จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
Submitted by Somsak Damrongs
จนถึงวันนี้คราบน้ำมันที่รั่วไหลปนเปื้อนท้องทะเลที่เสม็ดคงเจือจางและทำให้ผิวหน้าของท้องทะเลชายฝั่งตะวันออกเริ่มกลับมามีสีสันสดใสอีกครั้ง
หากแต่ในข้อเท็จจริงของปรากฏการณ์น้ำมันรั่วไหลดังกล่าวนี้ลึกลงไปเบื้องล่าง ความแปลกปลอมของทั้งน้ำมัน และสารเคมีที่ใช้ในการบำบัดกำลังส่งผลกระทบในระยะยาวที่อาจต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูอีกนานหลายสิบปี
ประเด็นดังกล่าวสร้างความกังวลใจให้กับกลุ่มนักอนุรักษ์ไม่น้อย ถึงขนาดเรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบน้ำมันรั่วของ ปตท. กันเลยทีเดียว
ความเคลื่อนไหวดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจากการที่กลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้เฝ้าติดตามกรณีท่อส่งน้ำมันของ บมจ. พีทีที โกลบอล เคมีคัล (PTTGC) รั่วไหลลงกลางทะเล จังหวัดระยอง ภายใต้ชื่อ “กลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท. รั่ว”
เหตุผลของการเคลื่อนไหวอยู่ที่เหตุการณ์ดังกล่าวนอกจากจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว กรณีดังกล่าวยังสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อสภาพแวดล้อม แหล่งอาหาร ทรัพยากรและระบบนิเวศในทะเลอ่าวไทย ซึ่งต้องใช้เวลาอีกนาน
ประเด็นปัญหาประการหนึ่งซึ่งนำไปสู่การเคลื่อนไหวดังกล่าวที่สำคัญก็คือ แม้ตลอดระยะเวลาที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา กลุ่ม ปตท. และ PTTGC ได้ยืนยันที่จะรับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น แต่มูลค่าความเสียหายที่แท้จริงซึ่งผู้ก่อมลพิษจะต้องรับผิดชอบตามหลัก polluter pay principleนั้นเป็นเท่าไหร่กันแน่
ขณะเดียวกัน การนำเสนอข้อมูลและข่าวสารจากฝั่งฟากของกลุ่ม ปตท.และ PTTGC ซึ่งเป็นคู่กรณีโดยตรงยังขาดความชัดเจน และสร้างความสับสน นับตั้งแต่จำนวนปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลลงสู่ทะเล ชนิดและสารเคมีที่จะใช้ในการสลายคราบน้ำมัน ผลกระทบและอันตรายจากน้ำมันดิบที่รั่วไหลและสารเคมีที่นำมาใช้ รวมถึงขั้นตอนปฏิบัติในการป้องกันและระงับเหตุเพื่อลดผลกระทบ
กรณีดังกล่าวสอดรับกับข้อเท็จจริงล่าสุดของการติดตามผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนและผู้ปฏิบัติงานเก็บกู้และทำลายคราบน้ำมันดิบที่อ่าวพร้าว จ.ระยอง ซึ่งกระทรวงสาธาณสุขได้รับมอบหมายให้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี และพบว่ามีเจ้าหน้าที่เก็บทำลายคราบน้ำมันบางรายมีสารอนุพันธ์จากน้ำมันในปัสสาวะสูงกว่าค่าเฝ้าระวัง ซึ่งจะต้องติดตามตัวมารับการตรวจสุขภาพ และเจาะเลือดดูการทำงานของไขกระดูก ตับ และไต เพื่อให้การดูแลอย่างต่อเนื่องต่อไป
ส่วนผลการตรวจวิเคราะห์สารปนเปื้อนในตัวอย่างอาหารทะเล พบว่าทุกรายการอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แม้จะมีบางตัวอย่างพบสารโลหะหนัก แต่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์กำหนด ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากสารเหล่านี้สามารถพบได้ในธรรมชาติ และปนเปื้อนในอาหารได้อยู่แล้ว แม้จะไม่มีเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วลงทะเลก็ตาม
แต่นั่นอาจจะยังไม่ใช่บทพิสูจน์หรือหลักประกันว่าอาหารทะเลจากพื้นที่ที่มีการรั่วไหลของน้ำมันจะไม่มีการปนเปื้อนเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานในระยะยาว และเป็นกรณีที่ยังต้องเฝ้าระวังและเก็บตัวอย่างผลกระทบนี้ต่อไปเป็นระยะเวลาอีกพอสมควร
ขณะที่ผลการสอบสวนสาเหตุน้ำมันรั่วไหลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ปรากฏผลออกมาระบุว่า เจ้าหน้าที่เข้าข่ายความผิดกระทำการโดยประมาท ตาม พ.ร.บ. เดินเรือในน่านน้ำไทย, โดยตั้งสมมุติฐานไว้ 4 ประเด็น คือ เรือบรรทุกน้ำมันไม่ตัดวาล์วน้ำมันจากเรือเมื่อมีการรั่วไหล รวมถึงไม่มีการตรวจสอบประสิทธิภาพท่อส่งน้ำมันให้อยู่ในสภาพปกติและผู้ควบคุมเรือบรรทุกน้ำมันประมาทที่เทียบเรือกับทุ่น ซึ่งอาจดึงท่อน้ำมันฉีกขาด แต่จะรับพิจารณาเป็นคดีพิเศษหรือไม่เป็นอีกกรณีหนึ่ง
ซึ่งแม้การดำเนินงานของภาครัฐจะมีการเร่งรัดให้ทุกหน่วยงานร่วมฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและประสาน ปตท.ชดเชยค่าเสียหาย ซึ่งมีการยื่นคำร้องมาแล้วกว่า 500 ราย และย้ำให้เอกชนที่ได้สัมปทานน้ำมันเปลี่ยนอุปกรณ์ขนถ่ายน้ำมันให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น พร้อมติดสัญญาณเตือน
แต่ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันก็ยังไม่สามารถได้ข้อสรุป เนื่องจากบ่อยครั้งที่ไม่มีผู้บริหารของ พีทีที โกลบอล เคมิคอลส์ ที่สามารถตัดสินใจหรือให้คำตอบเรื่องค่าชดเชยที่ผู้ได้รับผลกระทบเรียกร้องเข้าร่วมการประชุมหารือ และไม่สามารถระบุได้ว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวจะได้รับอนุมัติหรือไม่
นี่เป็นท่าทีที่ทำให้หลายฝ่ายหยิบยกไปโจมตี ปตท. และ PTTGC ได้โดยง่าย
ในความเป็นจริง ปตท. และ PTTGC ควรนำเหตุการณ์ดังกล่าวมาอธิบายและสร้างความเข้าใจให้เกิดประโยชน์ในเชิงสาธารณะมากกว่าที่เป็นอยู่ และสามารถที่จะเป็นต้นแบบขององค์กรที่มีความสามารถในการจัดการกับปัญหา และควรมีบทบาทนำในการปลูกสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมไปในคราวเดียวกัน
เพราะความผิดพลาดจนเป็นเหตุให้น้ำมันรั่วไหล เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับ ปตท. ซึ่งประกอบการธุรกิจน้ำมัน ไม่ต่างจากกรณีของผู้ใช้รถที่อาจประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน
แต่การไม่แสดงออกซึ่งความเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาหรือปกปิดข้อเท็จจริงบางประการต่างหาก ที่ทำให้สถานภาพของ ปตท. และ PTTGC ตกต่ำลงซ้ำรอยกับเหตุน้ำมันรั่วที่แท่นขุดเจาะในแหล่งมอนทารา ของปตท.สผ. ออสเตรเลีย ในปี 2552 ซึ่งถูกรัฐบาลออสเตรเลียเรียกร้องค่าเสียหายมากถึงกว่า 9 พันล้านบาท
ข้อเรียกร้องดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่คณะกรรมการอิสระที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลออสเตรเลีย ประเมินว่าปริมาณของน้ำมันที่รั่วไหลอาจมีมากถึง 34 ล้านลิตร ขณะที่ ปตท. เปิดเผยตัวเลขไว้เพียง 4.5 ล้านลิตรเท่านั้น
ยังไม่นับรวมกรณีของรัฐบาลอินโดนีเซียที่เรียกร้องค่าชดเชยจำนวนมากถึง 7.5 หมื่นล้านบาท ด้วยเหตุผลที่ว่าน้ำมันที่รั่วไหลจากแหล่งมอนทารา ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและวิถีชีวิตของชาวประมงอินโดนีเซีย ซึ่ง ปตท.สผ. ออสเตรเลียสามารถเลี่ยงข้อกฎหมาย ปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ไปได้
การรั่วไหลของน้ำมันดิบลงสู่ทะเลอ่าวไทยในครั้งนี้ จึงควรเป็นมากกว่าปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นและได้รับการเยียวยาในลักษณะที่พร้อมจะเกิดขึ้นอีก หากแต่ควรได้รับการพิจารณาในฐานะที่ป็นบทเรียนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมถึงการป้องกันและบรรเทาเหตุภัยพิบัติไปในคราวเดียวกัน
เพราะในขณะที่เรากำลังหาแหล่งพลังงานทดแทนทั้งโรงไฟฟาถ่านหิน หรือในอนาคตที่เราอาจจะมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ สิ่งเหล่านี้เป็นปฐมบทที่จะพิสูจน์ว่าประเทศไทยโดยทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม มีความพร้อมที่จะรับมือผลกระทบเหล่านี้แล้วหรือยัง
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน