สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จำนำข้าวกระทบเครดิตประเทศ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
สุพรรณี พุฒิพิสุทธิ์



หากกรอบวงเงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าว ฤดูการผลิตปี 56/57 ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติวงเงิน 2.7 แสนล้านบาท

สำหรับการรับจำนำข้าวจำนวนไม่เกิน16.5 ล้านตันนั้น เป็นวงเงินใหม่ที่ไม่เกี่ยวกับวงเงิน 5 แสนล้านบาทที่คณะรัฐมนตรีเคยอนุมัติให้เป็นเงินหมุนเวียนในโครงการจำนำข้าว นั่นเท่ากับว่า วงเงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 แสนล้านบาท

และหากรัฐบาลยังเดินหน้าโครงการ โดยคงใช้มาตรฐานในการรับจำนำข้าวในลักษณะเดียวกัน ทั้งในแง่วงเงินและเงื่อนไขการรับจำนำ วงเงินที่ใช้ในโครงการนี้ จะต้องเกินกว่า 1 ล้านล้านบาทอย่างแน่นอน เห็นตัวเลขแบบนี้ ทำให้อดนึกถึงหนี้สินจำนวน 1.4 ล้านล้านบาทของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่ได้เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 ซึ่งปัจจุบันหนี้ก้อนนี้รอการชำระอยู่กว่า 1 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ดี ปัญหาหลักของโครงการไม่ได้อยู่ที่แหล่งเงินที่จะหามาใช้จ่าย เพราะรัฐบาลสามารถที่จะหาแหล่งทุนได้ไม่ยากนัก โดยเฉพาะมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือธ.ก.ส.เป็นกระเป๋าขวาและมีธนาคารออมสินเป็นกระเป๋าซ้ายของโครงการ แต่อยู่ที่การกู้เงินดังกล่าว จะทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มต่อเนื่อง หรือจนกว่ารัฐบาลจะขายข้าวและนำเงินมาชำระคืนหนี้ จุดนี้เป็นประเด็นสำคัญต่อการตัดอันดับเครดิตประเทศ และ หากรัฐบาลยังใช้วิธีการค้ำประกันเงินกู้ให้แก่ธ.ก.ส.จะกระทบให้รัฐวิสาหกิจอื่นกู้เงินได้น้อยลง เนื่องจาก ติดปัญหาเพดานการก่อหนี้ได้ตามกฎหมาย

นอกจากนี้ ปัญหาของโครงการยังอยู่ที่การบริหารจัดการให้วงเงินที่ลงทุนในโครงการนี้ ไม่เกิดผลขาดทุนหรือเกิดผลขาดทุนน้อยที่สุด โดยผลขาดทุนทางบัญชีที่มีกว่า 2 แสนล้านบาทจากการปิดบัญชีโครงการเบื้องต้นใน 3 ฤดูการผลิตที่ผ่านมา เป็นผลลัพธ์ที่สะท้อนการบริหารโครงการที่ด้อยประสิทธิภาพ

และหากนับรวมฤดูการผลิตที่ 4 ซึ่งปิดโครงการไปเมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผลขาดทุนทางบัญชีจะมากกว่านั้น หรือ อาจทะลุ 3 แสนล้านบาท เพราะสต็อกข้าวยังเหลือในโกดังจำนวนมาก ส่วนที่ขายไปแล้วก็ขายต่ำกว่าราคาต้นทุน แต่หากรัฐบาลขายข้าวในสต็อกได้ในราคาที่สูงกว่าต้นทุน ผลขาดทุนจะทยอยลดลง

ทั้งนี้ รัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะบริหารจัดการ ให้ผลขาดทุนโครงการอยู่ในระดับไม่เกิน 1 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นระดับที่ประเมินว่า จะกระทบต่อวินัยการคลังไม่มากนัก แต่ความเป็นไปได้มีน้อยมาก เมื่อพิจารณาจากแนวทางบริหารจัดการในช่วงที่ผ่านมา ทั้งการระบายข้าวที่ไม่สามารถทำได้ดีและขายในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน ปัญหาการสวมสิทธิ์ข้าว ค่าใช้จ่ายโครงการที่สูง ภาระดอกเบี้ยจ่ายที่ต้องแบกรับในแต่ละปี รวมถึง ระบบการทำบัญชีสต็อกข้าวที่คลาดเคลื่อน เมื่อเป็นเช่นนี้ โครงการจำนำข้าวเพียงโครงการเดียว อาจมีผลขาดทุนในระดับใกล้เคียงกับหนี้สินกองทุนฟื้นฟูฯก็เป็นได้

ผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกประการ คือ ผลขาดทุนของโครงการที่เกิดขึ้น จะสร้างภาระทางการคลังที่รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณมาชำระหนี้สินในแต่ละปี เมื่อประเมินจากการชำระหนี้โครงการในลักษณะเดียวกันในอดีต รัฐบาลจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี กว่าจะชำระหนี้หมด นี่คือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และกำลังเป็นประเด็นที่สร้างความปวดหัวให้กับรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ที่ขณะนี้กำลังทำหน้าที่ชี้แจงข้อเท็จจริงของโครงการ ให้เหล่าบริษัทจัดอันดับเครดิตประเทศได้ทราบ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นในสิ่งที่จะเป็นปัญหากับหนี้สาธารณะของประเทศ


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต



Tags : จำนำข้าว กระทบ เครดิตประเทศ

view