จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
รัฐเร่งระบายสต็อก-ตลาดโลกแข่งเดือด แนะภาครัฐกำหนดแผนลดต้นทุนช่วยชาวนา คาดขายข้าวได้ราคาต่ำ
วงการข้าวฟันธง ราคาร่วงหนักหลังสิ้นโครงการรับจำนำ 28 ก.พ. เหตุรัฐเร่งระบายสต็อก-ตลาดโลกแข่งเดือด คาดประมูลข้าวรัฐบาลในสัปดาห์นี้ พ่อค้าดันราคาเมินซื้อชาวนา ผวา“โรงสีหยุดซื้อข้าว” แนะ “กระทรวงพาณิชย์”ขายข้าวโปร่งใส เลิกกำหนดเงื่อนไข ขณะผู้ส่งออกไม่เชื่อขายข้าวเดือนละ 1 ล้านตัน
ราคาข้าวมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง หลังจากรัฐบาลยุติโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ดเมื่อวันที่ 28 ก.พ. และเร่งระบายข้าวในสต็อกเพื่อนำเงินมาจ่ายหนี้ชาวนาในฤดูผลิต 2556/57 ในขณะที่ราคาข้าวในตลาดโลกปรับลดลง เนื่องจากประเทศผู้ผลิตต่างเร่งระบายข้าว
นายมนัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่านับจากนี้ไป ราคาข้าวในตลาดจะเป็นกลไกตลาดอย่างเต็มที่ เนื่องจากไม่มีนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล ซึ่งสิ้นสุดไปแล้วเมื่อ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา และยังไม่มีสัญญาณว่าจะมีมาตรการดูแลราคาครั้งใหม่ออกมา
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการประเมินสถานการณ์ราคาจากนี้เป็นเรื่องยากเนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ปริมาณผลผลิตที่แน่นอนที่จะออกสู่ตลาดโดยเฉพาะช่วงนาปรังว่าจะมีปริมาณเท่าใด แต่แนวโน้มเชื่อว่าราคาอาจตกลง
นายมนัส กล่าวว่าผลผลิตจะออกมาในตลาดเพิ่มขึ้น ทั้งจากผลผลิตตามฤดูกาลปกติและผลผลิตเดิมในสต็อกรัฐบาล ขณะที่ด้านความต้องการในตลาดนั้น ถือว่าขณะนี้ตลาดข้าวนิ่งมาก เพราะความต้องการสินค้า โดยเฉพาะจากต่างประเทศยังไม่ชัดเจน
“สถานการณ์ราคาขณะนี้ น่าเป็นห่วงแทนชาวนาที่จะขายข้าวไม่ได้ราคา สิ่งที่อยากให้หน่วยราชการมีแผนช่วยเหลือเบื้องต้น คือ ช่วยลดต้นทุนให้ชาวนาเพื่อให้มีส่วนต่างราคาให้มีกำไรเป็นรายได้ให้ชาวนาอยู่บ้าง แต่วิธีการจะเป็นอย่างไรคงต้องขึ้นกับภาครัฐ” นายมนัส กล่าว
ความชื้นสูง-คุณภาพ ฉุดราคาร่วง
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ทิศทางราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง โดยราคาข้าวเปลือกเจ้า(ความชื้น 15%) เฉลี่ยมีแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบตั้งแต่ปี 2552 ตันละ 9,747 บาท ปี 2553 ตันละ 8,525 บาท ปี 2554 ตันละ 9,076 บาท ปี 2555 ตันละ 10,541 บาท ปี 2556 ตันละ 9,911 บาท และ ปี 2557 ตันละ 8,255 บาท
“ราคานี้ เป็นความชื้น 15% แต่ชาวนาส่วนใหญ่จะมีข้าวที่มีความชื้นมากกว่า นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องคุณภาพข้าว โดยชาวนาที่ปลูกข้าวอายุสั้น เพื่อเร่งร่วมโครงการรับจำนำ จะทำให้ได้ข้าวที่มีเมล็ดเต็มน้อย เนื้อข้าวจริงแต่ละกิโลกรัมจะลดลง รวมถึงสิ่งเจอปน เช่น ดอกหญ้า และอื่นๆ ทำให้ราคาที่โรงสีซื้อจากชาวนาจริงๆ จะเฉลี่ยที่ 5,000-7,000 บาท เท่านั้น” รายงานข่าวระบุ
โรงสีลดซื้อข้าวเหตุความต้องการลด
แหล่งข่าวจากโรงสีข้าวแห่งหนึ่ง กล่าวว่า ไม่สามารถรับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาสูงได้เพราะราคาจริงในตลาดผู้ส่งออกจะเป็นผู้กำหนดราคาแต่ละวัน ผ่านผู้ซื้อ หรือ หยง ซึ่งแนวโน้มราคาข้าวสาร ก็มีทิศทางลดลงเช่นกัน ปัจจุบันเฉลี่ยที่ ตันละ 1.3 หมื่นบาท แต่ในการซื้อขายจริงจะมีการจำกัดโควตาตามความต้องการของผู้ซื้อในต่างประเทศซึ่งก็จะอยู่ในหลักหมื่นตัน และข้าวส่วนเกินโควตาก็จะมีราคาลดต่ำลงไปอีก อาจเฉลี่ยที่ตันละ 1.28 หมื่นบาทเท่านั้น
ส่วนปัญหาคุณภาพข้าวของชาวนาที่พบว่ามีคุณภาพต่ำ และมีแนวโน้มว่าความต้องการข้าวในตลาดจะลดลง อาจทำให้เกิดปัญหาโรงสีต้องหยุดรับซื้อข้าว เพราะรัฐบาลมีการระบายข้าวอย่างต่อเนื่อง ไม่มีความจำเป็นที่ผู้ส่งออกและผู้ผลิตข้าวถุงในตลาดภายใน ต้องหาซื้อข้าวจากโรงสี โดยโรงสีที่มีอยู่ประมาณ 1,000 แห่งทั่วประเทศ เริ่มส่งสัญญาณว่าต้องลดการซื้อข้าวหรือซื้อในปริมาณจำกัดเพื่อไม่ให้เป็นภาระมากหากไม่สามารถสีแปรแล้วขายต่อไปได้
“โรงสี พันกว่าแห่งคงรวมตัวกันไม่ซื้อข้าวไม่ได้ แต่ตอนนี้ตลาดนิ่งมาก ผู้ซื้อก็ไม่จำเป็นต้องมาซื้อข้าวที่โรงสี เพราะมีข้าวรัฐบาลอีกเกือบ 20 ล้านตันที่รอออกสู่ตลาดอีก” แหล่งข่าวกล่าว
เอกชนชี้ตลาดต่างประเทศแข่งเดือด
นายสมพงษ์ กิตติเรียงลาภ ประธานกรรมการบริษัท พงษ์ลาภ จำกัด กล่าวว่า ในการประมูลข้าวรัฐบาลปริมาณรวม 4.6 แสนตันเมื่อกลางก.พ.ที่ผ่านมา บริษัทได้ร่วมเสนอซื้อปริมาณ 1.4 แสนตันล่าสุดได้รับแจ้งว่าชนะประมูลด้วยราคา เฉลี่ยตันละ 1.0- 1.1 หมื่นบาท และได้เสนอซื้อข้าวจากการประมูลผ่านตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (เอเฟต) อีก 6 หมื่นตันยังไม่ทราบผล คาดว่าบริษัทจะมีสต็อกอยู่ที่ 2 แสนตัน
นายสมพงษ์ กล่าวว่าน่าจะใช้เวลาเกือบทั้งปีกว่าจะส่งออกข้าวปริมาณนี้ได้ทั้งหมด เพราะขณะนี้ตลาดต่างประเทศมีการแข่งขันสูง เนื่องจากทั้งอินเดีย และเวียดนาม ต่างเร่งส่งออกข้าว เช่นเดียวกับไทยที่รัฐบาลเปิดประมูลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ทำให้ทิศทางราคาจากนี้ อาจจะลดต่ำลง
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะไม่เลวร้ายจนมีราคาต่ำกว่าตันละ 7,000 บาท สำหรับข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% หรือคำนวนเป็นข้าวสารเฉลี่ยตันละ 1.2 หมื่นบาท หรือตันละ 400-420 ดอลลาร์สหรัฐ (เอฟโอบี) เนื่องจาก ปริมาณผลผลิตข้าวยังไม่แน่นอนว่าจะได้รับผลกระทบทั้งจากภัยแล้งและอากาศหนาวจัดก่อนหน้านี้มากน้อยเพียงใด แต่ในภาวะการแข่งขันทางการตลาดราคาข้าวที่ซื้อขายจริงอาจตกต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ขึ้นกับภาวะตลาดในช่วงนั้นๆ
ราคาข้าวไทยร่วงหลังยุติจำนำ
รายงานข่าวจากกรมการค้าต่างประเทศ แจ้งว่า ราคาส่งออกข้าวสารขาว 5% (เอฟโอบี)ตั้งแต่ปี 2553 ตันละ 492 ดอลลาร์สหรัฐ ปี 2554 ตันละ 503 ดอลลาร์สหรัฐ ปี 2555 ตันละ 573 ดอลลาร์สหรัฐ ปี 2556 ตันละ 518 ดอลลาร์สหรัฐ และ ปี 2557 ตันละ 453 ดอลลาร์สหรัฐ
“ทิศทางราคาส่งออกข้าวมีแนวโน้มสูงขึ้น ตั้งแต่มีการใช้นโยบายรับจำนำข้าวในช่วงปลายปี 2554 ต่อเนื่องปี 2555 และปี 2556 ที่ผ่านมา ข้าวไทยมีราคาสูงเกินตันละ 500 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ในปีนี้ ทิศทางราคาหลุดจากตันละ 500 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นครั้งแรก และอาจมีแนวโน้มต่ำกว่านี้เพราะคาดว่าจะไม่มีนโยบายรับจำนำข้าวอีกแล้ว” รายงานข่าวระบุ
คาดจำนำ4รอบสูญเงิน2แสนล้าน
แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าว กล่าวว่า รัฐบาลใช้เงินมูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านบาท และหากประเมินการส่งออกข้าวที่คาดว่าในสต๊อกขณะนี้มีอยู่ 17-18 ล้านตันข้าวสาร หากประเมินขายที่ตันละ 10,000 บาท ก็จะมีเงินคืนที่ 1.8 แสนล้านบาท เมื่อรวมกับเงินที่คืนคลังไปก่อนหน้านี้ ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ก็เท่ากับว่าโครงการรับจำนำมีส่วนต่างเม็ดเงินที่สูญเสียไป 2 แสนล้านบาท
"คิดเฉพาะการดำเนินโครงการมา 2 ปี ปีละ 2 รอบ รวม 4 รอบ ไม่รวมโครงการรับจำนำครั้งล่าสุดที่เพิ่งจบไปเมื่อ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งยังมีค่าใช้จ่ายค้างค่าข้าวให้ชาวนาอีก 1.3 แสนล้านบาท"
ชี้ระบายเดือนละล้านตัน'ยาก'
แหล่งข่าวกล่าวว่าในทางปฏิบัติจริง การเร่งทยอยขายข้าวเดือนละ 1 ล้านตัน ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะไทยส่งออกข้าวสถิติสูงสุดที่ 10 ล้านตัน และสถิติเฉลี่ยที่ปีละ 7-8 ล้านตันเท่านั้น ทำให้แผนที่จะหาเงินมาชดใช้ค่าข้าวให้ชาวนาผ่านวิธีการระบายข้าวจึงมีความเป็นไปได้น้อย
นอกจากนี้ ในการระบายข้าวที่ผ่านมา พบว่า มีการขายให้เอกชนจริงเฉลี่ยที่ตันละ 9.5 พันบาทเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาด เฉลี่ยที่ตันละ 1.3 หมื่นบาทมาก ทำให้เกิดข้อสงสัยในวงการค้าข้าวว่าส่วนต่างราคาดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ส่งออกบางกลุ่มให้สามารถนำข้าวรัฐบาลมาหาประโยชน์กับผู้ค้าข้าวด้วยกัน โดยเสนอส่วนต่างราคาเฉลี่ยที่ตันละ 1.1-1.2 หมื่นบาท หากซื้อกับผู้ค้าด้วยกันซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดทั่วไปเฉลี่ยตันละ 1,000 บาท ขณะที่บริษัทค้าข้าวที่ได้ซื้อข้าวจากรัฐบาลจะมีส่วนต่างกำไร ที่ ตันละ 1,000-2,000 บาท
จี้ระบายข้าวต้องโปร่งใส
“เงินส่วนต่างที่พ่อค้าข้าวที่ได้ข้าวรัฐเอาไปไว้ไหน แล้วทำไม รัฐบาลต้องขายข้าวราคาต่ำให้เอกชนกลุ่มดังกล่าว ทำให้ขณะนี้ ทั้งผู้ส่งออกและโรงสี ต่างเข้าทำความเข้าใจต่อกรมการค้าต่างประเทศ ให้กำหนดเงื่อนไขการระบายข้าวที่มีความโปร่งใส และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าร่วมการประมูลได้ เช่น ยกเลิกเงื่อนไข ที่ระบุว่าต้องเป็นผู้ส่งออก หรือ มีประวัติส่งออกย้อนหลัง และการส่งหลักฐานซีโอเพื่อยืนยันการส่งออกข้าว เพราะในทางปฏิบัติจริงก็ไม่แน่ใจว่า กรมฯได้เรียกใบส่งออกจากผู้ซื้อข้าวของรัฐหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมามีข้าววนอยู่ในตลาดภายในจำนวนมาก สวนทางปริมาณส่งออกข้าวแต่ละปีที่ลดลง” แหล่งข่าวกล่าว
ในวันที่ 6 มี.ค. นี้ กรมการค้าต่างประเทศจะประกาศทีโออาร์ เพื่อระบายข้าวปริมาณรวม 6 แสนตัน ซึ่งคาดว่าทีโออาร์ดังกล่าวจะมีสาระสำคัญที่เปลี่ยนไปจากเดิม และเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อจากหลากหลายกลุ่มเข้าเสนอซื้อได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีในแง่การแข่งขันและนำไปสู่การขายข้าวได้ในราคาที่ดี
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการระบายข้าวมากขึ้น คณะกรรมการข้าวแห่งชาติ หรือ กขช. ระดับจังหวัด กำลังนำเสนอความเห็นให้กขช.จังหวัด จัดการระบายข้าวในพื้นที่ด้วยตนเอง เพื่อความรวดเร็วการดำเนินการและนำเงินส่งคืนกระทรวงการคลังเพื่อนำไปใช้หนี้ให้ชาวนา คาดว่าจะมีการนำเสนอเป็นรูปธรรมให้ กขช.ชุดใหญ่พิจารณาได้เร็วๆ นี้
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต