จากประชาชาติธุรกิจ
"องคมนตรี เป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์ จึงมีหน้าที่ที่จะให้คำปรึกษา และก็นี่เป็นสิ่งที่เขาสงสัยว่า องคมนตรีมีอำนาจมีหน้าที่อะไร ก็สรุปว่าเป็นผู้ให้คำปรึกษาในทุกด้านทุกอย่าง...
...แต่ในที่สุดแล้วก็ต้องสรุปว่า ท่านทุกท่านมีความรับผิดชอบในตัวเองและในราชการชั้นสูงที่สุด ให้คนมีความไว้วางใจได้ ให้คนมีความมั่นใจว่า มีคนในประเทศที่มีความสามารถและมีความรู้ ฉะนั้นก็ขอให้ท่านระมัดระวังในความคิด ในวาจา และการกระทำทุกอย่างให้เป็นตัวอย่าง และเป็นประโยชน์กับส่วนรวม"
พระราชดำรัสตอนหนึ่งของ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" พระราชทานแก่คณะองคมนตรี ในโอกาสเสด็จฯไปทรงเปิดอาคารทำเนียบองคมนตรี ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2547 ซึ่งอัญเชิญมาไว้ในหนังสือ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับคณะองคมนตรี"
หนังสืออันทรงคุณค่าอีกหนึ่งเล่มที่ "องคมนตรีทั้ง 19 คน" ได้จรดปลายปากกาถ่ายทอดเหตุการณ์และความรู้สึกประทับใจในการถวายงานใต้เบื้องพระยุคลบาท
ทั้งนี้ องคมนตรีคณะปัจจุบัน ประกอบด้วย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี, นายธานินทร์ กรัยวิเชียร, พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์, นายเชาวน์ ณ ศีลวันต์, พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา, พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์, นายอำพล เสนาณรงค์, นายจำรัส เขมะจารุ, พล.ร.อ.ม.ล.อัศนี ปราโมช, ม.ร.ว.เทพกมล เทวกุล, นายเกษม วัฒนชัย, นายพลากร สุวรรณรัฐ, นายสวัสดิ์ วัฒนายากร (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว), พล.ร.อ.ชุมพล ปัจจุสานนท์, นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ, นายศุภชัย ภู่งาม, นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ, พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข
เมื่อองคมนตรีคือ "คณะที่ปรึกษาพระมหากษัตริย์" พวกท่านเหล่านี้จึงได้ถวายงานใกล้ชิดยิ่ง และเรื่องราวต่อไปนี้คือ พระราชจริยวัตรในพระราชาที่ผู้ถวายงานใกล้ชิดถ่ายทอดออกมาในมุมมองที่หลากหลาย
หากทุกมุมมองล้วนสะท้อนให้เห็นถึงแนวพระราชดำริอันลึกซึ้ง เบื้องหลังพระราชกรณียกิจต่างๆ น้ำพระราชหฤทัยที่ทรงรักและห่วงใยพสกนิกร ตลอดจนพระราชจริยวัตรอันงดงามในการทรงงานเพื่อความสุขสวัสดีของพสกนิกรชาวไทยไว้อย่างน่าประทับใจ
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี
ผู้เขียนและชาวสยามทุกคนต่างก็มีบุญวาสนา มีโชคดีเท่าเทียมกัน ที่ประเทศไทยของเรามีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐพระองค์นี้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในทุกเรื่องที่มีผลกระทบต่อชีวิตของประชาชน ที่มีผลกระทบต่อประเทศ ได้พระราชทานพระราชดำริ และพระราชดำรัสแนะนำเจ้าหน้าที่ให้ลองไปปฏิบัติ ทรงรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอของเจ้าหน้าที่ ทรงร่วมพิจารณา และมีพระบรมราชวินิจฉัยแก้ไขให้นำไปใช้ได้ ทั้งทรงใส่พระราชหฤทัยและทรงติดตามผลงานเป็นเนืองนิตย์
นอกจาก "ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม" แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังมีพระราชหฤทัยอันประเสริฐ เปี่ยมด้วยพระเมตตาและพระมหากรุณา ในรอบ 24 ชั่วโมง เว้นแต่เวลาเสวยและทรงพระบรรทม เวลาที่เหลือจะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อประโยชน์สุขของราษฎร ในขณะเดียวกัน พสกนิกรชาวสยามทั่วราชอาณาจักรล้วนตระหนักเสมอว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเหน็ดเหนื่อย แต่ทุกคนก็คิดและหวังว่า การทรงงานเพื่อราษฎรนั้นจะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเบิกบานพระราชหฤทัย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ ทรงเป็นในหลวงของเราที่สะอาด บริสุทธิ์ ทั้งกาย วาจา และใจ
นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
"...ขอเถิดอนุสาวรีย์อย่าเพิ่งสร้าง สร้างถนนดีกว่า สร้างถนน เรียกว่า วงแหวน เพราะมันเป็นความฝัน เป็นความฝันมาตั้งนานแล้ว เกือบ 40 ปี อยากสร้างถนนวงแหวน..."
นี่คือพระราชดำรัสตอบอดีตผู้บัญชาการทหารบก และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า รัฐบาลจะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างพระบรมราชานุสรณ์ น้อมเกล้าฯ ถวายเนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีรัชดาภิเษก ที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี
จากพระราชดำรัสดังกล่าวข้างต้น เป็นที่มาของวงแหวน "ถนนรัชดาภิเษก" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2514 พระองค์ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่และติดตามความคืบหน้าด้วยพระองค์เองเสมอ
นอกเหนือจากเรื่องงานในหน้าที่แล้ว ผมยังพิศวงใจในสิ่งหนึ่งซึ่งเฝ้าสังเกตมานานปีด้วยว่า ไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะวิกฤตสักปานใด พระองค์ไม่เคยทรงหวั่นไหว และมีพระบรมราชวินิจฉัยแก้ไขวิกฤตการณ์ของบ้านเมืองตามกรอบแห่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ให้คลี่คลายและผ่านพ้นไปได้ด้วยดีเสมอ อีกทั้งเมื่อมีผู้ใดจาบจ้วงล่วงละเมิดพระองค์ ไม่ว่าจะโดยการบิดเบือนสถานการณ์ หรือข้อเท็จจริงต่างๆ หรือโดยการปั้นน้ำเป็นตัว จะเห็นเป็นที่ประจักษ์แจ้งทั่วกันว่า ไม่เคยทรงตอบโต้หรือทรงมีปฏิกิริยาในทางใดๆ ทั้งสิ้น
พระองค์ทรงสงบนิ่ง เสมือนหนึ่งไม่เคยทรงมีเรื่องเหล่านี้มาแผ้วพานให้ทรงระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทเลย
พระองค์ทรงปฏิบัติได้อย่างไร? เรื่องนี้จะคิดเห็นเป็นอื่นคงจะยาก นอกจากว่า พระองค์ทรงปฏิบัติทศพิธราชธรรม ประการที่ 7 "อกฺโกธ" หรือ "ความไม่โกรธ" และทรงบำเพ็ญ "อภัยทาน" ได้อย่างบริสุทธิ์และสมบูรณ์
พล.อ.อ.กำธน สินธวานนท์
ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชปรารภว่า
"ฉันครองราชย์สองปีแรก ฉันไม่มีผลงาน เพราะฉันยังไม่รู้ว่าราษฎรต้องการอะไร"
เป็นที่ประจักษ์ว่า ทรงมองการเป็นพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องของงาน เป็นพระราชภาระ ที่จะสนองความต้องการของราษฎร เพื่อราษฎรจะได้ดำรงชีวิตอย่างมีความสุข และการที่จะทรงงานให้ได้ผลตรงเป้าหมายนั้น ต้องทราบว่าประชาชนต้องการอะไร
ในการเสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎร ซึ่งจะทรงใช้เวลาปีละประมาณ 6 เดือน ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเองบ้าง รถยนต์พระที่นั่งไปไม่ได้ ก็ทรงพระดำเนินลุยน้ำลุยโคลน พระหัตถ์ทรงถือแผนที่ ทรงสังเกตพื้นที่ และทรงบันทึกภาพ ทรงถามชาวบ้านเป็นเวลานานๆ ถึงเวลาพระกระยาหารก็ประทับเสวยข้าวกล่องเหมือนๆ กับผู้ตามเสด็จทั้งหลาย ตกค่ำจะพระราชทานเลี้ยงผู้ที่มาช่วยงาน เสวยเสร็จก็ทรงกางแผนที่บนโต๊ะ มีพระราชดำรัสถึงปัญหาที่ทรงพบระหว่างการเสด็จฯ ทรงซักถามความคิดเห็น และพระราชทานพระราชดำริถึงการแก้ปัญหานั้นๆ อย่างตรงจุดและยั่งยืน ฉะนั้น พระตำหนักตามภาคต่างๆ นั้น ไม่ใช่เป็นที่สำราญพระราชอิริยาบถ แต่เป็นสำนักงานที่ใช้ทรงงาน
พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์
วันที่ 13 กรกฎาคม 2536 เป็นวันที่ผมต้องจดจำไว้ในชีวิตว่า ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาสูงสุดจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผมเป็น "องคมนตรี" และในวันนี้ที่ผมเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ ได้รับพระราชทานพระราชดำรัสว่า
"90 เปอร์เซ็นต์ ของคนไทยนับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งศาสนาพุทธสอนว่า ทุกคนต้อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย ร่างเอาไปได้ไหม ไม่ได้ ก็ทำประโยชน์ให้แผ่นดินเกิด"
จากพระราชดำรัสในวันนั้น ได้กลายเป็นหลักชัยในการทำงานของผมมาตลอด ผมยึดแนวทางการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้าน เมือง จังหวัด หรือประเทศ ก็ตาม ขึ้นอยู่กับ 3 M 1 T คือ M-Man, M-Management และ T-Technology
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญกับ M ตัวแรก คือ Man สำคัญที่สุด พระราชทานพระราชดำรัสว่า "ต้องสร้างคน สร้างชาติ ไม่ใช่สร้างตึกระฟ้า"
อำพล เสนาณรงค์
ผมมีความประทับใจในพระองค์ท่าน คือ หนึ่ง พระราชจริยวัตรที่เป็นแบบอย่างในเรื่องการทรงงาน คือ "ทศพิธราชธรรม" สอง คือ พระปฐมบรมราชโองการ ในวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"
พระองค์ไม่เคยทรงทำอะไรที่ผิดจากธรรมะ ผมเชื่ออย่างนั้นจริงๆ เมื่อได้ใกล้ชิด เพราะว่า พระองค์ไม่ทรงเหมือนข้าราชการทั่วๆ ไป ซึ่งผมอยู่ในระบบราชการไทย ก็จะมีเจ้านายที่ดุด่าว่าลูกน้อง ด้วยวาจาที่ไม่สุภาพ แต่ว่าพระองค์ไม่ทรงมีเลย แล้วไม่เคยเห็นว่าจะกริ้วใคร โดยสรุปแล้ว พระองค์ท่านมีพระราชจริยวัตรที่สุภาพเรียบร้อย และมีพระอารมณ์ที่เย็น สงบ ถ้ากริ้ว อาจจะทรงนิ่งเงียบ หรือว่ามีพระราชดำรัสอะไรบางอย่างที่ผมรู้ได้เอง
จำรัส เขมะจารุ
การพระราชทานอภัยโทษเป็นพระราชอำนาจ โดยเฉพาะและโดยเด็ดขาดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 191 บัญญัติไว้ว่า "พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ" ซึ่งการพิจารณาเรื่องราวของการขอพระราชทานอภัยโทษแต่ละราย จะทรงพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบที่สุด มีฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษหลายเรื่องที่ทรงมีพระเมตตา และแสดงให้เห็นว่าได้ทรงพิจารณาอย่างรอบคอบถึงอายุของนักโทษและความยุ่งยากของหน่วยงานราชการ
ซึ่งหากจะคุมขังนักโทษรายนั้นต่อไป คงไม่เกิดประโยชน์อะไร ตัวอย่างเช่น กรณีนักโทษ 4 ราย มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ศาลกำหนดโทษประหารชีวิตทั้ง 4 ราย ทั้ง 4 ราย ขอพระราชทานอภัยโทษ รัฐมนตรีฯ และคณะองคมนตรีมีความเห็นว่า สมควรยกฎีกาทั้ง 4 ราย คือ ไม่ควรพระราชทานอภัยโทษให้ตามที่นักโทษขอ แต่กลับมีพระราชกระแสว่า ในจำนวน 4 ราย มี 1 ราย ที่มีสติปัญญาทึบ โง่เขลาเบาปัญญา และไม่ใช่เป็นตัวการ
เมื่อทรงพิจารณาถึงความบกพร่องทางสติปัญญาของนักโทษรายนั้น โดยที่ไม่มีใครคิดถึงจุดนี้เลย ก็ทรงพระเมตตาพระราชทานลดโทษให้นักโทษเฉพาะรายนั้น เป็นจำคุกตลอดชีวิต
สำหรับผมได้รับพระราชทานน้ำพระราชหฤทัยห่วงใย ในกรณีที่ผมเจ็บป่วยเข้ารับการรักษาโรงพยาบาล ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานดอกไม้และสิ่งของเยี่ยม เป็นการพระราชทานกำลังใจแก่ผมมาโดยตลอด
แม้ภายหลังออกจากโรงพยาบาล และมีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระองค์ก็ทรงพระดำเนินมาทรงยืนด้านหน้าคณะองคมนตรี มีพระราชดำรัสพระราชทานกำลังใจว่า "เราทุกคนก็แก่ๆ กันทั้งนั้นนะ"
อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ
หลายคนอาจไม่รู้ว่า แม้ขณะประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อรับการถวายการรักษาพระวรกาย พระองค์ท่านก็ยังทรงงานพระบรมราชวินิจฉัยฎีกา ขอพระราชทานอภัยโทษของนักโทษอย่างสม่ำเสมอ และมีพระราชกระแสในฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษตลอดมาไม่ได้ทรงหยุด พระองค์มิได้ทรงรักษาพระองค์เหมือนคนป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวตามโรงพยาบาล แต่ยังคงทรงงานตลอดเวลา เพราะทรงทราบดีว่า ทุกคนฝากความหวังไว้ที่พระองค์ และพระองค์เองก็ไม่เคยทรงละพระเมตตาที่มีต่อประชาชน
เกษม วัฒนชัย
นับจากวันแรกที่ผมได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น "องคมนตรี" ชีวิตนี้ก็ไม่มีอะไรจะสำคัญกว่างานที่ได้รับใช้สนองเบื้องพระยุคลบาทอีกแล้ว
ผมนับเป็นองคมนตรีรุ่นหลังที่ไม่ทันได้ถวายงานพระองค์อย่างใกล้ชิด แต่ผมจะติดตามอ่านพระบรมราโชวาทที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญไปจัดพิมพ์ในโอกาสต่างๆ และใช้เวลาอ่านอย่างวิเคราะห์ รู้สึกได้ประโยชน์มาก เหมือนพระองค์ทรงสอนลูก
องก์ที่ผมชอบมากและคิดว่าน่าจะเหมาะกับยุคสมัยนี้คือ องก์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ "ความดี คนดี" ซึ่งพิมพ์อยู่ในหนังสือ "คำสอนพ่อ" จัดพิมพ์โดยมูลนิธิพระดาบส ผมขอเชิญบางส่วนมาเป็นตัวอย่างดังนี้
1.เชื้อแห่งความดีในจิตใจของคนไทย "บรรพบุรุษของพวกเรามีเชื้อแห่งความดีในจิตใจ จึงได้สร้างบ้านสร้างเมืองจนมั่งคั่งก้าวหน้ามาถึงรุ่นเรา"
2.ให้ระวังใจของตนให้ดี หากอ่อนแอไม่คำนึงถึงผิดชอบชั่วดี ก็จะสร้างความเสียหาย ทั้งแก่ตนเองและแก่ส่วนรวม ต้องระวังใจ อย่าให้ความชั่วครอบงำ หากรู้ตัวก็ให้รีบกำจัดเสียทันที
3.การฝึกหัดทางใจ "ทุกคนต้องฝึกหัดใจให้สุจริต เข้มแข็ง และเป็นระเบียบ"
4.ความเข้มแข็งของคนดี คนดีทำให้เกิดความดีในสังคมและอาจชักนำให้เกิดคนดีเพิ่มขึ้น
5.ต้องตอบแทนคุณทุกฝ่าย คนไทยมีหน้าที่ทดแทนบุญคุณของทุกฝ่าย การทดแทนบุญคุณแผ่นดิน ทำได้โดยยึดประโยชน์ส่วนรวมเหนือประโยชน์ส่วนตัว
พลากร สุวรรณรัฐ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ด้วยทรงตระหนักถึงความจงรักภักดีที่ประชาชนมีต่อพระองค์ ด้วยคำมั่นในพระราชหฤทัยว่า "จะไม่ละทิ้งประชาชนของพระองค์" และด้วยพระราชปณิธานที่พระราชทานพระราชดำรัสแห่งปวงชนชาวไทย ดังปรากฏในพระปฐมบรมราชโองการว่า
"เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"
