟื้นฟู
4.ผู้ประกอบการจะต้องทำรั้วไม่เกินระดับสายตา 1-2 เมตร เพื่อให้ชุมชนสามารถติดตามตรวจสอบการดำเนินการฟื้นฟูและปรับปรุงพื้นที่ได้อย่างสะดวกและต่อเนื่อง 5.ขอให้การฟื้นฟูทุกขั้นตอนมีคณะกรรมการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินการดำเนินการ
6.ขอให้มีหลักประกันว่าสวัสดิภาพของเครือข่ายฯ และประชาชนที่ออกมาร้องเรียนทุกคนจะต้องได้รับการคุ้มครอง และ 7.ขอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศในเรื่องการกำกับดูแลผู้ประกอบการด้านการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนจากภัยพิบัติและมลพิษให้มีความทันสมัย สอดคล้องและเท่าทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน
รองศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ เสนอว่า แนวทางการแก้ไขบ่อขยะนั้นต้องทำให้เป็นระบบและยั่งยืน รวมทั้งต้องมีการจัดการตั้งกองทุนช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาโดยเร็ว ไม่ใช่ได้รับเงินหลังจากที่มีการฟ้องร้องกัน ซึ่งล่าสุดทราบว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช.ได้อนุมัติการจัดตั้งกองทุนลักษณะดังกล่าวแล้ว โดยมีวงเงิน 20 ล้านบาท
"จากเหตุการณ์ที่แพรกษาถึงตอนนี้ยังไม่รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ชาวบ้านยังได้รับผลกระทบอยู่ ซึ่งควรจะต้องมีการช่วยเหลือเงินเยียวยาในทันที"
ขณะที่ ดร.พิชญ รัชฎาวงศ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้เสนอแนวทางการปรับปรุงและฟื้นฟูบ่อขยะแพรกษา โดยหวังให้เป็นต้นแบบในการจัดการบ่อขยะแห่งอื่น
ดร.พิชญ บอกว่า บ่อขยะแพรกษานั้นขนาด 150 ไร่ ลึก 50 เมตร และเต็มไปด้วยน้ำ ถ้านำขยะออกมา พื้นที่จะเกิดการทรุดตัวหรือไม่ ดังนั้นแนวทางที่สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ อันดับแรกต้องคำนึงถึงสภาพพื้นที่ในเชิงวิศวกรรม รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน
เขายังบอกด้วยว่า ในพื้นที่ควรมีการตั้งโรงบำบัดน้ำเสียจากขยะในบ่อ ซึ่งต้องมาร่วมกันคิดว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ อย่างไร ส่วนแนวทางการปฏิบัตินั้นต้องระบุกลุ่มผู้เกี่ยวข้องในการปรับปรุงฟื้นฟูที่ชัดเจน ใครเป็นเจ้าภาพรับหน้าที่ดูแล
นอกจากนี้ยังต้องจัดทำงบประมาณในการฟื้นฟู ซึ่งในต่างประเทศรัฐช่วยออกเงินด้วย เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการ ต้องมีการออกแบบแผนงานที่เป็นระบบ และมีหลักวิชาการที่ถูกต้อง
สุดท้ายต้องมีการวัดผลเป็นระยะและต่อเนื่องเพื่อจะได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงและสามารถนำมาปรับปรุงแก้ไขหรือพัฒนาต่อไป
สำหรับความคิดเห็นต่างๆ ในวงสัมมนาครั้งนี้ ผู้จัดได้รวบรวมจัดทำเป็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อเสนอต่อ คสช. และหน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาอีกครั้ง
ก็ได้แต่หวังว่าปัญหาเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขในเร็ววัน เพื่อให้ประชาชนและชุมชนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ใกล้บ่อขยะได้มีความสุขแบบไร้มลพิษที่เป็นภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานอย่างที่ควรจะเป็น!
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต