หยุดเถิด...ประชานิยมจำนำข้าว
โดย : จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา
จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
นักวิชาการแนะรัฐบาลหยุด"ประชานิยม"จำนำข้าว ฉุดราคาข้าวตกต่ำ ไร้เสถียรภาพ
เปิดเวทีสกว.ระดมนักวิชาการเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศ โดยนักวิชาการสถาบันคลังสมองแห่งชาติ วิพากษ์นโยบายประชานิยมฉุดราคาข้าวในตลาดตกต่ำ ขณะเดียวกันหนุนรัฐบาลใหม่ส่งเสริมงานวิจัย เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และเสนอทางเลือกประกันความเสี่ยงด้านราคา รวมทั้งสร้างเสถียรภาพให้เกษตรกรในระยะยาว
รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการสถาบันคลังสมองแห่งชาติ นำเสนอทางเลือกเชิงนโยบายเพื่อเพิ่มรายได้เกษตรกร ในเวทีสาธารณะ สกว. ความรู้สู่การปฏิรูปประเทศไทยว่า นโยบายด้านการเกษตรที่ดีต้องสร้างความสมดุลไม่ให้เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง โดยต้องมองภาพรวมของตลาดให้เกิดความเชื่อมโยง เพื่อป้องกันผลกระทบที่ตามมา เช่น ปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ขณะที่นโยบายภาครัฐในปัจจุบัน ถูกกำหนดขึ้นจากแรงกดดันจากฐานเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ หรือเกษตรกรที่มีรายได้ต่ำ กลายเป็นข้ออ้างในการกำหนดนโยบายประชานิยม
"วันนี้พืชเศรษฐกิจถูกดึงไปเป็นพืชการเมืองอย่างเห็นได้ชัดในโครงการรับจำนำข้าว การดึงอุปทานมารวบรวมไว้โดยไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินการ นำมาซึ่งปัญหาและสร้างความเดือดร้อนตามมา จากราคาข้าวไทยในตลาดที่ปัจจุบันราคาต่ำลงกว่าเวียดนามและอินเดีย" รศ.สมพรกล่าวและว่า การแทรกแซงกลไกตลาดในระยะสั้น โครงการที่ถูกดึงเป็นของรัฐ การแทรกแซงทางการเมือง ทำให้เกิดปัญหาตามมา ถ้ากลไกในการจัดการไม่ดีพอ
รศ.สมพรบอกด้วยว่า นโยบายรัฐที่ดีต้องมองถึงปัจจัยภายในและภายนอก ทั้งการเปลี่ยนระบบการผลิต เทคโนโลยี นโยบายการค้าเสรี ปัญหาภัยธรรมชาติที่สร้างความเสี่ยงในแง่ผลผลิตเสียหาย ตลอดจนแรงกดดันในประเทศจากสิทธิของเกษตรกร
"ที่ผ่านมารัฐบาลล้มเหลว ไม่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกร แต่กลับไปทุ่มทุนมหาศาลให้กับการรับจำนำข้าวเพียงด้านเดียว ทำให้ศักยภาพทางการตลาดและกลไกด้านราคาตกต่ำ"
รศ.สมพรเสนอทางเลือกนโยบายเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรว่า รัฐบาลอาจต้องมองทางเลือกในการประกันความเสี่ยงราคา เพื่อสร้างเสถียรภาพราคาสินค้า แทนนโยบายประชานิยม เพื่อลดความเสี่ยงด้านการจัดการปัญหาข้าวค้างสต๊อก ซึ่งวันนี้เชื่อว่ารัฐบาลจะต้องใช้เวลามากกว่า 5 ปี ในการระบายข้าวค้างสต๊อก รวมถึงจัดการกับปัญหาข้าวล๊อตใหม่ที่เข้ามาเติมทุกปีด้วย
"การจัดการสินเชื่อจากภาคเอกชน โดยปรับให้มาอยู่ในหน่วยงานรัฐ 80% ทำให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงเงินทุน เปลี่ยนแปลงการเพาะปลูกรูปแบบใหม่ แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่คือ มีเงินกู้จำกัด โดยเงินก้อนใหญ่ไปอยู่กับโครงการรับจำนำ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ ซึ่งประเด็นนี้รัฐบาลต้องหันกลับมามอง" รศ.สมพรกล่าวย้ำ
นอกจากนี้ นโยบายจัดรูปที่ดินใช้ประโยชน์การเพาะปลูกยังมีความสำคัญ เช่น การลงทุนธนาคารที่ดิน ที่อาจต้องใช้งบประมาณราว 4-5 พันล้านบาท เพื่อป้องกันไม่ให้ที่ดินตกเป็นของนายทุน ซึ่งเขามองว่าเป็นนโยบายที่มีความจำเป็น แต่ในปัจจุบันยังขาดประเด็นนี้ไป
รศ.สมพรบอกทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีความพยายามด้านการวิจัยภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความสามารถด้านการแข่งขัน ซึ่งในหลายประเทศได้ใช้งานวิจัยเป็นเครื่องมือ และพร้อมลงทุนเพื่อให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง และช่วยลดต้นทุน หรือใช้วิธีสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนพืชสำหรับการเพาะปลูกที่มีความต้องการของตลาด ตลอดจนสนับสนุนปัจจัยทางการเกษตร ที่สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้มากกว่า
ขณะที่ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยกล่าวเสริมว่า การพัฒนาประเทศระยะยาว รายได้ต่อหัวในภาคเกษตรต้องเท่ากับนอกภาคเกษตร ซึ่งปัจจุบันจีดีพีภาคการเกษตรของประเทศไทยอยู่ที่ 11% โดยสัดส่วนแรงงานอยู่ที่ 30-40% เกษตรกรจึงกลายเป็นฐานเสียงทางการเมือง ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดในหลายประเทศ การจะแก้ปัญหาได้ต้องลดหรือย้ายแรงงานภาคเกษตร โดยรัฐบาลต้องกลับมาทบทวนนโยบายระยะกลางและระยะยาว และมองแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่
นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลต้องพิจารณาคือความเสี่ยงเพิ่มเติมด้านราคา กับผลผลิตข้าวที่เป็นปัญหาสำคัญในหลายประเทศ ที่ไม่สามารถพยากรณ์น้ำได้ จนกลายเป็นปัญหาภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่อง
"น้ำแล้งเป็นปัญหาร้ายแรงมากกว่าน้ำท่วม แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่คือ นโยบายชดเชยที่แตกต่าง เงินชดเชยน้ำท่วมมากกว่าน้ำแล้ง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีวิธีการแก้ ยกเว้นเกษตรกรต้องออกจากภาคการเกษตร ความล้มเหลวระบบเงินชดเชย รัฐบาลต้องมองว่าจะปฏิรูปอย่างไร" รศ.ดร.นิพนธ์ตั้งคำถาม
ด้าน ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย มองว่าท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติประเทศไทยขณะนี้ทาง สกว. ได้ร่วมหาทางออกของประเทศโดยจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ที่สามารถปฏิบัติได้ และมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด ซึ่งจากข้อสรุปของนักวิจัย จะทำให้ได้นโยบายด้านสังคมที่มีความคมชัด และรวบรวมเป็นข้อเสนอรวมในเชิงนโยบายให้รัฐบาลใหม่ได้พิจารณา
"การจะทำให้ประเทศหลุดพ้นจากปัญหาคอร์รัปชัน ลดผลข้างเคียงจากนโยบาย จำเป็นต้อง รีดีไซน์นิ่ง ไทยแลนด์ เสนอทางเลือกเพิ่มรายได้ เช่น นโยบายประกันความเสี่ยง ซึ่งเป็นทางเลือกที่อยู่บนฐานงานวิจัย"
ทั้งนี้ สกว.ได้จัดเวทีสาธารณะ สกว.ความรู้สู่การปฏิรูปประเทศไทย โดยมีนักวิชาการระดับแถวหน้าของประเทศร่วมให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ในประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่ได้จากการศึกษาวิจัย เพื่อเป็นข้อเสนอใหม่ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศไทยบนฐานความรู้ และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยนำเสนอ 4 ทางเลือกจากผลงานวิจัย ได้แก่ 1 การเมือง การปกครอง การปรับโครงสร้างอำนาจ 2 เศรษฐกิจสังคม การลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรม 3 ความร่วมมือในภูมิภาค และประเทศไทยกับบทบาทใหม่ สุดท้าย คือการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างบูรณาการ โดยนโยบายทั้ง 4 ด้านอยู่ระหว่างรวบรวมข้อสรุป เพื่อนำเสนอต่อภาครัฐต่อไป
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต