มองวิกฤตท่อน้ำมันรั่ว กระทบอ่าวพร้าว หลัง 6 เดือน
จากประชาชาติธุรกิจ
จากวันที่เหตุการณ์น้ำมันดิบจากท่อส่งน้ำมันของบริษัทพี ทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) รั่วลงสู่ทะเลอ่าวไทยเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 ใกล้กับแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง "เกาะเสม็ด" ประเทศไทยต้องเผชิญหน้ารับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันครั้งใหญ่ การรับมือกับคราบน้ำมันดำขลับบนชายหาดทรายขาวของอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด เต็มไปด้วยความโกลาหลและตื่นตระหนก ด้วยความที่ต่างฝ่ายต่างไม่เคยรับมือกับเหตุน้ำมันรั่วลงทะเลมาก่อน
การทำงานของทีมวิจัยคณะประมง ม.เกษตรฯ
จากวันนั้น จนถึงวันนี้ เป็นระยะเวลา 7 เดือนมาแล้ว และยังมีทีมทำงานเกือบ 400 ชีวิต เกาะติดเรื่องนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง
ทีมงานดังกล่าว เป็นคณาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับบรรดานักวิจัย และนิสิตในคณะ ซึ่งในช่วงแรกราว 1-2 เดือน บรรดาคณาจารย์ใช้ทุนตนเองให้การวิจัยครั้งนี้ ต่อมาได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยเกษตรศาสตร์ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) ในแง่การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม งานวิจัยนี้จะต้องเป็นไปอย่างเข้มข้นอย่างน้อยที่สุด 1 ปี หลังเกิดเหตุ และหากจะให้ดีที่สุด ต้องยาวไปถึง 3 ปี
ทั้งนี้ การวิจัยดังกล่าว แบ่งออกเป็นการติดตามปริมาณสารไฮโดรคาร์บอนในน้ำ พื้นท้องทะเล (หรือ พื้นทราย) และหาดทราย โดยการติดตามผลกระทบด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมในน้ำ ต้องศึกษาประการัง และเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำมาวิจัยด้วย
พื้นที่ที่ทีมวิจัยเก็บข้อมูล
ยืนยันน้ำทะเลเล่นได้-สัตว์น้ำกินได้ปลอดภัย
ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล กล่าวว่า จากผลการศึกษา 6 เดือนที่ผ่านมา ขอยืนยันว่าน้ำทะเลสามารถเล่นได้ตามปกติ โดยจากการเก็บข้อมูลปริมาณสารไฮโดรคาร์บอนในน้ำ ทั้งหมดจำนวน 60 จุด แบ่งเป็น แนวชายฝั่งและพื้นที่โดยรอบ 46 จุด และบนเกาะเสม็ดอีก 14 จุด ตั้งแต่บริเวณจุดเกิดเหตุ มายังชายฝั่งมาบตาพุด อ่าวบ้านเพ แหลมแม่พิมพ์ รวมถึงบริเวณตลอดแนวที่คราบน้ำมันไหลผ่าน และพื้นที่ใกล้เคียงทั้งหมด ผลการศึกษาพบว่า ปริมาณสารไฮโดรคาร์บอนในน้ำลดลง แต่ยังต้องทำการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงต่อไป
ส่วนผลการวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ทะเล ที่ทีมงานเก็บตัวอย่างมาศึกษา เช่น หอย เม่นทะเล และปูเสฉวน พบว่า ปริมาณไฮโดรคาร์บอนในสัตว์น้ำไม่เป็นอันตราย สามารถบริโภคได้ตามปกติ
ตัวอย่างสัตว์น้ำที่ทีมวิจัยเก็บตัวอย่าง
ร้องยังไม่ถึงเวลาฟื้นฟู - "ซี วอล์กเกอร์" รุกพื้นที่
รศ.ดร.เชษฐพงษ์ เมฆสัมพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าทีมเก็บข้อมูลผู้วิจัยพื้นท้องทะเลและในน้ำ กล่าวว่า ทีมงานวิจัยของเราต้องทำงานอย่างเข้มข้นในช่วง 1 ปีแรก ต้องเก็บตัวอย่างทุกๆ เดือน ทั้งสัตว์น้ำ พื้นทราย น้ำ และพื้นท้องทะเล จึงควรสงวนพื้นที่ไว้เพื่อเก็บตัวอย่างและทำงานวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเก็บตัวอย่างทรายที่เป็นพื้นท้องทะเลถึง 60 จุด ที่ควรสงวนพื้นที่ไว้ไว้ไม่ให้พื้นทรายท้องทะเลฟุ้งกระจายขึ้นมา และเคลื่อนตัวไปยังบริเวณอื่นๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการศึกษา
ทั้งนี้ ปกติแล้วหลักการฟื้นฟูคือ ต้องรอให้ธรรมชาติฟื้นตัวขึ้นก่อน ต้องปล่อยสารไฮโดรคาร์บอนย่อยสลายไป ต้องศึกษาผลกระทบจากคราบน้ำมันในดินตะกอนหลังจาก 1 ปีไปแล้ว หากรีบเกินไปการฟื้นฟูจะไม่มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคือ ควรต้องมีข้อมูลทางวิชาการเพียงพอแล้วจึงจะถึงเวลากำหนดวิธีการฟื้นฟูอย่างถูกต้องเหมาะสมที่สุด เพราะนี่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย ต้องค่อยๆ ทำ การฟื้นฟูที่ไม่ถูกวิธีจะไม่เกิดผลดีในระยะยาว หากไม่มีการติดตามผลและทำไม่ตรงจุด
ด้าน รศ.ดร.เชษฐพงษ์ กล่าวว่า ขอร้องให้หน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางจังหวัด อุทยาน องค์กร หรือบริษัทต่างๆ ที่ต้องการจัดโครงการเข้ามาฟื้นฟูระงับงานดังกล่าวก่อน เพราะการเข้ามาในพื้นที่ในขณะนี้จะกระทบต่อการเก็บข้อมูลวิจัยเพื่อหาทางฟื้นฟูอย่างถูกต้อง ล่าสุด ยังเห็นว่า พื้นที่ที่ทางอุทยานฯ และจังหวัดล้อมทุ่นไว้ ไม่เข้มงวด เพราะยังพบนักท่องเที่ยวเข้าไปในพื้นที่ ล่าสุด เริ่มมีธุรกิจซี วอล์กเกอร์ (Sea Walker) หรือการดำน้ำแบบที่ให้นักท่องเที่ยวเดินบนพื้นทะเลเข้าไปในพื้นที่อ่าวพร้าวด้วย เนื่องจากไม่เป็นผลดีต่อสภาพแวดล้อมแต่อย่างใด
อ่าวพร้าวไม่ฟื้นใน 5 ปี
ผศ.ดร. ธรณ์ กล่าวว่า คาดว่าการศึกษาติดตามสภาพแวดล้อมอ่าวพร้าวและบริเวณใกล้เคียงจากผลกระทบเหตุน้ำมันดิบรั่วครั้งนี้ อาจใช้เวลา 5 ปีขึ้นไปกว่าสภาพแวดล้อมบริเวณดังกล่าวจะคืนสู่สภาพปกติ หรืออาจเป็นไปได้ว่ามากถึง 10 ปี โดยศึกษาเทียบเคียงจากกรณีที่เคยเกิดเหตุน้ำมันรั่วในฟิลิปปินส์เป็นตัวตั้ง เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศและอากาศใกล้เคียงไทยที่สุด
ทั้งนี้ การศึกษาวิจัยกรณีนี้ต้องดูค่าการปนเปื้อนของไฮโดรคาร์บอนในดินตะกอนเป็นหลัก เนื่องจากน้ำเคลื่อนที่ไปมา ส่วนดินหรือทรายในพื้นที่จะสามารถสะท้อนได้ชัดเจนกว่า จากการศึกษาช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ทรายในพื้นที่ดังกล่าวยังไม่ฟื้นตัวถึง 50% โดยเป็นการประมาณการคร่าวๆ อย่างไรก็ตาม การวัดค่าไฮโดรคาร์บอนในดินตะกอนค่อนข้างลำบาก เพราะก่อนเหตุการณ์นี้ ประเทศไทยไม่เคยมีการวัดค่าไฮโดรคาร์บอนในดินตะกอนมาก่อน จึงไม่มีตัวเลขเปรียบเทียบ นักวิจัยจึงต้องเทียบตัวเลขกับบริเวณใกล้เคียง หรือหาดอื่นๆ ของเกาะเสม็ด
รศ.ดร.เชษฐพงษ์ กล่าวว่า จากการทำงานวิจัยครั้งนี้ พบว่า มาตรฐานการวิจัยของไทยยังมีไม่พอ ซึ่งปัจจุบันนี้ ไทยยังไม่มีค่ามาตรฐานของปริมาณไฮโดรคาร์บอนในดินเลย จึงไม่สามารถนำค่าที่พบในพื้นที่ทำวิจัยไปเปรียบเทียบกับค่าใดๆ ได้เลย จึงอยากให้ไทยมีค่ามาตรฐานของปริมาณไฮโดรคาร์บอนในดินได้แล้ว
ผลกระทบปู-ปะการัง
นอกเหนือจากการศึกษาน้ำ พื้นท้องทะเล ทรายแล้ว ทีมวิจัยยังต้องศึกษาพฤติกรรมสัตว์น้ำและปะการังด้วย ทั้งนี้ดัชนีชี้วัดปริมาณไฮโดรคาร์บอนในหาดทรายได้ดีที่สุดคือ ปริมาณปูทหาร ซึ่งเป็นปูขนาดเล็กที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าว โดยพบว่า ล่าสุด ปริมาณปูทหารอ่าวพร้าวมีจำนวน 40 ตัว/ตารางเมตร ซึ่งน้อยกว่าที่อ่าววงเดือน ซึ่งมีปูทหารจำนวน 80 ตัว/ตารางเมตร
ผศ.ดร. ธรณ์ กล่าวว่า นอกจากจำนวนของปูทหารแล้ว ยังต้องศึกษาพฤติกรรมของปูควบคู่ด้วย ผลการศึกษาพบว่า ปูทหารที่อ่าวพร้าวมีพฤติกรรมไม่ปกติ เนื่องจากโดยปกติ ปูทหารจะขุดรูในทรายเป็นแนวดิ่งลึก 50 เซนติเมตร แต่ที่อ่าวพร้าวปูทหารขุดรูแนวเฉียงได้ลึกเพียง 10-15 เซนติเมตร เนื่องจากด้านล่างของพื้นทรายมีไฮโดรคาร์บอนปนเปื้อนอยู่ ในระยะยาวต้องศึกษาว่า พฤติกรรมของสัตว์เหล่านี้จะเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมหรือไม่ด้วย
ภาพถ่ายปะการังฟอกขาวที่เริ่มดีขึ้น
ด้านการศึกษาปะการังทุก 2-4 สัปดาห์ พบว่า ปะการังฟื้นตัวแต่ยังไม่คืนสู่สภาพปกติ มีสภาพฟอกขาวน้อยลงตามลำดับ ทั้งนี้ โดยปกติแล้วปะการังในไทยจะฟอกขาวเมื่อได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน การสำรวจล่าสุดพบว่า ภาวะฟอกขาวแบบเฉียบพลันได้ผ่านไปแล้ว แต่การศึกษายังอยู่ในช่วง "ภาวะเฝ้าระวัง" ซึ่งจะใช้เวลา 1-2 ปี แต่ในระยะยาวต้องศึกษาต่อไป คาดว่าจะดีขึ้น หากไม่มีผลกระทบอื่นๆ เข้ามาอีก
กรณีน้ำมันดิบจากท่อส่งน้ำมันของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) รั่วในครั้งนี้ เป็นบทเรียนใหญ่ที่สังคมไทยต้องศึกษาไปพร้อมกัน ไม่จบแค่ในอีก 1 หรือ 2 ปี แต่หมายถึงอีกเป็นนับสิบปี
ผลวิจัยม.เกษตรชี้'อ่าวพร้าว'เริ่มดีขึ้น
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"ดร.ธรณ์" ม.เกษตร เผยผลวิจัยเกาะเสม็ด หลังน้ำมันรั่ว พบปะการังฟอกขาวลดลง แต่ยังไม่ปกติ ขอเวลาอ่าวพร้าวฟื้นตัว 1 ปีค่อยวางแผนฟื้นฟู
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยผลการสำรวจเฝ้าติดตามระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมบริเวณอ่าวพร้าวหลักจากเหตุการณ์น้ำมันรั่ว ว่า จากการติดตามอย่างต่อเนื่องกว่า 6 เดือนหลังเกิดเหตุการณ์ พบปริมาณสารไฮโดรคาร์บอนลดลง ปะการังเริ่มฟื้นตัวจากภาวะฟอกขาวเฉียบพลันและบางส่วนเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ สัตว์น้ำเริ่มกลับเข้าสู่พื้นที่ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 1-2 ปี
"ปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน ที่สะสมอยู่ในตะกอนทรายอ่าวพร้าวมีปริมาณลดลงตามลำดับ ปะการังมีการฟื้นตัวจากการฟอกขาวอย่างเฉียบพลันบางส่วน อย่างไรก็ตาม ต้องมีการติดตามศึกษาอย่างใกล้ชิด โดยการฟอกขาวของปะการังจากน้ำมันรั่วครั้งนี้อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 5-7 ปี จึงจะเข้าสู่ภาวะปกติ" ผศ.ดร.ธรณ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตปะการังในพื้นที่ดังกล่าวยังอาจจะต้องเผชิญกับภาวะน้ำทะเลที่อุณหภูมิสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อนอีกระลอก ซึ่งปะการังฟอกขาวที่เกิดจากการรั่วไหลของคราบน้ำมันนั้น เป็นการฟอกขาวแบบเฉียบพลัน ผลดีคือสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ต่างกับการฟอกขาวที่เกิดจากภาวะโลกร้อนหรืออุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น ที่ค่อยๆ เกิดและอาจจะต้องใช้เวลายาวนานในการกลับสู่สภาพเดิม
นอกจากนี้ กลุ่มนักวิจัย ยังได้ตรวจสอบสัตว์ที่อาศัยอยู่หน้าดินพบปูทหารบริเวณหาดทรายที่ได้หายไปหมด มีจำนวนเพิ่มขึ้นประมาณ 40 ตัว ต่อตารางกิโลเมตร ในเดือนมกราคมจากเดิมที่จะมี 80 ตัว ต่อตารางกิโลเมตร
ผศ.ดร.ธรณ์ย้ำว่า แม้น้ำทะเลกลับคืนสู่ภาวะปกติกว่า 90% มีปริมาณไฮโดรคาร์บอนเหลือไม่ถึง 1 ไมโครกรัมต่อลิตร สามารถเล่นน้ำได้ จับสัตว์น้ำมากินได้ โดยไม่เกิดอันตราย ในขณะที่คราบน้ำมันในดินยังลดลงไม่ถึง 50% ซึ่งน่ากังวลมากกว่า แต่ประเทศไทยยังไม่มีค่ามาตรฐานในการตรวจสอบปริมาณน้ำมันในดิน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันมาตรฐานดังกล่าวให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
“หากถามว่าเวลานี้สภาพในพื้นที่อ่าวพร้าวเข้าสู่ภาวะปกติแล้วหรือยัง ตอบได้เลยว่ายัง และยังคงต้องติดตามเพื่อเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้ว่าในเวลานี้ เรายังไม่พบว่า มีการสะสมในสัตว์น้ำจนถึงขั้นห้ามนำไปรับประทาน แต่ในอนาคต ทั้งปลาและหอยที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว อาจจะมีการสะสมของสารเคมีพวกนี้ได้ จึงต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด”ผศ.ธรณ์ กล่าว
สำหรับมาตรการฟื้นฟูอ่าวพร้าวนั้น ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า อยากให้ใจเย็น รอให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงปกติ หรือใช้เวลาประมาณ 1 ปี ถ้าต้องการฟื้นฟูจริงขอให้ไปฟื้นฟูที่อ่าวอื่นๆ ก่อน โดยอาจต้องใช้เวลามากกว่า 7 ปี เพื่อกลับคืนสู่สภาวะปกติเมื่อเทียบกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่อลาสก้า ที่ใช้เวลากว่า 21 ปี ในการฟื้นตัว
หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล ย้ำว่าในขณะที่การตรวจสอบข้อมูลยังไม่สมบูรณ์แบบ อย่าเพิ่งเข้าไปฟื้นฟู เพราะหากมีการฟื้นฟูเวลานี้การฟื้นฟูจะทำได้ไม่เต็มที่ และจะแน่ใจได้อย่างไรว่า แนวทางในการฟื้นฟูนั้นถูกต้องแล้วหรือยัง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลคือกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเกาะเสม็ด อย่าง sea walker ซึ่งเสี่ยงทำให้เกิดตะกอนดินฟุ้ง และเพิ่มคราบน้ำมันใหม่จากเรือขนส่งนักท่องเที่ยว กลายเป็นการซ้ำเติมธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต