สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รัฐบาลศรีธนญชัย รีไฟแนนซ์หนี้อุ้มจำนำข้าว

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

"นิพนธ์"ร่อนจดหมายเปิดผนึก แฉหมดเปลือกรัฐบาลศรีธนญชัย แหกตาจำนำข้าว รักษาฐานเสียงชาวนา เล่นแร่แปรธาตุรีไฟแนนซ์หนี้ 1.3 แสนล้าน จ่ายจำนำข้าว

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง กกต. และ ปปช. เรื่องการกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาท เพื่อโปะการรับจำนำข้าว โดยระบุว่า ไทยพับบลิก้า รายงานว่าเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2557 คณะกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะ ได้ทบทวนแผนการกู้เงินของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2557 และได้พิจารณากรอบวงเงินรวมที่จะใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 มีวงเงินไม่เกิน 270,000 ล้านบาท

แหล่งเงินที่จะใช้มาจาก 2 แหล่งใหญ่ คือ กระทรวงคลังจะจัดหาและค้ำประกันเงินกู้ให้ธกส. 130,000 ล้านบาท และเงินจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ รักษาการรมว.กระทรวงการคลังกล่าวว่า หลังจากนำมติของคณะกรรมการฯรายงานให้ที่ประชุมครม.ทราบ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะเริ่มดำเนินการกู้เงินจำนวน 130,000 ล้านบาทให้ธกส.ทันที เพื่อนำไปจ่ายให้กับเกษตรกรที่ได้นำข้าวมาจำนำกับรัฐบาลในโครงการรับจำนำข้าวรอบที่ 1 ปี 2556/57 แต่ยังไม่ได้รับเงินกว่า 1 แสนล้านบาท รักษาการรมว.คลังให้สัมภาษณ์ว่าวงเงินกู้ 130,000 ล้านบาทนี้อยู่ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ จึงไม่ขัดหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการเลือกตั้ง เพราะ ถือเป็นนโยบายต่อเนื่องที่เคยผ่านการอนุมัติจากครม.มาแล้วเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556

ประเด็นสำคัญ คือ วงเงินกู้จำนวน 130,000 ล้านบาทนี้ถือเป็นนโยบายต่อเนื่องหรือไม่

ผู้อำนวยการสบน.กล่าวว่ากรอบวงเงินการจำนำข้าวปี 2556/57 จำนวน 270,000 ล้านบาทถือเป็นกรอบวงเงินใหม่ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับกรอบวงเงินเดิม 500,000 ล้านบาทที่ครม.มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 และ 10 มิถุนายน 2556

มติ ครม. เมื่อ 3 กันยายน 2556 อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดดำเนินโครงการจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 ภายใต้กรอบวงเงิน 270,000 ล้านบาทจริง และให้กระทรวงพาณิชย์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคม

ความเห็นของกระทรวงการคลังที่ส่งให้กับครม.เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 คือ วงเงินสำหรับดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 (จำนวน 270,000 ล้านบาท) จะต้องอยู่ภายใต้กรอบสินเชื่อ 410,000 ล้านบาท และเงินทุนธกส. 90,000 ล้านบาท ตามที่ครม.ได้มีมติอนุมัติ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 และ 10 มิถุนายน 2556

ก่อนที่จะยุบสภา ครม. ยังไม่เคยมีมติเพิ่มกรอบวงเงินสำหรับการจำนำข้าวปี การผลิต 2556/57 ถ้าอย่างนั้นกรอบวงเงินจำนำข้าวปี 2556/57 ก็ยังต้องคงอยู่ที่ 500,000 ล้านบาท ตามที่ครม. มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 และ 10 มิถุนายน 2556

คณะกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะและครม.รักษาการ ไม่มีอำนาจใดๆที่จะเพิ่ม กรอบวงเงินสำหรับการจำนำข้าวปีการผลิต 2556/57 เพราะรัฐบาลได้ยุบสภาไปก่อนการประชุมของคณะกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2557

เมื่อไม่มีกรอบวงเงินใหม่ กระทรวงการคลังย่อมไม่สามารถจัดหาและค้ำประกันเงินกู้ให้กับ ธกส. อีก 130,000 ล้านบาท หากธกส.ดำเนินการกู้เงินจำนวนนี้ก็ผิดกฎหมาย

การขอกู้เงินเพิ่มเติมอีก 130,000 ล้านบาทจึงไม่ใช่นโยบายต่อเนื่องที่เคยผ่านการอนุมัติจากครม. ตามที่รักษาการรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ เพราะมติครม. เมื่อ 3 กันยายน 2556 ยังยืนยันตามความเห็นของกระทรวงการคลังว่ากระทรวงการคลังจะค้ำประกันเงินกู้เพื่อใช้แก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตามนโยบายรัฐบาลจำนวนไม่เกิน 270,000 ล้านบาท โดยอยู่ภายใต้กรอบวงเงิน 410,000 ล้านบาทที่ครม.อนุมัติไปแล้วดังกล่าว

ปัญหาประการที่สองของการกู้เงินเพิ่มเติมอีก 130,000 ล้านบาท คือ ปัญหาเพดานการกู้เงินและการค้ำประกันเงินกู้ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณรายจ่าย เมื่อครม.มีมิติให้กระทรวงพาณิชย์รับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/57 ภายใต้กรอบวงเงิน 270,000 ล้านบาท เมื่อ 3 กันยายน 2556 พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556/57 ได้ผ่านรัฐสภาไปแล้วนั่นหมายความว่ารัฐบาลได้มีโครงการเงินกู้ต่างๆที่ต้องอาศัยการค้ำประกันเงินกู้เต็มเพดานแล้ว หากรัฐบาลต้องการให้ ธกส. กู้เงินเพิ่มเติมเพื่อใช้รับจำนำข้าว รัฐบาลก็ต้องตัดลดงบประมาณการกู้ยืมของหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจอื่นๆลง

กระทรวงการคลังทราบข้อจำกัดนี้ดี และแม้จะสมมติว่าวันนี้ยังไม่ได้ยุบสภา และครม.มีมติเพิ่มกรอบวงเงินกู้สำหรับโครงการจำนำข้าวปี 2556/57 อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่กระทรวงคลังก็จะยังไม่สามารถค้ำประกันเพื่อให้ ธกส. กู้เงินเพิ่มขึ้น เพราะยังติดเพดานการกู้เงินและการค้ำประกันเงินกู้ตามพรบ.งบประมาณรายจ่ายปี 2556/57 ดังกล่าวแล้ว

ดังนั้นจึงมีพวกศรีธนชัยเสนอความคิดให้ธกส.กู้เงินเพื่อชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในปีพ.ศ. 2557-2560 จำนวน 130,000 ล้านบาท โดยอ้างว่าเป็นการกู้แบบ “refinance” หรือ “roll-over” แต่แทนที่จะนำเงินกู้ก้อนนี้ไปไถ่ถอนหนี้เก่า พวกศรีธนชัยกลับเสนอให้นำเงินกู้ดังกล่าวไปจ่ายให้ชาวนาที่นำข้าวมาขายให้รัฐบาล แต่ยังไม่ได้รับเงิน แล้วรอให้กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวให้ได้ก่อน จึงค่อยนำเงินมาชำระหนี้ วิธีนี้จะทำให้รัฐบาลไม่เสียฐานเสียงชาวนา

วิธีนี้เป็นการเลี่ยงข้อจำกัดของเพดานการกู้เงินและการค้ำประกันเงินกู้ตามกฎหมายวิธีการงบประมาณ หากผู้บริหารสถาบันการเงินและกระทรวงการคลังยอมก้มหัวรับใช้นักการเมือง โดยไม่คำนึงถึงกฎเกณฑ์การเงินการคลัง ผลร้ายที่จะตามมาคือ การล่มสลายของธกส. ทำให้เกษตรกรทั่วประเทศไม่มีที่พึ่งทางการเงินอีกต่อไป

ถ้าข่าวดังกล่าวเป็นจริง ก็แสดงว่าแม้จะเป็นรัฐบาลรักษาการ ก็ยังกล้าที่จะแหกกฎกติกาต่างๆ

รัฐบาลจากการเลือกตั้งมีความชอบธรรมที่จะกำหนดนโยบายประชานิยม แม้จะเป็นประชานิยมสุดโต่งก็ตาม แต่การที่ประชาชนเลือกท่านมาบริหารประเทศ มิได้หมายความว่าประชาชนได้ให้อำนาจท่านทำทุกอย่างตามอำเภอใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำลายกฎกติกาด้านการเงินการคลัง และการบริหารประเทศแบบขาดความรับผิดชอบต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจในระบบประชาธิปไตย

ผมไม่เชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้จะรับฟังความเห็นของผม ผมจึงเขียนจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ กกต. และปปช. โดยหวังว่าท่านจะสามารถป้องกันมิให้นักการเมืองบางคนทำลายกฎเกณฑ์การเงินการคลังของประเทศ


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : รัฐบาลศรีธนญชัย รีไฟแนนซ์หนี้ อุ้มจำนำข้าว

view