สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ข้าวไทย : เรามาถึงจุดเสื่อม ขนาดนี้ได้อย่างไร

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ตัวเลขชี้ชัดว่าประเทศไทยเรา ส่งออกข้าวเป็นอันดับที่ 3 ของโลกติดต่อกันแล้ว 2 ปี รองจากอินเดียและเวียดนาม

จากที่เคยเป็นอันดับหนึ่งมาตลอด จากที่คำว่า “ข้าวไทย” หมายถึงคุณภาพอันดับแรกของโลก

มาวันนี้เรามีข่าว “ข้าวเน่า” และชาวนาลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายค่าข้าวตามนโยบายจำนำข้าว และเรื่องราวอื้อฉาว “จีทูจีลวงโลก” ไปถึงการที่รัฐบาลหมดความน่าเชื่อถือถึงขั้นที่ธนาคารรัฐเองยังไม่กล้าให้กู้

อีกทั้งที่เคยประกาศว่าการรับจำนำข้าวจากชาวนาราคาสูงกว่าตลาด จะทำให้ราคาข้าวตลาดโลกสูงขึ้นด้วย

ความจริงที่เกิดขึ้นตรงกันข้ามกับที่อ้างโดยสิ้นเชิง

มันเกิดขึ้นเพราะนโยบายประชานิยมสุดโต่ง ที่ผิดตรรกะแห่งการตลาดและความผิดชอบชั่วดีของการใช้เงินภาษีประชาชนโดยนักการเมือง ที่เพียงต้องการจะสร้างฐานเสียงเพื่อการเลือกตั้งเท่านั้น

เพราะเด็ก ป.4 ก็รู้ว่าถ้าคุณซื้อของที่แพงกว่าที่คนอื่นเขาซื้อขายกันโดยไม่รู้ว่าเงินที่เกินกว่าที่คุณจะเอาของไปขายได้ในตลาดใครจะเป็นคนจ่ายนั้นคุณก็จะต้องเจอปัญหาแน่นอน

คำอธิบายของรัฐบาลมีอยู่ข้อเดียวคือ ช่วยเหลือชาวไร่ชาวนาให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

แต่ภาพวันนี้เห็นชัดแล้วว่า ชาวนากำลังลำบากยากเข็ญเพราะนโยบายนี้ เหตุเพราะรัฐบาลทำทุกเรื่องเป็นการเมือง ไม่เอาปัจจัยแห่งเศรษฐกิจมาประเมินและป้องกันปัญหา

วันนี้ก็ต้อง “ดิ้น" พล่าน, หาทางออกที่ไม่มีทางออกเพราะเพียงแค่จะ “ขายผ้าเอาหน้ารอด” ไปวัน ๆ

เมื่อธนาคารรัฐและธนาคารเอกชนไม่กล้าให้รัฐบาลกู้ เพื่อจะมาจ่ายชาวนาตามโครงการจำนำนี้แล้ว, รัฐบาลก็อ้างว่าจะไปขอกู้เงินจากธนาคารต่างประเทศ

เด็ก ป.3 ก็รู้ว่าเป็นคำอธิบายที่เพ้อเจ้อ เหมือนบอกว่าโรงจำนำไม่รับก็ไปกู้แบงก์ซิ

ต่อมาอีกวัน รัฐบาลก็ขอให้เจ้าของโรงสีช่วยรับ “ใบประทวน” ของชาวนาและจ่ายเงินให้ไปก่อนสัก 50-60% ของเงินที่รัฐบาลค้างชาวนาอยู่ และรัฐบาลจะขออนุมัติจาก กกต. ใช้งบกลาง 1,000-1,200 ล้านบาทเพื่อจ่ายดอกเบี้ย

นั่นก็คือการโยน “เผือกร้อน” ไปให้กับคนอื่นอีกรอบ ภาระของรัฐบาลยังไง ๆ ก็เป็นของรัฐบาล ไม่อาจจะโอนไปให้ใครได้แม้จะมีอำนาจรัฐ และสมาคมโรงสีก็หลบหลีกอย่างสุภาพด้วยการบอกว่าจะปรึกษาหารือสมาชิกก่อน และถึงจะมีมติไปทางใดทางหนึ่งก็ไม่อาจจะบังคับสมาชิกได้ เป็นเรื่องความสมัครใจมากกว่า

แม้เจ้าของโรงสีบางแห่งจะยอมเอออวยตามรัฐบาล เพราะมีความเชื่อมโยงหรือผูกพันทางการเมืองก็หนีไม่พ้นว่าภาระก็ยังต้องตกกลับมาที่รัฐบาลจนได้ เพราะไม่มีใครรู้ว่าการเลือกตั้งจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่และจะสามารถตั้งรัฐบาลได้เมื่อไหร่ และรัฐบาลใหม่จะยอมรับภาระเรื่องนี้ต่อจากรัฐบาลรักษาการชุดนี้หรือไม่

การใช้งบกลางมาจ่ายดอกเบี้ยก็ตีความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากว่าเป็นการผูกพันรัฐบาลหลังเลือกตั้งอยู่นั่นเอง

ที่ตลกร้ายกว่านั้นก็คือ รัฐมนตรีบางคนบอกว่าถ้าชาวนาจะเอาข้าว ที่มาจำนำกับรัฐบาลแล้วกลับไปขายเองก็จะคืนให้

เด็ก ป.2 ก็ต้องถามว่าจะทำอย่างไร? นี่ไม่ใช่ขายขนมหม้อแกงของเด็ก ๆ เพราะข้าวที่ชาวนาส่งมอบมานั้นไปกองไว้ที่ไหน ไปปนกับของใคร คุณภาพและความชื้นที่ต่างกันจะประเมินกันอย่างไร กองข้าวไหนเป็นของใครก็ไม่มีใครรู้ได้

ขืนมีการ “คืนข้าว” ขึ้นมา ก็เกิดเรื่องโกลาหลกันวุ่นวายใหญ่โต จะกลายเป็นเรื่องขบขันเล่าขานกันไปทั่วโลก

ข้าวไทยเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? นี่เป็นหัวข้อที่จะต้องมีการวิจัยวิเคราะห์และวิสัชนาหาคำตอบเพื่อให้ประชาชนได้หูตาสว่าง และเป็นหัวข้ออันดับต้น ๆ ของการ “ปฏิรูปประเทศไทย” อย่างจริงจัง


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ข้าวไทย เรามาถึง จุดเสื่อม ขนาดนี้ ได้อย่างไร

view