จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ CSR Talk โดย ยุวลักษณ์ เหมะวิบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและพัฒนาแหล่งทุน มูลนิธิรักษ์ไทย
การเกิดแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงราย หรือแม้แต่การเตือนภัยสึนามิจากนักวิชาการ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงกลางปีนี้ก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีหลักวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และโหราศาสตร์เข้ามายืนยันข้อมูลต่าง ๆ นานา ทำให้ชุมชนเกิดการตื่นตัวและพร้อมจะปรับตัวให้เข้ากับภูมิอากาศและสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเกิดขึ้น
จนทำให้วันนี้การเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยเฉพาะชุมชนชายฝั่งทะเล เพราะภัยที่เกิดขึ้นค่อนข้างรุนแรงและต่อเนื่อง มีผลกระทบทั้งทางด้านอาชีพ ความเป็นอยู่ เศรษฐกิจในครัวเรือนและชุมชน ตลอดจนสภาพจิตใจที่ได้รับผลทั้งทางตรงและทางอ้อม ต้องได้รับการเยียวยาอย่างเร่งด่วนในระยะสั้น และมีแบบแผนอย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาว
มูลนิธิรักษ์ไทย และองค์การแคร์ จึงได้มีการศึกษาสถานการณ์ปัญหาและความจำเป็นสำคัญเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งช่องว่างซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เสนอต่อคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมถึงด้านพลังงาน (EC-ENRTP) โดยเน้นการประเมินความล่อแหลมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกันออกไปใน 16 ตำบลชายฝั่งทะเลในประเทศไทย และยังมีการจัดตั้งเครือข่ายระดับภูมิภาคของผู้ปฏิบัติงานพื้นที่ชายฝั่งทะเลในด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภูมิภาคเอเชีย 5 ประเทศ
ชุมชนชายฝั่งได้ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ผนวกกับองค์ความรู้ และการสนับสนุนของมูลนิธิรักษ์ไทย ภายใต้โครงการเสริมสร้างชุมชนชายฝั่งเข้มแข็งเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Building Coastal Resilience to Reduce Climate Change Impact (BCRCCI) ใน 4 จังหวัดชายฝั่ง คือ ชุมพร, นครศรีธรรมราช, กระบี่ และตรัง
โดยใช้ประสบการณ์ตรงจากสึนามิเมื่อปี 2547 ในการเตรียมความพร้อมป้องกันตัวเองจากภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น เช่น มีการร่วมมือกันฟื้นฟูป่าชายเลนและป่าชายหาดในพื้นที่ชายฝั่ง โดยการปักแนวไม้ไผ่เพื่อลดความรุนแรงของคลื่นลม
ส่วนปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและพายุที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ก็ใช้วิธีปักเป็นเขื่อนไม้ไผ่ชะลอคลื่น เวลามีลมพายุไม้ไผ่จะพลิ้วไหว และสามารถตั้งรับคลื่นลมได้ มีการทำข้อตกลงร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ห้ามเข้ามาขุดรากไม้หรือหาสัตว์น้ำต่าง ๆ บริเวณดังกล่าว ที่อาจสร้างความเสียหายให้กับป่าชายเลน โดยทุกคนในชุมชนจะช่วยกันเป็นหูเป็นตาเพื่อรักษาหมู่บ้านของพวกเขาไว้
โครงการนี้เป็นการพัฒนาต่อยอดจากการดำเนินงานของมูลนิธิรักษ์ไทย และองค์การแคร์ ในการฟื้นฟูสู่การพัฒนาชุมชนชายฝั่งที่ประสบภัยพิบัติสึนามิชายฝั่งทะเลอันดามัน ผนวกกับสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงภัยพิบัติธรรมชาติต่าง ๆ
โดยมีองค์กรที่ให้การสนับสนุนในการดำเนินงาน ได้แก่ องค์การแคร์เยอรมนี และลักแซมเบิร์ก ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป โปรแกรมด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมถึงด้านพลังงาน
ผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติทั่วโลก ทำให้เราตระหนักกันดีว่า เมื่อโลกช่วยเรา เราก็ควรช่วยโลก แค่ไม่ทำลายผลงานทางธรรมชาติ แค่นี้เราก็สามารถรักษาโลกใบนี้ไว้เพื่อลูกหลานของเราตลอดไป
ไร่รักษ์ไม้,สวนศิริผล,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต