รัฐบาลติดหนี้ชาวนาค่าจำนำข้าว : ฟ้องคดีอาญาได้หรือไม่
โดย : สกล หาญสุทธิวารินทร์
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เมื่อรัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารประเทศ ก็ได้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวตามที่ได้หาเสียงไว้ โดยประกาศรับจำนำข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด
เช่น รับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิ ในราคาตันละ 20,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า 100 เปอร์เซ็นต์ ราคาตันละ 15,000 บาท ซึ่งนักวิชาการและผู้อยู่ในวงการค้าข้าว ได้วิพากษ์วิจารณ์และเสนอความเห็นว่า การตั้งราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาด จะมีผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทย เพราะจะไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับประเทศผู้ส่งออกรายอื่นได้ แต่รัฐบาลก็ไม่ฟัง ยังคงดำเนินโครงการต่อไป เมื่อดำเนินโครงการต่อไปก็ปรากฏข้อเท็จจริงให้เห็นว่ามีการทุจริตทุกขั้นตอน และมีผลกระทบต่อคุณภาพข้าวไทย ทั้งขั้นตอนในการรับจำนำและการเก็บข้าวที่รับจำนำ อันเนื่องจากการทุจริตนำข้าวด้อยคุณภาพมาจำนำ และนำข้าวเสื่อมคุณภาพมาเวียนจำนำ และการที่ต้องเก็บข้าวไว้นานไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการเก็บรักษาข้าวที่ถูกต้อง และไม่สามารถระบายข้าวออกได้ ตามที่ควรจะเป็น และลามมาถึงคุณภาพข้าวตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกข้าว เพราะชาวนาไม่คำนึงถึงการคัดพันธ์ข้าวที่จะปลูก คิดแต่เพียงให้ได้ข้าวที่เก็บเกี่ยวได้เร็วให้ผลผลิตมากขึ้น เพื่อนำมาจำนำในราคาสูงกว่าตลาดเท่านั้น
ผลกระทบต่อการส่งออกปรากฏให้เห็นชัดเจน เมื่อการส่งออกข้าวไทยลดลงจากปีก่อนๆ ที่จะมีการรับจำนำข้าวตามโครงการของรัฐบาลชุดนี้ เป็นผลให้ประเทศไทยที่เคยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกติดต่อกันมาสามสิบกว่าปี ลดอันดับไปเป็นลำดับที่สามรองจากเวียดนาม อินเดีย มาสามปีติดต่อกัน ผลจากการส่งออกที่ลดน้อยลง มีการทุจริตในการระบายข้าว ผูกขาดขายข้าวให้เฉพาะพวกพ้อง แอบขายข้าวให้พวกพ้องในราคาที่ต่ำกว่าราคารับจำนำ มีการนำข้าวดังกล่าวไปวนเวียนขายในตลาดภายใน และส่งออกบางส่วน นอกจากนี้ก็ยังไม่ปรากฏหลักฐานข้อเท็จจริงว่าได้นำเงินที่ได้จากการนำข้าวในสต็อกไปขายดังกล่าว ส่งคืนให้หลวงครบถ้วนทุกบาททุกสตางค์หรือไม่ ซึ่งมีผู้ให้ข้อสังเกตว่าน่าจะมีการยักยอกเงินที่มุบมิบขายข้าว นำฝากไว้ในธนาคารในต่างประเทศ
แม้จะมีผลกระทบเสียหายเกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าวดังกล่าว แต่รัฐบาลก็ยังคงดึงดันดำเนินโครงการรับจำนำต่อมา ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากผู้เกี่ยวข้องฝ่ายต่างๆ ผลจากการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวที่กำหนดราคาจำนำสูงกว่าตลาด มีการทุจริต ไม่สามารถระบายข้าวออกไป มีการประเมินว่า รัฐบาลได้ทุ่มเงินงบประมาณลงไปในโครงการรับจำนำข้าวแล้วไม่น้อยกว่า เจ็ดแสนล้านบาท การรับจำนำสองปีการผลิตที่ผ่านมาขาดทุนแล้วไม่น้อยกว่า สี่แสนล้านบาทไม่รวมค่าเช่าโกดัง ค่ารักษาคุณภาพ ค่าบริหารจัดการ ค่าเสียหายจากข้าวในสต็อกเสื่อมคุณภาพ
จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลสามารถนำเงินที่ได้จากการขายข้าวที่รับจำนำคืนให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้เพียงหนึ่งแสนแปดหมื่นล้านบาทเศษ ทำให้รัฐบาลโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรขาดเงินที่จะจ่ายค่าข้าวให้แก่ชาวนา ติดหนี้ชาวนา สำหรับฤดูกาลผลิตนี้ เป็นเวลาหลายเดือนมาแล้ว ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ชาวนามาก ชาวนาหลายจังหวัดเริ่มประท้วงทวงค่าข้าว หลายแห่งมีการปิดถนนประท้วง และ มีการขอให้สภาทนายความช่วยเหลือจะฟ้องรัฐบาลทั้งทางแพ่งและทางอาญา สำหรับคดีแพ่งไม่น่าจะมีปัญหา แต่มีข้อพิจารณาว่า หากจะฟ้องคดีอาญาจะฟ้องด้วยข้อหาอะไร
จากการตรวจสอบเอกสารการรับจำนำข้าว ระบุว่าเป็นการจำนำ สินค้า มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ย กำหนดระยะเวลาจำนำ และระยะเวลาไถ่ถอน ลักษณะของนิติกรรมเช่นนี้ จึงเข้าข่ายเป็นการจำนำตามกฎหมาย แต่เมื่อพิจารณาจากการปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริง มีความประหลาดเกิดขึ้นกับการกระทำที่เป็นการรับจำนำคือ มีการกำหนดให้โรงสีที่เข้าร่วมโครงการนำข้าวเปลือกที่ชาวนาจำนำไว้ ไปสีแปรสภาพเป็นข้าวสารตามเวลาที่กำหนด และมีการนำข้าวสารที่แปรรูปดังกล่าวไปขายทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผบโดยที่ยังไม้พ้นเวลาจำนำและไถ่ถอน เมื่อชาวนายังไม่ได้รับเงินค่าข้าวจะไปขอข้าวเปลือกที่จำนำคืน รัฐบาลจะเอาข้าวเปลือกที่ไหนคืนให้ชาวนา
ตามหลักกฎหมายเรื่องจำนำ ในข้าวเปลือกยังเป็นของชาวนา ไม่ได้โอนให้หน่วยงานของรัฐผู้รับจำนำ การที่ฝ่ายหน่วยงานของรัฐนำข้าวเปลือกไปสีแปรแล้วนำไปขาย มีข้อน่าคิดว่าน่าจะเข้าข่ายเป็นการยักยอกทรัพย์หรือไม่ นอกจากนี้ มีนักกฎหมายหลายท่านแสดงความเห็นว่า การดำเนินการในการรับจำนำข้าวที่ไม่โปร่งใส มีการทุจริตทุกขั้นตอน หาประโยชน์ให้พวกพ้อง แสดงข้อความอันเป็นเท็จ ว่าสามารถขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐได้ ทั้งที่ไม่เป็นความจริง ปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้ง ถึงสถานะทางการเงินของโครงการที่แท้จริง ตัวเลขรายได้รายจ่าย แต่กลับออกข่าวตลอดเวลาว่ารัฐมีเงินจ่ายค่าข้าวให้ชาวนาได้ ไม่ต้องเป็นห่วง ทำให้ชาวนาหลงเชื่อรัฐบาลที่เป็นผู้บริหารประเทศย่อมไม่โกหกหลอกลวงประชาชน โดยเฉพาะชาวนากระดูกสันหลังของประเทศ ทำให้ชาวนายอมนำข้าวไปจำนำ แต่ความเป็นจริงรัฐบาลไม่มีเงินจ่ายให้ชาวนา เมื่อได้ข้าวไป ก็เอาไปขายหาประโยชน์ให้พวกพ้อง น่าคิดว่า จะถือได้ว่ามีเจตนาทุจริต เข้าข่ายเป็นการฉ้อโกง ประชาชนหรือไม่
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต