อะไรอยู่ใน "แปลงนา"? ผลประชานิยมจำนาข้าว
โดย : jpongrai2004@hotmail.com
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงการรับจำนำข้าว ถือเป็นผลผลิตของนโยบายประชานิยมของรัฐบาลชุดนี้
แม้แง่บวก จะช่วยกระตุ้นให้ชาวนาจำนวนหนึ่ง ที่หลงใหลกับ"ข้าวทุกเมล็ด" ที่จะมีเม็ดเงินจากการรับจำนำที่สูงถึง 15,000 บาทต่อตัน ได้กลับมา"หูตาสว่าง" อีกครั้ง หลังรัฐบาลไม่สามารถหาเงินเกือบ 2 แสนล้านบาท มาจ่ายให้ชาวนานับล้านราย จนชาวนาต้องออกมาก่อม็อบ ปักหลักบุกกรุงมานานร่วมแรมเดือน
แต่ในทางแง่ลบย้อนหลังช่วง 2-3 ปี ของการกำเนิดโครงการนี้ กลับเพิ่มพิษร้ายในแปลงนาข้าวอย่างมหันต์ เพราะชาวนาที่เคยคิดเปลี่ยนวิถีลดการปลูกข้าวที่พึ่งสารเคมี มาทำนาอินทรีย์ ทนแรงโหมโรงจากเม็ดเงินไม่ไหวก็กลับเข้าสู่วังวนเดิม ซ้ำยังเพิ่มปริมาณสารเคมีในแปลงนาสูงจนน่าตกใจ เพียงเพื่อให้ได้ข้าวทุกเมล็ดมากที่สุดเข้าโครงการรับจำนำนั่นเอง
" จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข เฉพาะที่ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ เกษตรกร 2,000 ราย พื้นที่ทำนาราว 10,000 ไร่ ค่อนข้างตกใจที่พบว่าชาวนา ทุ่มใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช โรคระบาด รวมทั้งตัวที่ให้เพิ่มผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5-10% ที่สำคัญยังใช้แบบคอกเทล และใช้สารเคมีแบบผิดประเภท ทั้งนี้เพื่อหวังจะไม่ให้ข้าวเสียหายเลย"
นพดล มั่นศักดิ์ มูลนิธิจัดการความรู้และเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จ. นครสวรรค์ เล่าข้อเท็จจริงที่ได้จากการเก็บข้อมูลเสร็จหมาดๆ ในรอบการผลิตปี 2556
เขายอมรับว่าเดิมชาวนามีต้นทุนสูงมากกว่า 5,000-6,000 บาทต่อไร่อยู่แล้ว และ 1 ใน 3 มาจาก การใช้สารเคมี ปุ๋ย ฮอร์โมน ซึ่งเฉลี่ยคิดเป็นเงินราว 2,000 บาทต่อไร่ แต่จากนโยบายดังกล่าว กลายเป็นแรงผลักให้ชาวนาที่เคยจะมีแนวโน้มปรับเข้าสู่วิถีผลิตข้าวแบบอินทรีย์ ก็ยังกลับไปทำนาแบบใช้สารเคมี เนื่องจากมองเห็นกำไรจากการขายข้าวที่รออยู่
"เราพบว่าชาวนาบางรายใช้สารเคมีที่ห้ามใช้แล้ว บางรายที่เคยฉีดพ่นสาร 1 เดือนต่อรอบเหลือเพียงครึ่งเดือนต่อรอบ หรือเท่ากับว่าข้าวที่มีรอบการเพาะปลูก 3-4 เดือนจะฉีดสารเคมีราว 6 รอบ ยังไม่นับรวมกับการใช้เชื้อราที่อัดลงดิน ซึ่งจุดนี้ยอมรับว่าข้าวจะมีความเสี่ยงตรวจพบสารเคมีตกค้างสูง และบางตัวที่ถูกห้ามและยังนำมาใช้ ก็อาจกระทบต่อการส่งออก ถ้าถูกตรวจเจอ" เขาแสดงความกังวล
เรื่องนี้ยังสอดคล้องกับข้อมูลของ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) ที่บอกว่าพบเกษตรกรเพิ่มสัดส่วนการใช้สารเคมี เดิม 5-7%ต่อไร่ เป็น 30%ต่อไร่ ทั้งในกลุ่มป้องกันวัชพืช ศัตรูพืช กำจัดแมลง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน อีรี่ ที่ลงมาศึกษาและเก็บข้อมูลการใช้สารเคมีของชาวนาภาคกลาง ยังตกใจที่พบชาวนาใช้สารเคมีสูงถึง 10 ครั้งต่อรอบการเพาะปลูก
ข้อมูลนี้คือ "ความจริง"ที่เชื่อมโยงกันทั้งเหตุและผลที่ชาวนาไทย จำต้องยอมรับถึงความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิต และสูญเสียต่ออาชีพ หากวันข้างหน้าดินที่เคยปลูกข้าวหมดความหลากหลายทางชีวภาพลงไป
และวันนี้อาจถึงเวลาที่ชาวนาไทย ต้องเปลี่ยนใหม่ ค่อยลดการใช้สารเคมีที่เป็นต้นทุนที่ต้องแบกรับ แม้ว่าอาจต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนรัฐต้องมานั่งทบทวนถึงข้อผิดพลาดมองการปฏิรูปการเกษตรอย่างยั่งยืน ทุกมิติรอบด้าน ไม่ใช่เพียงนโยบายขายฝันที่ไร้ทางออก
เพราะหากเราสูญเสียอิสรภาพจากแปลงนา เมื่อนั้น ต่อให้มีโครงการประกันราคา หรือโครงการรับจำนำข้าวเข้ามาจูงใจ ก็อาจไม่มีผลผลิต "ข้าวทุกเมล็ด"จากนาคนไทย...
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต