สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จุฬาฯชงรื้อจำนำข้าวลุยปฏิรูป5ด้าน

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเมือง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระดมบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากคณะ วิทยาลัย สถาบันต่างๆ จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นเพื่อทำการศึกษาวิจัยประเด็นต่างๆ ที่สำคัญและจำเป็นในการปฏิรูปประเทศ โดยแบ่งออกเป็นระยะสั้นและระยะยาว ในส่วนของประเด็นปฏิรูประยะสั้น คณะทำงานได้ศึกษาวิจัยจนได้แนวทางเบื้องต้นแล้ว 5 เรื่อง คือ การทุจริตคอร์รัปชั่น การจำนำข้าว การปฏิรูปพลังงาน สถานการณ์ความรุนแรง และ การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง

ขณะที่ประเด็นปฏิรูประยะยาวที่กำลังศึกษา คือ ประเด็นระบบการเลือกตั้ง การเมืองทุจริต เศรษฐกิจเหลื่อมล้ำ สังคมไม่เป็นธรรม การเมืองกับระบบราชการ การกระจายอำนาจ บทบาทสื่อ และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

สำหรับรายละเอียดแนวทางปฏิรูประยะสั้นในแต่ละหัวข้อนั้น มีดังนี้

ธานี ชัยวัฒน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ นำเสนอเรื่อง “การทุจริตคอร์รัปชั่นในมิติเศรษฐศาสตร์” ระบุว่า ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของไทย ปี 2555 อยู่ในอันดับที่ 102 จากทั้งหมด 175 ประเทศ ถือว่าอยู่ในกลุ่มที่คอร์รัปชั่นค่อนข้างรุนแรง และมีค่าความโปร่งใสคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงมาตลอด 15 ปี

นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบอีกว่าปัญหาคอร์รัปชั่นมีแนวโน้มจะร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ อันมีสาเหตุสำคัญ ได้แก่ การใช้ดุลพินิจที่ไม่เป็นธรรมของรัฐ การดำเนินนโยบายที่เอื้อประโยชน์กับธุรกิจและการผูกขาด และการปฏิบัติงานโดยปราศจากความรับผิดชอบ และการคอร์รัปชั่นในปัจจุบัน มีการแบ่งพวกแบ่งกลุ่มชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้มีการขัดแย้ระหว่างกลุ่มตามมา

ขณะเดียวกัน ผลกระทบที่ส่งผลโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจ พบว่าคอร์รัปชั่นทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจหายไปอย่างน้อยปีละประมาณ 5.75 แสนล้านบาท จากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ทั้งหมด 11.4 ล้านล้านบาท โดยถือว่าจำนวนดังกล่าวอาจจะเป็นต้นทุนการคอร์รัปชั่น และพบว่ารัฐบาลที่ยิ่งมีอำนาจผูกขาดก็จะยิ่งมีโอกาสในการออกนโยบายที่เอื้อต่อการทุจริตได้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว

งานวิจัยเสนอว่าหากจะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ต้องสร้างระบบการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจที่เข้มแข็ง การผลักดันกฎหมายเพื่อป้องกันการผูกขาดและการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับส่วนรวม รวมทั้งสร้างกลไกการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม

สุกานดา (เหลืองอ่อน) ลูวิส คณะเศรษฐศาสตร์ เสนองานวิจัยเรื่อง “การจำนำข้าว” ระบุว่า การรับจำนำข้าวโดยไม่จำกัดจำนวนในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ทำให้เกิดความสูญเสียหลายด้าน เช่น ต้นทุนที่สูง ผลประโยชน์ที่ได้ถึงมือชาวนาน้อยมาก ทั้งยังมีการสูญเสียทั้งทางกายภาพและบั่นทอนมูลค่าข้าวจากการเก็บข้าวไว้เป็นเวลานาน เพิ่มหนี้สาธารณะและเปิดโอกาสให้มีการคอร์รัปชั่นในทุกระดับ

จุฬาฯ ได้เสนอให้ในอนาคตรัฐบาลต้องหาแนวทางทำให้ชาวนามีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น โดยการส่งเสริมและให้โอกาสทางการศึกษา การเพิ่มผลผลิตภาคเกษตร การส่งเสริมการวิจัยพัฒนาทางการเกษตร การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ การปรับปรุงการชลประทาน การกำหนดโซนในการปลูกพืช การประกันภัยพืชผล และการจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรที่สัมฤทธิผลในการลดบทบาทของพ่อค้าคนกลางทั้งที่เกี่ยวกับปัจจัยการผลิตและราคาผลผลิต เป็นต้น

บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์งานวิจัย และ ธราพงษ์ วิทิตศานต์ สถาบันวิจัยพลังงาน เสนอเรื่อง “การปฏิรูปพลังงาน” พบว่ามีปัญหาและแนวทางการพัฒนาในอนาคต 4 เรื่องหลัก คือ

1.ปัญหาการขาดความรู้ความเข้าใจพื้นฐานด้านพลังงาน และความสับสนในข้อมูลและข้อเท็จจริงในการดำเนินธุรกิจพลังงาน จึงจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสื่อมวลชนและต้องอาศัยเวลาในการสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง

2.ปัญหาด้านธรรมาภิบาล การขาดความโปร่งใสในการบริหารงานของภาครัฐและการแทรกแซงจากภาคการเมืองในการกำหนดนโยบายพลังงาน ซึ่งควรมีการปรับองค์ประกอบของคณะกรรมการที่มีอำนาจในการตัดสินใจในนโยบายพลังงานให้มีสัดส่วนของนักวิชาการ องค์กรอิสระ และตัวแทนภาคประชาชนเพิ่ม เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลและตรวจสอบมากขึ้น

3.โครงสร้างกิจการพลังงานที่ผูกขาด โดยปัจจุบันกิจการปิโตรเลียมได้แปรรูปจากรัฐวิสาหกิจมาเป็นบริษัทมหาชนภายใต้การกำกับของรัฐ ซึ่งมีข้อดีในแง่ของประสิทธิภาพในการบริหารงานแบบธุรกิจ และเป็นการสร้างศักยภาพในการแข่งขันกับบริษัทข้ามชาติ ในขณะเดียวกันก็เป็นอุปสรรคในการพัฒนาให้เกิดการแข่งขันจากผู้เล่นรายใหม่ภายในประเทศ และจำเป็นต้องมีระบบการกำกับที่เข้มแข็ง จึงควรให้ปฏิรูปโครงสร้างกิจการพลังงานให้มีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น สร้างความโปร่งใส และทำให้อยู่ภายใต้การกำกับที่เข้มแข็ง

4.การจัดสรรผลประโยชน์ของทรัพยากรพลังงาน โดยเฉพาะในเรื่องของการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศที่ยังใช้ระบบสัมปทานและมีการจัดสรรผลประโยชน์กลับมาให้รัฐผ่านค่าภาคหลวงและระบบภาษี ซึ่งเห็นว่ามีความจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมทางเลือกอื่นๆ ในประเด็นนี้ เพื่อให้มีอัตราส่วนแบ่งหรือจัดสรรผลประโยชน์จากทรัพยากรพลังงานกลับมาให้รัฐมากขึ้น นอกจากนี้ ยังควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง ด้วยกลยุทธ์ที่เข้าถึงผู้ใช้พลังงานโดยตรง และตอบโจทย์ด้านการเมืองได้พร้อมๆ กัน

นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ เสนองานวิจัย “สถานการณ์ความรุนแรง” ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง ของจุฬาฯ ได้เข้าไปร่วมกับเครือข่ายพลเมืองเฝ้าระวังความรุนแรงทางการเมือง ศึกษาปัจจัยเสี่ยงในการเกิดความรุนแรง เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยพัฒนาตัวชี้วัดและจัดเก็บข้อมูลความเสี่ยงต่อความรุนแรงทางการเมือง ประมวลวิเคราะห์ผลและนำเสนอข้อมูลความเสี่ยงต่อสาธารณะผ่านศูนย์ข้อมูลติดตามสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ซึ่งในกรณีที่พบปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงอย่างวิกฤต ศูนย์ข้อมูลฯ จะดำเนินการเตือนภัยไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มเพื่อรักษาชีวิตของทุกฝ่ายและนำไปสู่การจัดการความรุนแรงได้

พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ เสนองานวิจัย “การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง” พบว่า สื่อวิทยุระดับท้องถิ่นกว่า 8,000 คลื่น มีบทบาทสำคัญในฐานะตัวจุดและขยายกระแสความขัดแย้งและความเกลียดชังให้กระจายไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างกว้างขวางแต่เจาะกลุ่มมากขึ้น จึงสร้างผลกระทบด้านลบแก่สังคมที่แบ่งแยกขั้วทางการเมืองชัดเจนให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น

ขณะเดียวกัน การวิจัยยังพบอีกว่าในสื่อออนไลน์มีผู้นำเนื้อหาที่มีระดับความรุนแรงและลักษณะการสื่อสารความเกลียดชังไปเผยแพร่ในวงกว้าง ที่พบมากที่สุดคือการยั่วยุทำให้เกิดความเกลียดชังที่ส่งผลกระทบในระดับปัจเจก และหากปล่อยให้มีการสร้างและเผยแพร่ความเกลียดชังอย่างไร้การกำกับดูแล ก็อาจจะทำให้สังคมขาดสมดุลทางความคิด ทำลายวัฒนธรรมแห่งการเคารพซึ่งกันและกัน คุกคามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และที่สุดก็ส่งผลต่อภาพรวมให้คุณธรรมในสังคมหยาบกระด้าง นำไปสู่การเข้าไปสกัดกั้นหรือทำลายบรรยากาศแห่งเสรีภาพในการแสดงออก

เบื้องต้นการวิจัยเสนอให้การกำกับดูแลแบบผสมผสานระหว่างตามกฎหมายและการใช้กลไกอื่นที่ไม่ใช่การกำกับดูแล อาทิ เร่งพัฒนามาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพและบังคับใช้ระหว่างสมาชิกองค์กรวิชาชีพสื่ออย่างจริงจัง สร้างกลไกการรับเรื่องร้องเรียนและแก้ไขเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ จัดให้มีกระบวนการเรียนรู้เพื่อตระหนักถึงจริยธรรมสื่อและความเข้าใจในประเด็นอ่อนไหวทางสังคม การให้ผู้ให้บริการที่เป็นตัวกลางออนไลน์ด้านเนื้อหาเข้ามามีส่วนร่วมในการสอดส่อง เปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้สื่อออนไลน์สามารถช่วยจับตามองความเป็นไปในเนื้อหา แจ้งความไม่เหมาะสมอย่างร้ายแรง


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต



Tags : จุฬาฯ ชงรื้อ จำนำข้าว ลุยปฏิรูป ด้าน

view