สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นโยบายสวยหรู แปรรูปยางพารา อย่าทำแค่พูด...หรือแค่สยบม็อบ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ ชั้น5ประชาชาติ

โดย รัตนา จีนกลาง


กลายเป็นวังวนที่ไม่จบสิ้นสำหรับปัญหาราคายางพาราตกต่ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยความไม่สอดคล้องระหว่างดีมานด์และซัพพลายในตลาดโลก รวมถึงการบริหารจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งการแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการแทรกแซงราคาหรือชี้นำราคาภายในประเทศ ไม่อาจบรรลุเป้าหมายที่ยั่งยืนได้

ปัญหาหนักอกรัฐบาลตอนนี้ คือ การแบกสต๊อกยางที่รับซื้อเข้ามาเก็บอยู่ในโกดังกว่า 2 แสนตัน เพราะยังไม่สามารถระบายสต๊อกได้ เหตุที่เราต้องให้ความสำคัญกับยางพารา เพราะยางเป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของประเทศรองจากภาคอุตสาหกรรม

วันนี้ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจในภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคตะวันออก ล้วนต้องพึ่งพากำลังซื้อจากยางพารา
ทั้งสิ้น เมื่อราคายางตกต่ำลากยาวมากว่า 2 ปีจึงส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่จำกัดวงอยู่เฉพาะเกษตรกรหรือเจ้าของสวนยางเท่านั้น บทสรุปของรัฐบาลล่าสุด คือ การอนุมัติโครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบในปี 2557 โดยมีแนวทาง 2 ระยะ คือ

1.ระยะสั้น เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน คือ การจ่ายค่าชดเชยเป็นเงินสดในอัตราไร่ละ 2,520 บาท รายละไม่เกิน 25 ไร่ตามพื้นที่เปิดกรีดจริง และต้องเป็นเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิหรือสิทธิ์ทำกินในพื้นที่นั้น ๆ ระยะเวลาดำเนินการเดือนตุลาคม 2556-พฤษภาคม 2557

2.ระยะปานกลางและระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน วิธีการคือให้มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางโดยสถาบันเกษตรกร โดยรัฐสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน วงเงิน 5,000 ล้านบาท ผ่าน ธ.ก.ส. และจัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนแก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อขยายกำลังการผลิตและปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต วงเงิน 15,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการเดือนตุลาคม 2556-กันยายน 2558

นี่เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่รัฐบาลผลักดันเรื่องการแปรรูปยาง แทนการทุ่มเม็ดเงินแทรกแซงราคายางเพียงแนวทางเดียว

ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเราพึ่งพาตลาดส่งออกมากเกือบ 90% ของผลผลิตยางพาราทั้งหมด นั่นหมายถึงว่า เรายืมจมูกคนอื่นหายใจมาตลอด เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หรือตลาดต่างประเทศหยุดซื้อหรือถูกพ่อค้ากดราคารับซื้อ เกษตรกรจึงไม่มีอำนาจต่อรองใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะ "ผู้คุมเกมราคายาง" ล้วนอยู่ในมือของพ่อค้าต่างชาติ

ที่สำคัญผู้ปลูกยางก็ต้องยอมรับความจริงด้วยว่า เรามีคู่แข่งเพิ่มขึ้นแล้ว เราไม่ใช่ผู้ผูกขาดปลูกยางรายใหญ่อีกต่อไปแล้ว ลองหันไปดูรอบบ้านก็จะพบว่ามีกลุ่มนายทุนจากจีน เกาหลี เข้ามาสัมปทานปลูกยางพาราใน สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนามจำนวนมากแล้ว และในพื้นที่จีนตอนใต้ มณฑลยูนนาน ก็มีการปลูกยางและเริ่มเปิดกรีดน้ำยางได้แล้ว

ฉะนั้น ได้เวลาแล้วที่ "คนไทย-รัฐบาลไทย" จะต้องหันมาสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างตลาดภายในประเทศอย่างจริงจัง เพราะหากราคายางมีเสถียรภาพ ไม่ขึ้นเร็ว-ลงเร็วจนเกินไป ผู้ปลูกยางทั่วประเทศก็จะมีรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัว มีกำลังซื้อสินค้าอื่น ๆ ได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งรัฐบาลจะต้องให้การส่งเสริมการแปรรูปให้ตรงตามความต้องการของตลาดด้วย

คำถามคือว่า "ยางธรรมชาติ" นำมาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ซึ่งเท่าที่มีการรวบรวมกันไว้ จำแนกออกเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ดังนี้

1) ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากน้ำยางข้น กลุ่มแรกคือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย สายน้ำเกลือ ท่อสวมปัสสาวะ และกลุ่มอุปกรณ์ทั่วไป เช่น ลูกโป่ง เครื่องเรือน ฟองน้ำ ของเล่นเด็ก ที่นอน ดอกไม้ประดิษฐ์ รองเท้า

2) ผลิตภัณฑ์ไม้ยาง ได้แก่ การผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ยาง ซึ่งตลาดหลักยังอยู่ที่การส่งออกวัตถุดิบไม้ยางป้อนให้กับประเทศจีนอีกเช่นกัน นอกจากนั้นก็ยังสามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์ไม้ ไม้นั่งร้าน และอื่น ๆ

3) ผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น สายพาน เบาะที่นั่ง ยางปัดน้ำฝน ท่อยาง ยางขอบกระจกประตู ยางลดแรงสั่นสะเทือน ซีล ปะเก็น ยางปัดน้ำฝน ยางรองเท้าในรถยนต์

4) ผลิตภัณฑ์ยางล้อรถยนต์ โปรดักต์นี้มีการพูดถึงกันมากว่าน่าจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราได้มากขึ้น เพราะตลาดรถยนต์เมืองไทยยังเติบโตต่อเนื่องทุกปี โดยสามารถนำมาผลิตยางล้อรถยนต์ รถบรรทุก จักรยานยนต์ ยางล้อเครื่องบิน ยางล้อรถที่ใช้ในภาคการเกษตร ยางในรถ เป็นต้น

และ 5) ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในงานก่อสร้าง เช่น ท่อยางส่งน้ำ ยางรอยต่อท่อคอนกรีต ฝายยาง ยางกั้นถนน ยางปูพื้น ฯลฯ เรียกได้ว่าแทบจะใช้ประโยชน์ได้หมดทุกอย่างหากมีการสนับสนุนอย่างจริงจัง และราคาวัตถุดิบไม่สูงจนเกินไป

ประเด็นร้อนในตอนนี้ก็คือ การนำยางมาทำถนน หากพ่วงเข้าไปใช้ในโครงการ 2.2 ล้านล้านได้ ก็จะทำให้มีการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นทันที

"นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย" ผู้อำนวยการกลุ่มอุตสาหกรรมยาง สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ได้ออกมายืนยันผลงานชิ้นโบแดงของสถาบันวิจัยยางว่า สามารถ "ทำถนนยางพารา" ได้แล้ว โดยคิดค้นวิจัยร่วม 10 ปี มีสูตรสำคัญคือ ใช้น้ำยางข้นผสมยางมะตอย และใช้ยางแห้งผสมยางมะตอยนำมาราดถนน

ถ้าใช้ยางพาราอัตรา 5% ของยางมะตอยจะใช้ปริมาณเนื้อยางแห้ง 0.305 กิโลกรัม/ตารางเมตร หรือประมาณ 2,745 กิโลกรัม/ระยะทาง 1 กิโลเมตร แม้ต้นทุนรวมจะเพิ่มขึ้นจากเดิม 10-17% แต่ความทนทานของถนนและมีอายุการใช้งานนานขึ้น ถือว่าคุ้มค่าการลงทุน คุ้มค่างบประมาณภาครัฐ และยังช่วยประหยัดค่าซ่อมบำรุงถนนได้ค่อนข้างมาก หากมีการนำยางพาราผสมกับยางมะตอยราดถนนมากขึ้น จะทำให้ราคายางขยับตัวสูงขึ้น

เรียกได้ว่างานวิจัยถนนยางพาราก็มีแล้ว งานวิจัยผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ก็มีหมดแล้ว ขาดเพียงการทำตลาดหรือสร้างดีมานด์ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดตลาดภาครัฐที่สามารถดำเนินการได้ทันที เพราะหากกรมทางหลวงหรือกรมทางหลวงชนบทหันมาใช้ยางเพิ่มปีละ 10% จะทำให้มีการใช้ยางทำถนนได้มากถึงปีละเกือบ 2 แสนตัน


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : นโยบาย สวยหรู แปรรูปยางพารา อย่าทำแค่พูด แค่สยบม็อบ

view