จากประชาชาติธุรกิจ
แม่วงก์เป็นชื่อแม่น้ำสายหนึ่งในลุ่มน้ำสะแกกรัง วงก์เป็นคำสันสกฤตและคำบาลีด้วย ถ้าเป็นคำนามแปลว่า เบ็ด ถ้าเป็นคำวิเศษณ์ หรือคุณศัพท์ แปลว่า คดโค้ง ลดเลี้ยวไปมา ฟังชื่อก็เดาเอาได้ว่าคงจะเป็นแม่น้ำที่คดเคี้ยว เลี้ยวไปเลี้ยวมาตามซอกหรือหุบเขา อยู่ในจังหวัดนครสวรรค์
เมื่อน้ำท่วมใหญ่ หรือเมื่อมหาอุทกภัยในปลายปี 2554 คณะทำงานที่จะวางแผนป้องกันน้ำท่วมอย่างยั่งยืน มีความเห็นว่าจะต้องสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำยม เพื่อป้องกันน้ำท่วมซ้ำซาก ที่จังหวัดสุโขทัย และเขื่อนแม่วงก์ ที่จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อให้เป็นระบบที่จะสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างครบวงจรของแม่น้ำเจ้าพระยา
ทันทีที่มีข่าวว่ารัฐบาลจะก่อสร้างเขื่อนก็จะมีเอ็นจีโอออกมาประท้วงคัดค้าน สมัยก่อนก็จะมีแต่เสียงคัดค้านจากเอ็นจีโอในกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ๆ ส่วนชาวบ้านที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมในหน้าฝนก็ดี ภาวะภัยแล้งในฤดูแล้งก็ดี จะเงียบไม่มีปากเสียง ส่วนชาวบ้านที่ถูกเวนคืนที่ดินก็จะร่วมกับเอ็นจีโอคัดค้าน
สื่อมวลชนก็จะไปสัมภาษณ์ฝ่ายที่คัดค้าน ลงข่าวฝ่ายคัดค้าน อีกทั้งนักข่าวสายสิ่งแวดล้อม
ส่วนมากนานๆ จะมีข่าวให้เล่นเสียที จึงมีทัศนคติเอนเอียงไปในทางฝ่ายอนุรักษ์และเอ็นจีโอ โครงการสร้างเขื่อนหลายๆ โครงการ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนผามอง เขื่อนน้ำโจน และเขื่อนอื่นๆ จึงต้องพับไป
แต่เมื่อเกิดมหาอุทกภัยครั้งหลังนี้ ปรากฏว่าจะมีการสร้างเขื่อนกันอีก กรณีเขื่อนแม่ยมและเขื่อนแม่วงก์มีชาวบ้านที่จะได้รับประโยชน์จากภัยน้ำท่วมและฝนแล้งออกมารวมตัว สนับสนุนโครงการทั้ง 2 โครงการ กลายเป็นมี 2 พวก พวกที่คัดค้านและพวกที่สนับสนุน
เท่าที่ติดตามข่าวทางสื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ จะเห็นได้ชัดว่าฝ่ายอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นคนในกรุงและเมืองใหญ่ คัดค้านด้วยอุดมคติของนักอนุรักษ์ที่เป็นนามธรรม เหมือนๆ กับคนในประเทศตะวันตกที่เจริญมั่งคั่งแล้ว ประเทศเหล่านั้นทั้งในยุโรปหรืออเมริกาได้สร้างเขื่อน สร้างโครงการพื้นฐานต่างๆ อย่างเต็มที่แล้ว แม่น้ำทุกสายไม่ว่าใหญ่หรือเล็กได้ทำการสร้างเขื่อนหรือฝายเพื่อการผลิตไฟฟ้า หรือการชลประทานเต็มไปหมด
แม่น้ำดานูบก็ดี แม่น้ำสายอื่นๆ ก็ดี ล้วนแต่มีการก่อสร้างเขื่อนหรือฝาย เพื่อการชลประทานและผลิตไฟฟ้าตลอดทั้งสาย มลรัฐนิวยอร์ก เกาะแมนฮัตตันทั้งเกาะ ก็ใช้ไฟจากเขื่อนและฝายจากน้ำตกไนแอการา เทือกเขาร็อกกี้ทั้งสายมีทั้งเขื่อน ทั้งฝาย ทั้งท่อ ทำกาลักน้ำตลอดทั้งแนว ทั้งนี้เพราะทั้งทวีปยุโรปและอเมริกาพัฒนาก่อนเอเชีย เขาก้าวข้ามพ้นเรื่องผลผลิตทางการเกษตรและไฟฟ้าสะอาดราคาถูกแล้ว สังคมของเขาจึงมาคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องอุดมคติ เรื่องคุณภาพชีวิต เรื่องโลกร้อน เรื่องป่าธรรมชาติ เพราะบ้านเขาที่ยุโรปล้วนแต่เป็นป่าปลูก ป่าที่เป็นป่าธรรมชาติหมดไปนานแล้ว จะตัดโค่นก็ไม่คุ้มเพราะค่าแรงแพง ญี่ปุ่นก็เหมือนกัน เคยปลูกป่าสมัยเมจิเพื่อเอาไม้แต่ปรากฏว่าค่าแรงแพงขึ้น จึงสงวนไม้เอาไว้แล้วนำเข้ามาดีกว่า
แต่สำหรับเอเชียรวมทั้งบ้านเรา ปัญหาเรื่องการผลิต ปัญหาเรื่องน้ำท่วมฝนแล้ง ยังเป็นปัญหาสำคัญ สำคัญกว่าจะคิดถึงเรื่องสัตว์ป่า ซึ่งก็ยังอยู่ได้ เพราะในกรณีอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ พื้นที่ที่จะถูกน้ำท่วมนั้นเป็นพื้นที่เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ หรือ 2 เปอร์เซ็นต์ ของป่าทั้งหมด พื้นที่ที่อยู่เหนือเขื่อนน้ำท่วมเพียงหมื่นไร่เมื่อเทียบกับพื้นที่ล้านไร่ของอุทยาน
ที่เกรงว่าเสือก็ดี กวางก็ดี นกชนิดต่างๆ ก็ดี จะถูกน้ำท่วมตาย ก็ไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่สำคัญ สัตว์ต่างๆ เหล่านั้นหลายคนก็ไม่เคยเห็นด้วยซ้ำไป เคยเห็นแต่รอยตีนสัตว์ในพื้นที่ที่ห่างออกไป ที่สำคัญเป็นพื้นที่หุบเขา ไม่ต้องเวนคืน ไม่ต้องอพยพผู้คนให้เป็นที่เดือดร้อน จะเดือดร้อนก็แค่ขัดกับอุดมการณ์ ขัดกับความรู้สึก ซึ่งเป็นนามธรรม เหตุผลในรูปธรรมจึงเป็นเรื่องที่จริงบ้างเท็จบ้าง แต่ก็เร้าอารมณ์ของสื่อมวลชนและคนในเมืองได้ดี
ส่วนเหตุผลของชาวบ้านที่ออกมาสนับสนุนนั้น เท่าที่อ่านและฟัง เป็นเหตุผล เป็นรูปธรรมจับต้องได้ เพราะกระทรวงเกษตรฯทำการศึกษาทุกแง่มุม ตามที่่ฝ่ายคัดค้านรุ่นก่อนๆ เรียกร้อง เพราะโครงการนี้ได้ริเริ่มมากว่า 30 ปีแล้ว จะมีปัญหาบ้างก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ อาจจะต้องยอมเสียบ้าง เพราะโครงการพัฒนาทุกโครงการจะมีแต่ประโยชน์ฝ่ายเดียวย่อมเป็นไปไม่ได้ ส่วนเสียก็ต้องมี เช่น จะต้องเสียต้นไม้จำนวนมากในพื้นที่น้ำท่วมกว่าหมื่นไร่ แต่ก็จะได้น้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ป้องกันน้ำท่วมในหน้าน้ำ สัตว์ป่าที่อยู่ในแถบนั้นอาจต้องอพยพไปที่อื่นที่กว้างใหญ่ไพศาล ปลาที่จะว่ายทวนน้ำไปวางไข่เหนือเขื่อนก็น่าจะแก้ไขปัญหาได้ถ้ามี ซึ่งก็คงจะมีไม่มากก็น้อย ฝ่ายคัดค้านไม่ได้ทำการศึกษาและบอกอย่างแจ้งชัด
การถกเถียงกันจึงไม่มีทางจะตกลงกันได้ เพราะต่างฝ่ายต่างมีจุดหมายแตกต่างกัน ขืนมานั่งประชุมเถียงกันก็มีหวังตีกันตาย เรื่องความขัดแย้งกันสำหรับโครงการพัฒนานี้ เป็นหัวข้อสำคัญในวิชาเศรษฐศาสตร์การคลังหรือ Public Finance เพราะเป็นวิชาที่คาบเกี่ยวกันระหว่างวิชาเศรษฐศาสตร์และวิชารัฐศาสตร์ จะว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจสำคัญอย่างเดียวก็ไม่ได้ จะว่าเหตุผลทางรัฐศาสตร์อย่างเดียวก็ไม่ได้ มิฉะนั้นโครงการพัฒนาต่างๆ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลเพราะเสนอทฤษฎีทางด้านนี้ก็มี เช่น ดร.บูแคนัน
ถ้าเป็นโครงการสาธารณะอื่นๆ เช่น การสร้างถนนหนทาง ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ถ้าสามารถชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการตามทฤษฎี Second Best Theory เช่น การจ่ายค่าเวนคืน จ่ายค่าผลกระทบอย่างอื่น เช่น เสียงรบกวน ถึงสายลม แสงแดด หลังจากที่ได้ดำเนินการในขบวนการประชาธิปไตยทั้งในรัฐสภา โดยมติ ครม.ผ่านทางการอนุมัติงบประมาณควบคุมรัฐบาล และนอกรัฐสภาผ่านทางประชาพิจารณ์ และได้นำข้อท้วงติงไปแก้ไขปรับปรุง แม้จะไม่ได้ผลตอบแทนทางวัตถุหรือทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดก็ตาม ข้อสำคัญต้องผ่านขบวนการประชาธิปไตยในการตัดสินใจ ซึ่งฝ่ายอนุรักษ์และฝ่ายเอ็นจีโอมักจะไม่ยอมรับ และตนเองก็ไม่เชื่อการตัดสินใจผ่านขบวนการประชาธิปไตย แม้จะมีการจัดตั้งพรรคการเมืองที่เรียกว่าพรรคสันติเขียวหรือ Green Peace ก็ไม่แพร่หลายมีคะแนนนิยมมากนัก ในเมืองไทยพรรคอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็ไม่เข้มแข็ง ส่วนใหญ่ "รัฐ" ต้องทำการศึกษาเอง แต่ก็ถูกโจมตีว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือ conflict of interest ผลการศึกษาฝ่ายอนุรักษ์และเอ็นจีโอจึงไม่ยอมรับฟัง แต่ก็ไม่มีผลงานการศึกษาของตน เพียงแต่เหตุผลทางจิตใจที่วัดออกมาเป็นมูลค่าไม่ได้ ส่วนผลประโยชน์มักจะไม่มีการพูดถึง แต่ก็บอกว่าไม่คุ้มเพราะสัตว์ป่าจะไม่มีที่อยู่
ในอนาคตความขัดแย้งดังกล่าวย่อมจะมีมากขึ้นสำหรับประเทศกึ่งพัฒนา ที่ยังต้องการเพิ่มผลผลิตต่อหัว ต้องการเพิ่มรายได้จากภาษีอากร ต้องการพัฒนาการขยายตัวที่สูงกว่าร้อยละ 5 ต่อปี ขณะเดียวกันก็ต้องการบรรลุความรู้สึกทางจิตใจว่า มีระดับความรับผิดชอบในมาตรฐานสากล ตามความเห็นของนักอนุรักษนิยมและกลุ่มเอ็นจีโอสากลด้วย
กลไกประชาธิปไตยที่กลั่นกรองเพื่อหา "second best solution" ที่ทางการเมืองรับได้ กล่าวคือผลประโยชน์ของส่วนรวมที่ผู้ที่ได้รับผลกระทบในท้องถิ่นรับได้ หรือผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นที่ประชาชนส่วนรวมรับได้ กลไกดังกล่าวไม่มีทางอื่นนอกจากขบวนการตัดสินใจในระบอบประชาธิปไตยในความหมายอย่างกว้าง ถ้าใช้การเดินขบวนประท้วงหรือขบวนการสร้างกระแสผ่านทางสื่อมวลชน ซึ่งมักจะเป็นวิธีคิดแบบ "อัตวิสัย" ไม่ใช่แบบ "ภาววิสัย"
การตัดสินใจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างนี้ จะมีต้นทุนต่อสังคมส่วนรวมอย่างมหาศาล ทั้งต้นทุนโดยตรงคือน้ำท่วมฝนแล้งและต้นทุนของการเสียโอกาส
การทำให้ขบวนการตัดสินใจผ่านทางระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่การศึกษาตรวจสอบของหน่วยงานเจ้าของโครงการ การตรวจสอบระดับคณะรัฐมนตรี ขบวนการตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎร ไปจนถึงขบวนการนอกรัฐสภา เช่น การประชาพิจารณ์ การถามประชามติ และอื่นๆ แทนการเดินขบวนประท้วงปิดถนนหรือการใช้กำลัง ต้องเข้มแข็ง ตรงไปตรงมา เปิดเผยและเชื่อถือได้ จึงเป็นสิ่งจำเป็น
ข้อสำคัญคือความเชื่อถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องสร้างให้ได้
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต