จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
ดอกหงอนนาค นางเอกแห่งภูสอยดาว
“อยู่ใต้ฟ้าจะกลัวอะไรกับฝน...” ประโยคนี้ผุดขึ้นมาในใจ เมื่อ “ตะลอนเที่ยว” เดินฝ่าสายฝนบนเส้นทางเดินเท้าขึ้นสู่ลานสนภูสอยดาว
ก็ในเมื่อตอนนี้คือหน้าฝน และในเมื่อหน้าฝนคือช่วงเวลาที่ดอกหงอนนาคกำลังเบ่งบานอยู่บนลานสน จึงเป็นที่มาว่า ทำไม “ตะลอนเที่ยว” ต้องมาเดินตากฝนอยู่กลางป่าเช่นนี้
ย้อนกลับไปตอนก่อนหน้าที่ฝนจะตก “ตะลอนเที่ยว” กับเพื่อนๆ เดินทางมาที่ "อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว" อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ เพื่อเตรียมตัวเดินเท้าขึ้นเขาเป็นระยะทาง 6.5 กม. ไปยังลานสนเพื่อชมดอกหงอนนาค ดอกไม้ป่าที่จะบานเฉพาะในช่วงหน้าฝนเท่านั้น
การเดินทางที่ใช้เวลาราว 4-6 ชั่วโมงนี้นอกจากจะเป็นการวัดพลังขาและความแข็งแรงของร่างกายแล้ว ก็ยังเป็นการพิสูจน์พลังใจของแต่ละคนอีกด้วย
น้ำตกภูสอยดาวอยู่บริเวณทางเดินขึ้นสู่ลานสน
จากตีนภูสู่ลานสน
เมื่อเริ่มเดินทางไปในเส้นทางเดินเท้าขึ้นสู่ลานสนภูสอยดาว “ตะลอนเที่ยว” และคณะแวะไหว้เจ้าที่เจ้าทางที่ศาลเจ้าพ่อภูสอยดาวเพื่อขอพรให้เดินทาง ปลอดภัย และจากจุดนี้ไปก็ต้องใช้กำลังขาและกำลังแขน รวมทั้งพลังใจในการเดินขึ้นภูกันแล้ว
ตลอดเส้นทาง 6.5 กม. ที่เราจะต้องฝ่าไปนั้น มีเนินต่างๆ ที่เป็นทั้งจุดแวะพักและจุดบอกระยะทางที่เหลือ จากจุดเริ่มต้นที่เป็นทางเดินเลียบน้ำตกภูสอยดาวเป็นทางดินขึ้นๆ ลงๆ มีร่มเงาต้นไม้ตลอดเส้นทาง เดินกันมา 1,600 ม. เรียกว่าได้เหงื่อกันพอสมควรก็จะเจอกับเนินแรกคือ “เนินส่งญาติ” จากนั้นไต่ระดับความสูงขึ้นมาอีก 700 ม. จะเจอ “เนินปราบเซียน” จากนั้นคือ “เนินป่าก่อ” และ “เนินเสือโคร่ง” ที่เป็นทางชันต่อเนื่องยาว 2,400 ม. ซึ่งทางอุทยานฯ ทำบันไดเหล็กไว้ให้ปีนขึ้นเป็นช่วงๆ ถึงตรงนี้ “ตะลอนเที่ยว” ขอแนะนำว่าให้มองทางข้างหน้าไม่เกิน 5 ก้าว เพราะหากมองไกลไปกว่านั้นแล้วเห็นบันไดพาดซ้ายขวาไปมาแบบไม่มีที่สิ้นสุด แล้วจะท้อเสียเปล่าๆ
บรรยากาศระหว่างทางเดินขึ้นภู
ฝนที่ตั้งเค้ามานานก็เริ่มเทลงมาเมื่อ “ตะลอนเที่ยว” เดินถึงช่วงเนินเสือโคร่งนี่เอง เสื้อกันฝนถูกแกะมาใช้อย่างรีบด่วน และแต่ละก้าวก็ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเพราะทางดินเริ่มกลายเป็น ทางโคลน เพิ่มความลื่นขึ้นอีกทวีคูณ จากเนินเสือโคร่งไปอีก 200 ม. ก็จะถึง “เนินมรณะ” แม้ระยะทางระหว่างเนินจะสั้น แต่ก็เป็นเนินที่ชันที่สุด และมีทิวทัศน์ที่สวยที่สุดด้วยเช่นกัน บริเวณนี้จะไม่มีต้นไม้ใหญ่ มีเพียงต้นหญ้าสูงประมาณไหล่ จึงมองเห็นทัศนียภาพกว้างไกลของทิวเขาสลับซับซ้อนเขียวขจีที่ถูกปกคลุมไป ด้วยเมฆหมอก
เราใช้เวลาถ่ายรูปและพักเหนื่อยกันที่เนินมรณะชั่วครู่ ก่อนจะเดินต่ออีก 600 ม. จนขึ้นมาถึงลานสนภูสอยดาวในระดับความสูง 1,633 ม. จนได้ รวมเวลาที่ “ตะลอนเที่ยว” ใช้ในการเดินขึ้นจากตีนภูมาถึงลานสนราวๆ 4 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วต้องช้ากว่านั้น แต่เนื่องจากฝนตกเกือบตลอดทางเราจึงเดินรวดเดียวโดยไม่หยุดแวะกินข้าวกลาง วันระหว่างทาง
แต่ถึงจะหิวโหยกันขนาดไหน “ตะลอนเที่ยว” ก็ยังอดตื่นเต้นไม่ได้เมื่อเห็นทุ่งดอกหงอนนาคทุ่งแรกที่ชูช่อต้อนรับเรา อยู่ระหว่างทางเดินไปยังลานกางเต็นท์ เจ้าดอกไม้สีม่วงกลีบบางนี้เองที่พวกเราดั้นด้นบุกป่าปีนเขาขึ้นมาชื่นชม
ทิวทัศน์อันงดงามบริเวณเนินมรณะ
“หงอนนาค” นางเอกแห่งภูสอยดาว
“ดอกหงอนนาค” เปรียบเหมือนนางเอกของภูสอยดาวก็ว่า ได้ ซึ่งหากใครต้องการมาเจอนางเอกคนนี้เบ่งบานเต็มลานสนก็ต้องมาในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน หากมาช่วงปลาย ต.ค. ที่ลมหนาวเริ่มมาเยือนก็จะเห็นบ้างแบบบางตา เพราะฉะนั้นหากอยากมาชมตอนนี้ต้องรีบแล้ว โดยทีมของ “ตะลอนเที่ยว” เพิ่งไปชมมาเมื่อวันที่ 6-8 ก.ย. ที่ผ่านมา ได้เห็นดอกหงอนนาคบานสะพรั่งเต็มท้องทุ่งงดงามมากทีเดียว
ดอกหงอนนาคมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า หญ้าหงอนเงือก หรือน้ำค้างกลางเที่ยง เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่ออกดอกในฤดูฝน ดอกจะมีทั้งสีม่วงอ่อนหรือม่วงน้ำเงิน สีขาว และสีชมพู ซึ่งค่อนข้างหายาก ยามเช้าดอกหงอนนาคจะหุบดอก และจะบานเมื่อมีแสงแดด ส่วนกลางของดอกมักมีหยดน้ำติดอยู่ เป็นที่มาของชื่อน้ำค้างกลางเที่ยง โดยที่ภูสอยดาวนี้เป็นจุดที่มีดอกหงอนนาคทุ่งใหญ่ที่สุดของประเทศ นอกจากนั้นก็ยังพบได้บ้างตามภูเขาอื่นๆ เช่น เขาสมอปูน ทุ่งโนนสน เขาใหญ่ เป็นต้น
บนลานสนภูสอยดาวมีทุ่งหงอนนาคให้ชมหลายทุ่ง ทั้งในบริเวณจุดเริ่มต้นของลานสน และที่บริเวณจุดกางเต็นท์ก็มีทุ่งดอกหงอนนาคอีก 2 ทุ่งใหญ่ๆ ให้เราได้สัมผัสความงามกันอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงตามเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติด้วยเช่นกัน
ทุ่งดอกหงอนนาคในแสงสีทอง
“ภูสอยดาว” เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย
เนื่องจากขณะนี้คือฤดูฝน “ตะลอนเที่ยว” จึงได้ชมดอกหงอนนาคในหลายๆ บรรยากาศ ไม่ว่าจะเป็นดอกหงอนนาคในสายฝนปรอย กลีบดอกมีละอองน้ำเกาะดูชุ่มฉ่ำ เมื่อฝนหยุดหมอกก็ไหลเข้าสู่ท้องทุ่ง ดอกหงอนนาคในสายหมอกก็ดูราวกับอยู่ในความฝัน แต่เมื่อแสงแดดยามเย็นแหวกเมฆส่องมากระทบกลีบบอบบางก็กลายเป็นสีม่วงอมทอง สว่างไสวไปทั่วท้องทุ่ง ยิ่งมีฉากหลังเป็นทิวสนสามใบนับพันนับหมื่นต้น ก็ยิ่งเพิ่มเสน่ห์ให้ทุ่งดอกไม้แห่งนี้เพิ่มขึ้นไปอีก และนอกจากดอกหงอนนาคแล้ว ก็ยังมีดอกไม้ป่าน่ารักขึ้นแซมไปทั่วบริเวณ ทั้งดอกเอนอ้า สร้อยสุวรรณา กระดุมเงิน เป็นต้น
อีกหนึ่งภาพประทับใจที่ “ตะลอนเที่ยว” ได้เห็นก็คือหลังจากฝนขาดเม็ด สายหมอกก็ไหลมาปะทะยอดเขาแล้วค่อยๆ ไหลราวกับใครเอาน้ำแข็งแห้งไปโปะไว้บนยอดเขา และหลังจากนั้นไม่นานรุ้งกินน้ำก็ปรากฏขึ้นด้านหลังเขาลูกเดียวกันนั้น งานนี้ช่างภาพทั้งหลายต่างก็เล็งกล้องไปที่จุดเดียวกันเพื่อเก็บภาพประทับใจ นี้ไว้
ดอกหงอนนาคสีม่วงบอบบางกลางสายหมอก
เที่ยวน้ำตกงาม และลานสนสองแผ่นดิน
และนอกจากทุ่งดอกหงอนนาคแล้ว บนลานสนภูสอยดาวก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ให้ไปเยี่ยมเยือนกันอีก เช่น "น้ำตกสายทิพย์" น้ำตกขนาดเล็กที่อยู่ใกล้ๆ ลานสน น้ำตกสายทิพย์มีสายน้ำไหลลดหลั่นลงมาตามชั้นเตี้ยๆ รวม 7 ชั้น การชมน้ำตกต้องค่อยๆ ไต่ลงไปด้านล่างทีละชั้น แต่ในวันนั้นเจ้าหน้าที่อุทยานแนะนำ ให้ลงไปชมถึงประมาณชั้นที่ 5 ก็พอเพราะเส้นทางค่อนข้างลื่นอันตราย แต่เพียงเท่านี้ก็ได้เห็นสายน้ำอันชุ่มฉ่ำและความชุ่มชื้นของพื้นที่ป่าโดย รอบที่เต็มไปด้วยมอสสีเขียวขึ้นปกคลุมทั่วก้อนหินน้อยใหญ่บริเวณน้ำตก
นอกจากน้ำตกสายทิพย์แล้ว หากไต่ลงไปจนถึงด้านล่างสุดก็จะพบกับน้ำตกหลุมพบ แต่การเดินลงไปยังน้ำตกหลุมพบนั้นควรมีเจ้าหน้าที่นำทาง เพราะเส้นทางค่อนข้างลาดชันอันตรายทีเดียว
สถานที่อีกแห่งหนึ่งที่พลาดไม่ได้ก็คือ “หลักเขตชายแดนไทย-ลาว” ที่อยู่ห่างจากลานกางเต็นท์ไปประมาณ 1 ก.ม. โดยภูสอยดาวแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหลวงพระบางที่กั้นพรมแดนไทยกับ ลาว บนลานสนแห่งนี้จึงมีหลักเขตที่บอกเขตแดนพื้นที่ของไทยและลาวให้เราได้ไป เยี่ยมเยือนถ่ายรูปเป็นที่ระลึกว่าได้มาเที่ยวต่างประเทศ
น้ำตกสายทิพย์
นอกจากนั้น เหตุที่ต้องมาเยือนหลักเขตไทยลาวก็เพราะบริเวณหน้าผาใกล้ๆ กันนั้นเป็นจุดรับสัญญาณโทรศัพท์เพียงจุดเดียวบนลานสน (จากการทดลองใช้พบว่ารับคลื่นเอไอเอสและดีแทคได้) จุดนี้จึงเป็นจุดที่มีผู้คนมาชุมนุมกันหนาตา ทั้งมาโทรศัพท์หาแฟน หาพ่อหาแม่ รายงานความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า รวมไปถึงโพสต์รูป โพสต์สเตตัสลงเฟซบุค อินสตาแกรม และโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ ที่ต้องรีบจัดการให้เสร็จสิ้น ไม่อย่างนั้นคืนนี้อาจนอนหลับไม่สนิท
นอกจากหลักเขต 2 แผ่นดินแล้ว ลานสนบริเวณนี้ยังมีเส้นทางเดินชมธรรมชาติเป็นวงรอบในระยะทาง 2.28 กิโลเมตร ชมความงามของสนสามใบสูงตระหง่าน ดอกไม้ป่าแปลกตา นอกจากนั้นก็ยังมีหลุมบังเกอร์สมรภูมิร่มเกล้า และจุดชมวิวเลาะเลียบผาที่สามารถมองลงไปเห็นทิวทัศน์ของผืนป่าและทะเลภูเขา อันสวยงามกว้างไกล รวมไปถึงจุดชมพระอาทิตย์ตกดินที่แม้ในวันนี้ “ตะลอนเที่ยว” จะไม่เห็นพระอาทิตย์ตกเป็นไข่แดง แต่ก็ยังเห็นแสงทองที่ฉาบทั่วท้องฟ้าทาท้องทุ่งดอกหงอนนาคและลานสนให้เป็นสี ทองงดงามน่าประทับใจ
หลักเขตไทย-ลาว
“ตะลอนเที่ยว” ใช้เวลา 3 วัน 2 คืนในการชื่นชมดอกหงอนนาคและบรรยากาศอันงดงามบนลานสนภูสอยดาว ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ของป่าเขา ได้รับรู้รสชาติของการเดินป่าท่ามกลางสายฝนที่แม้จะลื่นล้มลุกคลุกคลานแต่ก็ เย็นฉ่ำชื่นใจ ได้กินอาหารธรรมดาๆ ที่รู้สึกว่าอร่อยเสียเหลือเกิน และยังได้มีเวลาหัวเราะกับเพื่อนฝูงที่รู้ใจ ทิ้งความคิดวุ่นวายไว้เบื้องหลัง ปล่อยใจให้เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ แม้เมื่อลงจากเขามาแล้วร่างกายจะปวดเมื่อยไปทั้งตัว แต่ในใจนั้นกลับเต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขที่ “ตะลอนเที่ยว” นำกลับมาจากภูสอยดาวแห่งนี้
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
"อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว" ตั้งอยู่ที่ ต.ห้วยมุ่น อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์ การเดินทางสู่ภูสอยดาว จากตัวเมืองพิษณุโลก ใช้ทางหลวงเลข 11 ที่มุ่งตรงไปยัง จ.อุตรดิตถ์ ถึง อ.วัดโบสถ์ ให้แยกขวาไปบ้านโป่งแคตามทางหลวงหมายเลข 1206 ถึงสามแยกบ้านโป่งแค เลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 1143 มุ่งตรงไปจนถึง อ.ชาติตระการ เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 1237 วิ่งตรงไปถึงแยกทางหลวงสาย 1268 เลี้ยวซ้ายไปภูสอยดาว รวมระยะทาง 188 กม.
สำหรับผู้ที่ไม่มีรถส่วนตัว ขอแนะนำให้นั่งรถโดยสารมาลงที่สถานีขนส่ง จ.พิษณุโลก จะมีรถเก๋ง/รถกระบะเช่าเหมาพร้อมคนขับมาส่งที่ที่ทำการอุทยานฯ ค่าใช้จ่ายสำหรับรถเก๋งประมาณ 3,200-3,600 บาท ตามแต่ต่อรอง (ราคารวมไป-กลับ นั่งได้ 4-5 คน)
บนลานสนไม่มีไฟฟ้าและร้านค้า ร้านอาหาร นักท่องเที่ยวต้องเตรียมไฟฉาย เสบียงอาหาร น้ำดื่มและเครื่องใช้ต่างๆ ไปเอง โดยทางอุทยานฯ คิดค่าลูกหาบกิโลกรัมละ 30 บาท ด้าน บนมีให้เช่าเตาถ่าน เตาแก๊ส และมีห้องน้ำไว้บริการ แต่ต้องเช่าถังน้ำเพื่อไปตักน้ำจากลำธารมาใช้เอง สอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว โทร. 0-5543-6001
ไร่รักษ์ไม้,มูลไส้เดือน,ปุ๋ยมูลไส้เดือน,เกษตรแปรรูป,อุปกรณ์แค้มปิง,อุปกรณ์ป้องกันอุบัติภัย,เอาตัวรอดในภาวะวิกฤต