จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน
ในระยะเวลาอันใกล้นี้ประเทศไทยยังคงหนาวต่อเนื่อง กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ไว้ว่าอุณหภูมิจะลดลงอีก 2-3 องศาเซลเซียส
สาเหตุเป็นเพราะความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ทำให้ประเทศไทยได้รับผลพวง โดยระหว่างวันที่ 10-12 ม.ค.นี้ จะมีคลื่นกระแสลมตะวันตกเข้าปกคลุมภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น จากนั้นอุณหภูมิจะลดลง
กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-23 องศาเซลเซียส สูงสุด 32-33 องศาเซลเซียส
มีความพยายามอธิบายถึงต้นตอความแปรปรวนของอากาศ มีความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากความวิปริตของสภาพอากาศโลก
ความน่าจะเป็นหนึ่งคือ สภาวะโลกร้อน (global warming)
ภาพถ่ายดาวเทียมในเดือนก.ย. 2555 แสดงการหดหายของ “ขอบเขตชั้นน้ำแข็ง” ที่ปกคลุมบริเวณอาร์คติก ... ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์รอบ 35 ปี ที่ชั้นน้ำแข็งน้อยที่สุดในอันดับต้นๆ ของการบันทึกภาพถ่ายดาวเทียม
คำถามของผมคือ “ขั้วโลกเหนือ” มันเกี่ยวข้องอะไรกับอากาศหนาวในประเทศไทย?
คำตอบมีอยู่ว่าเมื่อโลกร้อนขึ้น น้ำแข็งที่จับตัวอยู่บริเวณขั้วโลกเหนือก็ละลายจนปริมาตรลดลง ส่งผลให้กระแสลมและกระแสน้ำในฝั่งซีกโลกเหนือ (ซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศไทย) เปลี่ยนแปลงไป และเมื่ออุณหภูมิที่ขั้วโลกเหนือสูงขึ้นจะดันให้อากาศหนาวจากขั้วโลกเหนือไหลลงสู่ทิศใต้ไปยังบริเวณ “เส้นศูนย์สูตร” ตามทฤษฎีการเคลื่อนตัวของอากาศในแนวราบ
อธิบายโดยง่ายคือ อากาศหนาวจากขั้วโลกเหนือ จะไหลลงมาเรื่อยๆ ทำให้ประเทศที่ตั้งอยู่ในซีกโลกเหนือเกิดหายนะจากสภาพอากาศ ส่วนประเทศที่ตั้งอยู่แนวเส้นศูนย์สูตรก็จะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศหนาวนี้ด้วย
นี่จึงเป็นเหตุทำให้อากาศหนาวในบริเวณบ้านเราและประเทศที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร อาทิ อียิปต์ เวียดนามเหนือ มีความวิปริตทางสภาพอากาศเช่นกัน เห็นได้จากรายงานหิมะตก หรือแม้แต่ประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ก็มีอากาศหนาวเช่นกัน ในซีเรียถึงขั้นมีคนหนาวตาย รวมทั้งประเทศแถบอเมริกาใต้ก็ไม่อบอุ่นอย่างที่ควรเป็น
หนำซ้ำ การไหลของอากาศหนาวจากขั้วโลกเหนือยังทำให้พบอากาศร้อนในแถบใกล้เส้นศูนย์สูตรจนเกิดพายุได้ง่ายขึ้น เช่น การเกิดพายุในฟิลิปปินส์ และไต้หวัน
ล่าสุด มีรายงานว่าตอนเหนือของสหรัฐอเมริกา และส่วนหนึ่งแคนาดา เกิดหิมะตกหนักตลอดทั้งคืน และอุณหภูมิลดต่ำสุดถึง 50 องศาเซลเซียส ต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี
สำหรับประเทศไทยได้รับผลกระทบแล้วหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการหนาวตาย หรือสัญญาณอันตรายที่เกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตอื่นที่ไม่สามารถปรับตัวได้ เช่น “ปลาในกระชัง” ที่ จ.นครราชสีมา ช็อกน็อกน้ำตายเฉียด 2 แสนตัว ถั่วลันเตาม้ง-ถั่วลันเตาหวาน จ.พิษณุโลก เป็นเชื้อราเสียหายหมด
กระทั่งที่ จ.นครพนม เกษตรกรปลูกใบยาสูบริมตลิ่งโขงประสบกับปรากฏการณ์ผิดธรรมชาติ เนื่องจากน้ำโขงปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ใบยาสูบที่ปลูกใหม่ตายเกลื่อน
แนวโน้มอากาศยังคงหนาวขึ้นเรื่อยๆ ... น่ากลัวครับ
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต