สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กับ ภาคเกษตร

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ คนเดินตรอก โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ประมาณปลายปี 2558 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ก็จะเปิดกันเต็มรูปแบบ ซึ่งก็หมายความว่าสินค้าส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็น สินค้าอุตสาหกรรม เกษตรกรรม บริการ จะเปิดถึงกันอย่างเสรี ยกเลิกภาษีขาเข้าระหว่างกัน รวมทั้งกฎระเบียบอุปสรรคอย่างอื่นที่ไม่ใช่ภาษีระหว่างกันก็คงจะยกเลิกไป ด้วย เพื่อให้การค้าขายระหว่างกันเป็นไปอย่างเสรี จนจะกลายเป็นการค้าที่ไร้พรมแดนระหว่างกัน

การเปิดเสรีระหว่างกันเป็นการขยายตลาดอาเซียนให้ใหญ่โตขึ้น รัฐบาลก็ทำประชาสัมพันธ์ค่อนข้างมากให้ประชาชนได้รู้ จะได้ปรับตัวให้ทันเมื่อเวลามาถึง


สำหรับประเทศไทย โดยส่วนรวมน่าจะได้ประโยชน์เพราะตั้งอยู่ใจกลางของประชาคม รายล้อมด้วยประเทศอาเซียนใหม่ อันได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม อีกทั้งอยู่ใกล้จีนที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่ 2 ของโลก เมื่อเทียบกับมาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และอินโดนีเซีย ในแง่ของที่ตั้งและระดับของการพัฒนาอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว เราน่าจะได้ประโยชน์กว่าประเทศอาเซียนเก่าอื่น ๆ


แต่เมื่อคำนึงถึงภาคเกษตรกรรมแล้วน่าห่วง โดยเฉพาะพืชหลักที่เราผลิตส่งออกเป็นจำนวนมาก เป็นผู้นำของโลก เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม พืชดังกล่าวขณะนี้เป็นพืชที่รัฐบาลใช้ภาษีอากรเป็นจำนวนมากชดเชยการผลิต ต้นทุนการผลิตสูงเพราะขาดแคลนแรงงาน ต้องใช้เครื่องมือเครื่องจักร ใช้น้ำมัน รวมทั้งใช้แรงงานต่างชาติเป็นจำนวนมาก

 

ในกรณีเรื่องข้าว ไทยคงได้เปรียบมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ สำหรับสิงคโปร์นั้นไม่มีพื้นที่ทำการเกษตร แต่เราก็ไม่ได้เปรียบพม่า เวียดนาม กัมพูชา และลาว ประเทศเหล่านี้ก็เสียเปรียบในเรื่องระบบการขนส่ง แต่ต่อไปข้างหน้าเมื่อถึง พ.ศ. 2558 สินค้าเกษตรเหล่านี้จะสามารถส่งข้ามพรมแดนกันได้อย่างเสรี ถ้าประเทศไทยยังคงไม่มีการเตรียมตัวก็น่าจะมีปัญหาราคาข้าว ราคายางพารา ราคามันสำปะหลัง ราคาข้าวโพด ราคาลำไย ต้องเป็นไปตามราคาตลาด หากยังคงโครงการรับจำนำพืชผลต่าง ๆ ในราคาที่สูงกว่าตลาด สินค้าชนิดเดียวกันจากประเทศเพื่อนบ้านก็คงจะหลั่งไหลเข้ามาในประเทศ นำเข้ามาจำนำ ซึ่งที่จริงก็คือเอามาขายให้กับรัฐบาลไทยนั่นเอง รัฐบาลจะเอาเงินภาษีอากรที่เก็บจากประชาชนไทยไปรับซื้อข้าวพม่า ข้าวกัมพูชา ข้าวเวียดนาม หรือไปรับซื้อยางพาราจากมาเลเซียและอินโดนีเซียในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ประชาชนคนไทยผู้เสียภาษีก็ไม่ควรจะยอม

แม้ทุกวันนี้การที่รัฐบาลเอา เงินภาษีของประชาชนไปทำโครงการรับจำนำข้าว จำนำยางพารา มันสำปะหลัง ใช้เงินภาษีอากรไปชดเชยการขาดทุนจำนวนมหาศาล และชาวไร่ชาวนาก็ได้ไม่ถึงครึ่ง แต่สูญเสียไปกับค่าขนส่ง ค่าเช่าโกดัง ค่าสินค้าสูญหาย เสื่อมสภาพ ความสามารถส่งออกไม่มี หรือมีก็ต่ำกว่าเอกชนผู้ส่งออก ประเทศผู้นำเข้าถ้าซื้อก็ซื้อกดราคาลง เพราะรู้หมดว่าประเทศไทยมีข้าว มียาง มีมัน เก็บอยู่ในโกดังเท่าไหร่ ประชาชนผู้เสียภาษียังไม่รู้สึก แต่ถ้ารัฐบาลไม่สามารถรักษาวินัยทางการคลังไว้ได้และต้องขึ้นภาษี เมื่อนั้นผู้เสียภาษีคงจะรับไม่ได้

หากไม่เตรียมตัว ไม่ปรับตัวเสียแต่เนิ่น ๆ เกษตรกรที่เคยได้รับผลประโยชน์จนเคยชินจากนโยบายของรัฐบาลก็คงจะไม่เข้าใจ และยอมรับไม่ได้ ปัญหาเหล่านี้ก็จะกลายเป็นปัญหาการเมืองทันที จะไม่เกิดความโกลาหลขึ้นหรือเมื่อเวลานั้นมาถึง รัฐบาลก็คงจะเปลี่ยนวิธีมาใช้วิธีชดเชยตามเนื้อที่การเพาะปลูกเหมือนกับ

กรณี ของยางพาราในขณะนี้ แต่ก็คงจะทำไปตลอดกาลไม่ได้ มิฉะนั้นก็เท่ากับเราเอาภาษีอากรของประชาชนไปอุดหนุนผู้นำเข้าในต่างประเทศ เราควรจะต้องตระหนักว่า เมื่อถึงเวลาที่เราจะต้องเปิดเสรีสำหรับสินค้าเกษตรกรรมกับประเทศสมาชิกของ ประชาคมอาเซียน ราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศเหล่านี้ต้องสอดคล้องกับราคาในตลาดโลก สามารถขึ้นลงตามสถานการณ์ในตลาดโลก

เนื่องจากระดับการพัฒนาของประเทศ อาเซียนเก่าสูงกว่าประเทศอาเซียนใหม่ แม้ว่าผลผลิตต่อไร่ของเราอาจจะสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เพราะเราใช้เครื่องจักร ใช้พลังงาน ใช้ปุ๋ยในอัตราที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เพราะประเทศเราเป็นประเทศที่ขาดแคลนแรงงานเสียแล้ว ต่อไปข้างหน้าก็คงจะขาดแคลนยิ่งขึ้น

ถ้าเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมและ ภาคบริการขยายตัวมากขึ้น การจะคงปริมาณการผลิตไว้ในระดับที่สูงแล้วชดเชยด้วยเงินภาษีอากร ก็ยิ่งจะเป็นภาระอย่างหนักกับประชาชนผู้เสียภาษี จะเป็นลูกตุ้มถ่วงความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ไม่ให้ก้าวพ้นการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง

ไม่น่าจะมีทางเลือก อื่น นอกจากวางแผนลดการผลิตสินค้าเกษตรที่ต้องการเงินชดเชยช่วยเหลือลงตามลำดับ ไม่มีทางเป็นไปได้ ถ้ายังมัวแต่ตั้งงบประมาณจากภาษีอากรไปชดเชยราคาสินค้าที่เราไม่มีความได้ เปรียบในการผลิตเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

อีกทางหนึ่งที่จะลดปริมาณ การผลิตของสินค้าเกษตรราคาลงก็คือ จำกัดเนื้อที่เพาะปลูก ลดการส่งออกลง เพราะการชดเชยราคาให้เกษตรกรไทยก็เท่ากับรัฐบาลจ้างเกษตรกรไทยผลิตข้าว ผลิตยางพารา แล้วขายให้กับผู้บริโภคหรือ

ผู้ใช้ในต่างประเทศในราคา ที่ถูกกว่าต้นทุนการผลิต เพราะต้นทุนการผลิตเมื่อรวมกับต้นทุนของเกษตรกรและต้นทุนจากภาษีอากรของ ประชาชนแล้ว มีอัตราสูงกว่าราคาที่ผู้บริโภคและผู้ใช้สินค้าเกษตรของไทยจ่าย ในระยะยาวประชาชนผู้เสียภาษีก็คงจะยอมไม่ได้ ถ้ายังต้องใช้เงินเป็นแสน ๆ ล้านอย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

ทางเดียวก็คือต้องให้การศึกษากับสังคม ว่า เราคงจะทำอย่างนี้ต่อไปไม่ได้ โดยเฉพาะสินค้าราคาถูก เช่น ข้าวนาปรัง ต้องปรับเปลี่ยนระบบชลประทานที่มีให้เหมาะสมและคุ้มค่ากับสิ่งที่ผลิต เช่น สินค้าเกษตรชนิดอื่น หรือเปลี่ยนไปเป็นการประมง ไม้ยืนต้น และอื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

เมื่อประเทศเพื่อนบ้านของเรา พม่า เวียดนาม กัมพูชา และลาว พัฒนาระบบการขนส่งภายในประเทศของเขา เปิดพื้นที่อันกว้างใหญ่ของเขาให้ติดต่อตลาดโลก ประกอบกับจำนวนประชากรที่มาก ค่าแรงงานยังต่ำกว่าเรา ระดับการพัฒนายังต่ำกว่าเรา การเมืองได้รับการปฏิรูปให้เป็นที่ยอมรับของชาวโลกมากขึ้น นักลงทุนย่อมจะพากันไปลงทุนในประเทศเหล่านั้น เราเองต้องถอยออกจากภาคเศรษฐกิจนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป จะอยู่กับความภูมิใจว่าเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับหนึ่งต่อไปไม่ได้

สิ่ง ต่าง ๆ ที่กล่าวมา คงจะมาถึงเร็วขึ้นจากการเกิดเออีซี หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สำหรับสินค้าทางด้านอุตสาหกรรมและบริการคงจะไม่มีผลกระทบอะไรมาก เพราะการลดภาษีขาเข้าและสิ่งกีดขวางทางการค้าได้ค่อย ๆ ลดลงมา ได้ปรับตัวกันมานานแล้วแต่ภาคเกษตรกรรมของเรายังไม่ได้ทำอะไรเลย


ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต

Tags : ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภาคเกษตร

view