จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
บึก แปลว่า ใหญ่ เป็นคำที่ใช้เรียกปลาน้ำจืดชั้น Chordata อันดับ Siluriformes ลำตัวสีขาวแกมเทาไม่มีเกล็ด ไม่มีริ้วลาย ไม่มีฟัน และหนวดใดๆ ชอบกินพืชใต้น้ำ เช่น ตะไคร่น้ำ และสาหร่ายเป็นอาหาร เนื้อจึงมีรสดีและมีคุณค่าทางโภชนาการจนชาวบ้านเชื่อว่า ใครที่ได้บริโภคเนื้อปลาบึกเป็นคนมีบุญ อายุยืน มีสติปัญญาเฉียบแหลม และจะประสพแต่โชคลาภ ดังนั้นก่อนจับปลาบึกชาวบ้านจะทำบุญสวดมนตร์อธิษฐานก่อน โดยเฉพาะชาวลาวนั้นนับถือปลาบึกมากว่าเป็นปลาศักดิ์สิทธิ์ ตามปกติเมื่อย่างเข้าเดือนมีนาคมซึ่งเป็นต้นฤดูร้อน น้ำในแม่โขงตอนใต้จะมีอุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อย การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้จะส่งสัญญาณให้แม่ปลาบึกเริ่มอพยพออกจาก ทะเลสาบโตนเลสาบ (Tonle Sap) ในเขมร ว่ายทวนน้ำขึ้นเหนือ ผ่านอุบลราชธานีไปจนถึงหาดบ้าน หาดทรายขาว และหาดไคร้ ในอำเภอเชียงของ ที่จังหวัดหนองคาย ทันทีที่เห็นฝูงปลากำลังมา ชาวบ้านจะชวนกันออกล่า เหตุการณ์เช่นนี้มักเกิดในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 3 (ประมาณวันที่ 20 เมษายนของทุกปี) โดยฝูงปลาบึกจะว่ายน้ำผ่านโขดหินหรือแผ่นหินที่อยู่เรียงรายในแม่น้ำเป็น ระยะทางยาวกว่า 1 กิโลเมตร ในการวางแผนจับปลา ชาวบ้านจะยืนชะเง้อดูสายน้ำอยู่ริมฝั่ง เมื่อเห็นปลาว่ายน้ำมาจากที่ไกล ขนาดมโหฬารของมันจะทำให้ชาวบ้านเห็นครีบปลาโผล่สูงเหนือน้ำ และเห็นฟองอากาศที่ปลาพ่นผุดขึ้นผิวน้ำเป็นทางยาวประมาณ 4-5 เมตร และเมื่อปลาปรากฏตัวชัด ชาวบ้านจะพากันพายเรือไปดักคอยข้างหน้าปลา แล้วกระโดดลงน้ำที่ค่อนข้างตื้นเพื่อแทงปลาด้วยฉมวก แต่วิธีนี้มักไม่ได้ผล เพราะปลาบึกที่แข็งแรง จะสะบัดหนีไปได้ |
|||||
สถิติการจับปลาบึกที่เชียงของในไทยระหว่างปี 1983 – 2009 แสดงว่า ชาวประมงเคยจับได้จำนวนมากที่สุดคือ 65 ตัวในปี 1990 และ 22 ตัวในปี 1993 ส่วนที่หลวงพระบางในลาว สถิติการจับได้ลดจากปีละ 12 ตัวเหลือเพียงปีละ 3 ตัว ในปี 1968 ส่วนที่น้ำตก Khone ซึ่งเคยจับได้ปีละ 2-3 ตัว กลับจับแทบไม่ได้เลยในระยะหลังๆ สำหรับที่แม่น้ำ Tonle Sap ในเขมร สถิติในปี 1999จับได้ 4 ตัว ปี 2000 จับได้ 11 ตัว และปัจจุบันจับได้น้อยกว่า 10 ตัวต่อปี ดังนั้นในภาพรวมสถิติจึงแสดงว่า ในอดีตเมื่อ 10 ปีก่อน ชาวประมงในบริเวณแม่น้ำโขงจับปลาบึกได้ปีละ 40-50 ตัว ถึงปี 2003 จำนวนได้ลดลงเหลือ 5-8 ตัว/ปี ดังนั้นในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา สถิติจำนวนปลาได้ลดลงมากถึง 80% สถิติยังแสดงอีกว่า เมื่อศตวรรษก่อนแม่น้ำโขงมีปลาบึกอย่างอุดมสมบูรณ์ แต่ปลาที่จับได้ได้ลดจำนวนลงมาก เช่นในปี 1999 จับได้เพียง 20 ตัว ปี 2001, 2002, 2003 จับปลาไม่ได้เลย แต่ในปี 2004, 2005 และ 2006 กลับจับได้อีกคือ 7, 4 และ 1 ตัวตามลำดับ นักชีววิทยาปัจจุบันไม่รู้แน่นอนว่า โลกมีปลาบึกกี่ตัว จะรู้ก็เพียงว่ามีน้อย เพราะแม่น้ำโขงและเครือข่ายอันเป็นถิ่นอาศัยของปลา เช่น ทะเลสาบ Tonle Sap และแม่น้ำ Tonle Sap รวมถึงแม่โขงซึ่งมีความยาว 4,800 กิโลเมตร กำลังถูกชาวบ้านที่ทำมาหากินตามสองริมฝั่งรบกวนมาก บึกจึงเป็นปลาที่กำลังเป็นอันตรายอย่างรุนแรงคือใกล้สูญพันธุ์แน่นอน |
|||||
ตามปกติ ไข่ปลาบึกมีขนาดเล็กเท่าเมล็ดพริกไทย ปลาตัวเมียที่ไข่ในท้องสุกมักจะแยกตัวจากฝูงไปวางไข่ โดยมีตัวผู้ ว่ายเวียนวนอยู่ใกล้ๆ เมื่อไข่ฟักเป็นตัวแล้ว มันทั้งสองจะช่วยกันเลี้ยงลูกจนโตและแข็งแรง แต่เมื่อบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง มีโรงงาน และสถานอาศัยของประชาชนมากขึ้น การสืบพันธุ์ของปลาจึงประสบปัญหา นอกจากนี้การสร้างเขื่อนที่ Sayaburi และ Luang Prabang ในลาว รวมทั้งที่ Stung Treng และ Sambor ในกัมพูชา และที่ Siphandone ซึ่งตั้งอยู่ใกล้พรมแดนลาว-กัมพูชาก็มีผลทำให้ปลาบึกไม่สามารถอพยพขึ้นเหนือ ไปถึงทะเลสาบต้าลีในมณฑลยูนนานได้อีกต่อไป และครั้นจะว่ายกลับคืนถึงทะเลจีนใต้ก็ทำไม่ได้ด้วย เพราะสายน้ำถูกเขื่อนกั้น เมื่อบึกกำลังจะสูญพันธุ์เช่นนี้ การผสมเทียมจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่นักชีววิทยาต้องดำเนินการ ดังนั้น ในปี 2001 กรมประมงประเทศไทยได้นำปลาพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์มาเลี้ยงในบ่อดิน จนกระทั่งอายุ 16 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่บึกจะโตเต็มที่ คือหนักตั้งแต่ 50 – 70 กิโลกรัม สำหรับปลาตัวเมียที่มีไข่เต็มท้องก็จะถูกรีดไข่ออกจากท้องเพื่อนำไปผสมกับ น้ำเชื้อตัวผู้ที่ได้รีดเตรียมไว้แล้ว ลูกปลาบึกที่เกิดจากการผสมเทียมตามปกติมีอายุสั้น ส่วนลูกปลาที่รอดชีวิตจะมีน้ำหนักเพิ่มประมาณปีละ 10 กิโลกรัม ในขณะที่ลูกปลาที่เกิดตามธรรมชาติจะมีน้ำหนักเพิ่มปีละ 20 กิโลกรัม และสามารถเพิ่มน้ำหนักได้ถึง 200 กิโลกรัมภายในเวลา 6 ปี ในอดีตกรมประมงไทยได้เคยทดลองปล่อยลูกปลาบึกกลับคืนสู่แม่น้ำโขง และได้พบว่าการปล่อยนั้นเสมือนกับการปล่อยสู่นรก เพราะลูกปลาที่อ่อนหัดพวกนี้มักไม่รู้ว่าอะไรเป็นอาหารที่มันสามารถกินได้ อะไรเป็นพิษ มันจะหาคู่ได้ที่ใด วางไข่ที่ใด เพราะปลาเลี้ยงไม่มีประสบการณ์ให้พ่อแม่ปลาช่วยสอนเลย มันจึงมักตายไปก่อนให้กำเนิดปลารุ่นใหม่ ดังนั้น หลังจากที่ได้ปล่อยลงแม่น้ำโขงประมาณ 10,000 ตัวแล้ว ทางการก็ไม่ได้ปล่อยปลาลงน้ำอีก แต่ปล่อยในอ่างเก็บน้ำแทน ซึ่งก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า ปลาในอ่างเก็บน้ำจะสามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างยั่งยืน ปลาบึกมิได้น่ารักเหมือนแพนด้า จึงไม่มีใครมาโอบอุ้มอย่างเอ็นดู และเมื่อปลายักษ์ชนิดนี้กำลังจะถึงภาวะใกล้สูญพันธุ์ (เหมือนเสือในป่า) ดังนั้นเราจะต้องช่วยกันอนุรักษ์ เพื่อจะได้เห็นความพิเศษของสัตว์ชนิดนี้ แต่การจะอนุรักษ์ ปลาบึกจึงได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายทั้งในไทย ลาว และกัมพูชา กระนั้นก็ยังไม่ได้ผล เพราะผู้คนก็ยังลอบจับอยู่ตลอดเวลา เจ้าหน้าที่มีน้อย และบทลงโทษไม่หนัก |
|||||
ในอนาคตอันใกล้นี้ บึกกำลังมีแนวโน้มว่าจะอยู่คู่โลกได้อีกไม่นาน เพราะรัฐบาลลาวกำลังสร้างเขื่อน Xayaburi ทั้งลาวและกัมพูชาได้วางแผนจะสร้างเขื่อนอีกหลายแห่งตลอดความยาวของแม่น้ำ โขง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งเขื่อนจะมีผลกระทบต่อวัฏจักรชีวิตของบึกอย่างแน่นอน จนอาจทำให้มันสูญพันธุ์ได้ ในอดีตที่ผ่านมาแม้ว่าแม่น้ำโขงจะเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในเอเชีย อาคเนย์ แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีเขื่อนจำนวนมากเหมือนแม่น้ำสายอื่น เพราะประชาชนที่อาศัยอยู่สองฝั่งของประเทศค่อนข้างยากจน ภาวะสงครามในเวียตนาม และสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเขมรจึงทำให้ไม่มีใครคิดสร้างเขื่อนเพื่อ ผลิตกระแสไฟฟ้า แต่เมื่อประมาณ 20 ปีก่อนนี้ จีนได้สร้างเขื่อน 8 เขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบน มีผลทำให้กระแสน้ำในแม่น้ำโขงตอนล่างไหลช้าลง ระบบนิเวศของพื้นที่จึงเปลี่ยนแปลง การทำมาหากินด้านการประมงจึงถูกกระทบกระเทือน และเมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้น ความต้องการพลังงานก็มากตาม ดังนั้นรัฐบาลลาวจึงตัดสินใจสร้างเขื่อนที่ไซยะบุรี (Xayaburi) ณ ที่ห่างจากเมืองไซยะบุรีประมาณ 30 กิโลเมตร และห่างจากเวียงจันทร์ 350 กิโลเมตรด้วยงบประมาณ 3,800 ล้านดอลลาร์ เป็นเขื่อนที่สูง 32.6 เมตร ยาว 820 เมตร ซึ่งจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ปีละ 1285 เมกะวัตต์ และ 95% ของกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งขายคนไทย โดยส่งเข้าที่จังหวัดเลย ซึ่งจะสร้างรายได้เข้าประเทศปีละ 3,000 – 4,000 ล้านดอลลาร์ ผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนคือ ประชาชนนับแสนต้องย้ายที่อยู่อาศัย และหลายคนต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตในการทำมาหากิน ทันทีที่เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ซึ่งมีพื้นที่ 49 ตารางกิโลเมตรและลึก 30 เมตร ตลอดระยะทางยาว 80 กิโลเมตรจากเขื่อน เขื่อนยังทำให้กระแสน้ำและระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงด้วย สำหรับตะกอนที่เคยไหลลงทะเลก็จะถูกเขื่อนกักจนทำให้เกิดสันดอนเหนือเขื่อน และจากเดิมที่ระดับน้ำเคยลึก 8-9 เมตร ความลึกก็อาจจะลดเหลือ 1 เมตรเป็นต้น อ่างเก็บน้ำที่เกิดใหม่จะทำให้บริเวณป่าโดยรอบเปลี่ยนแปลง สัตว์น้ำต้องเปลี่ยนที่หาอาหาร รวมถึงเปลี่ยนที่วางไข่ และถ้าเกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลงในการทำไร่ตามบริเวณริมฝั่ง น้ำที่ท่วมป่าจะทำให้คราบสารเคมีไหลลงอ่างเก็บน้ำ ดังนั้นสัตว์น้ำที่บริโภคสารเข้าไปจะเป็นโรค และคนที่บริโภคสัตว์อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ในเวลาต่อมา และถ้าวันนั้นมาถึง ปลาเขมรก็จะเป็นปลาที่กินไม่ได้ จนอาจต้องมีการนำปลาเข้าจากไทย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว และเลี้ยงพลเมืองของตนเอง องค์การ World Wildlife Fund (WWF) ค่อนข้างมั่นใจว่า เมื่อเขื่อนไซยะบุรีสร้างเสร็จ บึกจะ “เสร็จ” แน่นอน ส่วนปลาอื่นๆ อีก 228 สปีชีส์นั้นก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตาดูต่อไป อย่างไรก็ตาม ถ้าหลังจากที่สร้างเขื่อนเสร็จแล้วยังไม่มีผลกระทบรุนแรง ถึงปี 2030 ลาวจะสร้างเขื่อนอีก 36 เขื่อน เพื่อผลิตไฟฟ้าขาย ให้คนลาว 6 ล้านคนมีฐานะดีขึ้น ส่วนบึกจะอยู่ สูญพันธุ์หรือไม่คงไม่สำคัญมาก เพราะคนสำคัญกว่าปลาครับ |
|||||
(http://www.internationalrivers.org/files/The%20Xayaburi%20Dam_Eng.pdf) |
|||||
สุทัศน์ ยกส้าน ประวัติการทำงาน- ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา - ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย |
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต