จากประชาชาติธุรกิจ
ช็อก วงการผู้ส่งออก "อิรัก-อินโดนีเซีย" แบนไม่ซื้อข้าวไทย อ้างมีปัญหาเรื่องคุณภาพ ออร์เดอร์หายไปทันทีปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน เหตุที่ผ่านมาข้าวในสต๊อกรัฐบาลถูกบริหารจัดการผ่านเครือข่าย "สยามอินดิก้า" เพียงคนเดียว ทำป่วนไปหมด
หลังจากที่คณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขยายผลการไต่สวนกรณี ทุจริตโครงการรับจำนำ และการระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาล เฉพาะอย่างยิ่งการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) มีความเกี่ยวพันกับบริษัทสยามอินดิก้า
ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามา ว่า ข้าวส่วนใหญ่ที่สยามอินดิก้ารับเป็นผู้แทนรับมอบข้าว G to G จากรัฐบาลได้ถูกส่งต่อไปยังตลาดอินโดนีเซียกับอิรัก ปรากฏตามสถิติการส่งออกของกรมศุลกากร 10 เดือนแรกส่งออกไปยังอินโดนีเซียเพียง 78,988 ตัน จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2555 จำนวน 321,565 ตัน ลดลง 75% ส่วนการส่งออกไปอิรักมี 703,746 ตัน เพิ่มขึ้น 10.4% แต่เป็นการเพิ่มในอัตราที่ลดลงจากช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 2556 ที่ส่งออกปริมาณ 418,490 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 113%
แหล่ง ข่าวกล่าวว่า การส่งออกที่ลดลงเป็นผลมาจากคุณภาพข้าวโดยตรงและลุกลามถึงขั้นประเทศทั้งสอง ไม่ยอมซื้อข้าวจากไทยอีก โดยการประมูลนำเข้าข้าวของอิรักในช่วง 2-3 ครั้งหลัง ไม่อนุญาตให้
ผู้ส่งออกจากไทยเป็นผู้เสนอราคาและหันไปซื้อ จากที่อื่น ซึ่งลอตสุดท้ายเมื่อเร็ว ๆ นี้อิรักซื้อข้าวจากอุรุกวัยซึ่งมีราคาสูงพอ ๆ กับราคาข้าวสหรัฐ ส่วนองค์กรสำรองข้าวอินโดนีเซีย (บูล็อก) หลังเปลี่ยนผู้บริหารใหม่ก็ประกาศ "แบน" ข้าวไทย เนื่องจากการรับมอบข้าวลอตหลังสุด 300,000 ตัน มีการระบุว่า ข้าวที่ส่งออกเป็นข้าวคุณภาพต่ำ
"ทั้ง 2 ตลาดปกติจะซื้อข้าวไทยปีละ 1 ล้านตัน ตรงนี้ผู้ส่งออกกังวลกันว่า เรากำลังเสียตลาดถาวรหรือไม่ จากปัญหาคุณภาพข้าว เท่ากับเป็นคำตอบว่า ทำไมเราถึงเจรจาการขาย G to G กับอินโดนีเซียไม่สำเร็จเสียที กรณีของอิรักก็เช่นกัน เดิมทีเป็นตลาดของข้าวไชยพร ค้าขายกันมานานไม่มีปัญหา แต่พอเปลี่ยนมือผู้ส่งออกก็เกิดการตัดราคากันขึ้นมาทันที โดยผู้ส่งออกรายนั้นได้ข้าวไปจากสยามอินดิก้าถูก ๆ ไปแข่งกับเจ้าเดิมห่างกันตันละ 40-50 เหรียญ ยกตัวอย่าง ข้าว 100% เกรด B ควรจะขายได้ 450 เหรียญ แต่ถูกตัดราคาลงเหลือ 390 เหรียญ เป็นการทำลายราคาหั่งเช้ง" แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อข้าวส่งออกที่ผ่านผู้เกี่ยวข้องใน บริษัทสยามอินดิก้ามีปัญหาในเรื่องของคุณภาพ ส่งผลให้ฝ่ายการเมืองต้องหาบริษัทอื่นเข้ามา G to G ไปยังตลาดอื่นนอกเหนือจากอินโดนีเซีย-อิรัก
"ปัญหาที่เกิดขึ้นส่ง ผลต่อการจัดลำดับผู้ส่งออกข้าว Top 5 ของไทยใน 10 เดือนแรกของปีนี้ ปรากฏว่าบริษัทเอเซียโกลเด้นไรซ์ยังคงครองอันดับ 1 รองลงมาได้แก่ บริษัทสยามอินดิก้า, บริษัทแคปปิตัสซีเรียลส์, บริษัทซีพี อินเตอร์เทรด และบริษัทนครหลวงค้าข้าว ที่น่าจับตาเป็นพิเศษก็คือ การปรากฏตัวของบริษัทโอแล่ม ประเทศไทย ที่เข้ามาในอันดับที่ 11แสดงให้เห็นว่า มีการกระจายข้าวในสต๊อกรัฐบาลสู่มือผู้ส่งออกรายอื่น ๆ อีกทางหนึ่ง" แหล่งข่าวกล่าว
ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยกล่าวว่า ขณะนี้ราคาส่งออกข้าวไทยต่ำกว่าเวียดนามซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน คือ ข้าวขาว 5% ของไทยตันละ 410-415 เหรียญสหรัฐ แต่ข้าวเวียดนามราคา 420-425 เหรียญ โดยราคานี้ยังต่ำกว่าช่วงก่อนที่มีการดำเนินโครงการรับจำนำเมื่อ 2 ปีก่อนด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นปัญหามาจากการระบายข้าวในสต๊อกให้กับ เครือข่ายผู้แทนรับมอบเพียงรายเดียว และมีแนวโน้มว่าข้าวไทยจะรูดลงไปอีกจาก 1) ผู้ซื้อประเมินแนวโน้มว่าราคาน่าจะปรับลดลงอีก จากการที่รัฐบาลมีแรงกดดันต้องเร่งระบายข้าวในสต๊อกเพื่อหาเงินมาคืน ธ.ก.ส. 2) เวียดนามจะมีข้าวรอบใหม่ออกมาปลายเดือนมกราคมต่อกุมภาพันธ์ ถึงตอนนั้นสงครามราคาข้าวคงกลับมาอีกรอบ คาดว่าราคาข้าวเวียดนามจะลงไปอยู่ที่ 380-390 เหรียญทำให้ยอดคำสั่งซื้อข้าวในเดือนมกราคมมีน้อยมาก โดยเฉพาะข้าวขาว ซึ่งผู้ส่งออกบางรายไม่มีคำสั่งซื้อล่วงหน้ามาหลายเดือนแล้ว
"รัฐบาลต้องหยุดโครงการรับจำนำข้าวแล้วเคลียร์สต๊อกมากกว่า 20 ล้านตันให้หมด" นายชูเกียรติกล่าว
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต