จาก โพสต์ทูเดย์
โดย..พันธสิทธิ เจริญพาณิชย์พันธ์
เหตุแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มทางภาคตะวันออกของญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 สร้างความสะเทือนใจให้แก่ประชาคมโลก ทำให้หลายฝ่ายเกิดความวิตกถึงอนาคตของญี่ปุ่นหลังมหาภัยพิบัติ แต่กลับพบว่ายอดผู้เสียชีวิตมีจำนวนน้อยอย่างเหลือเชื่อเมื่อเทียบกับภัย พิบัติที่เกิดขึ้นในส่วนอื่นๆ ของโลก
อะไรเป็นเคล็ดลับที่ทำให้ชาวอาทิตย์อุทัยสามารถคุมสติและประคองชีวิตรอดได้ในเหตุวิกฤต?
แม้ว่าญี่ปุ่นจะเพียบพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และแผนการการเตรียมความพร้อมจัดการของภาครัฐที่โดดเด่น แต่ต้องยอมรับว่าที่เป็นหัวใจสำคัญที่ญี่ปุ่นเห็นความสำคัญมาโดยตลอดนั่นคือ “ความพร้อมภาคประชาชน” ที่จะต้องทำให้มีทักษะในการเอาชีวิตรอดจากเหตุวิกฤตที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าใน เบื้องต้นได้ รวมถึงรู้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเกิดภัย เพื่อจะทำให้ตนเองสามารถไปอยู่ในที่ปลอดภัยที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้ได้ โดยไม่มัวแต่เฝ้านั่งรอรับความช่วยเหลือเพียงฝ่ายเดียว
ยามาซากิ จุนอิชิ
ยามาซากิ จุนอิชิ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้เพื่อรับมือภัยพิบัติซึ่งตั้งอยู่ในกรุงโตเกียว เปิดเผยว่า การเตรียมความพร้อมในระดับของประชาชนทั่วไปเน้นไปที่การสอนให้ประชาชนรู้จัก วิธีเอาตัวรอด และสามารถพึ่งพาตนเองได้ภายหลังเกิดอันตรายได้อย่างน้อย 72 ชั่วโมง เพื่อยืดโอกาสในการเอาชีวิตรอด และรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ
“ช่วงระยะเวลา 72 ชั่วโมง หลังเกิดเหตุภัยพิบัติดังกล่าวถือเป็นสำคัญมาก เพราะถ้าเลยจากนี้ไปโอกาสในการรอดชีวิตจะลดน้อยลงอย่างมาก” จุนนิชิ กล่าวพร้อมเสริมว่า ปัจจุบันในญี่ปุ่นมีศูนย์ฝึกลักษณะเช่นนี้หลายแห่งแล้ว และได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ามารับการฝึกฝนและทบทวนความรู้ในการเอาตัวรอด จากเหตุภัยพิบัติได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น
ที่ ญี่ปุ่น ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมและการฝึกฝนประชาชนให้เรียนรู้ที่จะอยู่ กับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นตลอดเวลาเป็นอย่างมาก ซึ่งการฝึกฝนนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่เด็กๆ เพื่อทำให้มีความคุ้นเคยกับทักษะในการเอาตัวรอดตั้งแต่เยาว์วัย
ทั้งนี้ การเข้ารับฝึกฝนและเรียนรู้วิธีเอาตัวรอดจากภัยพิบัติ อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องซีเรียสจริงจัง แต่ทว่าที่ ญี่ปุ่น โดยเฉพาะที่ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อรับมือภัยพิบัติ ที่ กรุงโตเกียว กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากบรรยากาศตลอดจนรูปแบบเนื้อหาการนำเสนอในการฝึกอบรมกลับทำให้ ทุกอย่างดูน่าสนใจ
ศูนย์วอร์รูมจำลองภัยพิบัติญี่ปุ่น
เนื่องจากขั้นตอนการจำลองเหตุภัยพิบัติต่างๆมีการนำเทคโนโลยีแสงสีเสียง ที่ทันสมัยมา ทำให้ผู้คนรู้สึกเหมือนว่าอยู่ในเหตุภัยพิบัติจริง โดยเฉพาะแผ่นดินไหว อีกทั้ง ยังมีการแจกเครื่องเล่นเกม ซึ่งจะมีการตั้งคำถามเพื่อให้ประชาชนได้ทดสอบความรู้ของตนเอง ยามเมื่อเกิดเหตุอยู่ตรงหน้า เช่น เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว สถานที่ปลอดภัยที่สุดคือ ที่ใด โดยในคำตอบจะตัวเลือกมาให้ 4 ช้อยส์ (คำตอบที่ถูกคือ นอกบ้าน) และยามเกิดแผ่นดินไหว สถานที่ไหนเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้มากที่สุด (คำตอบที่ถูกคือร้านอาหาร) เป็นต้น
ฉะนั้น ด้วยรูปแบบการนำเสนอที่ผสมผสานระหว่างเนื้อหาและรูปแบบที่น่าสนใจ จึงไม่แปลกใจที่ ศูนย์ดังกล่าวจะได้รับความสนใจจากประชาชนทุกเพศทุกวัยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กๆ ดูได้จากจำนวนของประชาชนที่เข้ามารับการฝึกในศูนย์ดังกล่าว ที่เพิ่งเปิดมาได้เพียง 4 ปี มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆในทุกๆปี โดยในปีแรกมีคนเข้าฝึก 9 หมื่นคน ขณะที่ปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 2.8 แสนคน
ทั้งนี้ นอกจากการเข้ารับการฝึกฝน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กๆ จะทำให้ได้เริ่มเรียนรู้และคุ้นเคยที่จะรับมือกับเหตุฉุกเฉินตั้งแต่เยาว์ วัยแล้ว ก็ยังถือเป็นโอกาสดีที่พ่อแม่และผู้ปกครองจะได้เริ่มหันมาเรียนรู้ในการช่วย เหลือเด็กยามเมื่อเกิดภัยพิบัติจริงๆ อีกด้วย
ศูนย์ภัยพิบัติแบ่งเนื้อหาการฝึกและจำลองสถานการณ์จริงให้ทดลองหนีภัยออก เป็น 4 สถานีได้แก่ 1.สถานีเอาตัวรอดในขณะเกิดเหตุ 2.สถานีหลบหนีออกจากจุดเกิดเหตุ 3.สถานีเข้าสู่จุดรวมพล และ 4.สถานีทดลองใช้ชีวิตในแคมป์หลบภัย โดยทั้งหมดถือเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้ประชาชนเกิดความคุ้นชินและทราบวิธี ปฏิบัติตัวหากเกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นจริง
ถึงกระนั้น แม้ว่าทุกขั้นตอนการฝึกจะมีความสำคัญ แต่ จุนนิชิ กล่าวว่า “ขั้นตอนการหลบหนีไปยังสถานที่ปลอดภัย” หรือ ขั้นตอนที่ 3 มีความสำคัญที่สุด เพราะนี่คือขั้นตอนที่จะช่วยทำให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้รู้ว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นแล้ว จะต้องหลบหนีไปรวมกันอยู่ ณ ที่จุดใด
“ยามเมื่อเกิดภัยพิบัติแล้ว ถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่ประชาชนจะต้องรู้ว่าจะหลบหนีไปที่ไหนได้บ้างที่จะ ทำให้พวกเขาปลอดภัย” จุนนิชิ กล่าว
นอกจากการเตรียมพร้อมภาคประชาชนแล้ว เมื่อลองขยับขึ้นไปมองในด้านการรับมือของรัฐบาล ราชการและรัฐบาลของญี่ปุ่นเองก็มีความพร้อมในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่อาจ เกิดขึ้นตลอดเวลาเช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนของรัฐบาลกลางที่ได้มีการวางมาตรการในการจัดตั้งศูนย์ บัญชาการภัยพิบัติกลาง หรือห้อง “วอร์รูม” ขึ้นทันที หากมีภัยพิบัติร้ายแรงเกิดขึ้น โดยให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ควบคุมจัดการและมีอำนาจสิทธิขาดในการตัดสินใจ เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีเอกภาพ
ไม่เพียงเท่านั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบในการคาดการณ์และจับตาเรื่องภัยพิบัติ ยังทำงานในเชิงรุกด้วยการจับตาความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านภัย พิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า ซึ่งล่าสุดทางการญี่ปุ่นคาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้มีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหว ครั้งใหญ่ในกรุงโตเกียว และเมืองนาโกยา
ขณะเดียวกัน ในส่วนของหน่วยงานอิสระต่างๆที่ไม่สังกัดภาครัฐของญี่ปุ่นเอง ก็มีการเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลาเฉกเช่นเดียวกัน ดังเห็นได้จากกรณีของ โรงพยาบาลกาชาดสากล ในเมืองอิชิโนมากิ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่เคยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรับรักษาผู้ประสบภัยเห ตุสึนามิในปี 2011 ได้หันมาเตรียมความพร้อมมาตรการรับมือเหตุฉุกเฉินด้านภัยพิบัติที่เข้มข้น มากขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น การจัดสรรพื้นที่ให้สามารรถรองรับและขยายผู้ป่วยมากขึ้น การฝึกซ้อมการรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่เข้มข้น
อิมามูระ มาซาโตชิ
อิมามูระ มาซาโตชิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกาชาดสากล ในเมืองอิชิโนมากิ เผยว่า ภายหลังจากเหตุภัยพิบัติครั้งเลวร้ายในปี 2011 ทางโรงพยาบาลได้ตั้งแผนกเพื่อรับมือกับเหตุภัยพิบัติโดยเฉพาะขึ้นมา และมีเจ้าหน้าที่ประจำ เพื่อหาข้อมูลเชิงวิชาการในการป้องกันเหตุในอนาคต
“แผนกรับมือภัยพิบัติไม่ได้มีหน้าที่รักษาคนไข้ แต่มีขึ้นเพื่อศึกษาและพัฒนาหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือคนไข้เมื่อเกิด เหตุ และแผนกนี้จะติดต่อกับนักวิชาการในมหาวิทยาลัย รวมถึงเปิดให้มีการประกวดผลงานวิจัย เพื่อพัฒนามาตรการช่วยเหลือผู้ป่วยยามฉุกเฉิน” มาซาโตชิ กล่าว
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ยังเผยต่อว่าปัจจุบันทางโรงพยาบาลทำการฝึกซ้อมใหญ่ในการรับมือกับเหตุฉุก เฉิน และขนย้ายผู้ป่วย เสมือนจริง 2 ครั้งต่อปี ในขณะที่บางแผนกมีการฝึกซ้อมทุกอาทิตย์ เพื่อตรวจเช็คความพร้อมของอุปกรณ์ต่างๆอยู่ตลอดเวลา
เมื่อลองมองหันมามอง ความพร้อมในการรับมือด้านภัยพิบัติของไทย แม้ว่าบทเรียนน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2011 ที่ผ่านมาจะเริ่มทำให้ทางการไทยเริ่มมีแนวทางในการจัดการรับมือที่ชัดเจน ขึ้น เช่น มีการมอบหมายหน้าที่ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธาณภัยเป็นหน่วยงานหลักในการ การรับผิดชอบ การเริ่มมีการประชุมซักซ้อมแผนของหน่วยงานต่างๆ แต่ในส่วนความพร้อมของภาคประชาชนไทยยังไม่ได้รับการเตรียมพร้อมเท่าที่ควร โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับความพร้อมของชาวญี่ปุ่น ที่ความพร้อมในด้านนี้มาก
“การเตรียมความพร้อมภาคประชาชนของไทยในการรับมือกับภัยพิบัติ ยังเป็นสิ่งที่ควรต้องได้รับการพัฒนาอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดภัยพิบัติแล้ว ประชาชนจะต้องรู้หน้าที่ตนเอง เพื่อจะรู้ว่าจะหนีไปที่ไหน เมื่อยามเกิดเหตุฉุกเฉิน และพาตนเองไปยังที่ปลอดภัยได้” นายแพทย์ วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขของไทย กล่าวให้สัมภาษณ์ในระหว่างการไปศึกษาดูงาน ด้านการสื่อสารความเสี่ยงด้านภัยพิบัติที่ประเทศญี่ปุ่น พร้อมกับย้ำว่า การฝึกและหใความรู้แก่ให้ประชาชนในการเอาชีวิตรอดและพึ่งพาตนเองได้อย่าง น้อย 72 ชั่วโมงคือสิ่งสำคัญที่สุด
นอกจากนี้ นายแพทย์ วชิระ กล่าวต่อว่า ถึงแม้ว่าไทยจะไม่มีเหตุภัยพิบัติเกิดขึ้นบ่อยครั้งเหมือนกับญี่ปุ่น แต่ในหลักการและขั้นตอนในการรับมือภัยพิบัติของญี่ปุ่นในหลายๆอย่าง เช่น การเตรียมความพร้อมในเรื่องของประชาชน ก็ถือเป็นรูปแบบที่น่าสนใจ และนำมาประยุกต์ปรับใช้กับกรณีของไทยได้
จึงนับเป็นอีกหนึ่งบทเรียนจากต่างแดนในการรับมือด้านภัยพิบัติที่น่าสนใจไม่น้อย
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต