ความเสี่ยงของธ.ก.ส. ความเสี่ยงของผู้ฝาก
โดย : ฐิตารีย์ ลิขิตธนธรรม
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เมื่อไม่นานมานี้เกิดเหตุการณ์เดจาวู กับดิฉันพร้อมกันหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือการช่วยพิมพ์ข่าวจากพี่นักข่าวสายคลัง
ที่ดูแลธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อนำมาพิมพ์ประกอบในเนื้อหาข่าว ประเด็นของข้อความนั้นเป็นการส่งสาส์นภายในองค์กร เพื่อให้พนักงานสาขาสื่อสารไปยังลูกค้าให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ในเรื่องของแนวทางการชี้แจงการนำเงินฝากไปใช้ ในโครงการรับจำนำข้าวโดยระบุวิธีการพูดและการมอบของที่ระลึก
ที่ว่าเดจาวูเพราะก่อนหน้านี้ดิฉันได้รับการปฏิบัติในลักษณะดังกล่าวเช่นกัน เมื่อครั้งที่ต้องไปปิดบัญชีแคมเปญเงินฝากประจำ 5 เดือนเพราะครบกำหนดแล้ว แม้วงเงินฝากจะไม่ได้มากมายอะไรนัก แต่ดิฉันได้รับการต้อนรับประหนึ่งลูกค้ารายใหญ่ เพราะผู้จัดการสาขาต้องการให้ฝากเงินต่อในอีกแคมเปญ มาถึงตอนนี้ดิฉันโล่งใจที่ปิดบัญชีไปเสียได้ โดยเฉพาะการคัดค้านของสหภาพแรงงานธ.ก.ส. ที่มีต่อมติคณะกรรมการของธนาคาร ที่อนุมัติให้ธนาคารสามารถนำเงินสภาพคล่องส่วนเกินจำนวน 5.5 หมื่นล้านบาทไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าว จึงทำให้สภาพคล่องส่วนเกิน หมายถึงเงินฝากเช่นนั้นหรือ???
หากคิดอย่างง่ายสภาพคล่องส่วนเกิน จะหมายถึงปริมาณเงินฝากหักลบด้วยเงินให้สินเชื่อ แต่หากยึดตามนิยามของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว สภาพคล่องส่วนเกิน หรือสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินจะหมายถึงหลักทรัพย์ที่ปราศจากภาระผูกพันบวกด้วยเงินฝากที่ ธปท. และเงินสดที่ธนาคารพาณิชย์หักด้วยสินทรัพย์สภาพคล่อง ที่ต้องดำรง เหลือจากนั้นคือสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกิน
ซึ่งแน่นอนว่าเงินฝากเป็นหนึ่งในนั้น เพราะเมื่อได้รับเงินฝากมาธนาคารจะต้องนำไปฝากกับ ธปท.ตามหลักเกณฑ์ของ ธปท.ในอัตราส่วน 6% ของเงินฝากที่รับเข้ามา เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าธนาคารจะมีสภาพคล่องเพียงพอสามารถรองรับการไถ่ถอนได้ทันทีที่ผู้ฝากต้องการ ส่วนที่เหลือหลังจากนั้นสามารถนำไปลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องสูง เช่นพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตร ธปท. หรือนำไปปล่อยกู้
หากเทียบกับธนาคารพาณิชย์แล้วการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของ ธ.ก.ส.ใช้หลักการเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์ แต่ธ.ก.ส.มีเงินฝากในรูปแบบของสลาก ธ.ก.ส.ด้วย อย่างไรก็ตามในการบริหารสภาพคล่อง ธ.ก.ส. ในภาวะเช่นนี้ผู้บริหารจะคำนวณอย่างไรว่าควรมีสภาพคล่องเท่าไรเพื่อรองรับการเบิกถอนลูกค้าในระยะกี่เดือน ซึ่งความเสี่ยงด้านสภาพคล่องเป็นความเสี่ยงที่ธนาคารพาณิชย์กลัวที่สุด เพราะทำให้แบงก์ล้มได้ทันที
หากจำได้จากประวัติศาสตร์การเงินไทย ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการหรือบีบีซีก็ต้องปิดตัวลง เมื่อมีการแห่ถอนเงินจากผู้ฝาก ขณะที่ธนาคารบางแห่งต้องนำเงินสดกองโตออกมาตั้งโชว์ให้ลูกค้ามั่นใจว่ามีเงินฝากเพียงพอ และไม่ต้องแห่มาถอนเงิน แม้ธ.ก.ส.อาจจะโชคดีที่เป็นธนาคารเฉพาะกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาล ที่จะต้องเข้าไปใส่เงินเพิ่มเพื่อรักษาสถานภาพของธนาคารแห่งนี้ แต่ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ที่ความเชื่อมั่นของผู้ฝากถือเป็นประเด็นที่ต้องประคับประคองมากที่สุด
โดยส่วนตัวขอชื่นชมสหภาพแรงงาน ธ.ก.ส.ที่ออกมาปกป้องและรักษาสิทธิ์ ให้กับผู้ฝากที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรตาดำ ๆ ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ เก็บเงินมาอย่างยากลำบาก ขอยกมือสนับสนุนการทำใด ๆ ที่ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่บนความถูกต้องและสิทธิอันชอบธรรม
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต