แป้งร่ำน้ำอบ ตำรับวังหลวง
โดย : พิมพ์พัดชา กาคำ
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
อากาศร้อนแบบนี้ได้กลิ่นแป้งร่ำน้ำอบไทย หอม เย็น พาให้ชื่นใจ ตำรับสูตรวังหลวง เปิดให้คนภายนอกได้เข้าไปศึกษา เพื่อต้องการเผยแพร่และอนุรักษ์
เดินเลาะรั้ววังสระปทุม หลบจากบรรยากาศที่มีแต่ผู้คนมาเดินชอปปิงในห้างสรรพสินค้า เพียงไม่กี่อึดใจก็พบกับความสงบภายในรั้ววังสระปทุม วันนี้มีชั้นเรียนพิเศษที่เปิดโอกาสให้ผู้คนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้วิธีการทำแป้งร่ำ น้ำอบไทย ตำรับวังหลวง ที่ดำริโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ที่ต้องการเผยแพร่ความรู้จากวังหลวงสู่ภายนอก เพื่อการอนุรักษ์และเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ผู้คนที่สนใจจะนำความรู้เหล่านั้นไปประกอบเป็นอาชีพได้
นักเรียนกว่าสิบคนตั้งใจฟังอาจารย์ที่เดินทางมาจากวังหลวง บรรยายว่า แป้งร่ำ น้ำอบไทยนั้น มีอะไรเป็นส่วนผสม พร้อมทั้งสาธิตขั้นตอนและวิธีทำ ให้ลูกศิษย์ทั้งหลายได้เป็นลูกมือช่วยปอกเปลือกผิวมะกรูด ใช้ครกบดยาบดผิวมะกรูดเพื่อให้ได้น้ำมันหอมระเหย
น้ำอบไทยนั้นเป็นเครื่องหอมที่มีมาแต่โบราณ ใช้สำหรับสรงน้ำพระ รดน้ำผู้ใหญ่ ประพรมร่างกาย รวมทั้งงานที่ไม่เป็นมงคล เช่น งานที่ทรงพระราชทานน้ำหลวง ส่วนแป้งร่ำ เป็นเครื่องหอมชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้ในงานพิธีมงคล หรือเจิมสิ่งของต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล เช่นในงานพิธีขึ้นบ้านใหม่ เจิมป้ายร้าน เจิมเครื่องดนตรีไทย รวมทั้งงานมงคลเช่นพิธีแต่งงาน เป็นต้น
พรทิพย์ ทิพนา ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนช่างฝีมือในวัง (หญิง) เล่าว่า สมัยก่อนวิชาในวังจะไม่ถูกเผยแพร่ออกไปสู่ภายนอก แม้แต่วิชาตำรับต่างๆ ของบรรดาเจ้าจอมหม่อมทั้งหลาย ยังไม่เผยแพร่ให้คนในวังด้วยกันทราบ จนกระทั่งมีโรงเรียนในพระราขดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
“ช่วงที่สมเด็จพระเทพฯเสด็จเข้าวังหลวง แล้วทรงเห็นข้าราชบริพารที่ทำงานด้านการฝีมือในวังล้วนมีอายุมากกันแล้ว ท่านเกรงว่าวิชาความรู้เหล่านี้อาจจะสูญหายไป ก็เลยเปิดสอนให้บุคคลทั่วไปได้เรียนรู้วิชาเหล่านี้ จุดประสงค์แรกคือ อนุรักษ์วิชาช่างสตรีในวังเอาไว้ และผู้ที่มีโอกาสได้มาเรียนก็สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ เราจะเปิดสอนช่วงวันธรรมดาเพื่อที่คนว่างงานจะได้มาเรียนกัน ”
ภายหลังเปิดคอร์สสั้นๆ วันเสาร์ เรียนให้จบภายใน 3-4 ชั่วโมง เป็นการขยายกลุ่มเป้าหมาย เปิดโอกาสให้คนทำงานได้มาเรียน อ.พรทิพย์ เล่าว่าเมื่อมีโรงเรียนนี้เกิดขึ้น ข้าราชบริพารทุกคนต่างเต็มใจมาถ่ายทอดวิชาความรู้อย่างเต็มที่แบบไม่หวงสูตร อาจารย์ที่สอนส่วนใหญ่เป็นคนทื่ชำนาญการไม่ต่ำกว่า 20-30 ปี จึงมีเคล็ดดีๆ มาบอกเล่า สอดแทรกในเนื้อหา
“วิธีการสอนเราก็จะสอนกันแบบโบราณตามที่เราเคยเรียนมา เริ่มจากทำให้ดู สาธิต โดยที่เราไม่มีตำราให้ ผู้เรียนจะต้องจดเอาเอง แค่แป้งร่ำอย่างเดียวที่เรียนวันนี้ก็จะมีขั้นตอนจุกจิกเยอะมาก ถ้าเรียนเต็มคอร์สก็จะต้องเรียนกันตั้งแต่ทำเทียนอบ เพราะเทียนอบจะเป็นหัวใจสำคัญของเครื่องหอมทุกชนิด เครื่องหอมของวังหลวงจะต่างจากทั่วไปคือเราจะใช้ของทุกอย่างที่สดมาจากธรรมชาติ ความหอมต่างๆ มาจากธรรมชาติไม่ได้สังเคราะห์ เช่นขี้ผึ้งที่เราใช้ก็จะเป็นขี้ผึ้งแท้ ผิวมะกรูดแห้ง กำยานป่น ไส้เทียนก็จะเป็นด้ายดิบเราจะมีวิธีการหลอมส่วนผสม กำยานป่นผิวมะกรูดป่นนวดกับเทียน แล้วฟั่นเป็นเทียน ความหอมจะมาจากเนื้อเทียนและไส้เทียนเอง ก่อนมาทำเราก็เอาไปอบให้หอมก่อนด้วยผิวมะกรูดที่เป็นน้ำมันมารูดไส้เทียน เอาไปอบด้วยหัวน้ำมันก่อนที่จะนำมาฟั่นเป็นไส้เทียน จะแตกต่างจากเทียนอบที่เขาใช้อบขนม เพราะจุดประสงค์เราเอาไว้อบเครื่องหอม”
อาจารย์พรทิพย์เล่าว่าในวังหลวงจะมีแผนกทำเครื่องหอมโดยเฉพาะ ในนามของ ‘ห้องพระสุคนธ์’ มีหน้าที่ทำเครื่องหอมที่ใช้ในงานหลวงทั้งหมด ซึ่งมีอยู่ 4 อย่าง เช่น เทียนอบ แป้งร่ำ น้ำอบไทย และบุหงาส่าหรี ที่ใช้มากที่สุดก็คือน้ำอบ อย่างบุหงารำไปจะเป็นดอกไม้ที่ประดิษฐเป็นรูปแบบต่างๆ
“อย่างช่วงในหลวงครองราชย์ครบ 60 ปี เราทำเป็นบุหงาพัดโบกเป็นของชำร่วย เป็นดอกไม้แห้งอบปรุงประดิษฐ์เป็นรูปแบบต่างๆ ส่วนใหญ่วัสดุที่เราเลือกใช้ส่วนใหญ่มาจากธรรมชาติจริงๆ ไม่ได้ใช้เครื่องทุ่นแรงอะไรถ่ายทอดกันมาแบบนี้ก็ยังคงทำแบบนี้เหมือนเดิม”
วิชาในวังถูกเผยแพร่ออกมาสู่นอกวังแบบไม่มีการหวงแหน แล้วแต่ว่าคนรับไปจะสามารถอนุรักษ์ไว้ตามแบบต้นฉบับหรือไม่ บางคนอาจจะเอาไปประยุกต์ ทำสูตรให้ผิดเพี้ยนไปก็สุดแล้วแต่ ปัจจุบันโรงเรียนในวังเริ่มเป็นที่รู้จักมากกว่าสมัยก่อน ขนาดคนในวังเองสมัยก่อนยังหวงแหนวิชากลเม็ดเคล็ดลับ ต้องอาศัยครูพักลักจำ ถ่ายทอดให้เฉพาะลูกหลานเท่านั้น นับเป็นความโชคดีของคนยุคนี้จริงๆ
อุปกรณ์ต่างๆ ที่เตรียมจากวังหลวง ขนย้ายมาสอนนักเรียนที่วังสระปทุม มีทั้งแป้งหิน เทียนอบ ก้านชะลูด มะกรูด ชะมดเช็ด ใบพลู หญ้าฝรั้น หัวเปราะหอมสด พิมเสน หัวน้ำหอม ที่ผลิตเองจากธรรมชาติ มีทั้งน้ำมันจันทน์ น้ำมันมะลิดี น้ำมันลำเจียก น้ำมันไฮซิน น้ำมันกระดังงา น้ำมันกุหลาบดี รวมทั้งเครื่องใช้เช่นกระชอนผ้า โกร่งบด (ครกบดยา) หม้อเคลือบพร้อมฝา แท่นหินบดพร้อมที่บด ไม้พาย ช้อน ถ้วยตวง หม้อต้มพร้อมฝา สาธิตกันตั้งแต่การเตรียมแป้ง การทำแป้งร่ำ มีขั้นตอนการทำถึง 13 ขั้นตอน กว่าจะนำแป้งที่กวนเข้าที่มาหยอดวางลงบนแผ่นพลาสติก หยอดให้เป็นเม็ดเล็กๆ ลักษณะคล้ายแป้งดินสอพอง แต่มีขนาดเล็กกว่า และหยอดให้มีขนาดเท่าๆ กัน แล้วผึ่งลมให้แห้งสนิทก่อนนำไปเก็บในภาชนะ
หลังจากนั้นนักเรียนทั้งหลายจึงเริ่มเรียนทำน้ำอบไทย มีความรู้เรื่องส่วนผสมเคล็ดลับเทคนิค เช่นข้อควรระวังเมื่อใส่กำยานปรุงลงในตะคันอย่าให้เกิดไฟลุกไหม้ เพราะจะทำให้น้ำอบเป็นสีดำจากเขม่าควัน การลอยดอกไม้ต้องค่อยๆ หยิบทีละดอกทีละชิ้น วางเบาๆ บนผิวน้ำ ดอกมะลิควรซื้อตอนเช้า เพราะเมื่อสายแล้วมะลิจะเริ่มบานแย้ม ซึ่งสามารถนำมาลอยในน้ำอบเปล่าได้เลย ระหว่างที่ลอยดอกไม้อย่าให้น้ำมีการกระเพื่อม เพราะจะทำให้ดอกไม้จมและเน่า แล้วน้ำจะไม่มีกลิ่นหอม และขณะที่ทำการลอยดอกไม้ 1 คืน ห้ามทำการอบด้วยเทียนอบ แต่ถ้ากรองเอาดอกไม้ออกหมดแล้วจึงทำการอบด้วยเทียนอบต่อได้
การปรุงน้ำอบไทยตำรับชาววังนั้นเต็มไปด้วยขั้นตอนเทคนิคมากมาย เช่นหากต้องการให้หอมนาน หอมทน จะต้องทำอย่างไร กว่าจะได้บรรจุน้ำอบลงในขวดแก้ว อาจารย์สอนแม้กระทั่งการเตรียมขวดที่บรรจุ บอกแหล่งจำหน่ายอุปกรณ์ และหากจะทำขายต้องคิดราคาต้นทุน วัสดุอุปกรณ์ทั้งหมด ค่าแรงงาน และกำไรที่ต้องการแล้วจึงกำหนดเป็นราคา
การเรียนการสอนเป็นไปอย่างสนุกสนาน เรียนไปถามไป ช่วยกันคนละไม้คนละมือ จบการเรียนการสอน นักเรียนทุกคนมีผลงานกลับไปอวดที่บ้านอีกด้วย เมื่อได้กลิ่นแป้งร่ำ น้ำอบไทยตำรับวังหลวง ทำให้รู้ถึงความแตกต่าง เนื่องจากมีกลิ่นหอมหวานละมุนละไมนุ่มนวล สมกับเป็นน้ำหอมชาววัง เป็นเสน่ห์ของสาวชาววังแท้ๆ
เมื่อถามความเห็นของสาวชาววังจำแลง ถึงเหตุผลของคนที่มาลงเรียนคอร์สนี้ พวกเธอว่า อาจจะไม่ได้นำกลับไปลงมือทำจริงๆ มาเพื่อเรียนรู้ เพราะชอบและภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะการทำแป้งร่ำ น้ำอบไทย ตำรับวังหลวง ต้องการทราบว่ามีความแตกต่างจากน้ำอบทั่วไปอย่างไร
'เฟินเฟิน' รุจารี เจริญไทยพานิช เจ้าของกิจการอะไหล่โรงสีข้าว และอุปกรณ์โรงสีข้าว เล่าว่าส่วนตัวเธอชอบงานด้านศิลปะอยู่แล้วเมื่อเห็นทางพระราชวังเปิดสอนการทำแป้งร่ำ-น้ำอบไทยสูตรวังหลวง ก็เลยไม่พลาดโอกาสเข้ามาสมัครเรียน
“โอกาสแบบนี้หายาก เพราะวิชาการโบราณบางอย่างข้างนอกไม่มีสอน ถ้าเรียนกับทางวังมั่นใจว่าของเขาเป็นต้นรำรับอยู่แล้ว เคยเรียนมาลัยโคมญี่ปุ่น เดี๋ยวว่าจะลงเรียนเครื่องแขวน วิชาดอกไม้สดน่าจะเอาไปใช้ได้จริงๆ เพราะคิดอยากทำธุรกิจเกี่ยวกับดอกไม้สด สำหรับครั้งนี้ที่มาเรียนน้ำอบ คิดว่าได้ใช้จริงๆ เพราะที่บ้านชอบไหว้พระทำบุญอยู่แล้ว ก็ต้องซื้อน้ำอบอยู่แล้ว ถ้าเกิดทำเองได้ ก็เป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง”
เฟินเฟินคิดว่าการทำน้ำอบไทยน่าจะไม่ยาก ที่มาเรียนเพราะต้องการทราบว่าในวังมีสูตรพิเศษแตกต่างอย่างไร เธอว่าขั้นตอนของการปรุงน้ำปรุงน่าจะยากสุด เพราะมีกระบวนการมากมาย เช่นเก็บดอกไม้ ลอยน้ำดอกไม้ ตักขึ้น ทิ้งไว้ 3 วันแล้วค่อยมาลอยดอกไม้อีกที กว่าจะได้น้ำที่จะนำมาทำน้ำอบก็ยากแล้ว
“มาเรียนในวังนี้ก็เพราะต้องการอยากจะรู้สูตร แต่ถ้าออกไปทำเองจริงๆ คงจะต้องประยุกต์นิดหน่อย เช่นเรื่องของดอกไม้ อาจจะลองเอาดอกไม้อื่นๆ ทำน้ำอบดู ส่วนตัวแล้วคิดว่าวิชาการทุกอย่างโบราณแท้ๆ จากในวังเราควรอนุรักษ์ไว้และถ่ายทอดให้คนรุ่นต่อๆ ไป ไม่อยากให้สูญหายและ สมควรเผยแพร่ออกไปข้างนอกวังด้วยอย่าง เช่นการทำบุหงารำไป ทำน้ำอบ แป้งร่ำ แป้งพวง กระแตเกาะกิ่งไม้ วิชาการปักสะดึง เป็นจุดเด่นของวัฒนธรรมไทย ควรสืบทอดกันต่อๆ ไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เราเองมาเรียนวันนี้ก็คงต้องถ่ายทอดให้คนที่ไม่มีโอกาสได้เข้ามาเรียนค่ะ”
สองสาวเพื่อนซี้นักวิชาการ 'โบว์' สุวิมล จันทรอาภรณ์กุล และ 'ไผ่' สิริภัทร พฤกษ์ไพบูลย์ เธอเข้าไปดูเว็บไซต์ของวังจึงเข้ามาสมัคร เพราะไม่อยากพลาดเป็นหนึ่งใน 15 คนที่มีโอกาสนี้
“จองมาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม รู้จักเว็ปไซต์นี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว คอยติดตามกิจกรรมต่างๆ ของทางวังมาตลอด เรียนแล้วก็ประทับใจมากเลย ปกติแล้วชอบอะไรที่เป็นไทยๆ อยู่แล้ว ใช้น้ำอบก็ในโอกาสสรงน้ำพระ วันสงกรานต์ เรียนแล้วก็คิดว่าบางทีอาจจะมีโอกาสลงมือทำเอง เพื่อใช้เอง หรือเอาไปเป็นของขวัญของฝากให้กับผู้ใหญ่ ได้” สาววัย 33 ปีกล่าวถึงความประทับใจในวิธีการทำน้ำอบและแป้งร่ำที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และได้รู้ขั้นตอนที่ละเมียดละไม
“ถ้าจะทำก็คงกังวลเล็กน้อยว่าเราจะหาอุปกรณ์ครบหรือเปล่า เช่นโถกระเบื้องเคลือบ ตะคัน และเทียนอบ เรื่องดอกไม้หอมดอกไม้สดก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งว่าเราจะหาให้ครบได้อย่างไร ที่มาเรียนวันนี้สิ่งที่ได้ก็คือความรู้ ที่เรามีโอกาสได้มาศึกษาเห็นว่าทางวังมีการทำแป้งร่ำน้ำอบกันอย่างไร”
'ลูกตาล' ธันยพร จันทร์กระจ่าง อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ (วิทยาลัยประชากรศาสตร์) เธอชอบอ่านประวัติศาสตร์ไทย เคยลงเรียนร้อยมาลัยกับทางพระราชวังมาแล้ว ครั้งนี้เห็นเพื่อนโพสต์แผ่นพับของทางพระราชวังในเฟสบุ๊ค จึงมาสมัครเรียน
“เคยอ่านหนังสือเรื่องเมื่อคุณตาคุณยายยังเด็กแล้วชอบ จะมีตอนน้ำอบน้ำปรุง มีตอนชะมดเช็ด ก็เลยอยากรู้ว่าทำยังไง พอมาเรียนแล้วก็เลยรู้ว่ามันยุ่งยากกว่าที่คิดเอาไว้เยอะ ความยุ่งก็คือเราต้องหาอุปกรณ์ ต้องมีความชำนาญ ต้องใช้เวลา เพราะไม่ใช่ทำวันเดียวเสร็จ ก็น่าจะดีกว่าไม่เคยเรียนเลย ไปอ่านสูตรเองก็คงไม่เข้าใจ เห็นการทำจริงๆ น่าจะดีกว่าไปอ่านเอาเองแล้วลองทำ เพราะอาจารย์เขาก็จะมีทิปเล็กๆ เป็นการเรียนเพื่อประดับความรู้ เพราะเราสนใจอยู่แล้ว คิดว่าคงไม่เอาไปทำจริงๆ สมมุติว่าจะทำก็คงทำเพื่อเป็นของขวัญให้ผู้ใหญ่”
เธอว่าปกติเวลามาเรียนแล้วก็จะโพสต์รูปเขียนข้อความบันทึกสั้นๆ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้กับเพื่อนๆ ทราบ "ภูมิใจในความเป็นไทย ดีใจที่ได้เกิดมาเป็นคนไทยค่ะ"
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต