สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บึก: ราชาปลาที่ใกล้สูญพันธุ์แห่งแม่น้ำโขง

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

บึก: ราชาปลาที่ใกล้สูญพันธุ์แห่งแม่น้ำโขง
       โลกมีปลาน้ำจืดขนาดใหญ่หลายสปีชีส์ เช่น ปลา Chinese paddlefish (Psephurus gladius) ที่มีลำตัวยาวถึง 7 เมตร และหนักประมาณ 500 กิโลกรัม ซึ่งเคยพบอาศัยในแม่น้ำแยงซี และขณะนี้ถูกองค์การ CITES (Convention on International Trade in Endangered Species) กำหนดให้เป็นปลาที่สูญพันธุ์ไปแล้ว สำหรับแม่น้ำโขงที่ไหลจากจีนผ่านพม่า ลาว ไทย เขมร เวียตนาม ออกสู่ทะเลจีนใต้ก็มีปลาซูโมหลายชนิด เช่น บึก (Pangesianodon gigas), Giant Barb (Catlocarpio Siamensis) และ Giant pangasius (Pangasius sanitwongsei) ซึ่งบึกที่โตเต็มที่มีลำตัวยาวประมาณ 3.2 เมตร หนักร่วม 300 กิโลกรัม และใกล้จะสูญพันธุ์ เพราะถูกชาวบ้านล่าจับเป็นอาหารมากจนเกินไป นอกจากเหตุผลนี้แล้ว สภาพแวดล้อมที่เป็นถิ่นอาศัยของมันก็ถูกทำลายไปตลอดเวลาด้วย การแพร่พันธุ์ของมันจึงดำเนินอย่างไม่เต็มที่
       
       บึก แปลว่า ใหญ่ เป็นคำที่ใช้เรียกปลาน้ำจืดชั้น Chordata อันดับ Siluriformes ลำตัวสีขาวแกมเทาไม่มีเกล็ด ไม่มีริ้วลาย ไม่มีฟัน และหนวดใดๆ ชอบกินพืชใต้น้ำ เช่น ตะไคร่น้ำ และสาหร่ายเป็นอาหาร เนื้อจึงมีรสดีและมีคุณค่าทางโภชนาการจนชาวบ้านเชื่อว่า ใครที่ได้บริโภคเนื้อปลาบึกเป็นคนมีบุญ อายุยืน มีสติปัญญาเฉียบแหลม และจะประสพแต่โชคลาภ ดังนั้นก่อนจับปลาบึกชาวบ้านจะทำบุญสวดมนตร์อธิษฐานก่อน โดยเฉพาะชาวลาวนั้นนับถือปลาบึกมากว่าเป็นปลาศักดิ์สิทธิ์
       
       ตามปกติเมื่อย่างเข้าเดือนมีนาคมซึ่งเป็นต้นฤดูร้อน น้ำในแม่โขงตอนใต้จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อย การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้จะส่งสัญญาณให้แม่ปลาบึกเริ่มอพยพออกจาก ทะเลสาบโตนเลสาบ (Tonle Sap) ในเขมร ว่ายทวนน้ำขึ้นเหนือ ผ่านอุบลราชธานีไปจนถึงหาดบ้าน หาดทรายขาว และหาดไคร้ ในอำเภอเชียงของ ที่จังหวัดหนองคาย ทันทีที่เห็นฝูงปลากำลังมา ชาวบ้านจะชวนกันออกล่า เหตุการณ์เช่นนี้มักเกิดในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 3 (ประมาณวันที่ 20 เมษายนของทุกปี) โดยฝูงปลาบึกจะว่ายน้ำผ่านโขดหินหรือแผ่นหินที่อยู่เรียงรายในแม่น้ำเป็น ระยะทางยาวกว่า 1 กิโลเมตร ในการวางแผนจับปลา ชาวบ้านจะยืนชะเง้อดูสายน้ำอยู่ริมฝั่ง เมื่อเห็นปลาว่ายน้ำมาจากที่ไกล ขนาดมโหฬารของมันจะทำให้ชาวบ้านเห็นครีบปลาโผล่สูงเหนือน้ำ และเห็นฟองอากาศที่ปลาพ่นผุดขึ้นผิวน้ำเป็นทางยาวประมาณ 4-5 เมตร และเมื่อปลาปรากฏตัวชัด ชาวบ้านจะพากันพายเรือไปดักคอยข้างหน้าปลา แล้วกระโดดลงน้ำที่ค่อนข้างตื้นเพื่อแทงปลาด้วยฉมวก แต่วิธีนี้มักไม่ได้ผล เพราะปลาบึกที่แข็งแรง จะสะบัดหนีไปได้
ความพยายามในการอนุรักษ์ปลาบึก
       ดังนั้น ชาวบ้านจึงหันไปใช้อวนที่มีตาค่อนข้างกว้าง และมีขนาดใหญ่แทน ทันทีที่เห็นปลา ชาวบ้านจะโยนก้อนหินขนาดใหญ่ลงน้ำ เสียงก้อนหินที่กระทบน้ำจะทำให้ปลาตกใจ ว่ายหนีไปชนแหและถูกจับ ในเวลาต่อมาเทคโนโลยีการจับปลาของชาวบ้านได้รับการพัฒนาเมื่อหันไปใช้เรือ หางยาวลากแหที่ยาวร่วม 250 เมตรและกว้าง 3-5 เมตร ไปวางขวางกลางลำน้ำ เมื่อปลาติดแห ปลาจะดิ้นจนน้ำแตกกระจาย จากนั้นชาวบ้านจะใช้เชือกไนลอนขนาดใหญ่มัดตัวปลา เพื่อลากขึ้นฝั่ง เนื้อปลาบึกตามปกติมีราคาแพง ราคากิโลกรัมละเกือบ 300 บาท ดังนั้น ปลาที่หนักร่วม 300 กิโลกรัม จะมีราคาเกือบแสน บึกจึงเป็นปลาเศรษฐกิจที่ทำรายได้ดีมากสำหรับชาวประมงที่มีรายได้น้อย และยากจน
       
       สถิติการจับปลาบึกที่เชียงของในไทยระหว่างปี 1983 – 2009 แสดงว่า ชาวประมงเคยจับได้จำนวนมากที่สุดคือ 65 ตัวในปี 1990 และ 22 ตัวในปี 1993
       
       ส่วนที่หลวงพระบางในลาว สถิติการจับได้ลดจากปีละ 12 ตัวเหลือเพียงปีละ 3 ตัว ในปี 1968 ส่วนที่น้ำตก Khone ซึ่งเคยจับได้ปีละ 2-3 ตัว กลับจับแทบไม่ได้เลยในระยะหลังๆ
       
       สำหรับที่แม่น้ำ Tonle Sap ในเขมร สถิติในปี 1999จับได้ 4 ตัว ปี 2000 จับได้ 11 ตัว และปัจจุบันจับได้น้อยกว่า 10 ตัวต่อปี
       
       ดังนั้นในภาพรวมสถิติจึงแสดงว่า ในอดีตเมื่อ 10 ปีก่อน ชาวประมงในบริเวณแม่น้ำโขงจับปลาบึกได้ปีละ 40-50 ตัว ถึงปี 2003 จำนวนได้ลดลงเหลือ 5-8 ตัว/ปี ดังนั้นในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา สถิติจำนวนปลาได้ลดลงมากถึง 80%
       
       สถิติยังแสดงอีกว่า เมื่อศตวรรษก่อนแม่น้ำโขงมีปลาบึกอย่างอุดมสมบูรณ์ แต่ปลาที่จับได้ได้ลดจำนวนลงมาก เช่นในปี 1999 จับได้เพียง 20 ตัว ปี 2001, 2002, 2003 จับปลาไม่ได้เลย แต่ในปี 2004, 2005 และ 2006 กลับจับได้อีกคือ 7, 4 และ 1 ตัวตามลำดับ
       
       นักชีววิทยาปัจจุบันไม่รู้แน่นอนว่า โลกมีปลาบึกกี่ตัว จะรู้ก็เพียงว่ามีน้อย เพราะแม่น้ำโขงและเครือข่ายอันเป็นถิ่นอาศัยของปลา เช่น ทะเลสาบ Tonle Sap และแม่น้ำ Tonle Sap รวมถึงแม่โขงซึ่งมีความยาว 4,800 กิโลเมตร กำลังถูกชาวบ้านที่ทำมาหากินตามสองริมฝั่งรบกวนมาก บึกจึงเป็นปลาที่กำลังเป็นอันตรายอย่างรุนแรงคือใกล้สูญพันธุ์แน่นอน
ภาพการดำเนินการสร้างเขื่อนที่ไซยะบุรี
       ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปลาบึกใกล้สูญพันธุ์ คือ การถูกชาวประมงจับไปเป็นอาหารมากจนเกินไป และน้ำในแม่น้ำโขงกับทะเลสาบอันเป็นถิ่นอาศัยของมันกำลังเสื่อมคุณภาพด้วย มลพิษที่เกิดจากฝีมือชาวบ้าน สภาพการจราจรที่หนาแน่นตลอดเวลาของเรือโดยสาร ล้วนมีผลทำให้ถิ่นอาศัย รวมถึงสถานที่บึกจะปลาวางไข่กำลังถูกรบกวนอย่างต่อเนื่องและรุนแรง
       
       ตามปกติ ไข่ปลาบึกมีขนาดเล็กเท่าเมล็ดพริกไทย ปลาตัวเมียที่ไข่ในท้องสุกมักจะแยกตัวจากฝูงไปวางไข่ โดยมีตัวผู้ ว่ายเวียนวนอยู่ใกล้ๆ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวแล้ว มันทั้งสองจะช่วยกันเลี้ยงลูกจนโตและแข็งแรง แต่เมื่อบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง มีโรงงาน และสถานอาศัยของประชาชนมากขึ้น การสืบพันธุ์ของปลาจึงประสบปัญหา นอกจากนี้การสร้างเขื่อนที่ Sayaburi และ Luang Prabang ในลาว รวมทั้งที่ Stung Treng และ Sambor ในกัมพูชา และที่ Siphandone ซึ่งตั้งอยู่ใกล้พรมแดนลาว-กัมพูชาก็มีผลทำให้ปลาบึกไม่สามารถอพยพขึ้นเหนือ ไปถึงทะเลสาบต้าลีในมณฑลยูนนานได้อีกต่อไป และครั้นจะว่ายกลับคืนถึงทะเลจีนใต้ก็ทำไม่ได้ด้วย เพราะสายน้ำถูกเขื่อนกั้น
       
       เมื่อบึกกำลังจะสูญพันธุ์เช่นนี้ การผสมเทียมจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่นักชีววิทยาต้องดำเนินการ ดังนั้น ในปี 2001 กรมประมงประเทศไทยได้นำปลาพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์มาเลี้ยงในบ่อดิน จนกระทั่งอายุ 16 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่บึกจะโตเต็มที่ คือหนักตั้งแต่ 50 – 70 กิโลกรัม สำหรับปลาตัวเมียที่มีไข่เต็มท้องก็จะถูกรีดไข่ออกจากท้องเพื่อนำไปผสมกับ น้ำเชื้อตัวผู้ที่ได้รีดเตรียมไว้แล้ว ลูกปลาบึกที่เกิดจากการผสมเทียมตามปกติมีอายุสั้น ส่วนลูกปลาที่รอดชีวิตจะมีน้ำหนักเพิ่มประมาณปีละ 10 กิโลกรัม ในขณะที่ลูกปลาที่เกิดตามธรรมชาติจะมีน้ำหนักเพิ่มปีละ 20 กิโลกรัม และสามารถเพิ่มน้ำหนักได้ถึง 200 กิโลกรัมภายในเวลา 6 ปี
       
       ในอดีตกรมประมงไทยได้เคยทดลองปล่อยลูกปลาบึกกลับคืนสู่แม่น้ำโขง และได้พบว่าการปล่อยนั้นเสมือนกับการปล่อยสู่นรก เพราะลูกปลาที่อ่อนหัดพวกนี้มักไม่รู้ว่าอะไรเป็นอาหารที่มันสามารถกินได้ อะไรเป็นพิษ มันจะหาคู่ได้ที่ใด วางไข่ที่ใด เพราะปลาเลี้ยงไม่มีประสบการณ์ให้พ่อแม่ปลาช่วยสอนเลย มันจึงมักตายไปก่อนให้กำเนิดปลารุ่นใหม่ ดังนั้น หลังจากที่ได้ปล่อยลงแม่น้ำโขงประมาณ 10,000 ตัวแล้ว ทางการก็ไม่ได้ปล่อยปลาลงน้ำอีก แต่ปล่อยในอ่างเก็บน้ำแทน ซึ่งก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า ปลาในอ่างเก็บน้ำจะสามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างยั่งยืน
       
       ปลาบึกมิได้น่ารักเหมือนแพนด้า จึงไม่มีใครมาโอบอุ้มอย่างเอ็นดู และเมื่อปลายักษ์ชนิดนี้กำลังจะถึงภาวะใกล้สูญพันธุ์ (เหมือนเสือในป่า) ดังนั้นเราจะต้องช่วยกันอนุรักษ์ เพื่อจะได้เห็นความพิเศษของสัตว์ชนิดนี้ แต่การจะอนุรักษ์ ปลาบึกจึงได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายทั้งในไทย ลาว และกัมพูชา กระนั้นก็ยังไม่ได้ผล เพราะผู้คนก็ยังลอบจับอยู่ตลอดเวลา เจ้าหน้าที่มีน้อย และบทลงโทษไม่หนัก
วิถีประมงอาจได้รับผลกระทบจากเขื่อน
       เมื่อการอนุรักษ์ทางกฎหมายไม่ได้ผลมาก การอนุรักษ์ทางวิชาการจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน คือต้องมีข้อมูลชีววิทยา และนิเวศวิทยาของปลาอย่างสมบูรณ์ เช่น นิสัยในการอพยพย้ายถิ่นฐาน การจับคู่ การเลี้ยงดูลูกอ่อน การกินอาหาร รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดตามมาเมื่อมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง เพราะเขื่อนจะทำให้วิถีชีวิตของปลาเปลี่ยนแปลง และเราต้องรู้ว่า ปริมาณการวางไข่ และสืบพันธุ์จะถูกกระทบกระเทือนเพียงใด ข้อมูลเท่าที่มีแสดงให้เห็นว่าปลาบึกมีฤดูวางไข่เหมือนสัตว์อื่น โดยจะว่ายน้ำมารวมกลุ่มกันในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคมเพื่อผสม พันธุ์ตามบริเวณพรมแดนไทย-ลาว นอกจากข้อมูลเหล่านี้แล้วนักอนุรักษ์ปลาบึกจะต้องเข้าใจความต้องการของชาว บ้านที่อาศัยอยู่ตามลำแม่น้ำโขงด้วย เพราะชาวบ้านยึดถือว่า ปลาคืออาหาร และการจับปลาขาย จะทำให้เขาอยู่รอด ดังนั้นความต้องการในการดำรงชีพวิธีนี้ในมุมมองของชาวบ้านจึงมีความสำคัญ “ยิ่ง” กว่า การอนุรักษ์
       
       ในอนาคตอันใกล้นี้ บึกกำลังมีแนวโน้มว่าจะอยู่คู่โลกได้อีกไม่นาน เพราะรัฐบาลลาวกำลังสร้างเขื่อน Xayaburi ทั้งลาวและกัมพูชาได้วางแผนจะสร้างเขื่อนอีกหลายแห่งตลอดความยาวของแม่น้ำ โขง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งเขื่อนจะมีผลกระทบต่อวัฏจักรชีวิตของบึกอย่างแน่นอน จนอาจทำให้มันสูญพันธุ์ได้
       
       ในอดีตที่ผ่านมาแม้ว่าแม่น้ำโขงจะเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในเอเชีย อาคเนย์ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีเขื่อนจำนวนมากเหมือนแม่น้ำสายอื่น เพราะประชาชนที่อาศัยอยู่สองฝั่งของประเทศค่อนข้างยากจน ภาวะสงครามในเวียตนาม และสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเขมรจึงทำให้ไม่มีใครคิดสร้างเขื่อนเพื่อ ผลิตกระแสไฟฟ้า
       
       แต่เมื่อประมาณ 20 ปีก่อนนี้ จีนได้สร้างเขื่อน 8 เขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบน มีผลทำให้กระแสน้ำในแม่น้ำโขงตอนล่างไหลช้าลง ระบบนิเวศของพื้นที่จึงเปลี่ยนแปลง การทำมาหากินด้านการประมงจึงถูกกระทบกระเทือน และเมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้น ความต้องการพลังงานก็มากตาม
       
       ดังนั้นรัฐบาลลาวจึงตัดสินใจสร้างเขื่อนที่ไซยะบุรี (Xayaburi) ณ ที่ห่างจากเมืองไซยะบุรีประมาณ 30 กิโลเมตร และห่างจากเวียงจันทร์ 350 กิโลเมตรด้วยงบประมาณ 3,800 ล้านดอลลาร์ เป็นเขื่อนที่สูง 32.6 เมตร ยาว 820 เมตร ซึ่งจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละ 1285 เมกะวัตต์ และ 95% ของกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งขายคนไทย โดยส่งเข้าที่จังหวัดเลย ซึ่งจะสร้างรายได้เข้าประเทศปีละ 3,000 – 4,000 ล้านดอลลาร์
       
       ผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนคือ ประชาชนนับแสนต้องย้ายที่อยู่อาศัย และหลายคนต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตในการทำมาหากิน ทันทีที่เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ซึ่งมีพื้นที่ 49 ตารางกิโลเมตรและลึก 30 เมตร ตลอดระยะทางยาว 80 กิโลเมตรจากเขื่อน
       
       เขื่อนยังทำให้กระแสน้ำและระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงด้วย สำหรับตะกอนที่เคยไหลลงทะเลก็จะถูกเขื่อนกักจนทำให้เกิดสันดอนเหนือเขื่อน และจากเดิมที่ระดับน้ำเคยลึก 8-9 เมตร ความลึกก็อาจจะลดเหลือ 1 เมตรเป็นต้น
       
       อ่างเก็บน้ำที่เกิดใหม่จะทำให้บริเวณป่าโดยรอบเปลี่ยนแปลง สัตว์น้ำต้องเปลี่ยนที่หาอาหาร รวมถึงเปลี่ยนที่วางไข่ และถ้าเกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลงในการทำไร่ตามบริเวณริมฝั่ง น้ำที่ท่วมป่าจะทำให้คราบสารเคมีไหลลงอ่างเก็บน้ำ ดังนั้นสัตว์น้ำที่บริโภคสารเข้าไปจะเป็นโรค และคนที่บริโภคสัตว์อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ในเวลาต่อมา และถ้าวันนั้นมาถึง ปลาเขมรก็จะเป็นปลาที่กินไม่ได้ จนอาจต้องมีการนำปลาเข้าจากไทย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว และเลี้ยงพลเมืองของตนเอง
       
       องค์การ World Wildlife Fund (WWF) ค่อนข้างมั่นใจว่า เมื่อเขื่อนไซยะบุรีสร้างเสร็จ บึกจะ “เสร็จ” แน่นอน ส่วนปลาอื่นๆ อีก 228 สปีชีส์นั้นก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตาดูต่อไป
       
       อย่างไรก็ตาม ถ้าหลังจากที่สร้างเขื่อนเสร็จแล้วยังไม่มีผลกระทบรุนแรง ถึงปี 2030 ลาวจะสร้างเขื่อนอีก 36 เขื่อน เพื่อผลิตไฟฟ้าขาย ให้คนลาว 6 ล้านคนมีฐานะดีขึ้น ส่วนบึกจะอยู่ สูญพันธุ์หรือไม่คงไม่สำคัญมาก เพราะคนสำคัญกว่าปลาครับ
พื้นที่สร้างเขื่อนที่ไซยะบุรี
                 อ่านเพิ่มเติมจาก “Traditional fishery and fish ecology on the Mekong River at Khone waterfalls in southern Laos ใน National History Bulletin of the Siam Society ฉบับที่ 43 ปี 1995 และจาก “The Xayaburi Dam - A Looming Threat To The Mekong River” ใน International Rivers. January 2011
               
                 (http://www.internationalrivers.org/files/The%20Xayaburi%20Dam_Eng.pdf)
       เกี่ยวกับผู้เขียน
       
       สุทัศน์ ยกส้าน
       ประวัติการทำงาน- ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
       ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต



Tags : บึก ราชาปลา ใกล้สูญพันธุ์ แม่น้ำโขง

view