จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
จำนำข้าวเป็นหนึ่งในนโยบายหัวหอกที่ส่งรัฐบาลรักษาการเข้าสู่ทำเนียบ ตอนนี้ดูเหมือนว่านโยบายเดียวกันนี้กำลังจะเป็นผู้กระชากรัฐบาลลงจากตำแหน่ง
ถ้าจำกันได้ นักวิชาการน้ำดีและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสของ “ภาคปฏิบัติ” ของนโยบายนี้ ว่าจะนำไปสู่ปัญหาทางการคลัง จนไม่สามารถจ่ายเงินให้กับชาวนาได้ แต่รัฐบาลก็ทำเป็นหูทวนลม เพราะคิดว่า ไม่เห็นมีชาวนาตัวจริงออกมาส่งเสียงสักคน ขนาดรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และรัฐมนตรีช่วยยังตอบคำถามเรื่องนี้ไม่ได้ จนโดนสื่อมวลชนต้อนติดมุม เป็นตัวชี้วัดถึงระดับความมุ่งมั่นที่จะเมินเฉยต่อปัญหาของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี
รู้ทั้งรู้ว่าใบประทวนกินไม่ได้ ก็ยังปล่อยให้ชาวนากอดใบประทวนมาหลายเดือน ความหวังที่เคยให้ชาวนา ได้กลายเป็นฝันร้ายที่ตามหลอกหลอนกระดูกสันหลังของชาติ ประมาณการกันว่า ตอนนี้มีชาวนาเพียง 1 ใน 5 ที่ได้รับเงินไปแล้ว ส่วนอีกสี่คนก็ต้องร้องเพลงรอกันต่อไปอย่างไม่มีกำหนด รัฐบาลรักษาการจะหันหน้าไปขอยืมเงินจากหน่วยงานไหน ก็เจอแต่การส่ายหน้าบอกปัดอย่างไม่มีเยื่อใย ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะรัฐบาลนี้กลายเป็นจำเลยของสังคมทั้งด้านการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการใช้เงิน
นอกจากนี้ ในช่วงต้นสัปดาห์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้ออกมาแสดงความห่วงใย เพราะตัวแทนหอการค้าหลายจังหวัดพบว่า เริ่มมีชาวนาไปกู้เงินนอกระบบที่ต้องเสียดอกร้อยละ 3 ถึง 5 ต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ถึง 50 ต่อปี เนื่องจากไม่มีเงินใช้จ่ายและลงทุนในการเพาะปลูกรอบต่อไป แสดงว่าต้นทุนในการเพาะปลูกในปี 2557 ของชาวนาจำนวนไม่น้อย จะเพิ่มขึ้นไม่น้อยร้อยละ 30 เช่นกัน
รูปที่แสดงไว้เป็นข้อมูลต้นทุนการผลิตข้าวต่อตัน ได้มาจากศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แสดงให้เห็นว่า ต้นทุนผลิตข้าวต่อตันในปี 2556 เท่ากับ 10,581 บาท การที่ชาวนาที่รอเงินไม่ไหว จนต้องตัดใจขายใบประทานในราคา 7,000 ถึง 9,000 บาท ก็หมายความว่า ปีการเพาะปลูกนี้ขาดทุนไปแล้วไม่น้อยกว่า 1,500 บาทต่อตัน ใครที่โชคร้าย ขายใบประทวนได้ราคาต่ำ ก็จะขาดทุนถึง 3,500 บาทต่อตันเลยทีเดียว
ถ้าใช้ต้นทุนปี 2556 เป็นฐานในการคิด ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเพราะต้องกู้เงินเสียดอกร้อยละ 30 ต่อปี ก็หมายความว่า ชาวนาจะต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีก 3,174 บาทต่อตันในปีนี้ เมื่อบวกกับแนวโน้มที่ต้นทุนต่อไร่จะเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 700 บาท ต้นทุนในการปลูกข้าวรอบนี้ จะมีค่าประมาณ 14,456 บาทต่อตัน แสดงว่า ต่อให้ปีนี้รัฐบาลรักษาการจะสามารถเสกเงินมาได้ และรับจำนำข้าวในราคา 15,000 บาทอีกรอบแบบ “ข้าวมาเงินไป” อย่างดีชาวนาก็ได้แค่เสมอตัว
หากปรับลดราคาจำนำเหลือตันละ 12,000 บาท ก็หมายความว่า ชาวนาจะขาดทุนติดกันสองปีซ้อน แน่นอนว่า การขาดทุนติดกันแบบนี้ ย่อมทำให้ชาวนาไม่มีเงินพอเหลือ เข้าเนื้ออีกรอบ สุดท้ายนโยบายที่โฆษณาไว้ว่าจะช่วยให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้ กลับเป็นการขุดหลุมฝังชาวนาทั้งเป็นอย่างเลือดเย็น
ความรู้สึกว่าถูกหลอก ทั้งที่อุตส่าห์ไว้ใจให้คะแนนเสียงไป ได้เปลี่ยนเป็นกระแสความไม่พอใจที่แรงขึ้นทุกวัน ล่าสุดเริ่มมีชาวนาในหลายจังหวัดตัดสินใจเข้ามาทวงถามเงินของตนในกรุงเทพแล้ว และไม่รู้ว่าจะมีมวลมหาประชาชนชาวนาอีกกี่จังหวัดที่ออกมาเรียกร้องสิทธิของตน
การที่รัฐบาลรักษาการทำเป็นตีนิ่ง เตะถ่วงไปเรื่อย ใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ ถือว่าสอบตกด้านพิชัยสงคราม เพราะการเตะถ่วง ไม่ได้ทำให้ชาวนาอ่อนล้า แต่กลับจะไปสุมให้ไฟแห่งความโกรธแค้นให้โหมกระพือมากขึ้น ชาวนาที่ไม่พอใจเพิ่มขึ้นหนึ่งคน หมายถึงคนสนับสนุนที่ลดลงไปหนึ่งคนเช่นกัน
ในช่วงเวลาที่อนาคตของรัฐบาลรักษาการกำลังริบหรี่ลงเช่นนี้ การสร้างศัตรูเพิ่มจึงไม่ใช่การตัดสินใจที่ฉลาดเลย แต่ก็นั่นแหละ ถึงอยากแก้ปัญหานี้ ก็ไม่รู้จะแก้ยังไง เพราะไม่มีใครเขายอมให้ยืมเงินมาใช้ ตอนนี้ก็ได้แต่ดูกันต่อไปว่า รัฐบาลรักษาการจะทำยังไง
หากไม่มีทางออกที่สวยงาม โครงการจำนำข้าว จะกลายเป็นกรณีศึกษาที่ดี ที่จะชี้ให้เห็นว่านโยบายสาธารณะที่ขาดการกำกับดูแลที่ดีและไม่มีตรรกะทางเศรษฐศาสตร์ที่สมเหตุสมผลรองรับ ท้ายที่สุดแล้ว ย่อมพาทุกคนลงเหวไปด้วยกัน
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต