ชี้ครม.ผิดกม.อนุมัติเขื่อนแม่วงก์-ช่วยเกษตรได้ไม่ถึง3แสนไร่
จาก โพสต์ทูเดย์
"ปราโมทย์"ชี้ ครม.ทำผิดกฎหมายอนุมัติเขื่อนแม่วงก์ เเนะเลื่อน 2 ปีรอศึกษาความคุ้มทุน ยันช่วยพื้นที่การเกษตรได้ไม่ถึง 3 เเสนไร่ "วีระกร" หนุนมูลนิธิสืบฯ คุมปลูกป่าทดเเทน
เมื่อวันที่ 9 ต.ค. มีการประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ พิจารณาศึกษาโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยเชิญนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และรองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และนายวีระกร คำประกอบ อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตสส.นครสวรรค์หลายสมัยเข้าชี้แจง
นายปราโมทย์ กล่าวว่า โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ต้องคำนึงทั้งหลักวิศวกรรมและหลักทางเศรษฐศาสตร์ ความคุ้มทุน ทั้งนี้เชื่อว่าโครงการนี้ไม่มีความคุ้มทุนและไม่สามารถกักเก็บน้ำช่วยเหลือ พื้นที่การเกษตรได้ถึง 3 แสนไร่ เนื่องจากจุดที่สร้างเขื่อนมีพื้นที่รับน้ำประมาณ 800 ตร.กม.มีความจุอ่างเก็บน้ำอยู่ประมาณ 250-260 ล้านลบ.ม.จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีพื้นที่การเกษตร 3 ถึงแสนไร่ที่ได้รับประโยชน์ เพราะหากเทียบการกักเก็บน้ำในเขื่อนอื่นอย่างเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร มีความจุน้ำ 500 ล้าน ลบ.ม.แต่มีพื้นที่การเกษตรได้ประโยชน์เพียง 1.8 แสนไร่เท่านั้น ขณะที่เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ช่วยพื้นที่การเกษตรได้เต็มที่ไม่เกิน 2 แสนไร่
นายปราโมทย์ กล่าวอีกว่า การดำรงตำแหน่งอธิบดีที่ผ่านมาได้ขับเคลื่อนโครงการสร้างเขื่อน ทั้งโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนขุนด่านปราการชล โดยผ่านการพิจารณาของ สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เพราะยังไม่มีรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยเขื่อนแม่วงก์นั้นไม่ผ่านการพิจารณาของ สผ.เพราะกรมชลประทานไม่ได้ศึกษามูลค่าความสูญเสียของระบบนิเวศน์อย่างเพียง พอ แต่เมื่อมาสมัยนี้แม้จะมีรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 แล้วบัญญัติให้มีมาตรา 57 (2) และ 67 (2) แต่กลับไม่ได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ กลับนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)ให้อนุมัติเมื่อเดือน เม.ย.ปี 2555 วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท แล้วออกระเบียบสำนักนายกฯ ยกเว้นกฎระเบียบทั้งหมด ถือว่า ครม.ทำผิดกฎหมายเสียเอง ดังนั้นโครงการเขื่อนแม่วงก์ควรเลื่อนออกไป 2 ปีเพื่อศึกษาความเหมาะสมเเละความคุ้มทุนก็ไม่เสียหายอะไร
นายวีระกร กล่าวว่า พื้นที่ของแม่วงก์มีลักษณะคล้ายกับพื้นที่ของขุนด่านคือเป็นพื้นที่สูง เวลาฝนตกน้ำจะลงจากเขาด้วยความเร็ว และแรง โดย จ.นครนายกนั้นมีเขื่อนขุนด่านปราการชลทำให้แก้ปัญหาน้ำท่วมได้ แต่ชาว อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ไม่มีเขื่อนกักเก็บน้ำ จึงประสบปัญหาน้ำท่วม เพราะมีพื้นที่ลาดชันถึง 130 เมตรที่ทำให้น้ำไหลเร็ว ทั้งนี้ภายในปีเดียวมีน้ำท่วมถึง 6 ครั้งแล้ว นอกจากนั้นยังเห็นว่าเขื่อนจะช่วยกักเก็บน้ำในหน้าแล้งเพื่อทำการเกษตร โดยชาวบ้านในพื้นที่ต่างเห็นด้วย จึงอยากให้สื่อมวลชนลงไปถามชาวบ้านในพื้นที่บ้างว่าเขาต้องการหรือไม่ ไม่ใช่ถามเเต่คนกรุงเทพฯ เพราะชาวบ้านเหล่านี้ไม่ได้ไปออกความเห็นในสังคมออนไลน์ เเต่เขาประสบความเดือดร้อนจริง
นายวีระกร กล่าวต่อว่า ป่าพื้นนี้มีพื้นที่ 11.7 ล้านไร่ จึงไม่ต้องห่วงว่าเสือจะไม่มีที่อยู่ ถึงจะสร้างเขื่อน แต่เสือสามารถเดินหากินได้ทั่วไปในพื้นที่ขนาดใหญ่ของป่าตะวันตก แต่เวลาน้ำท่วมเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้พื้นที่ที่เป็นป่าเต็งรังและป่าไผ่ ไม่มีความอุดมสมบูรณ์ น่าแล้งก็มีความแห้งแล้ง แต่ถ้ามีเขื่อนป่าก็จะได้ความชุ่มชื่นจากคลองสาขาที่จะได้น้ำจากเขื่อนแม่ วงก์ดันขึ้นไปทำให้น้ำไหลตลอดปี และหากป่าชุ่มชื้นขึ้น เสืออาจจะขยายพันธุ์ได้มากขึ้นด้วย
“หากย้อนไป 20 ปีที่ป่าผืนนี้ก็ไม่ใช่ป่าดงดิบ หากแต่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพด ป่าผืนนี้เพิ่งอุดมสมบูรณ์ เมื่อ 20 ที่ผ่านมา จึงเชื่อว่าหาก 20 ปีที่ผ่านมาทำให้ป่าอุดมสมบูรณ์ได้ อีก 20 ปีป่าก็สามารถปลูกใหม่และอุดมสมบูรณ์ได้เช่นกัน จึงเสนอว่าการปลูกป่าใหม่ 3 หมื่นไร่ควรให้มูลนิธิสืบ นาคะเสถียรเป็นคนควบคุมการปลูกทดแทนได้เต็มที่” นายวีระกรกล่าว
นายศศิน กล่าวยืนยันว่า ป่าแม่วงก์เชื่อมต่อกับห้วยขาแข้ง และผืนป่าตะวันตก เป็นแหล่งหากินของเสือโคร่งกว่า 200 ตัวที่เยอะเป็นอันดับ 2 รองจากอินเดีย ตอนนี้เสือเหล่านี้เพียง 1 ตัว ในเชิงธุรกิจที่ลอบฆ่าและนำส่งต่างประเทศมีมูลค่านับสิบล้านบาท จนมีพรานเวียดนามมาล่าเสือและยิงเจ้าหน้าที่ป่าไม้ตาย ดังนั้นหากปล่อยให้มีการสร้างเขื่อนที่นอกจากจะไม่มีความคุ้มทุนในการกัก เก็บน้ำแทนที่จะขุดบ่อ ทำฝาย พัฒนาแหล่งน้ำชุมชนแล้ว โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ยังเปิดให้มีธุรกิจมืดเข้ามาล่าเสือ และเชื่อว่าทางรัฐไม่สามารถควบคุมได้
พท.โต้'ปราโมทย์-ศศิน'เขื่อนแม่วงก์ลดน้ำท่วม
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วีระกร"ยันสร้างเขื่อนแม่วงก์จะลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อ.ลาดยาว เห็นต่าง"ปราโมทย์-ศศิน" ขณะที่"เหวง"แจงรับฟังผลกระทบสวล.
ในการประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธานได้พิจารณาศึกษาโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ เป็นครั้งที่2 โดยได้เชิญ นายวีระกร คำประกอบ อดีตส.ส.นครสวรรค์ พรรคไทยรักไทย, นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน และ นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มาให้ข้อมูล โดยที่ประชุมได้เปิดเวทีให้บุคคลทั้ง 3 นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์นานเกือบ 2 ชั่วโมง ซึ่งนายปราโมทย์ และนายศศิน ยืนยันว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่าง 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นรัฐบาลควรจะหาวิธีทำทางผันน้ำและปรับปรุงระบบปล่อยน้ำในแม่น้ำสาขาที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จะเป็นประโยชน์มากกว่า
ขณะที่นายวีระกร ยืนยันว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์จะลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ได้ เพราะมีการศึกษามาแล้วโดยในปี 2527 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้ศึกษาและมีรายงานผลออกมาว่าต้องทำ อย่างไรก็ตามตนเข้าใจสิ่งที่นายศศินคัดค้าน แต่อยากให้เห็นใจชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ชาวนาที่ปลูกข้าวมาแล้ว 3 รอบยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้เพราะน้ำท่วมซ้ำซาก นอกจากนั้นแล้วข่าวที่ปรากฎต่อสื่อฯ ที่นำเสนอเฉพาะกลุ่มต่อต้านเขื่อน ตนมองว่าเป็นความลำเอียง ทั้งนี้ในพื้นที่มีคนที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนแต่ไม่มีพื้นที่แสดงความเห็น
"พื้นที่สร้างเขื่อน เดิมเป็นไร่ข้าวโพดของชาวเขา แต่ที่เป็นป่า เพราะมีการปลูกทดแทน ดังนั้นเมื่อมีการนำพื้นที่ไปสร้างเขื่อน ก็จะมีที่ปลูกป่าใหม่ อีก 3 หมื่นไร่ ผมจะเสนอให้สมาชิกมูลนิธิสืบฯ 29 คนเข้าไปควบคุม"นายวีระกร กล่าว
จากนั้นที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็น อาทิ นายชินวัฒน์ หาบุญพาด ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนไม่เข้าใจว่าทำไมตอนที่มีการบุกรุกเขายายเที่ยง ทำไมนักอนุรักษ์ถึงไม่ออกมาค้าน หรือเป็นเพราะว่าเป็นเพราะรัฐบาลเป็นคนละฝ่ายจึงต้องออกมาต่อต้านแบบหัวชนฝา ขณะที่พล.ต.ต.ดิสทัต ภูธิปโชติ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กล่าวว่าควรมีการเปิดเวทีผ่านทางสถานีโทรทัศน์ให้คนที่คัดค้านและสนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ให้ข้อมูลกับประชาชน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการชุมนุมหรือประท้วงเหมือนที่ผ่านมา ทั้งนี้นายศศิน ชี้แจงว่า การเดินประท้วงที่ผ่านมา คือการประท้วงรายงานอีเอชไอเอ ซึ่งถือเป็นการแสดงออกตามสิทธิและเสรีภาพ
นพ.เหวง ให้สัมภาษณ์หลังประชุมว่าเตรียมหารือกับนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกฯ ในฐานะประธานกบอ. เพื่อนำเสนอข้อสรุป คือ ควรรับฟังความเห็นประชาชนรอบด้านพร้อมกับทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ครบถ้วน รวมถึงควรเปิดพื้นที่สื่อให้ทั้ง 2 ฝ่ายชี้แจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจกับประชาชน
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต