สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กรุงเทพฯ เมืองสีเขียว เป็นไปได้หรือไม่ได้

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เปิดมุมมอง

โดย เดวิตร์ สุขเสน ทีมกรุ๊ป reamgroup@team.co.th

"พื้นนที่สีเขียว" เป็นปัจจัยหนึ่งของการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับคนกรุงเทพมหานคร โดยเกณฑ์มาตรฐานสากลกำหนดพื้นที่สวนสาธารณะต่อจำนวนประชากรไว้อย่างน้อย 15 ตารางเมตรต่อคน เมื่อเทียบปริมาณสวนสาธารณะต่อจำนวนประชากรของกรุงเทพมหานคร

ใน ปี 2556 มีพื้นที่ไม่ถึง 4 ตารางเมตรต่อคน หากถามคนส่วนใหญ่ว่าปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวเพียงพอหรือไม่ หลายเสียงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า "ไม่เพียงพอ !"

ในเมื่อเนื้อที่ เมืองเต็มไปด้วยป่าคอนกรีตแทบจะทุกตาราง คนอยู่หรือใครผ่านแวะเยือนก็รับรู้ได้ถึงความกระด้างของเมือง เมืองแห่งรถรามั่งคั่ง เมืองแห่งมลพิษ เมืองแห่ง... ฯลฯ (แล้วแต่ใครจะนิยาม)

ช่วงนี้มีหลายกระแสที่หลายฝ่ายทั้งภาครัฐและ เอกชนกำลังโหยหา "ความเขียว" หรือ "GREEN" หรือ "ECO" เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนว่ากันอย่างนั้น มีจริงบ้าง สร้างภาพบ้าง หรือสับขาหลอกกันบ้าง แต่ไม่ว่าจะเพื่อประโยชน์อย่างยั่งยืนส่วนตน หรือเพื่อสิ่งแวดล้อมส่วนรวมก็ตาม หากคิดแล้วลงมือทำ ล้วนเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์ทั้งนั้น

มีแนวคิดดี ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม พัฒนาเมือง หรือความต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองหลากหลายแตกต่างกัน ออกไป อย่างกลุ่มเครือข่ายอยากให้มักกะสันเป็นสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์ มูลนิธิโลกสีเขียว กลุ่ม Big Trees กลุ่มกรุงเทพฯ เมืองจักรยาน ฯลฯ กลุ่มเครือข่ายเหล่านี้ล้วนประสงค์ดีต่อสิ่งแวดล้อม รณรงค์ให้หยุดการทำร้ายสภาพแวดล้อมไปมากกว่านี้ ก่อนที่ธรรมชาติแวดล้อมเองจะย้อนคืนกลับมาทำร้ายเรา

โครงการของภาครัฐก็มีไม่น้อยที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โครงการเหล่านั้นต่างเอื้อประโยชน์แก่สาธารณะ มีกลุ่ม
นักอยากพัฒนาเมืองไม่น้อยที่มีโอกาสเสนอโครงการพัฒนาต่อภาครัฐ หรือแม้แต่คนในชุมชนเมืองเอง อาทิ สถาปนิก
ภูมิสถาปนิก สถาปนิกผังเมือง หรือแม้แต่นักออกแบบสาขาต่าง ๆ ล้วนมีแนวคิดเพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน

มีทั้งโครงการที่เป็นไปได้ หรือพอเป็นไปได้ หรือเป็นไปไม่ได้เลย แตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่และสภาพโอกาส ปัญหาหลายอย่างมีพอให้ได้ติดขัด ติดแม้กระทั่งผู้เสียประโยชน์ ขัดแม้กระทั่งระหว่างหน่วยงาน และติด ๆ ขัด ๆ มาทุกยุคทุกสมัยนั่นคือ "งบประมาณ" เหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาของนักคิด หากมีไอเดียดี ๆ ทิ้งไว้ให้เมืองเพื่อสร้างประโยชน์แก่ชุมชนหรือสาธารณประโยชน์ แค่คิดก็น่าภูมิใจแล้ว

ตัวอย่างโครงการที่ไม่ใช่แค่คิดกันเล่น ๆ แต่หลายคนคิดอยากให้มีเพื่อประโยชน์ส่วนรวมทั้งนั้น เช่น เพิ่มทางจักรยาน มีทางเท้าสวยงามร่มรื่นด้วยต้นไม้ เมืองปราศจากป้ายโฆษณา คลองสะอาด มีทางเดินพักผ่อนริมคลอง สวนสาธารณะใกล้บ้าน ฯลฯ บางคนคิดแม้กระทั่งเอาที่ดินของรัฐที่เอื้อประโยชน์ต่อสาธารณะน้อยมากทำเป็น สวนสาธารณะ เช่น พื้นที่เรือนจำหรือพื้นที่กองขยะที่อยู่ในเมือง รวมถึงพื้นที่ว่างของรัฐที่ขาดการดูแล เป็นต้น

ความเป็นไปได้ทางความ คิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้เสมอ แต่ความเป็นไปได้ของการลงมือทำยากกว่าที่คิดไว้เสียอีกไม่ใช่เพราะเทคโนโลยี แห่งการสร้างสรรค์ไปไม่ถึง แต่เทคโนโลยีแห่งความเป็น "ระบบคนไทย" นี่แหละ ยังยึดถือเกาะเกี่ยวเหนียว แน่นกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ในที่สุดแล้วเราก็ได้สิ่งที่สร้างสรรค์ออกมาแบบ ขาด ๆ เกิน ๆ เรื่อยมา ถึงเวลาจะหาเกณฑ์มาตรฐานใดมาวัดคุณภาพชีวิตของคนก็ล้วนประสบกับปัญหา เมืองถึงได้กระด้างอยู่อย่างนี้

การจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวสาธารณะ เป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานครนั้น ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก กระนั้นใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย หากจะให้ พอเป็นไปได้ ควรนำพื้นที่สีเขียวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในทุกส่วนของเมืองดู ไม่ว่าจะเป็นถนนสีเขียว ริมคลองสีเขียว อาคารสีเขียว สำนักงานสีเขียว ศาสนสถานสีเขียว สถานศึกษาสีเขียว สถานที่ราชการสีเขียว และชุมชนสีเขียว หรือแม้แต่รัฐสภาสีเขียว เหล่านี้แค่ทำตัวเองให้สะอาด เติมความรัก ความใส่ใจสิ่งแวดล้อมเข้าไป สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้รวม ๆ กันแล้วก็จะกลายเป็นเมืองสีเขียวที่ยั่งยืน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : กรุงเทพฯ เมืองสีเขียว เป็นไปได้หรือไม่ได้

view