สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชำแหละโครงการจำนำข้าว ผิดพลาดตั้งแต่เริ่มในวันแรก แนะรัฐบาลต้องยอมรับความจริง และแสดงความรับผิดชอบ

ชำแหละโครงการ “จำนำข้าว” ผิดพลาดตั้งแต่เริ่มในวันแรก แนะรัฐบาลต้องยอมรับความจริง และแสดงความรับผิดชอบ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

เวทีเสวนา “จำนำข้าว” ชี้โครงการฯ ถึงทางตัน “อัมมาร” มองปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญในอนาคต หากจะดำเนินโครงการประชานิยมในลักษณะก่อหนี้ท่วมหัว “ธีระชัย” ตอกฝาโลงรัฐบาลหมดสภาพ แนะให้ลาออก ชี้การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต้องเร่งระบายข้าว 2 ล้านตัน แบบขายล็อตใหญ่ ไม่ใช่จีทูจี แบบปลอมๆ “อัจนา” ยอมรับการรับจำข้าวที่สูงกว่าราคาตลาดถือเป็นทฤษฎีที่ผิด ซึ่งวันนี้เราได้เห็นถึงปัญหาของโครงการที่ขาดสภาพคล่อง เกิดช่องทางทุจริต และขาดวินัยการคลังที่เสียลงไป นับตั้งแต่วันแรกที่มีการจำนำข้าว
       
       รายงานข่าวแจ้งว่า ในการเสวนาหัวข้อ “ช่วยชาวนาอย่างไร ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ รักษาวินัยการเงินการคลัง” วันนี้ (11 ก.พ.) ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการการเงินการคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัญหาโครงการรับจำนำข้าวขณะนี้รัฐบาลยังไม่สามารถชำระหนี้ให้ชาวนาได้ ส่วนภาระหนี้ที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่าเป็นหนี้ที่เกิดขึ้น และไม่ว่ารัฐบาลนี้ หรือรัฐบาลต่อไปก็ต้องเข้ามารับผิดชอบ ส่วนประเด็นทางข้อกฎหมายว่าขณะนี้จะสามารถจ่ายเงินให้แก่ชาวนาโดยรัฐบาลหา แหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินได้หรือไม่ ไม่สามารถให้ความชัดเจนได้เนื่องจากไม่ใช่นักกฎหมาย
       
       อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้จะเป็นบทเรียนสำคัญในอนาคตที่จะดำเนินโครงการประชา นิยมลักษณะดังกล่าว ควรจะมีความชัดเจนว่าโครงการที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดหนี้มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งควรนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรว่าจะดำเนินโครงการลักษณะ ที่ก่อหนี้จำนวนมากเพื่อให้สภาฯ รับทราบ
       
       ทั้งนี้ ตามข้อเท็จจริงโครงการประชานิยมที่ผ่านมามีหลายโครงการดี เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่โครงการเหล่านี้มีการใช้งบประจำที่รัฐบาลจะดำเนินการขอจัดสรร แต่โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่ใช้เงินกู้มาดำเนินการ ซึ่งควรกำหนดกรอบการสร้างหนี้ที่ชัดเจนกว่าขณะนี้
       
       ขณะที่ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่าโครงการรับจำนำข้าวขณะนี้ค่อนข้างถึงทางตัน เนื่องจากการที่รัฐบาลจะไปหาเงินกู้จากสถาบันการเงินจ่ายให้แก่ชาวนานั้น สถาบันการเงินก็ไม่สามารถพิจารณาปล่อยกู้ได้ เนื่องจากติดข้อกฎหมายในช่วงระหว่างการเลือกตั้ง
       
       ขณะเดียวกัน การที่ให้โรงสีเข้ามาช่วยแบกรับภาระ โดยให้ชาวนานำใบประทวนมาขอสภาพคล่องสัดส่วนร้อยละ 50 และต้องมีการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่โรงสีในอนาคต ปัญหาดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายก็ไม่มีกฎหมายรองรับที่จะดำเนินการได้ ขณะเดียวกัน การที่จะนำสต๊อกข้าวไปค้ำประกันหาแหล่งเงินกู้เพื่อนำเงินมาจ่ายชาวนา สภาพปัจจุบันก็ไม่มีใครทราบว่า สต๊อกข้าวเป็นอย่างไร ทำให้การที่จะหาเงินมาชำระหนี้ชาวนาค่อนข้างติดขัดหลายด้าน
       
       ขณะเดียวกัน การที่จะนำสต๊อกข้าวที่มีอยู่ไปหาแหล่งเงินกู้ก็ไม่มีใครทราบถึงสภาพของ สต๊อกข้าวที่มีอยู่ ทำให้การหาเงินมาช่วยเหลือติดขัดหลายด้าน โดยการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า คือ รัฐบาลต้องระบายข้าวเดือนละ 2 ล้านตัน เป็นการขายข้าวแบบล็อตใหญ่ และไม่ใช่การขายข้าวแบบจีทูจี ปลอมๆ จะต้องมีการสำรวจแบบละเอียด หากข้าวเสื่อมคุณภาพก็ต้องยอมรับความจริง หากข้าวหายไปก็ต้องดำเนินคดีต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการขายข้าวแบบล็อตใหญ่ จะทำให้ลดค่าดำเนินการลง หรือคืนข้าวให้แก่ชาวนาแต่ต้องคืนให้ 1.5 เท่า เพื่อให้ชาวนาไปดำเนินการค้าขายเอง และรัฐบาลรักษาการควรลาออก เพื่อให้รัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจเต็มเข้ามาบริหารงาน
       
       ด้านนางอัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การรับจำข้าวที่สูงกว่าราคาตลาดถือเป็นทฤษฎีที่ผิด ซึ่งวันนี้เราได้เห็นถึงปัญหาของโครงการที่ขาดสภาพคล่อง เกิดช่องทางทุจริต และขาดวินัยการคลังที่เสียลงนับตั้งแต่วันแรกที่มีการจำนำข้าวในราคาที่สูง กว่าตลาด และเมื่อยิ่งฝืนต่อ ก่อให้เกิดความเสียหาย ความเดือดร้อนเพิ่มมากขึ้น
       
       พร้อมกันนี้ นางอัจนา ระบุว่า การดำเนินนโยบายช่วยเหลือชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว หรือ โครงการประชานิยมต่างๆ ควรจะมีกรอบการบริหารที่ชัดเจนจากการอนุมัติของฝ่ายบริหาร ควรเข้าสู่ฝ่ายกฎหมาย และฝ่ายนิติบัญญัติ เปลี่ยนรูปแบบการช่วยเหลือเงินอุดหนุน ดำเนินการให้อยู่ในรูปแบบของกฎหมายผ่านกระบวนการของสภา เพื่อให้สภารับทราบ แม้จะมีกระบวนการทางการเมือง หรือกลุ่มผลการเมืองเข้ามาเกี่ยว แต่มองว่าจะเกิดผลดีกว่าฝ่ายบริหารที่อนุมัติงบ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการภาระหนี้ที่เกิดขึ้นได้ในอนาคต


แนะแก้หนี้ชาวนาด้วยการรีไฟแนนซ์

วงเสวนาหาทางออกแก้ปัญหาหนี้ชาวนา แนะให้รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการขายข้าว รีไฟแนนซ์หนี้ เฉพาะช่วงก่อนยุบสภา

คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา ได้จัดเสวนา เรื่อง"ช่วยชาวนาอย่างไร โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และรักษาวินัยการเงิน การคลัง" โดยมีนักวิชาการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเวที โดยนายอัมมาร์ สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองกรณีที่รัฐบาลเป็นหนี้ชาวนา กว่า 1.3แสนล้านบาท และไม่สามารถแก้ไขได้เพราะติดเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (3) ที่ระบุว่ารัฐบาลรักษาการต้องไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกผันต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดต่อไป แต่ตนมองว่าหากพิจารณาบนเงื่อนไขช่วงการประกาศยุบสภา คือ วันที่ 9 ธ.ค. 56 นั้นสามารถที่จะปลดล็อคเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญได้เพราะหนี้ที่เกิดก่อนการยุบสภารัฐบาลสามารถดำเนินการได้โดยไม่ถือว่ามีผลผูกพันต่อ ครม. ชุดใหม่ เนื่องจากเป็นโครงการต่อเนื่อง

"ผมมองว่าหากจะอนุโลม โดยเงื่อนไขของวันประกาศยุบสภาน่าจะทำได้ ถ้ายื่นศาลรัฐธรรมนูญและศาลรัฐธรรมนูญใจกว้างและตีความว่าไม่เป็นการผูกผัน ครม.ชุดใหม่ และถ้ารัฐบาลยอมแพ้และยอมรับว่า อั๊วไปกู้เงินมาเยอะแล้ว แต่ไม่มีเงินจ่าย ก็สามารถบริหารจัดการหนี้ให้ชาวนาและชาวนาได้รับเงิน คือ ทำตามกฎหมายบริหารหนี้ ที่ให้รัฐบาลรักษาการสามารถรีไฟแนนซ์หนี้ได้เฉพาะหนี้ที่เกิดก่อนวันที่ 9 ธ.ค. 56 แต่หนี้ที่เกิดหลังการยุบสภาต้องหาทางออกอย่างอื่น เพราะถือเป็นหนี้ใหม่ อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้น โดยรัฐบาลค้างจ่ายเงินชาวนามากถึง 1.3 แสนล้านบาท ถือเป็นความน่าอับอาย แต่ความเลวร้ายกว่านั้นคือโครงการรับจำนำข้าวทำลายวินัยการเงินการคลัง ดังนั้นหากจะมีการปฏิรูปเกิดขึ้นต้องอุดช่องโหว่ตรงนี้ที่เกิดจากนโยบายประชานิยม ด้วยการนำเข้าสู่ระบบรัฐสภาให้มีการตรวจสอบ แม้ว่าท้ายสุดเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาจะยกมือผ่านให้ แต่อย่างน้อยการเข้ารัฐสภาถือเป็นการสร้างสัญญา หากรัฐบาลจะทะลุกรอบก็ทำได้ไม่ง่าย และรัฐบาลไม่สามารถขยายกรอบเพดานเงินกู้จนส่งผลต่อวินัยการเงินการคลังได้" นายอัมมาร์ กล่าว

นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่าโครงการรับจำนำข้าวถือว่าเป็นการทุจริตที่มีใบเสร็จ เพราะรัฐบาลจงใจไม่นำใบประทวนไปทำบัญชี เพื่อปกปิดข้อมูลทั้งราคาและจำนวนการขาย ดังนั้นเชื่อว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีจริยธรรมต้องดำเนินคดีทางอาญากับผู้กระทำผิด สิ่งที่พิสูจน์ชัดคือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่สามารถได้ข้อมูลราคาขายได้ ดังนั้นหัวใจของการคอรัปชั่นโครงการนี้คือ ช่วงการขายข้าว ทั้งนี้มีคนสงสัยหรือไม่ว่ารัฐบาลระบุว่าได้ขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐให้กับประเทศจีน แต่ท้ายสุดก็พบว่าโกหก แต่ข้าวที่คนไทยบริโภคทุกวันนี้มาจากไหน ตนเฉลยให้ว่าเป็นข้าวที่เล็ดลอดมาจากการคอรัปชั่น ทั้งนี้ตนอยากให้นักการเมือง และข้าราชการออกมารับผิดชอบด้วยนอกจากการรับผิดชอบของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เท่านั้น

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ทางวิชาการปัญหาเรื่องดังกล่าวมีทางแก้ 3 ทาง คือ 1.ทางการเงินด้วยการกู้เงิน แต่อาจจะมีข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย หากจะโอนงบประมาณในส่วนของกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเพื่อพัฒนาด้านคมนาคม อาจจะเป็นการริดรอน ครม.ชุดใหม่ที่อยากพัฒนาส่วนการคมนาคมที่ถูกโยกงบประมาณไปแล้ว หรือการกู้เงินผ่านสถาบันการเงินในและต่างประเทศ ตนกังวลว่าธนาคารที่ให้กู้อาจจะถูกฟ้องร้องได้ในฐานะผู้สนับสนุน หากในอนาคตหากมีการตีความว่าเป็นผลผูกพัน ครม.ใหม่ ในส่วนข้อเสนอที่จะให้มีการคืนข้าวให้ชาวนา โดยคืนในปริมาณ 1.5 เท่าที่รับจำนำเพื่อชดเชยชาวนา อาจจะติดปัญหาว่าจะใช้ระเบียบใดมาปฏิบัติ, 2.ด้านการตลาด ด้วยการขายข้าวซึ่งตนมองว่าเป็นวิธีที่ง่ายและปลอดภัย แต่การขายนั้นต้องใช้วิธีการประมูลล็อตใหญ่ คือ 2 ล้านตันต่อเดือน หากทำได้คาดว่าภายใน 6-8 เดือนจะได้เงินมาปลดหนี้ให้ชาวนาได้ แต่วิธีนี้อาจจะติดปัญหาเรื่องสต็อกข้าวและคุณภาพ และ 3.ด้านการเมือง คือ การเดินหน้าจัดการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 2 ก.พ.ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งอาจจะต้องใช้การเจรจากับกลุ่ม กปปส. เบื้องต้นอาจจะทำได้ช้า ดังนั้นทางที่เร็วในการแก้ปัญหาด้านการเมือง คือ รัฐบาลรักษาการต้องลาออก และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ด้วยวิธีที่ถูกต้องกฎหมาย

นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่าการแก้ปัญหาตามที่เสนอ เช่น การขายข้าว อาจจะมีปัญหาเรื่องราคา หรือ การนำใบประทวนมาจำนำกับโรงสี อาจติดปัญหาเรื่องเงื่อนไขในทีโออาร์ และกรอบเวลาที่ต้องปรับปรุงข้าวเพื่อส่งขาย และที่สำคัญประเด็นว่าจะให้รับจำนำใบประทวน ราคาร้อยละ 50 ของมูลค่า อาจจะทำให้สับสนว่ามูลค่าตลาด จำนวน 8,000 บาทต่อตันหรือราคารับจำนำที่ 1.5หมื่นบาทต่อตัน นอกจากนั้นแล้วโรงสีอาจจะมีความกังวลในกรณีดังกล่าว โดยนำบทเรียนจากโรงสีสิริภิญโญที่ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกว่า 120 ล้านบาทเพราะขาดมติ ครม.รับรอง แต่หากกรณีดังกล่าว ครม. มีมติรองรับและดำเนินการได้ตนมองว่าอาจจะได้เงินเพียง 1,200-1,300 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนประเด็นคืนข้าวให้ชาวนา อาจจะมีปัญหาเพราะข้าวเปลือกที่รับจำนำถูกแปรสภาพเป็นข้าวสารหมดแล้ว และอาจจะมีปัญหาเรื่องคุณภาพ ดังนั้นตนมองว่าวิธีที่สามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายหรือกระทบวินัยการเงินการคลัง คือ การนำมติครม.ที่กำหนดจ่ายค่าชดเชยค่าต้นทุนข้าวนาปรังรอบพิเศษ ช่วงกันยายน - ตุลาคม 2556 ราคา 2,100 บาทต่อตัน แต่ต้องกำหนดเฉพาะช่วงก่อนการยุบสภา วันที่ 9 ธ.ค. 56 เท่านั้น

ขณะที่นางอัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการเงินฯ กล่าวว่าต้องแก้ปัญหาด้วยการระบายข้าว ส่วนวิธีการอื่น ๆ ที่มีการเสนอ เช่น การคืนข้าวให้กับชาวนา จำนวน 1.5 เท่าที่รับจำนำ อาจจะเป็นการสร้างภาระให้กับ ครม.ชุดใหม่และอาจจะไม่มีกฎหมายใดรองรับ ส่วนแนวทางแก้ปัญหาระยะยาว คือ กำหนดให้นโยบายประชานิยมทุกรูปแบบต้องทำเป็นกฎหมายเพื่อให้รัฐสภาตรวจสอบ เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายบริหารอนุมัติวงเงินจำนวนมากตามใจ

ส่วนนายไพบูลย์ นิติตะวัน สว.สรรหา กล่าวว่าทางเดียวที่แก้ปัญหาได้ คือ รัฐบาลรักษาการชุดปัจจุบันต้องลาออกเพื่อเปิดทางให้มีรัฐบาลคนกลางเข้ามาแก้ไข เพราะล็อคของรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ไม่เป็นข้อจำกัดของการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่ ส่วนวิธีที่รัฐบาลรักษาการจะพ้นจากการทำหน้าที่ คือ 1.ลาออก หรือ 2.พ้นโดยกฎหมาย ซึ่งตนฝากความหวังไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะเร่งทำงานตรวจสอบและให้ใบแดงกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ได้มีการใช้อำนาจที่ถือว่าผิดกฎหมายเลือกตั้งโดยเร็ว

ขณะที่นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่ารัฐบาลรักษาการชุดปัจจุบันไม่ได้แก้ไขปัญหาให้กับชาวนา ดังนั้นหากปล่อยให้ยืดเยื้อ ชาวนาจะพกอาวุธ คือ ไข่เน่า ไว้ขว้างใส่รัฐมนตรี ส่วนกรณีที่ชาวนาออกมาชุมนุมเพราะเดือดร้อนอย่างแท้จริง ไม่มีเบื้องหลังใด ๆ และประเด็นสำคัญคือต้องการให้ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว และเร่งปฏิรูปงานด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชาวนา เบื้องต้นตนได้ร่างแผนปฏิรูปไว้หมดแล้ว อย่างไรก็ตามตนทราบมาว่าโรงสีแห่งหนึ่ง ในจ.สระบุรี ได้เร่งขนข้าวออกจากโกดัง โดยไม่มีคำอธิบาย ดังนั้นใน 1-2 วันนี้ ตนจะพาชาวนาไปเปิดโกดังเพื่อตรวจสอบสต๊อกข้าวและคุณภาพ


เสียง "คนวงนอก" ถึง "ยิ่งลักษณ์" ข้อเสนอ-ปลดล็อกหนี้สินจำนำข้าว

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

"แม้ ตัวโครงการจะถูกวิพากษ์วิจารณ์และสกัดขัดขวาง ทั้งการอ้างข้อกฎหมายและวิธีการทางการเมือง แต่สัจจะต่อชาวนาเป็นสิ่งที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยยืนหยัด และพร้อมฝ่าฟันทุกอุปสรรคเพื่อบรรลุเป้าหมายของโครงการร่วมกับพี่น้องชาว ไทย"

เป็นถ้อยแถลงของพรรคเพื่อไทยที่ยืนยันว่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อหา เงินไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนล้านบาท เพื่อนำมา "ใช้หนี้" ชาวนาที่นำข้าวเข้าร่วมโครงการรับจำนำ แต่จนบัดนี้ยังไม่ได้รับเงินนานกว่า 3-4 เดือน

สอดคล้องกับข้อความบนโลกออนไลน์ของ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่เปิดเผยว่า "รัฐบาลมิได้นิ่งนอนใจต่อความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น"

"จากเหตุการณ์ ความไม่สงบทางการเมืองในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา นำไปสู่การยุบสภาและการเลือกตั้ง ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลมีข้อจำกัดในการบริหารงาน"

"ขณะ เดียวกันก็มีเกมการเมืองนอกระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มีเป้าหมายเดียวคือล้มล้างรัฐบาล และช่วงชิงอำนาจทางการเมือง ดำเนินการขัดขวางการทำงานของรัฐบาลที่พยายามจะดูแลทุกข์สุขของประชาชนอย่าง ต่อเนื่องแม้แต่โครงการจำนำข้าวที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวนาทั่วประเทศ"

2 สัญญาณผ่านโลกออนไลน์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์-พรรคเพื่อไทย แม้จะแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการแก้ปัญหา แต่ในข้อเท็จจริงจากสถานภาพรัฐบาล "รักษาการ" ก็มิอาจดำเนินการใด ๆ ได้มากนัก และหลายวิธีที่รัฐบาลพยายามทำก็เสี่ยงที่จะกระทำผิดกฎหมายเสียเอง

อัน สะท้อนให้เห็นจากความพยายามของ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ที่เร่งขอ "เงินกู้" จากสถาบันการเงิน ที่ยังไม่มีใครออกมาตอบรับรัฐบาลอย่างเป็นทางการ

ปรากฏการณ์ที่ สถาบันการเงิน 34 แห่ง ไม่ยอมยื่นซองประกวดราคาปล่อยเงินกู้ก้อนแรกจำนวน 20,000 ล้านบาท ยิ่งสะท้อนผลลัพธ์แล้วว่า ไม่มีใครกล้าเสี่ยงพอที่จะทำผิดข้อกฎหมาย แผนการกู้เงินของ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" จึงเสมือนประตูที่ถูกปิดตาย และยากที่จะดำเนินการต่อไปได้

ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นักคิด นักวิชาการ ผู้ชำนาญการเรื่องข้าว-เรื่องหาเงิน ต่างนำเสนอวิธีการเพื่อหาทางออกในการปลดภาระหนี้สินที่มีต่อชาวนา  และเป็นข้อเสนอที่อยู่บนพื้นฐานที่เชื่อว่า "รัฐบาลรักษาการ" จะไม่สามารถกู้เงินได้ถูกต้องตามกฎหมาย

"ดร.อัมมาร สยามวาลา" นักวิชาการเกียรติคุณจากทีดีอาร์ไอ ได้เสนอให้รัฐบาลเทขายข้าวที่คงค้างอยู่ในสต๊อกไม่ต่ำกว่า 10 ล้านตัน เพื่อปลดภาระหนี้สินระยะสั้น

"ผมยอมรับว่าอันนี้ก็มีปัญหา แต่ในระยะสั้นก็พอใช้เป็นสภาพคล่องได้ เหมือนเวลาคุณเงินขาดมือ คุณก็ต้องเอาของมีค่าออกไปขาย เอาเงินมาใช้ เพราะคุณกำลังจะอดตาย และเวลานี้รัฐบาลก็อยู่ในฐานะเช่นนั้น"

"การระบายข้าวย่อมกระทบตลาด ในทางลบ ก็ต้องทำในจังหวะที่เหมาะสม ในช่วงที่รัฐบาลมีสต๊อก 10 ล้านตันขึ้นไป ก็ไม่ใช่โอกาสที่ดีที่คุณจะมาจู้จี้เรื่องราคา แต่เรื่องใช้หนี้ชาวนาสำคัญกว่า"

เช่นเดียวกันกับ "ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร" อีกหนึ่งนักวิชาการเกียรติคุณจากทีดีอาร์ไอที่เชื่อว่า ทางหนึ่งที่รัฐบาลพอจะหาเงินได้คือ ให้ชาวนานำใบประทวนข้าวที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) ออกให้แก่เกษตรกรในวันรับจำนำไปยื่นขอเงินกู้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ แทน ซึ่งในทางทฤษฎีจะสามารถดำเนินการได้ แต่ในทางปฏิบัติอาจดำเนินการได้ยาก เพราะสถาบันการเงินต่างไม่มั่นใจสถานะของ "ใบประทวน" ที่จะถูกใช้เป็นหลักประกันในการกู้เงิน เพราะใบประทวนที่ถูกใช้เป็น เอกสารยืนยันการรับจำนำข้าวระหว่างชาวนา-รัฐบาล แต่ในสายตาสถาบันการเงินอาจหมายถึง "กระดาษเปล่า" ที่ไม่มีหลักประกัน หากไม่ได้รับการประทับตรา "ค้ำประกัน" โดยหน่วยงานรัฐบาล

และถึงแม้ จะมีการ "ค้ำประกัน" โดยหน่วยงานรัฐบาล นั่นก็ย่อมเท่ากับว่า "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดอันมีผล "ผูกพัน" ต่อรัฐบาลต่อไปทันที และย่อมเท่ากับการเสี่ยงที่จะกระทำการผิดกฎหมายอีกด้วย

ขณะที่ "ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล" อดีต รมว.คลัง มองว่า ด้วยสถานะ "รักษาการ" ทำให้การแก้ปัญหาดังกล่าวมาหยุดอยู่ที่ทางตัน และเหลือเพียงทางออกเดียวคือ การลาออกจากตำแหน่งรักษาการ เพื่อเปิดทางให้ "รัฐบาลใหม่"เข้ามาแก้ปัญหา

"ตั้งแต่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้เดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/2557 จนล่วงเลยมาถึงวันยุบสภา กระทรวงการคลังไม่เคยออกพันธบัตรให้ ธ.ก.ส.เพื่อกู้เงินตามวงเงินที่กำหนด และกระทรวงพาณิชย์ก็ขายข้าวได้น้อยกว่าเป้ามาก เงินจึงขาดมือ ซึ่งถือเป็นความบกพร่องของรัฐบาลโดยแท้จริง"

"รัฐบาลรักษาการมันแก้ ปัญหายาก เปลี่ยนนโยบายไม่ได้ กู้เงินไม่ได้ ถ้าทำก็ต้องเสี่ยงที่จะผิดกฎหมาย หรือไม่ก็ตัดสินใจลาออก เพื่อให้รัฐบาลใหม่ที่มีอำนาจเต็มเข้ามาดำเนินการแทน"

เมื่อหนี้สินชาวนากว่าหนึ่งแสนล้านบาทอาจต้องเผชิญกับ "ทางตัน" และรัฐบาลยังไม่สามารถนำเสนอทางออกได้อย่างเป็นรูปธรรมในเวลานี้

เป็น ข้อเสนอจาก "คนวงนอก" ที่ไม่ตอบโจทย์ทางการเมือง แต่เป็นสิ่งที่ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ควรกลับไปพิจารณา เพื่อปลดล็อกโจทย์แรก คือ หนี้สินหลักแสนล้านบาท ที่ทำให้ชาวนาต่างก็เดือดร้อนอย่างหนักในเวลานี้


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ชำแหละโครงการจำนำข้าว ผิดพลาดตั้งแต่เริ่ม วันแรก แนะรัฐบาล ยอมรับความจริง แสดงความรับผิดชอบ

view