จึงไม่ทรงเลือกที่จะดำรงพระราชฐานันดรเป็นเพียงสัญลักษณ์ของชาติ ตามประเพณีที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ตามระบอบประชาธิปไตย หรือทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะพระประมุขของประเทศ เฉพาะตามกรอบที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญ ที่ดูเสมือนว่าทำให้ทรงอยู่ห่างไกลจากพสกนิกร แต่ทรงเลือกที่จะบำเพ็ญประโยชน์แก่ประชาชน คือ การบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของราษฎรทุกหมู่เหล่าในผืนแผ่นดินไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ทรงเปิดพระราชหฤทัยกว้างรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ความต้องการของสาธารณชน โดยทรงระลึกถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ภายใต้หลักการ "ขาดทุน คือ กำไร" ทรงเน้นการ "ให้" และ "เสียสละ" เพื่อผลกำไร นั่นคือ "ความอยู่ดีมีสุขของราษฎร" หรือ อธิบายได้ว่า ขาดทุนในด้านเศรษฐกิจ แต่ได้กำไรในด้านสังคม
ม.ร.ว.เทพกมล เทวกุล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นทรงครองราชย์จนถึงบัดนี้ย่างเข้าปีที่ 66 นับเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดเท่าที่เคยปรากฏมาในประวัติศาสตร์ไทย ทรงเป็นพระประมุขของประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้มา 18 ฉบับ ได้ทรงเห็นการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลมากกว่า 50 ชุด และนายกรัฐมนตรีมากกว่า 20 คน
เรื่องที่ขอเตือนสติคนไทยทุกคนคือ การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพยายามพัฒนาประเทศชาติในขณะที่คนอื่นๆ ในชาติได้แต่เฝ้ารอให้สิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้น โดยที่มิได้ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนไทยทั้งหลายไม่ตระหนักและยอมรับในสิ่งนี้ ทุกคนภาคภูมิใจในการมีพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ แต่แนวพระราชดำริอันเป็นรากฐานของสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง การทรงเป็นแรงบันดาลใจ การทรงเป็นแบบอย่างที่ดี และวิถีแห่งการทรงดำเนินชีวิตของพระองค์ ไม่ได้ถูกรับเอามาใช้ในการปฏิบัติอย่างเต็มบ่า
ทุกคนควรตระหนักว่า หนทางเดียวที่จะแสดงความเคารพต่อครูก็คือ เรียนรู้จากพระองค์ เพื่อที่จะนำความรู้นั้นไปช่วยเหลือคนอื่น ไม่ใช่เพียงแค่แขวนหรือประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ไว้ในบ้าน
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ "คณะองคมนตรี" ถ่ายทอดความประทับใจออกมาเป็นตัวหนังสือ เป็นบันทึกประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า ด้วยคณะองคมนตรีทั้ง 19 ท่าน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เรื่องราวเหล่านี้จะเป็นประโยชน์และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่านในการทำคุณความดีตามรอยเบื้องพระยุคลบาทสืบไป
ที่มา : นสพ.มติชน
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต