สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จำนำข้าว..บิดเบือนมากกว่ากลไกตลาด

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ศรัณย์ กิจวศิน



หลายคนคงรู้สึก “สังเวชใจ” กับ “รัฐบาล” ที่ต้องวิ่งเต้นหาเงินมาจ่ายคืนหนี้ให้ “ชาวนา” ที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว

ซึ่งปัจจุบันยังคงมีหนี้ที่ชาวนารอเรียกชำระคืนจากรัฐบาลกว่า 1.3 แสนล้านบาท ..ขณะเดียวกันยังเป็นเรื่องที่ชวนให้ “สมเพชใจ” ที่รัฐบาลต้องกลายมาเป็น “ลูกหนี้” ชาวนา ทั้งที่ในความเป็นจริงเมื่อชาวนามาเข้าร่วมโครงการ รัฐบาลควรมีสถานะเป็น “เจ้าหนี้” ถึงจะถูกต้อง

ทั้งหมดนี้เป็นเพราะ รัฐบาล ไม่ยอมฟังคำเตือนจากเหล่า “กูรู” เศรษฐกิจที่เคยเตือนถึงมหันตภัยของนโยบายมหาประชานิยมอย่าง “โครงการรับจำนำข้าว” ซึ่งเขาเหล่านี้ทำนายอนาคตไว้อย่างแม่นยำ ยิ่งกว่าหมอดูชาวพม่า

ถ้าจำกันได้ช่วงกลางปี 2554 หลังจากที่ทราบผลการเลือกตั้ง ซึ่งขณะนั้นพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงอย่างท่วมท้นจากนโยบายมหาประชานิยม โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ..มีกูรูเศรษฐกิจหลายคน เช่น “ดร.อัมมาร สยามวาลา” ที่ออกมาจวกโครงการดังกล่าว พร้อมทำนายว่า รัฐบาลชุดนี้ “มา” เพราะโครงการรับจำนำข้าว และคงจะ “ไป” เพราะโครงการรับจำนำข้าวเช่นกัน

..แต่ที่น่าแปลกใจสุด เห็นจะเป็นคำเตือนจาก “ดร.วีรพงษ์ รามางกูร” ซึ่งทำนายไว้ว่า ถ้ารัฐบาลจะ “พัง” ก็คงพังเพราะโครงการรับจำนำข้าว ทั้งที่ “ดร.วีรพงษ์” ในขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นถึง ประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรี ..เพียงแต่รัฐบาลในขณะนั้น ไม่ได้ฟังที่ปรึกษาคนนี้!

สาเหตุที่ “นักวิชาการ” จำนวนมากออกมาคัดค้าน โครงการรับจำนำข้าว เพราะมองว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ “บิดเบือน” กลไกตลาดอย่างร้ายแรง ทำลายความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมข้าวไทย ทำให้อุตสาหกรรมข้าวอ่อนแอลง อีกทั้งยังเอื้อต่อการทุจริตในทุกขั้นตอน ที่สำคัญยังทำลายความเข้มแข็งของเครือข่ายสังคม ทำให้เกษตรกรมัวแต่รอพึ่งพารายได้จากรัฐ แทนที่จะพึ่งพากันเองเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไปข้างหน้า

ความจริง..นอกจากมิติเรื่องการบิดเบือนกลไกราคาตลาดข้าวแล้ว ยังมีอีกมิติหนึ่งที่คนพูดถึงกันน้อย และมักละเลยความสำคัญไป นั่นคือ มิติในเรื่องของแรงงาน

..ที่ผ่านมามีบางหน่วยงานเช่นกันที่พยายามชี้ช่องให้เห็นถึง มิติในเรื่องการบิดเบือนกลไกตลาดแรงงาน จากนโยบายรับจำนำข้าว ซึ่งถ้าลองไล่เก็บข้อมูลดู นับว่ามีนัยสำคัญไม่น้อย

จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่สำรวจเรื่องแรงงานนอกระบบ พบว่า ช่วงปี 2552-2553 แรงงานนอกระบบที่อยู่ในภาคเกษตรมีสัดส่วนอยู่ที่ 60.7% และ 60% ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด แต่ในปี 2554-2555 (หลังจากที่รัฐบาลเริ่มใช้โครงการรับจำนำข้าว) สัดส่วนดังกล่าวปรับขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 61.4% และ 62.5% ตามลำดับ

สอดคล้องกับตัวเลขของ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ที่รายงานตัวเลขแรงงานภาคเกษตรในปี 2554 และ 2555 ซึ่งปรับขึ้นจากปีก่อนหน้าค่อนข้างมาก โดยในปี 2554 มีแรงงานภาคเกษตร 14.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า(2553) ที่มี 14.5 ล้านคน ส่วนในปี 2555 แรงงานภาคเกษตรเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 15.4 ล้านคน

ตัวเลขดังกล่าว ค่อนข้างแน่ชัดว่า เกิดจากการโยกย้ายแรงงานจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นภาคที่มีผลิตภาพในการผลิตที่สูงกว่า ย้ายไปภาคเกษตรกรรม ซึ่งมีผลิตภาพการผลิตที่ต่ำกว่า ทั้งการโยกย้ายแรงงานตรงนี้ยังเกิดในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับการขาดแคลนแรงงานมีฝีมืออย่างมาก เพื่อมาพัฒนาอุตสาหกรรม จนเรียกได้ว่า เกือบจะกลายเป็นวิกฤติแรงงาน

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า “โครงการรับจำนำข้าว” บิดเบือนในทุกอณูของเศรษฐกิจ แถมยังใช้เม็ดเงินจากภาษีของประชาชนอย่างมหาศาล ซึ่งการจะเอาเงินภาษีของประชาชนไปทำนโยบายมหาประชานิยม ก็ควรใช้อย่างสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศ ไม่ใช่หวังผลเพียงแค่คะแนนเสียงทางการเมืองเพียงอย่างเดียว!


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : จำนำข้าว บิดเบือน มากกว่า กลไกตลาด

view