จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วิบากกรรมจำนำข้าว "กรุงเทพธุรกิจ"ร่วมเกาะติด ชำแหละบัญชีจำนำข้าว(ตอน1) ข้อมูลคือปัญหาใหญ่ : 3ฤดูผลิตไร้'ตัวเลขแท้จริง'
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด โดยรับจำนำในราคาสูงอย่างยิ่งถึงตันละ 15,000 บาท สูงกว่าราคาในตลาดโลกราว 20-30% แต่รัฐบาลก็หวังว่าหากรัฐบาลเป็นผู้"ค้าข้าว"เพียงผู้เดียว และสามารถเก็บสต็อกเอาไว้มาก จะส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และเมื่อถึงเวลานั้น รัฐบาลสามารถขายข้าวได้กำไร พร้อมๆกับช่วยเหลือเกษตรกรให้"ลืมตาอ้าปากได้"
รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รับผิดชอบโครงการทั้งหมด ในขณะที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแลในเรื่องการจัดหา"งบประมาณ" โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ใช้หน่วยงานของตัวเอง รวมทั้ง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เป็นหน่วยงานหลักทั้งหมด
เมื่อผ่านไปได้ราว 2 ปี ท่ามกลางข้อสงสัยในหลายประเด็น เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์บอกว่าไม่สามารถเปิดเผยการดำเนินโครงการได้ เนื่องจากเป็น"ความลับ"ทางการค้า ซึ่งก็ปรากฏว่ามีการใช้เงินในโครงการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่โครงการนี้ ถึงอย่างไรก็ต้อง"ปิดบัญชี" อย่างน้อยเพื่อให้รู้สถานะที่แท้จริงของโครงการนี้ ซึ่งก็ปรากฏว่ามีการโต้แย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง ในเรื่อง"ตัวเลข"ทางบัญชีของโครงการรับจำนำข้าว
กระทรวงพาณิชย์มองว่าตัวเลข"ขาดทุน"ของกระทรวงการคลังนั้นสูงไป แต่กระทรวงการคลังก็ยืนยันว่าทำถูกต้องตามมาตรฐานทางบัญชี
แต่ล่าสุด คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามนโยบายรัฐบาล ได้ทำการปิดบัญชีรับจำนำข้าวเปลือก สิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค. 2556 จำนวน 14 โครงการ โดยรวมตั้งแต่รัฐบาลก่อนหน้านางสาวยิ่งลักษณ์ และทำให้รู้ว่าเหตุใด"ตัวเลขปิดบัญชี"จึงไม่สามารถตกลงกันได้
คณะอนุกรรมการฯ ใช้หลักเกณฑ์การปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือก รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งเป็นข้อมูลจนถึงข้าวนาปี 2555/56 ยังไม่รวมข้าวนาปรัง 2555/56 และข้าวนาปี 2556/57 ที่มีปัญหาเรื่องเงินในขณะนี้ โดยมีดังนี้
แหล่งข้อมูลที่ใช้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)จำนวนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ ปริมาณที่รับจำนำ ค่าใช้จ่ายในส่วนของธ.ก.ส. ผลขาดทุนจากการระบายข้าว ต้นทุนทางการเงินจำนวนเงินที่ใช้ในโครงการ ผลการชำระหนี้ และภาระหนี้คงเหลือ
องค์การคลังสินค้า(อคส.) ปริมาณที่รับจำนำ ค่าใช้จ่ายในส่วนของอคส. ปริมาณการแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ปริมาณการจำหน่าย ปริมาณการจ่ายบริจาค และชดเชยข้าวปรับปรุงสูญหาย และปริมาณข้าวคงเหลือ
องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร(อ.ต.ก.) ปริมาณที่รับจำนำ ค่าใช้จ่ายในส่วนของอ.ต.ก. ปริมาณการแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ปริมาณจำหน่าย ปริมาณจ่ายบริจาคและชดเชยข้าวปรับปรุงน้ำหนักสูญหาย และปริมาณข้าวคงเหลือ
กรมการค้าต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในส่วนของกรมการค้าต่างประเทศ และราคาจำหน่ายข้าว
กรมการค้าภายใน ค่าใช้จ่ายในส่วนของกรมการค้าภายใน ประกาศราคาข้าว และราคาจำหน่ายข้าว
กรมส่งเสริมการเกษตร ค่าใช้จ่ายดำเนินงานโครงการของกรมส่งเสริมการเกษตร
การประเมินราคาสินค้าคงเหลือ มีข้อจำกัดดังนี้
1 กรมการค้าต่างประเทศดำเนินการจำหน่ายข้าวภายใต้โครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่มีลักษณะแบบคละข้าวคุณภาพดีและคุณภาพด้อยในภาพรวม โดยมิได้คำนึงถึงคุณภาพของข้าวแต่ละโครงการ และการจำแนกจำหน่ายตามคุณภาพข้าว
2. กรมการค้าต่างประเทศให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจำหน่ายข้าวในลักษณะเฉลี่ยราคาสินค้าทุกชนิดโดยมิได้จำแนกตามรายละเอียดชนิด หรือ รายโครงการของสินค้านั้นๆ
คณะอนุกรรมการฯ จึงมีข้อจำกัดและไม่สามารถใช้ราคาจำหน่ายข้าวของกรมการค้าต่างประเทศในการประเมินมูลค่าสินค้าคงเหลือของโครงการให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง จึงจำเป็นต้องกำหนดแนวทางการประเมินมูลค่าคงเหลือของโครงการ โดยประเมินราคาสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 2 สินค้าคงเหลือ (ปรับปรุง 2552) โดยอ้างอิงตามราคาทุนที่คำนวณได้ หรือราคาเฉลี่ยตามประกาศกรมการค้าภายใน ณ วันที่ 31 พ.ค. 2556 หรือราคาเฉลี่ยที่อคส. หรือ อ.ต.ก. จำหน่ายแต่ละชนิดเปรียบเทียบกัน หากราคาใดต่ำกว่าให้ถือราคานั้นในการนำไปคำนวณมูลค่าสินค้าคงเหลือ
ผลการปิดบัญชี
จากหลักเกณฑ์การปิดบัญชี สามารถสรุปผลดำเนินการปิดบัญชีโครงการและภาระหนี้ของธ.ก.ส. จำนวน 14 โครงการดังนี้
1. อคส.และอ.ต.ก. มีการแจ้งขอปรับปริมาณข้าวาารและผลิตภัณฑ์คงเหลือในรายงานปิดบัญชีโครงการรับจำนำผลิตผลการเกษตร ณ วันที่ 31 ม.ค. 2556 เนื่องจากเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนใรการบันทึกข้อมูลในตารางแสดงผลิตผลที่ได้จากการสีแปรสภาพกับไม่บรรจุกระสอบ ซึ่งบันทึกข้อมูลข้าวในโกดังกลางและไซโล แต่มิได้บันทึกข้อมูลข้าวเปลือกในโรงสีที่รอแปรสภาพ จำนวน 2.98 ล้านตัน ดังนี้
ปริมาณข้าวเปลือกคงเหลือที่อคส.และอ.ต.ก. แจ้งขอปรับตัวเลขมีปริมาณสูงและทางบัญชีถือเป็นนัยสำคัญ ซึ่ง ปริมาณดังกล่าวยังไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ เนื่องจาก
1) อคส.และอ.ต.ก. จัดส่งข้อมูลไม่ถูกต้องครบถ้วน และล่าช้าไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่คณะอนุกรรมการกำหนด
2) อคส. และอ.ต.ก. แจ้งยอดข้าวเปลือกคงเหลือในภาพรวมของโครงการกับยอดข้าวคงเหลือรายโกดัง/โรงสีปริมาณไม่ตรงกัน
3) มติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.) เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2556 แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลปริมาณข้าวคงเหลือของอคส.และอ.ต.ก. ที่มีรองเลขาธิการ นายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง(พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง) เป็นประธาน เพื่อตรวจนับปริมาณข้าวในโครงการ เพื่อรายงานต่อกขช. ทราบก่อนส่งให้คณะอนุกรรมการ ปรับปรุงรายละเอียดของการปิดบัญชีโครงการ ขณะนี้คณะอนุกรรมการยังมิได้รับผลการตรวจนับสินค้าคงเหลือของคณะทำงาน ดังกล่าวจากกขช.
4) จากการประสานเป็นการภายในจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า การตรวจนับสินค้าคงเหลือ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2556 มีปริมาณสินค้าคงเหลือต่ำกว่าบัญชีของอคส. และ อ.ต.ก. ในส่วนกลาง โดยนับรวมสินค้าที่มีภาระผูกพันที่ขายให้เอกชน แต่ยังไม่มีการส่งมอบ ดังนั้นหากหักสินค้าที่มีภาระผูกพันออกจากปริมาณที่ตรวจนับได้จะส่งผลให้มูลค่าสินค้าคงเหลือต่ำกว่าบัญชีมากยิ่งขึ้น
5) จากเหตุผลข้างต้น คณะอนุกรรมการ จึงไม่สามารถปรับปรุงบัญชีข้าวคงเหลือตามปริมาณที่อคส.และอ.ต.ก. แจ้งขอปรับเพิ่มเติมปริมาณข้าวคงเหลือ
จากข้อมูลข้างต้น จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม โครงการนี้จึงปิดบัญชี"ยากมาก" และตอนต่อไปจะมีคำตอบข้อกล่าวหาที่ว่าโครงการนี้ขาดทุนกว่า 5 แสนล้านบาทนั้น มีวิธีคิดอย่างไรและมีที่มาที่ไปอย่างไร
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต